pe©ple

“โปรดทราบ อาชญากรทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ผู้ใช้แรงงาน และพนักงานออฟฟิศ พวกคุณต่างเคยทำผิดต่อคนอื่น และคุณต้องกล่าวขอโทษต่อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่กับรัฐ หรือพระเจ้า ขจัดความชั่วร้ายหนักอึ้งในอกออกไป โทรเพื่อขอโทษ (212) 255-2748”

ในปี 1980 ทั่วเขตแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ปรากฏใบปลิวพื้นหลังสีเหลือง ระบุข้อความชักชวนให้ผู้คนโทรมาสารภาพบาป เพื่อขอโทษในความผิดที่เคยกระทำต่อคนอื่น โดยไม่เปิดเผยตัวตนแท้จริงของตัวเอง สายด่วนนั้นต่อมาถูกรู้จักในชื่อ Apology Line ที่ตลอดระยะเวลาของการเปิดสายจนถึงปี 1995 มีคนโทรมามากมาย และได้รับการบันทึกเสียงที่เป็นการสารภาพบาปนี้ไว้มากกว่า 500,000 เทป

ใบปลิวของ Apology Line ในปี 1980
photo: thenewyorker.com

คำขอโทษนั้นมาจากหลากหลายกรณี ไล่ระดับไปตั้งแต่การนอกใจ ขโมยของ ความคิดเหยียดเชื้อชาติ ความรุนแรงในครอบครัว การร่วมเพศระหว่างคนกับสัตว์ การคุกคามทางเพศต่อผู้เยาว์ ฆาตกรรม ฯลฯ

ผู้ที่อยู่ปลายสายเพื่อรับฟังคำขอโทษเหล่านั้น ต่อมาถูกเรียกขานในนาม มิสเตอร์ Apology ทว่าตัวตนแท้จริงของเขาคือ ศิลปินนาม อัลลัน บริดจ์ (Allan Bridge)

อัลลัน บริดจ์ (Allan Bridge) Photo: nytimes.com

และ Apology Line คืองานศิลปะเชิงทดลองแนวคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตของศิลปินหนุ่มผู้นี้ โดยที่ผู้คนมากมายไม่รู้มาก่อนล่วงหน้า ว่าพวกเขาจะกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานศิลปะที่กินระยะเวลาสร้างยาวนานถึง 15 ปี—งานศิลปะที่สุดท้ายได้กลืนกินชีวิตของทั้งผู้สร้างสรรค์ และอาจรวมถึงคนใกล้ตัวของเขาไปด้วยชิ้นนี้

เส้นทางสายศิลปะของอัลลัน บริดจ์เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาเข้าศึกษาปริญาตรีด้านศิลปะที่ University of Chicago ก่อนจะจบออกมา และกลายเป็นศิลปินรุ่นที่สองในความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ชื่อ Washington Color School movement กลุ่มก้อนคนทำงานศิลปะแนวแอบสแตกอาร์ตที่เน้นความเคลื่อนไหวทางด้านอารมณ์ของสีสันและรูปทรง ซึ่งบริดจ์ก็มีชื่อเสียงกับผลงานรูปแบบนี้ในระดับหนึ่ง เขาเพนต์รูปขนาดใหญ่อย่างน้อย 79 รูป ระหว่างปี 1970 -1977 ก่อนจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการสร้างสรรค์ผลงานเชิงทัศนศิลป์ในรูปแบบดังกล่าว และตัดสินใจกระโจนเข้าหาอีกหนึ่งรูปแบบการสร้างสรรค์ที่มาแรง ณ ขณะนั้น นั่นคือ ’ศิลปะเชิงคอนเซปต์ชวลอาร์ต’

แน่นอนศิลปะในรูปแบบนั้นไม่ทำเงิน เขาต้องรับจ้างทำงานปั้นและกลายเป็นช่างไม้ และบางครั้งอัลลันก็ต้องขโมยอุปกรณ์ศิลปะที่เขาไม่มีปัญญาจ่าย เมื่อเขาย้ายมาปักหลักในนิวยอร์กในปี 1977 ที่ทำให้ค่าครองชีพในชีวิตต่างๆ สูงขึ้น—3 ปีต่อมา อัลลัน บริดจ์ เกิดไอเดียจากความรู้สึกผิด ซึ่งเป็นความลับดำมืดที่กัดกินเขามาตลอดนี้ โดยริเริ่มสร้างสายด่วนที่ผู้คนจะได้มาสารภาพบาปและบอกเล่าความรู้สึกผิดของตัวเองขึ้นมา

ออฟฟิศของ Apology Line Photo: mamamia.com.au

“การขโมยของเริ่มจะกลายเป็นสิ่งไร้เดียงสาและเกือบจะอัปลักษณ์ ผมต้องการหาหนทางเชื่อมต่อระหว่างด้านมืดกับด้านที่สว่างกว่าของตัวเอง” อัลลัน บริดจ์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired เมื่อปี 1994

ส่วนคู่รักของเขาอย่าง มาริสสา บริดจ์ (Marissa Bridge) ผู้เป็นพยานต่อการปฏิการทางศิลปะครั้งนี้แบบเรียลไทม์ แสดงความคิดเห็นถึงตัวสามีของเธอว่า “อัลลันค่อนข้างจะมีแนวโน้มเป็นอาชญากรเล็กน้อยในช่วงแรกของชีวิต และเขามีความรู้สึกกังวลว่าผู้คนจะตกอยู่ในทั้งสถานะเหยื่อและผู้ล่าได้โดยง่าย เขาใช้ชีวิตของเขาเพื่อจะบอกว่า ‘มาดูกันเถอะว่าเราสามารถเป็นคนดีกว่านี้ได้หรือเปล่า’”

ในปี 1980 อัลลัน บริดจ์เริ่มติดใบปลิวโฆษณา Apology Line จำนวน 1,200 ใบไปทั่วย่านแมนฮัตตัน ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็พบว่าข้อความชักจูงใจในใบปลิวได้ผล อัลลันได้รับสายเป็นร้อยสายต่อวัน ผ่านเครื่องอัดเสียงและเครื่องตอบรับอัตโนมัติซึ่งเป็นเทคโลยีล่าสุดในสมัยนั้น

มาริสสา บริดจ์ และ อัลลัน บริดจ์ Photo: newyorker.com

ทว่านอกจากเสียงสั่นเครือในการสารภาพอย่างรู้สึกผิด ของทั้งจากหญิงสาวที่หนีออกจากบ้านเพราะรู้สึกไม่ได้รับความรัก จนต้องมาใช้ชีวิตเป็นคนจรนอนอยู่บนถนนอย่างโดดเดี่ยวในมหานครนิวยอร์ก หรืออาชญกรที่แพร่เชื้อ HIV ให้แก่คู่นอนของเขา หรือกระทั่งลูกชายผู้ฆ่าแม่ตัวเอง บางครั้งมันยังมีข้อความขู่ฆ่าพุ่งตรงมาสู่ตัวอัลลันเองที่ชวนสยองขวัญขนหัวลุก

“ผมขอโทษ แต่ผมจะบอกคุณว่าผมจะตามหาคุณให้เจอ และผมจะฆ่าคุณ ผมขอโทษ”

“สายที่โทรเข้ามาดำมืดขึ้นเรื่อยๆ” มาริสสา บริดจ์บอกเล่า “พวกเรากลัว ถ้าใครสักคนบอกว่าเขากำลังจะมาฆ่าอัลเลน ฉันก็เชื่อว่ามันเป็นจริง”

คำสารภาพบางส่วนที่ถูกนำไปตีพิมพ์ photo: news.com.au

ในปี 1983 Apology Line เปิดอีกหนึ่งบริการโดยให้ผู้คนโทรมารับฟังคำสารภาพที่ถูกบันทึกไว้ได้ ขณะคำสารภาพบางข้อความถูกนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร และบางคำสารภาพได้รับการออนแอร์ทางวิทยุ รวมถึงคำสารภาพจำนวนมากที่ถูกนำไปจัดแสดงในฐานะงานศิลปะของอัลเลนในแกลลอรี่และพิพิธภัณฑ์—แน่นอนคำสารภาพทั้งหมดนั้นเป็น ‘นิรนาม’

ระหว่างการเปิดสายเพื่อให้คนโทรมาได้ตลอดระยะเวลา 15 ปี บ่อยครั้งที่อัลเลนจะรับสายขึ้นมาเพื่อพูดคุยกับปลายสายด้วยตัวเอง เมื่อเขารู้สึกว่าเสียงปลายสายมีแนวโน้มดำดิ่งเข้าใกล้การตัดสินใจฆ่าตัวตาย

Apology Line กินเวลาเกือบทั้งหมดของชีวิตอัลเลน เขาเสพติดมันอย่างหนัก มันคืองานที่ไม่มีวันสิ้นสุด เขาเริ่มนอนน้อยลง และทำงานในฐานะช่างไม้น้อยกว่า ขณะที่ Apology Line เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีการขยายคู่สายเพิ่มเข้ามา—เป็นกด 1 สำหรับอาชญกรรม กด 2 สำหรับการฉ้อโกง กระทั่ง HBO นำเรื่องราวของอัลเลน และ Apology Line มาสรา้งเป็นหนังในปี 1986 (เปลี่ยนตัวเอกเป็นผู้หญิง) และนั่นคือครั้งเดียวที่อัลเลนสามารถทำเงินได้จากโปรเจ็คต์ศิลปะที่กินระยะเวลายาวนานนี้

photo: news.com.au

มองในแง่ตัวเงิน Apology Line จึงเป็นงานศิลปะที่ล้มเหลว และหากมองในแง่จุดประสงค์แรกเริ่มที่ต้องการให้มันเป็นพื้นอันศักดิ์สิทธิ์และปลอดภัยสำหรับคนบาปที่จะสามารถมอบความหวังในการเยียวยาตัวเองจากคำสารภาพที่ซื่อตรงได้แล้วนั้น ตัวผู้สร้างอย่างอัลเลนอาจพบว่ามันน่าผิดหวังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

แทนที่จะเป็นความสำนึกผิด แต่การโทรเข้ามาของผู้ที่อยู่ปลายสายบางคนดูเหมือนจะกลายเป็นการคุยโวอวดโอ่พฤติกรรมระยำดำมืดของตัวเองเสียมากกว่า อัลเลนรู้สึกผิดหวังในแง่นี้ และโดดเดี่ยวตัวเองออกจากผู้คนและเพื่อนฝูงมากขึ้นเรื่อยๆ

“เพื่อนของพวกเราส่วนใหญ่เริ่มกันตัวเองออกห่าง มันเป็นเรื่องยากที่จะเป็นเพื่อนกับมิสเตอร์ Apology” มาริสสาเล่า

กระทั่งในปี 1995 ในวัย 50 ปี อัลเลนก็ตัดสินใจได้ว่าเขาจะจบโปรเจ็คต์ที่กัดกินชีวิตนี้ลง และก้าวเดินสู่สเต็ปต่อไปในชีวิต 

มาริสสา บริดจ์

เขาปิดบริการของสายด่วนแห่งการขอโทษนี้เงียบๆ เดินออกจากห้องใต้หลังคาอันเป็นสถานที่ทำการของ Apology Line พาตัวเองไปท่องเที่ยวยังเกาะลองไอแลนด์ ลงดำน้ำในพื้นที่ต้องห้าม และโดยไม่เหลือเวลาในสารภาพบาปเพื่อขอโทษต่อการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายของตัวเอง โชคชะตาก็พาเขาจากไปตลอดกาล เมื่อในวินาทีที่เขาโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เจ็ตสกีลำหนึ่งก็ชนเขาอย่างจัง ก่อนจะหลบหนีไป และไม่ได้รับการจับกุมตัวจนกระทั่งปัจจุบัน

เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ดูเหมือนว่าคำสารภาพบาปแสนสำคัญหนึ่งเดียวที่มิสเตอร์ Apology ไม่มีโอกาสได้ฟัง คือคำขอโทษจากคนขับเจ็ตสกีคนนั้นที่มีต่อตัวมิสเตอร์ Apology เอง

*เรื่องราวของอัลลัน บริดจ์ และ Apology Line เพิ่งถูกนำมาสร้างเป็นพอดแคสต์ในชื่อ The Apology Line เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ภายใต้การอำนวยการสร้างของช่อง Wondery และมีมาริสสา บริดจ์ ภรรยาม้ายของอัลเลนทำหน้าที่เป็นโฮสต์

 

อ้างอิง

  • Marissa Bridge. The Apology Line (podcast). https://bit.ly/31F2El7
  • Michael Kaplan. The Apology Line. https://bit.ly/3u7nEgy
  • Hannah Paine. The Apology Line: Inside the life of ‘Mr Apology’ Allan Bridge. https://bit.ly/3dwJQdr
  • Carly Stern. The tragic life of ‘Mr Apology’: How NYC artist behind anonymous ‘apology hotline’ that murderers, molesters, and thieves used to secretly confess to their crimes saw his life ‘unravel’ under weight of ‘dark’ calls and death threats. https://bit.ly/3u7nRAm
  • Vicky Sequeira. True story of Allan Bridge, founder ‘The Apology Line’. https://bit.ly/31GysWQ