©ulture

The Makanai : Cooking for the Maiko House หรือ แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ

เป็นเรื่องของสองเพื่อนซี้ ‘คิโยะ’ และ ‘สุมิเระ’ ที่จากจังหวัดอามาโมริบ้านเกิดตามความฝันมาเป็นไมโกะที่เกียวโต แต่โชคชะตากลับพลิกผันทำให้ คิโยะ ได้กลายมาเป็น ‘มากาไน’ หรือแม่ครัวแห่งบ้านไมโกะแทน

ไมโกะ หรือ เกอิชาฝึกหัดเป็นศิลปินผู้แสดงศิลปะการรำให้กับแขกเหรื่อในห้องรับรองต่างๆ ทำให้เด็กสาวจากต่างถิ่นผู้มีความฝันต้องเดินทางมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเพื่อฝึกฝนและเตรียมพร้อมรอวันเป็นไมโกะเต็มตัว

แน่นอนว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้อง บทบาทสำคัญของบ้านไมโกะที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ ‘มากาไน’ หรือแม่ครัวผู้ทำอาหารหล่อเลี้ยงปากท้องของทุกชีวิตในบ้าน

นอกจากสุมิเระจะต้องฝึกหนักเพื่อเป็นมากาไนแล้ว คิโยะเองก็ต้องเรียนรู้ในเส้นทางใหม่ที่ไม่คาดคิดเช่น กัน การเป็นมากาไนเหมือนจะง่าย แต่ก็มีรายละมากมาย เช่น อาหารที่ทำต้องถูกปากทุกคนในบ้าน เพราะต่างคนมาจากต่างถิ่น และแต่ละถิ่นกินอาหารรสชาติต่างกัน หรือเวลาทำอาหารสำหรับไมโกะต้องตัดแบ่งเป็นคำเล็กๆ เพื่อให้กินได้แบบลิปสติกไม่หลุด

ซีรี่ส์เรื่องนี้เล่าเรื่องไมโกะ ความสัมพันธ์ และเส้นทางของแต่ละชีวิตได้อย่างอบอุ่น โดยมีเมืองเกียวโตเป็นฉากหลังและมี ‘อาหาร’ เป็นสื่อกลาง

เราจึงอยากชวนทุกคนไปเยือนบ้านซากุ ย่านกิอง ตามคิโยะจังเข้าครัวไปดูกันว่าในแต่ละวันแม่ครัวแห่งบ้านไมโกะนั้นเขาทำอะไรกินกันบ้าง

(คำเตือน : บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาน่ารักๆ บางส่วนของซีรี่ส์ และระวังอ่านไป หิวไป )

1

แกงกะหรี่มะเขือเทศ

สูตรโฮมเมดของคุณยาย

เมนูแรกที่คิโยะจังลงมือทำเองในบ้านซากุแห่งนี้คือ ‘ข้าวแกงกะหรี่’ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในคอมฟอร์ทฟู้ดของชาวญี่ปุ่น ที่ทำง่าย กินง่าย ประโยชน์ครบถ้วนทั้งผัก ทั้งเนื้อสัตว์

ผักที่นิยมใช้ทำแกงกะหรี่คือหอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง และแคร์รอต ส่วนบ้านไหนมีผักอะไร จะหยิบมาใส่ได้ตามใจชอบ เนื้อสัตว์ก็ใส่ได้ทั้งเนื้อหมู ไก่ วัว ส่วนพระเอกของแกงกะหรี่สูตรคุณยายในวันนี้คือ มะเขือเทศสีแดงลูกโต ที่คิโยะต้มในน้ำเดือดจนลอกเปลือกออกง่าย ก่อนใส่ลงหม้อแล้วเคี่ยวจนเปื่อย

แกงกะหรี่มักจะราดลงบนข้าวสวยร้อนๆ บางคนชอบกินกับเส้นอุด้ง บ้างก็ราดลงบนหมูทอดทงคัตสึ เป็นเมนูที่ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน เพิ่มนู่น เพิ่มนี่ได้หลากหลายตามใจคนกิน

2

โอยาโกะด้ง

เมนูธรรมดาที่ถูกใจทุกคนในบ้าน

‘โอยาโกะด้ง’ (Oyakodon) คือ ข้าวหน้าไก่และไข่ คำนี้หมายถึง ข้าวพ่อลูก ซึ่งเปรียบได้กับไก่และไข่ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก เมนูนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1891 โดยร้านอาหารทามาฮิเดะเป็นร้านแรกที่คิดค้นขึ้นมา ปัจจุบันร้านนี้ยังคงเปิดกิจการอยู่ในโตเกียว ส่วนโอยาโกะด้งนั้นหาทานได้ตามร้านอาหารทั่วไป และยังทำกินได้ง่ายแสนง่าย

ปกติจะผัดหอมใหญ่กับเนื้อไก่ธรรมดา แต่ที่สุดของโอยาโกะด้งนั้นต้องใช้ไก่ที่นำไปย่างพอมีกลิ่นหอม ปรุงรสด้วยโชยุและน้ำสต๊อก จากนั้นเทไข่ที่ตีแล้วลงไป ตักเสิร์ฟบนข้าวสวยแบบโดยที่ไข่ยังไม่สุกมาก

ที่สำคัญปริมาณข้าวสวยต้องพอดี ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เพื่อให้ฉ่ำยันคำสุดท้าย และมักแต่งหน้าด้วยใบมิตสึบะ (ผักชีญี่ปุ่น) ที่คิโยะแทนด้วยถั่วงอกใบเขียว จานนี้เป็นเมนูแรกที่ทำให้คิโยะได้โชว์ฝีมือการทำอาหารให้ทุกคนในบ้านซากุได้ชิม แม้จะรสชาติธรรมดา ไม่หวือหวา แต่ถูกปากไมโกะที่ต่างคนมาจากต่างถิ่น นับว่าเป็นหัวใจของการทำอาหารฉบับมากาไน

3

พุดดิ้งขนมปัง

เปลี่ยนเช้าที่เซื่องซึมให้สดใส

คิโยะเปลี่ยนเช้าที่เซื่องซึมของซึรุโกมะให้สดใสด้วยการหยิบเอาขนมปังแผ่นสุดท้ายที่เหลืออยู่ในครัวมาทำเป็น ‘พุดดิ้งขนมปัง’

เธอหั่นขนมปังแผ่นหนาเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสชุบกับไข่ที่ตีเข้ากันกับนมสด และนำไปอบในเตาจนหอม ระหว่างรอก็เคี่ยวน้ำตาลจนเริ่มออกสีน้ำตาลสวย ราดบนขนมปังที่เพิ่งออกจากเตาอบ กลิ่นหอมตลบอบอวลจนปลุกให้สมาชิกคนอื่นๆ ตามมาชิม

เมนูนี้เป็นเมนูตะวันตกที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 11 ตอนนั้นเหล่าผู้คนต่างก็หาวิธีเนรมิตขนมปังเหลือทิ้งให้มาเป็นของหวานเนื้อละมุนแสนอร่อย สมัยก่อนคนมักเรียกว่า ‘พุดดิ้งคนจน’ เพราะเป็นของหวานง่ายๆ ที่ทำมาจากเศษขนมปังเหลือ ปัจจุบันหากินได้ทั่วไปและทำง่าย จะท็อปปิ้งด้วยผลไม้ ราดเมเปิลไซรัปหรือน้ำผึ้งได้ตามชอบ

4

นะสุโนะ นิบิทาชิ

มะเขือม่วงต้มโชยุที่ทุกคนคิดถึง

เมื่อฤดูของมะเขือม่วงคาโมะมาเยือน ท้องตลาดในญี่ปุ่นจึงเหมือนกับเทศกาลมะเขือม่วง แต่วันนี้คิโยะสนใจมะเขือม่วงธรรมดาๆ มากกว่า เธอจึงหยิบกลับบ้านมาทำ ‘นะสุโนะ นิบิทาชิ’ (Nasuno Nibitashi) หรือ มะเขือม่วงต้มโชยุ เมนูบ้านๆ ที่ทุกคนคิดถึง

คิโยะนำมะเขือม่วงลูกยาวมาหั่นครึ่งแล้วบั้งถี่ๆ เป็นแนวขวาง จากนั้นนำไปย่างในกระทะให้พอหอม แล้วตุ๋นกับน้ำซุปดาชิและโชยุ วิธีนี้เรียกว่า นิบิทาชิ หรือการตุ๋นผักให้นิ่มได้ที่แล้วทิ้งหม้อจนเย็น ให้น้ำซอสซึมชุ่มเข้าไปในมะเขือม่วงทั้งชิ้น ชาวญี่ปุ่นมักรับประทานจานนี้เป็นเครื่องเคียง หรือกินเล่นเย็นๆ ในฤดูร้อน

จานนี่ทำง่ายแสนง่าย แต่ไม่ค่อยพบเจอในร้านอาหารทั่วไปได้มากนัก ส่วนใหญ่ชาวญี่ปุ่นมักจะทำกินกันในบ้าน นี่จึงเป็นหนึ่งในเมนูที่ชวนให้คิดถึงรสมือแม่และเรื่องราวของวันวานได้เสมอ

5

คาราอาเกะ

ของโปรดของสุมิเระ

เมนูโปรดของเด็กๆ คงหนีไม่พ้นของทอด สุมิเระ ในวัย 16 ปีเองก็เช่นกัน ของโปรดของเธอยังคงเป็น ‘คาราอาเกะ’ ไก่ทอดกรอบๆ ที่กินเมื่อไหร่ก็อร่อย

คาราอาเกะ คือ เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นเล็กพอดีคำชุบแป้งทอดในน้ำมันร้อนๆ จนเหลืองกรอบกรอบ จะใช้แป้งสาลี แป้งข้าวโพดหรือแป้งมันก็ได้ แต่สูตรดั้งเดิมมักไม่ปรุงรสในแป้งเลย ให้ได้รสของเนื้อในเต็มคำ เรามักจะจดจำว่าคาราอาเกะคือไก่ทอด นั่นก็เพราะเนื้อไก่นั้นเป็นที่นิยมนำมาทำคาราอาเกะอย่างแพร่หลาย แต่ทั้งเนื้อหมู เนื้อปลาก็นำมาทอดเป็นคาราอาเกะได้เช่นกัน 

จะทานเป็นกับข้าวหรือทานเล่นก็ได้ และมักจะเสิร์ฟพร้อมกะหล่ำหั่นฝอยและเลมอนเป็นเครื่องเคียง

6

ครีมสตูว์

ซุปละมุนอบอุ่นหัวใจ

เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนได้กินอาหารครบ 5 หมู่ในงบที่จำกัด ครีมสตูว์ที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักนานาชนิดจึงเป็นเมนูยอดฮิตสำหรับเด็กๆ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

ตามสูตรเดิมแล้วจะใช้นมสด เนย และแป้ง แต่สมัยก่อนมักจะใช้นมผงแทนนมสด เพื่อลดงบค่าใช้จ่ายในยุคขัดสนของญี่ปุ่น ต่อมามีครีมก้อนสำเร็จรูปวางจำหน่าย ครีมสตูว์จึงกลายเป็นอาหารที่ทำกินกันในบ้าน ดัดแปลงได้หลากหลาย เป็นเมนูเคลียร์ตู้เย็น ใครมีผักเหลือไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็โยนลงหม้อทำครีมสตูว์ได้

และเมื่อสตูว์มาอยู่ในบ้านคนญี่ปุ่น บางคนก็ชอบกินเปล่าๆ แต่ส่วนใหญ่มักจะตักราดบนข้าวสวยร้อนๆ ส่วนคิโยะเสนอว่าจะเอาครีมสตูว์รเอาราดบนข้าว โรยด้วยชีสแล้วอบเป็น ‘โดเรีย’ หรือข้าวอบชีสแบบญี่ปุ่น นับว่าเป็นเมนูตะวันตกที่ประยุกต์ออกมาเป็นญี่ปุ่นได้หลากหลาย

7

แซนด์วิชผลไม้ครีมสด

กับคืนคริสต์มาสอันอบอุ่น

ใครไปเดินตามซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นคงอดใจไม่ได้ที่จะแวะชื่นชมเจ้าแซนด์วิชผลไม้นี้ เพราะหน้าตาน่ารัก ชวนให้อยากกัดลงบนครีมนุ่มๆ ที่แทรกด้วยผลไม้เต็มคำ

คืนวันคริสต์มาสอันอบอุ่นเช่นนี้ คิโยะหยิบขนมปังตัดขอบมาปาดด้วยครีมสดหนาๆ แล้วเรียงส้มและสตรอว์เบอรีลงไป ประกบกันแล้วแต่งหน้าเป็นคริสต์มาสเค้กฉบับโฮมเมดง่ายๆ ฉลองกับเพื่อนในบ้านซากุ

แซนด์วิชผลไม้เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 บ้างว่าเป็นของหวานที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในคาเฟ่ในเกียวโต ซึ่งเป็นฉากหลังของซีรี่ส์ ตัวแซนด์วิชมักจะทำมาจากขนมปังนม หรือโชคุปัง (ขนมปังแซนด์วิช) เนื้อบางเบา สอดไส้ด้วยวิปครีมนุ่มๆ และผลไม้ต่างสีสัน

ที่แซนด์วิชผลไม้ได้รับความนิยมจนวางทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นก็เพราะว่าเป็นของหวานที่กินง่าย พกพาสะดวก เหมือนได้กินเค้กอร่อยๆ แบบไม่เลอะมือ ที่สำคัญยังหน้าตาน่ารัก ตกคนชอบของหวานได้ไม่ยากเลย

8

คาคิโมจิ

รับปีใหม่ด้วยโมจิกรุบกรอบ

ทุกเทศกาลปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นแต่ละบ้านจะมีของไหว้เทพเจ้าที่เรียกว่า คางามิ โมจิ (Kagami Mochi) เป็นก้อนโมจิสีขาวอวบวางซ้อนกัน 2 ก้อน ประดับประดาด้วยของตกแต่งสวยงาม

หลังจากฉลองเทศกาลแล้ว ทุกๆ วันที่ 11-15 มกราคมของทุกปี คนในบ้านก็จะนำก้อนโมจิที่ใช้เซ่นไหว้มากินเพื่อความเป็นสิริมงคล บ้างนำไปทำซุป บ้างก็นำมาทอดกรอบเป็นขนมเรียกว่า โอคาคิ หรือ คาคิโมจิ 

ปีนี้คิโยะเลือกทำคาคิโมจิ เธอนำค้อนมาทุบโมจิก้อนแข็งๆ ใหญ่ๆ ให้แตกเป็นก้อนเล็กพอดีคำ บางบ้านก็ใช้มือ เช่นบ้านของซามูไรที่จะไม่ใช้มีดหรืออุปกรณ์หั่นตัดใดๆ ในวันปีใหม่เลย เพราะถือว่าจะเป็นโชคร้าย

พอได้โมจิคำเล็กๆ แล้วก็นำไปทอดในน้ำมันให้เหลืองกรอบ บางภูมิภาคก็กินคลุกกับเกลือ แต่ในแถบคันโตมักนิยมทานคู่กับโชยุ เป็นของว่างหลังปีใหม่ที่เชื่อว่าใครได้กินจะโชคดีตลอดปี

9

อุด้งแบบเกียวโต 

เมนูประจำบ้านในวันที่ไม่สบาย

ในวันที่ไม่สบายคนเกียวโตนิยมทำอุด้งให้คนป่วยกิน เพราะทำง่าย กินง่าย ซดน้ำซุปร้อนๆ จะช่วยให้อาการป่วยดีขึ้นได้ ในวันที่ซูจังป่วย คิโยะจึงทำ ‘คิทสึเนะอุด้ง’ หรือ อุด้งใส่เต้าหู้คิทสึเนะให้เพื่อนซี้ทาน

อุด้ง คือเส้นที่ทำจากแป้งสาลี มีความอวบ หนา นุ่ม ราดด้วยน้ำซุปเป็นคอมฟอร์ทฟู้ดอีกจานที่ทำง่ายและอร่อย แบบฉบับเกียวโตน้ำซุปจะรสบางเบา ไม่เข้มข้นมาก คิโยะเลือกใช้สาหร่ายทะเลราอุซุต้มในน้ำจนรสชาติของทะเลอบอวล จากนั้นใส่ปลาโอแห้งคุณภาพดีใหม่ๆ ลงไป เพื่อให้ได้น้ำซุปดาชิที่บางเบาแต่กลมกล่อม 

พระเอกของจานคือ แผ่นเต้าหู้คิตสึเนะขนาดพอดีคำ และต้นหอมญี่ปุ่นซอยบางๆ ตักน้ำราดท่วมเส้นหนานุ่ม ท็อปด้วยขิงสับก็เป็นอันเรียบร้อย เชื่อว่าอุด้งจานนี้หอมหวนจนคนป่วยคงอดในไม่ได้ที่จะลองซดซุปร้อนๆ แถมต้นหอมญี่ปุ่นยังช่วยบรรเทาหวัดได้อีกด้วยนะ

10

ซุปทงจิรุ 

ถ้วยร้อนในหน้าหนาว

ซุปทงจิรุ (Tonjiru) เป็นหนึ่งในตระกูลซุปมิโสะ แต่โดดเด่นไม่เหมือนคือ วัตถุดิบหลักจะใช้เนื้อหมูสามชั้น และพืชตระกูลหัวทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุก เผือก แคร์รอต หัวหอม เมนูนี้จึงมีอีกชื่อว่า บุตะจิรุ หรือซุปหมูนั่นเอง

ชาวญี่ปุ่นมักรับประทานซุปทงจิรุในหน้าหนาว เพราะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและยังมีประโยชน์ครบถ้วน นอกจากหมูแล้ว วัตถุดิบที่เป็นซิกเนเจอร์ของทงจิรุเลยคือ ก้อนบุกนุ่มๆ ที่เข้ากันกับน้ำซุปร้อนๆ 

จานนี้ปรากฏอยู่ในฉากที่ไมโกะทุกคนร่วมมือกันแสดงละคร ซุปทงจิรุที่ใส่วัตถุดิบหลากหลายนั้นหมายถึงความกลมเกลียวของเหล่าไมโกะที่ทำให้งานแสดงออกมาดี จะขาดใครไปไม่ได้เลย เพราะแต่ละคนล้วนเป็นเหมือนวัตถุดิบชั้นยอดที่ทำให้ทงจิรุถ้วยนี้กลมกล่อม

11

ซุปถั่วแดงนาเบ็กโกะ 

ของหวานแห่งวันเฉลิมฉลอง

ซุปถั่วแดงนาเบ็กโกะ เป็นของหวานดั้งเดิมของจังหวัดอามาโมริบ้านเกิดของคิโยะและสุมิเระ พระเอกของจานคือ ดังโงะ หรือโมจิลูกกลมๆ เหนียวนุ่มนำไปต้มกับถั่วแดงอะซุกิ เป็นของหวานแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น

ชาวอาโอโมริมักจะทำเมนูนี้ถวายเทพเจ้าแห่งการเกษตร ในเทศกาล ‘เทโนะริโอะ’ งานเฉลิมฉลองหลังปลูกข้าว และเทศกาล ‘อะกิจิไม’ หลังการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง

นอกจากนี้ยังนิยมทำกินกันในวันฉลองพิธีจบการศึกษาหรือเลี้ยงส่งอีกด้วย ก่อนที่สองเพื่อนซี้จะจากบ้านมาคุณยายก็ทำเมนูนี้ให้กิน หลังจากที่ซึรุโกมะจากบ้านซากุไปเพื่อนๆ จึงพร้อมใจกันปั้นแป้ง ต้มถั่วแดงเป็นของหวานฉลองพิธีจบการศึกษาของเธอ

12

แซนด์วิชไข่

แบบพอดีคำสำหรับไมโกะคนใหม่

เมนูนี้คือ แซนด์วิชไข่ต้ม หรือ ทามาโกะซานโดะ อันเป็นเมนูที่เรียบง่ายฉบับญี่ปุ่น และเป็นเมนูยอดฮิตที่วางขายแทบทุกร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น คิโยะเลือกใช้ไข่เป็ดลูกสวยมาต้มสุกและนำไปบดกับมายองเนสแบบญี่ปุ่น

แม้จะดูเหมือนอาหารตะวันตกแต่แซนด์วิชไข่ของญี่ปุ่นนั้นแตกต่าง เพราะเรียบง่ายกว่ามาก ในเนื้อไข่ต้มบดนั้นไม่ได้ใส่วัตถุดิบอื่นๆ เลย อีกทั้งมายองเนสก็จะเป็นสูตรของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีรสออกหวานละมุนกำลังดี ทำให้กลายเป็นไอเท็มน่าลองของร้านสะดวกซื้อ หากได้ไปเยือนญี่ปุ่น

ปกติแซนด์วิชไข่จะตัดแบ่งครึ่งตามแนวทะแยงเป็นสามเหลี่ยม แต่เพราะเป็นแซนด์วิชที่ตั้งใจทำให้สุมิเระ คิโยะจึงตัดเป็นสี่เหลี่ยมคำเล็กๆ เพื่อให้ไมโกะคนใหม่แห่งบ้านซากุกินได้โดยไม่เปื้อนลิปสติก   

ส่วนขอบขนมปังเหลือทิ้งคิโยะก็นำไปทอดกรอบคลุกน้ำตาล เป็นของว่างแสนอร่อยที่นั่งกินกับเพื่อนซี้ก่อนหมดวัน

13

อุเมะโบชิ

บ๊วยดองเค็มของดีที่ต้องมีติดบ้าน

เราจะเห็นว่าคิโยะนั้นดองบ๊วยเค็มและนำไปตากแห้งไว้ตรงระเบียง ที่เธอดองบ๊วยเค็มก็เพราะบ๊วยเค็ม หรือ อุเมะโบชิ นั้นเป็นวัตถุดิบที่ชาวญี่ปุ่นมักจะดองติดบ้านเอาไว้ใช้ทำได้หลายเมนู

แต่ก่อนคนมักจะกินบ๊วยเค็มเพื่อช่วยแก้อาการเมาค้างหรือเวลาไม่สบาย แต่ปัจจุบันนั้นบ๊วยเค็มอยู่ในอาหารหลายอย่างจะกินกับข้าวสวยร้อนๆ นำไปใส่เป็นไส้ข้าวปั้นก็อร่อย และยังเป็นส่วนผสมในอาหารหลายๆ อย่าง นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังนิยมใส่บ๊วยเค็มลงในเบ็นโตะเพราะบ๊วยเค็มจะช่วยให้ข้าวกล่องไม่เสียง่ายอีกด้วย

อ้างอิง