ชีวิตมนุษย์กำลังดำเนินไปเป็นพลวัต ราวกับมีเป้าหมายเดียวกันอย่างเงียบๆ โดยไม่ต้องเอ่ยปากถามกัน แต่ละวันเราทำงาน พบปะ พูดคุย สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันว่าเรามีตัวตนและมีคุณค่ากับใครสักคน
ในขณะที่หลายชีวิตกำลังดำเนินไปตามวิถี ก็ยังมีอีกหลายชีวิตที่กำลังเดินสวนทาง เก็บตัวอยู่ในห้องอย่างโดดเดี่ยว ละทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง และตัดสินใจใช้ชีวิตเป็น ‘ฮิคิโคโมริ’ (Hikikomori)
ฮิคิโคโมริ คือคำที่ใช้เรียกคนที่เก็บตัวอยู่คนเดียวในห้องนานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยไม่ออกไปทำงาน ไม่ไปโรงเรียน ไม่ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และตัดขาดจากโลกภายนอกไปโดยปริยาย บางรายก็อาศัยอยู่คนเดียว ออกมาหาอะไรกินในร้านสะดวกซื้อตอนกลางคืน บางรายก็อยู่ในบ้านกับครอบครัว
ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2019 พบว่าในญี่ปุ่นมีฮิคิโคโมริกว่า 1.15 ล้านชีวิต ศาสตราจารย์ทามากิ ไซโตะ (Tamaki Saito) ผู้ศึกษาเรื่องฮิคิโคโมริเชื่อว่าอาจมีบุคคลตกสำรวจอีกนับไม่ถ้วน โดยคาดว่าจำนวนทั้งหมดนั้นอาจมีราว 2 ล้านคน และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
อายุของฮิคิโคโมริส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 15 – 64 ปี และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทำให้ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตที่เรียกว่า ‘80-50’ เมื่อพ่อแม่วัยชราต้องใช้เงินบำนาญเลี้ยงลูกวัยกลางคนซึ่งไม่มีงานทำ
การที่มนุษย์คนหนึ่งเลือกเป็นฮิคิโคโมรินั้นมาจากหลายสาเหตุ บางคนร่างกายเจ็บป่วยเป็นเวลานาน บางคนโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน บางคนล้มเหลวเรื่องงาน บางคนรับแรงกดดันจากสังคมรอบข้างมากเกินไป เมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่ากับสังคม ท้ายที่สุดจึงเลือกปลีกตัวออกจากคนอื่นๆ และอยู่อย่างโดดเดี่ยวในห้อง
หากได้เก็บตัวอยู่คนเดียวแล้ว พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้งอย่างไร โดยปกติแล้วมนุษย์จะสื่อสารกับมนุษย์คนอื่นอยู่เสมอ แต่หากตัดขาดกับผู้คนแล้ว หลายๆ คนอาจมีภาวะซึมเศร้า หวาดกลัวสังคม และเริ่มมีปัญหากับคนในครอบครัว
แต่ถึงอย่างนั้นคนรอบข้างก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร ทำให้บริการ ‘พี่สาวให้เช่า’ ถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่น
พี่สาวให้เช่า
New Start เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NPO : Non profit organization) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 เพื่อให้บริการ ‘พี่สาวให้เช่า’ (Rental Sister) และ ‘พี่ชายให้เช่า’ (Rental Brother) สำหรับเป็นเพื่อนคุย เพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว เป็นเพื่อนผู้อยู่ข้างๆ เพื่อให้ฮิคิโคโมริกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมได้อีกครั้ง
เหล่าพี่สาว พี่ชายให้เช่าเป็นอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกฝนวิธีการรับมือกับฮิคิโคโมริกับองค์กรมาอย่างเชี่ยวชาญ เพียงแต่ไม่ได้มีใบรับรองด้านจิตบำบัด บริการของพวกเขาจึงไม่ใช่เพื่อการรักษา แต่เป็นเหมือนเพื่อนที่ไว้ใจได้ที่จะชวนให้ฮิคิโคโมริออกจากห้องกลับมาอยู่ในสังคมอีกครั้ง การตัดขาดจากโลกภายนอกไปเป็นเวลานานๆ นั้นอาจง่ายขึ้น หากได้เพื่อนที่ไว้ใจช่วยนำทาง
การเข้าหาฮิคิโคโมรินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะเดินเข้าไปเปิดประตูห้องได้เลยทันที พี่สาว พี่ชายจึงหาวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละเคส บ้างเริ่มโทรไปคุย บ้างเขียนจดหมายสอดเข้าไปใต้ประตู ค่อยๆ ขยับเข้าไปยังโลกส่วนตัวของฮิคิโคโมริทีละน้อย เพื่อทำความรู้จักจนเริ่มคุ้นเคยกัน บางรายใช้เวลาไม่นานนัก แต่บางรายก็นานถึง 2 ปี กว่าจะยอมเปิดใจคุยกันได้
อายาโกะ โองุริ (Ayako Oguri) ทำอาชีพเป็นพี่สาวให้เช่ามานานกว่า 10 ปี เธอเล่าว่าเคยเขียนจดหมายตื๊อฮิคิโคโมริคนหนึ่งมากกว่า 30 ฉบับ แต่ก็ไร้ซึ่งการตอบกลับ
หลังจากที่ฮิคิโคโมริยอมเปิดประตูให้พี่สาวแล้ว พี่สาวก็จะแวะเวียนไปหากับฮิคิโคโมริรายสัปดาห์ หรือตามตกลงกัน เพื่อเป็นเพื่อนคุย ชวนออกไปกินข้าวในร้านอาหาร บางรายที่ป่วยและต้องพบแพทย์ พี่สาวก็จะเป็นเพื่อนไปโรงพยาบาลด้วยกัน โดยค่าบริการของพี่สาวและพี่ชายให้เช่าจะอยู่ที่ราวๆ 100,000 เยนต่อเดือน (~25,000 บาท)
แม้พวกเขาจะไม่ใช่จิตแพทย์ แต่ครอบครัวของเหล่าฮิคิโคโมริก็ไว้วางใจให้มาช่วยเหลือ เพราะปัญหาใหญ่สำหรับฮิคิโคโมรินั้นคือคนรอบข้างไม่รู้ว่าจะก้าวเข้าไปยังโลกของพวกเขาอย่างไร พี่สาวให้เช่าจึงเป็นประตูที่เชื่อมพวกเขากับโลกภายนอกอีกครั้ง
จากผลสำรวจในเมืองเอโดงาวะในโตเกียวในปี 2022 พบว่าฮิคิโคโมริส่วนใหญ่นั้นพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ต้องการออกจากห้องหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ฝั่งพี่สาวให้เช่าเผยว่าความยากของการแก้ไขวิกฤตฮิคิโคโมริในญี่ปุ่นคือ พวกเขาไม่สามารถเสนอตัวเข้าไปช่วยได้ ต้องรอให้ครอบครัวหรือฮิคิโคโมริติดต่อมาเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายเคสที่กำลังหาลู่ทาง มองหางานที่พวกเขาพอจะทำได้ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า
เป้าหมายของ New Start มีเพียงหนึ่งเดียวคือ ให้ฮิคิโคโมริได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง นอกจากบริการพี่สาวพี่ชายให้เช่าแล้ว ที่นี่ยังมีหอพักให้ฮิคิโคโมริย้ายเข้ามาอยู่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ กิจกรรมในหอพักส่วนใหญ่คือการฝึกเข้าสังคม เช่น ทำอาหารกับครอบครัว ฝึกปฏิสัมพันธ์ ฝึกอาชีพ โดยมีเหล่าพี่สาวพี่ชายเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ
มีฮิคิโคโมริมากมายที่กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ อิคุโอะ นากามุระ (Ikuo Nakamura) ผู้ใช้ชีวิตแบบฮิคิโคโมริอยู่ในบ้านกับพ่อแม่มานาน 7 ปี เขาตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ในหอพักของ New Start เพราะไม่อยากพึ่งพาครอบครัวอีกต่อไป
ที่นั่นทำให้เขาได้พบกับอายาโกะ ได้พูดคุยกันทุกวันจนอิคุโอะดีขึ้นและตัดสินใจหางานพาร์ทไทม์ทำ ที่น่ายินดีกว่านั้นคือทั้งสองตกหลุมรักกันและตัดสินใจแต่งงานกันในที่สุด ปัจจุบันอิคุโอะยังกลายมาเป็นพี่ชายให้เช่าทำงานที่เดียวกับอายาโกะอีกด้วย
ฮิคิโคโมริหลายคนรู้สึกสบายใจเฉพาะเวลาอยู่กับพี่สาวให้เช่า ถ้าพวกเขาสามารถซัพพอร์ตกันไปได้ตลอดชีวิตอย่างอายาโกะและอิคุโอะก็คงดี แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ และต้องโบกมือลาพี่สาวให้เช่าไปในที่สุด
เรื่องราวของฮิคิโคโมริไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ญี่ปุ่น แต่กำลังเกิดขึ้นในโลกของเรา โดยเฉพาะในอเมริกา อังกฤษ อิตาลี และเกาหลีใต้ ผู้คนกำลังโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลเป็นวิกฤตระดับประเทศได้อย่างที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
บริการพี่สาวให้เช่านั้นยังถือเป็นการช่วยเยียวยาที่ปลายเหตุ แต่ที่สังคมและรัฐบาลในแต่ละประเทศต้องหาวิธีจัดการคือ ‘การทำให้ปัจเจกบุคคลรู้สึกมีคุณค่า’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ได้ถูกลืมหรือไร้ตัวตนจากสังคม
ทุกวันนี้เราอาจเห็นได้ว่าหลายบริษัทรับพนักงานที่อายุไม่เกิน 30 ปี ผู้พิการไม่ได้รับโอกาสให้ทำงาน คนวัยเกษียณอีกมากมายรู้สึกว่าพวกเขาหมดประโยชน์กับสังคม ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์หนึ่งคนนั้นยังมีประสิทธิภาพมากพอ ทำอะไรได้ตั้งมากมาย หากเจองานที่ใช่ เจอพื้นที่ที่เหมาะสม
เมื่อทุกคนรู้สึกว่าตัวเองยังสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้ พวกเขาจะรู้สึกว่ามีตัวตนและเห็นคุณค่าในชีวิตของตัวเองได้ในที่สุด
อ้างอิง
- Amelia Martyn-Hemphill. Rent-a-sister: Coaxing Japan’s hikikomori out of their rooms. https://bbc.in/3Y8orNb
- Laurence Butet-Roch. Pictures Reveal the Isolated Lives of Japan’s Social Recluses. https://on.natgeo.com/3Rdw5ni
- The Nippon Communications Foundation. Japan’s “Hikikomori” Population Could Top 10 Million. https://bit.ly/3wCbaAT
- The Nippon Communications Foundation. Survey Finds 1 in 76 Residents Are “Hikikomori” in Edogawa, Tokyo. https://bit.ly/3jh0TXy