life

‘สุขที่ยั่งยืน’ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากวัตถุหรือสิ่งของนอกกาย แต่เกิดขึ้นเพราะ ‘ใจ’ ที่เป็นสุขของเรา

นี่คือบทสรุปที่ เดวิด จี. ไมเออร์ส (David G. Myers) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและนักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันได้รับ หลังจากเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับความสุขและการมีชีวิตที่ดีมาตั้งแต่ปลายยุค 80 ไมเออร์สพบว่า ความสุขเป็น subjectivity หรือ อัตวิสัย หมายความว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองและความคิดของแต่ละคนมากกว่าสิ่งใด

ก่อนหน้านั้น ไมเออร์สมักจะถูกถามถึง ‘วิธีทำให้ชีวิตมีความสุข’ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตรงกับคำถามที่เขาใช้ตั้งต้นค้นคว้าเรื่องความสุขที่ยังยืนในชีวิต เป็นที่มาของ The Pursuit of Happiness: Discovering the Pathway to Fulfillment, Well-Being, and Enduring Personal Joy. หนังสือแนวจิตวิทยาเล่มแรกๆ ที่พูดถึงหนทางพบพานความสุขด้วยตนเอง

แม้จะไม่เคยมีสูตรสำเร็จที่ลงมือทำแล้วจะการันตีได้แน่นอนว่า ชีวิตในวันข้างหน้าย่อมพบพานกับความสุขไปตลอด แต่ไมเออร์สได้สรุปแนวทางไว้เป็นข้อคิด ข้อปฏิบัติกว้างๆ และคำตอบสำหรับคนที่เคยสงสัยว่า ‘ทำอย่างไรจึงอยู่อย่างมีความสุข?’ เพราะคำแนะนำทั้ง 10 ข้อต่อไปนี้ ล้วนแต่เป็นสาเหตุและที่มาของความสุขในชีวิต

1. ความสุขที่ยั่งยืนไม่ได้เกิดจากความสำเร็จและความมั่งคั่ง ความสำเร็จและความมั่งคั่งเปรียบได้กับสุขภาพที่ดี หากไม่มีเลยย่อมทำให้ทุกข์และใช้ชีวิตยากลำบากมากกว่า เพราะขาดความคล่องตัว แต่การมีสุขภาพดีก็ไม่ถือเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขถาวร

2. ความสุขขึ้นอยู่กับการควบคุมเวลาของเรา คนที่มีความสุขคือคนที่รู้สึกว่าเป็นนายตัวเอง คือควบคุมชีวิตของตนได้โดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของคนอื่น การบริหารเวลาในทุกๆ วันคือสิ่งสะท้อนว่าชีวิตเป็นของเรา ความสุขจึงเกิดขึ้นได้หากมีเป้าหมายที่ต้องทำแต่ละวันอย่างชัดเจน แล้วบรรลุซึ่งเป้าหมายนั้นได้ด้วยตนเอง

3. ทำตัวให้มีความสุขหรือเป็นคนมีความสุข ไม่ได้สนับสนุนให้เป็นคนเสแสร้งแกล้งทำ นอกจากเป็นวิธีที่ผิดแล้ว จะยิ่งทำให้ทุกข์มากขึ้น แต่หลายๆ ครั้ง เราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อรู้จักทำตัวให้มีความสุขก่อน เช่น ทำสีหน้ายิ้มแย้ม ช่วยเพิ่มความรู้สึกดีมากกว่าการทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ท่าทีเป็นมิตรและเปิดรับทำให้เกิดอารมณ์ทางบวกตามมา เพราะพฤติกรรมหรือการกระทำเป็นตัวกำหนดอารมณ์และความรู้สึกได้

4. ทำงานและหางานอดิเรกทำจากอาศัยทักษะที่ถนัดหรือทำได้ดี คนที่มีความสุขมักอยู่ใน ภาวะลื่นไหล หรือ Flow หมายความว่า เมื่อเราง่วนหรือเพลิดเพลินอยู่กับงานและการทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความเต็มใจซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักที่จะทำ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือดูไม่สลักสำคัญในสายตาคนอื่นไปบ้าง อย่าได้สนใจ ยิ่งสิ่งนั้นทำให้รู้สึกพอใจ ภูมิใจ และอิ่มเอมใจ ก็จะยิ่งทำให้มีความสุข

5. เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ หัวใจที่เข้มแข็งย่อมอยู่ภายในร่างกายที่แข็งแรง เช่นเดียวกับความสุข การขยับร่างกายบ่อยๆ ให้กระฉับกระเฉงอย่างการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ไม่ปล่อยให้เนือยนิ่งเซื่องซึม จะทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น ได้ทั้งระบายความคับข้องใจด้วยวิธีการสร้างสรรค์ และผ่อนคลายความตึงเครียดและความกังวลใจ

6. นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ คนเรามักจะทำกิจกรรมมากมายในแต่ละวัน ร่างกายจึงสูญเสียพลังงานและเกิดความอ่อนล้า ไม่ต่างจากแบตเตอรี่ที่ถูกใช้งานจนเกือบหมดก้อน หากละเลยการพักผ่อนด้วยการนอนหลับเต็มอิ่ม หรือไม่ชาร์จแบต ร่างกายจะอดนอนสะสมจนแสดงอาการเป็นความรู้สึกเพลียและไม่มีสมาธิระหว่างวัน กลายเป็นสิ่งรบกวนใจที่ขัดขวางไม่ให้ชีวิตรู้สึกสุขได้

7. ให้ความสำคัญกับคนใกล้ชิดเสมอ ใส่ใจความสัมพันธ์กับคนรอบกาย การแสดงความรักและความปรารถนาดีต่อกันอย่างตรงไปตรงมาทำให้รู้สึกดีและมีความสุข เมื่อชีวิตมีคนที่เข้าใจเราคอยอยู่เคียงข้าง ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ต่อให้เจอปัญหาที่ทำให้เกิดความยุกยากและความทุกข์ จะปรับตัว แก้ไข ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค แล้วก้าวข้ามไปได้ดีกว่า

8. รู้จักมองข้ามตัวเองบ้าง มองข้ามตัวเองในความหมายนี้คือ มองเห็นหรือนึกถึงผู้อื่นที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ เช่น คนที่ลำบากกว่า หรือคนที่ประสบปัญหาใหญ่ซึ่งไม่อาจข้ามผ่านไปได้ด้วยตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจจะทำให้เรายินดีช่วยเหลือคนอื่นๆ ตามกำลังและความสามารถด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทน การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทำให้รู้สึกดีต่อตัวเองและใจเป็นสุข

9. เขียนบันทึกประจำวันเกี่ยวกับความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น การเขียนถึงเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน ทั้งสิ่งที่พบเจอและเกิดขึ้นรอบตัว เป็นการย้ำเตือนว่า ความสุขเกิดขึ้นได้แม้แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ เท่านั้น ในแง่หนึ่งคือการทบทวนตัวเองให้ใส่ใจสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวที่ทำให้รู้สึกดี เช่น การบานของดอกไม้ การเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้า หรือการชื่นชมความงดงามในบางสิ่งบางอย่าง

10. เติบโตทางจิตวิญญาณ ไม่สำคัญว่าจะนับถือศาสนาและความเชื่อใด หรือไม่นับสิ่งใดเลย ขอเพียงนับถือและเคารพตัวเองรวมถึงความเป็นมนุษย์ รู้จักฝึกสมาธิเพื่อรู้สติและตระหนักรู้ความเป็นไปที่เกิดขึ้นรายรอบในวิถีทางตัวเหมาะกับตน เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจ จะทำให้สุขใจได้ยั่งยืนมากกว่าเอาใจไปผูกติดอยู่กับคนอื่นหรือสิ่งของอื่น

 

อ้างอิง

  • Baumeister, Roy F. and Bushman, Brad J. (2014). Social Psychology and Human Nature. (3rd edition). Belmont, CA, United States: Cengage Learning.
  • Myers, David G. (1993). The Pursuit of Happiness: Discovering the Pathway to Fulfillment, Well-Being, and Enduring Personal Joy. New York, NY: William Morrow and Company.