life

ใครเป็นบ้าง? ‘แคะหู’ เมื่อไร ต้องมีอาการ ‘ไอ’ เมื่อนั้น

แล้วไม่ใช่อาการทั่วไปที่เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะมีแค่บางคนที่จะรู้สึกระคายคอขณะแคะหู ปั่นหู หรือไปหาหมอให้ดูดขี้หู จนต้องไอหรือแสดงอาการอยากอ้วกออกมา ทั้งๆ ที่เป็นคนแข็งแรง สุขภาพดี และไม่ได้ป่วยเป็นโรคที่มีอาการไอเรื้อรังมาก่อน

จึงเป็นเรื่องชวนสงสัยว่า อาการแปลกๆ แบบนี้ที่เกิดขึ้นเฉพาะคน เป็นความผิดปกติของร่างกายหรือเปล่า?

แต่สบายใจได้ ไม่มีอะไรผิดปกติทั้งนั้น เพราะอาการคันคออยากไอที่เกิดขึ้นเฉพาะเวลาแคะหู เป็นผลมาจากการทำงานของระบบประสาทที่ดีเกินไปต่างหาก ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Ear-Cough Reflex หรือ Arnold’s Nerve Reflex (ANR) โดยตั้งตามชื่อ ฟรีดริช อาร์โนลด์ (Friedrich Arnold) เพราะอาร์โนลด์เป็นนักกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาชาวเยอรมันผู้บุกเบิกศึกษาเส้นประสาทใต้ผิวหนังบริเวณหู จนนำไปสู่ข้อค้นพบและคำอธิบายซึ่งกลายเป็นคำตอบในเรื่องนี้

ฟรีดริช อาร์โนลด์

โดยปกติ การแสดงออกของสีหน้าและท่าทางที่มองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน โบกมือ ไถหน้าจอสมาร์ตโฟน หัวเราะ ขมวดคิ้ว ล้วนแล้วแต่เป็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจทั้งหมด เพราะตัวเราเองเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรตามที่ใจต้องการ ซึ่งเป็นการควบคุมและสั่งการผ่านสมอง

แต่ถ้าหากเราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณผิวหนัง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับผิวหนังส่วนไหนของร่างกายก็ตาม เช่น ในกรณีที่นิ้วมือของเราถูกปลายเข็มแหลมทิ่มด้วยความไม่ระวัง หรือขณะรีดผ้าอยู่แล้วเผลอเอามือไปถูกแผ่นเหล็กร้อนจัด รวมถึงตอนที่มือไปโดนขอบกระทะหรือขอบหม้อต้มน้ำระหว่างปรุงอาหาร สำหรับคนที่เคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน จำได้ไหมว่า ร่างกายตอบสนองอย่างไร?

คงไม่มีใครอยู่เฉยๆ ให้ตัวเองรู้สึกปวดแสบปวดร้อนต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร แต่ในชั่วพริบตาเดียว ร่างกายจะตีความว่า เข็ม เตารีด และขอบกระทะที่กำลังสร้างความเจ็บปวดบริเวณผิวหนัง คือภัยคุกคามที่สร้างอันตรายร้ายแรงให้ร่างกายได้หากปล่อยทิ้งไว้ ร่างกายจึงสั่งการผ่านเส้นประสาทและไขสันหลังให้กล้ามเนื้อรีบดึงนิ้วมือออกมาให้ไกลจากเข็ม เตารีด และของกระทะอย่างเร็วที่สุด

การตอบสนองของร่างกายภายในเสี้ยววินาทีเพื่อยับยั้งความเจ็บปวดไม่ให้รุนแรงไปมากกว่านี้ เป็นความมหัศจรรย์ของกลไกร่างกายที่เรียกว่า Reflex หรือ ระบบปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสมองให้เสียเวลา เพราะร่างกายกลัวว่าจะช้าเกินไปจนไม่ทันท่วงที

Reflex หรือ ระบบปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติ เปรียบได้กับทางลัดที่ช่วยทำให้ร่างกายเอาตัวรอดจากความเจ็บปวดให้ได้ไวที่สุด เป็นกลไกพื้นฐานที่ร่างกายใช้ปกป้องอวัยวะสำคัญให้อยู่รอดปลอดภัย ตัวอย่างเช่น หากมีแมลงตัวเล็กหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ดวงตา ร่างกายจะรีบหลับตาพร้อมกับเอนตัวหลบโดยอัตโนมัติ หรือถ้ามีแสงไฟส่องเข้าตา รูม่านตาจะหรี่เล็กลงเองทันที เพื่อไม่ให้มีแสงเข้าตามากเกินไปจนเกิดอันตราย แล้ว Reflex เกี่ยวข้องกับอาการคันคออยากไอขณะแคะหูอย่างไร?

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน จำเป็นต้องเปรียบเทียบอาการอยากไอขณะแคะหู กับ Knee-Jerk Reflex หรือ ปฏิกิริยาการเตะขาที่เกิดจากการเคาะถูกเส้นเอ็นที่หัวเข่า

จากคลิป (ระหว่างเวลา 1:00:21-1:01:01) เมื่อคุณหมอใช้ค้อนขนาดเล็กเคาะเบาๆ บริเวณหัวเข่า จะเห็นว่าขาของคนไข้แตะขึ้นหรือกระตุกเล็กน้อย เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติที่มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. กระตุ้น: เมื่อมีแรงมากระทำกับผิวหนัง (ในกรณีนี้คือการเคาะเขา) แรงจะกระตุ้นตัวรับความรู้สึกของเส้นประสาทที่อยู่ใต้ผิวหนังหัวเข่า เปลี่ยนแรงเป็นกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ 
  2. รับเข้า: กระแสไฟฟ้า หรืออาจเรียกว่ากระแสประสาท วิ่งเข้าไปตามเส้นประสาทที่เชื่อมต่อเข้าสู่ไขสันหลัง เพื่อให้ร่างกายแปลความหมายเป็นภัยอันตรายที่ต้องหลบเลี่ยง
  3. ส่งออก: ไขสันหลังส่งกระแสประสาทวิ่งกลับออกมา โดยใช้เส้นประสาทที่มีปลายทางเชื่อมต่ออยู่กับกล้ามเนื้อขาแทน
  4. โต้ตอบ: กระแสประสาทที่เดินทางมาถึงกล้ามเนื้อ จะสั่งการให้กล้ามเนื้อหดตัวโต้ตอบอัตโนมัติแสดงออกเป็นการสั่นกระตุกของขา เพื่อป้องกันร่างกายให้ปลอดภัยจากการถูกกระตุ้นอย่างแรง

ส่วนอาการคันคออยากไอขณะแคะหู นับเป็นระบบปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติรูปแบบหนึ่ง ตามที่ได้เกริ่นไว้ในต้นบทความ ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Ear-Cough Reflex หรือ Arnold’s Nerve Reflex (ANR) 

เดิมที อาร์โนลด์เป็นคนแรกๆ ที่ศึกษาโครงสร้างและการทำงานของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Cranial Nerve X หรือ Vagus Nerve) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสมองกับอวัยวะในช่องท้อง แต่จุดที่ดึงความสนใจของอาร์โนลด์ไปได้ทั้งหมด คือ แขนงของเส้นประสาทที่แยกย่อยออกมาอยู่บริเวณช่องรูหู (Auricular Branch of Vagus Nerve หรือ Arnold’s Nerve) ทั้งสองข้าง

ภาพแสดงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Cranial Nerve X หรือ Vagus Nerve)

การค้นพบของอาร์โนลด์ กลายเป็นใบเบิกทางให้วงการแพทย์ในยุคต่อมาได้คำตอบว่า อาการคันคออยากไอขณะแคะหูเกิดจากการกระตุ้นผิวหนังบริเวณรูหูซึ่งมีแขนงของเส้นประสาทอยู่มาก ทำให้ร่างกายตีความว่า การแคะหูเป็นภัยคุกคาม จึงโต้ตอบกลับออกมาเป็นอาการไอหรืออ้วก ที่สำคัญอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน

ในอดีตมีข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจอาการไอขณะแคะหูในผู้ป่วยที่น่าสนใจอยู่ 2 ชุด ชุดแรกเกิดขึ้นในปี 1976 โดยสำรวจผู้ป่วยจำนวน 688 คน พบว่า มีคนที่ไอขณะแคะหูเพียง 12 คน คิดเป็น 1.74% เท่านั้น ส่วนอีกชุดเกิดขึ้นในปี 1986 จากผู้ป่วย 500 มีคนที่ไอขณะแคะหู 24 คน คิดเป็น 4.2% สำหรับคนที่มีอาการคันคออยากไอเวลาแคะหู โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับหูทั้ง 2 ข้างก็น้อยลงไปอีก เพราะส่วนมากเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

ภาพจำลองแขนงของเส้นประสาทที่แยกย่อยออกมาอยู่บริเวณช่องรูหู (Auricular Branch of Vagus Nerve หรือ Arnold’s Nerve) ด้วยโปรแกรม 3D4Medical

ปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติของ Ear-Cough Reflex หรือ Arnold’s Nerve Reflex (ANR) มี 4 ขั้นตอนเช่นเดียวกัน ดังนี้

  1. กระตุ้น: ไม้แคะหูสร้างแรงกดบริเวณผิวหนังในรูหู ซึ่งมีแขนงของเส้นประสาทอยู่มาก ทำให้ตัวรับความรู้สึกรับแรงกดได้ไวขึ้น แล้วเปลี่ยนแรงเป็นกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ 
  2. รับเข้า: กระแสไฟฟ้า หรือกระแสประสาท วิ่งเข้าไปตามเส้นประสาทที่เชื่อมต่อเข้าสู่ก้านสมอง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับไขสันหลัง เพื่อให้ร่างกายแปลความหมายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องรีบตอบสนอง
  3. ส่งออก: ก้านสมองส่งกระแสประสาทวิ่งกลับออกมา โดยใช้เส้นประสาทที่มีปลายทางเชื่อมต่ออยู่กับกล้ามเนื้อบริเวณคอแทน
  4. โต้ตอบ: กระแสประสาทที่เดินทางมาถึงกล้ามเนื้อคอ จะสั่งการให้กล้ามเนื้อหดคอตัวโต้ตอบอัตโนมัติแสดงออกเป็นอาการระคายคออยากไอหรืออวด เพื่อป้องกันร่างกายให้ปลอดภัยจากการถูกกระตุ้น ทำให้เราหยุดพักจากการแคะหู

ทั้งหมดคือคำตอบที่การแพทย์ค้นพบเพื่ออธิบายอาการคันคออยากไอขณะแคะหู หากดูอย่างผิวเผิน เป็นสองสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ จนกระทั่งสำรวจลึกลงไปภายในร่างกาย ทำให้ค้นพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นกลไกที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยป้องกันภัยอันตรายจริงๆ รวมถึงสิ่งที่ร่างกายเข้าใจว่าเป็นภัยอย่างการล้วงแคะบริเวณรูหู

 

อ้างอิง