life

เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยเห็นภาพของฆาตกรหน้ากากหวีดร้องสีขาว จากเรื่อง SCREAM ผ่านตามาไม่มากก็น้อย

ภาพยนตร์แนวไล่ฆ่า (Slasher) ชื่อไทยว่า ‘หวีดสยอง’ โลดแล่นอยู่ในฮอลลีวู้ดมากว่า 6 ภาคนับตั้งแต่ปี 1996 บางคนก็อาจจะคุ้นตากับเวอร์ชั่นเรียกเสียงฮาปนบ้าบอจาก Scary Movie ซึ่งเป็นหนังล้อเลียนจากปี 2000

แต่รู้ไหมว่า บทหนังที่ เควิน วิลเลียมสัน (Kevin Williamson) เขียนขึ้นมานั้นมีบางส่วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1990 นี่ไม่ใช่การนำเรื่องจริงมาดัดแปลง และไม่ใช่การนำตัวฆาตกรในชีวิตจริงมาขึ้นสู่จอเงินให้ผู้คนจดจำแต่อย่างใด กลับกัน สิ่งที่เขาเลือกหยิบมาคือความรู้สึกหวาดกลัวในค่ำคืนที่เขาได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากช่องข่าว ABC NEWS ของสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน เรื่องราวของฆาตกรคนนี้อาจเป็นเคสตัวอย่างที่ชัดเจนให้กับงานวิจัยที่ว่า การเลี้ยงดูในวัยเด็กจะเป็นสิ่งกระตุ้นพันธุกรรม ‘ไซโคพาธ’ (Psychopaths) และมีผลอย่างยิ่งต่อแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมในอนาคต

 

TW: เนื้อหาต่อไปนี้มีสถานการณ์การฆาตกรรม ความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติด ซึ่งอาจรบกวนจิตใจผู้อ่านบางท่านได้

 

The Gainesville Ripper

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา จากรายงานของตำรวจ เหตุสลดเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 สิงหาคม ปี 1990 ฆาตกรรายหนึ่งได้ลอบเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ และเข้าไปยังห้องพักของสองนักศึกษา

คนแรกที่เขาพบคือ คริสติน่า พาวเวลล์ (Christina Powell) เขาจ้องมองเธอที่กำลังนอนหลับอยู่บนโซฟาในห้องนั่งเล่น ก่อนจะขึ้นไปยังชั้นบน แล้วพบกับ ซอนญ่า ลาร์สัน (Sonja Larson) เหยื่อรายแรกที่กำลังนอนหลับอยู่บนเตียง ทั้งคู่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้าย อีกทั้งยังถูกจัดท่าทางชนิดผิดมนุษย์เมื่อตำรวจมาพบเข้า

ในคืนถัดมาเขาก่อเหตุขึ้นอีกครั้งในอพาร์ทเมนต์ของเหยื่อรายที่ 3 ที่มีชื่อว่า คริสติน่า ฮอยต์ (Christa Hoyt) แม้ในทีแรกเธอจะยังพอมีโชคดีอยู่บ้าง เนื่องจากในตอนที่ฆาตกรลอบเข้าไปในที่พัก เธอไม่ได้อยู่ที่นั่นในเวลานั้น และกลับมาอีกทีในตอนเช้า แต่ท้ายที่สุด เหตุฆาตกรรมก็เกิดขึ้นอย่างน่าเศร้า เมื่อฆาตกรเลือกที่จะแอบรอเธออยู่ในที่พัก และลงมือกับเธอด้วยความโหดเหี้ยมยิ่งกว่า 2 รายแรก

เหตุการณ์ข้างต้นทำให้ผู้คนต่างหวาดผวา และนึกย้อนกลับไปถึงช่วงปี 1978 ที่ฆาตกรต่อเนื่อง เท็ด บันดี้ (Ted Bundy) เคยสร้างแผลใจเอาไว้ให้กับชาวฟลอริดา และมันกำลังซ้ำรอยขึ้นอีกครั้ง ข้อบ่งชี้สำคัญคือ เหตุทั้งหมดเกิดขึ้นในรัศมี 3 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา เมืองเกนส์วิลล์ และเหยื่อทุกรายต่างเป็นนักศึกษา นั่นจึงทำให้ฆาตกรรายนี้ถูกตั้งชื่อว่า ฆาตกรฆ่าหั่นศพแห่งเกนส์วิลล์ (The Gainesville Ripper)

สองวันต่อมานับจากเหยื่อรายที่ 3 ฆาตกรได้บุกเข้าไปในอพาร์ตเมนต์อีกแห่งหนึ่ง ก่อนจะทำการฆาตกรรมเหยื่อรายที่ 4 และ 5 ที่มีชื่อว่า มานูเอล ทาโบด้า (Manuel Taboda) และ เทรซี่ พอลส์ (Tracy Paules) อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ตำรวจพบจากการก่อเหตุครั้งก่อนๆ คือ มานูเอลเป็นเหยื่อผู้ชายเพียงคนเดียวของฆาตกรรายนี้ และเขาไม่ถูกจับจัดท่าทางใดๆ แตกต่างจากเทรซี่ที่ถูกกระทำไม่ต่างจากเหยื่อรายก่อนๆ นั่นจึงพอจะทำให้สรุปได้ว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้หญิงตกเป็นเป้าหมายหลักของฆาตกรต่อเนื่องอันน่าหวาดกลัว

อย่างไรก็ตาม ฆาตกรรายนี้ก็หยุดความโหดร้ายของเขาเอาไว้ที่เหยื่อรายที่ 5 และหายตัวไปเป็นเวลาหลายเดือน พร้อมกับการสืบสวนที่ไม่คืบหน้า เพราะฆาตกรกลบร่องรอยเป็นอย่างดี และนั่นอาจทำให้เขาสามารถหายลับเข้ากลีบเมฆ โดยไม่มีใครรับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงได้เลย ถึงอย่างนั้น กระบวนการสืบสวนก็นำพาเจ้าหน้าที่ย้อนกลับไปพบกับคดีที่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงว่าจะเป็นเหยื่อรายแรกที่แท้จริงของฆาตกรรายนี้

4 พฤศจิกายน ปี 1989 เมืองชรีฟพอร์ต รัฐลุยเซียนา ได้มีการพบศพของครอบครัว กริสซัม (Grissom) ในบ้านของพวกเขาพร้อมร่องรอยการถูกบุกรุก เหยื่อทั้ง 3 ประกอบไปด้วย ทอม กริสซัม (Tom Grissom) ผู้เป็นปู่ พร้อมกับลูกสาวของเขา จูลี่ (Julie) และ ณอน (Sean) ลูกชายวัย 8 ขวบของเธอ ข้อน่าสังเกตคือเมื่อตำรวจมองย้อนกลับไปยังคดีนี้ รูปการณ์มีความคล้ายกับคดีของทาโบด้าและพอลส์ (เหยื่อรายที่ 4 และ 5) ซึ่งศพของผู้ชายไม่ถูกแตะต้องแม้แต่นิดเดียว กลับกัน ศพของผู้หญิงถูกจัดท่าทางเช่นเดียวกับเหยื่อผู้หญิงรายอื่นๆ แต่จนแล้วจนรอด ตำรวจก็ยังไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้ และหลักฐานเพียงชิ้นเดียวของพวกเขาที่ได้จากบ้านหลังนี้คือ DNA จากเลือดของฆาตกรที่บ่งบอกว่าคนคนนี้มีเลือดกรุ๊ป B

ก่อนที่ในเวลาต่อมาฆาตกรเองก็ได้ทำผิดพลาดร้ายแรง และเป็นข้อผิดพลาดเดียวกับฆาตกรต่อเนื่องหลายๆ คน นั่นคือ เขาไม่อาจหยุดปากตัวเองไม่ให้พูดถึงความอยากในการฆ่าคนได้ 

ที่เมืองชรีฟพอร์ต มีสามี-ภรรยาชาวคู่หนึ่งชื่อว่า ซินดี้ จูราซิช (Cindy Juracich) และ สตีฟ ดอบบิน (Steve Dobbin) ทั้งคู่ได้รู้จักกับชายคนหนึ่งที่โบสถ์คริสเตียน และได้ชวนเขาไปกินข้าวที่บ้านอยู่หลายครั้ง ซึ่งซินดี้ให้สัมภาษณ์กับ ABC NEWS ในปี 2021 ว่า คืนหนึ่งสตีฟเดินมาบอกกับเธอหลังมื้ออาหารว่า ชายคนที่พวกเขาเชิญมากินข้าวที่บ้านเป็นพวกวิกลจริต เพราะชายคนนี้บอกกับสตีฟว่า เขามีปัญหาบางอย่าง และเมื่อสตีฟถามกลับไปว่าปัญหานั้นคืออะไร เขาตอบว่า “ผมชอบที่จะเสียบมีดเข้าไปในตัวคน” ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่คดีฆาตกรรมครอบครัวกริสซัมได้เกิดขึ้นไปแล้ว

หลังจากคดีของเหยื่อรายที่ 5 และจากการสืบสวนถึงความเกี่ยวข้องกับคดีในเมืองเมืองชรีฟพอร์ต ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า คดีฆาตกรรมในเมืองชรีฟพอร์ต และคดีในรัฐฟลอริดาเป็นการกระทำของคนคนเดียวกัน ตอนนั้นเองที่ซินดี้ได้เห็นข่าวที่ถ่ายทอดทั่วประเทศ และนึกถึงคำพูดของชายคนนั้นที่เธอไม่อาจลืมได้ ซึ่งเขาบอกกับเธอว่า “สักวันหนึ่ง ผมจะออกไปจากเมืองนี้ และจะไปในที่ที่มีแต่สาวๆ สวยๆ ที่ที่ผมสามารถนอนอาบแดดและมองดูผู้หญิงสวยๆ เหล่านั้นได้ทั้งวัน” เธอโทรหาตำรวจและแจ้งเกี่ยวกับเหตุอาชญากรรมทันที เธอบอกกับตำรวจว่า “ฉันคิดว่ามีผู้ชายอยู่คนหนึ่งที่พวกคุณควรจะต้องสอบสวน เขาชื่อว่า แดนนี่ โรลลิ่ง (Danny Rolling)

เดือนมกราคม ปี 1991 ตำรวจใช้เวลาในการตามหาตัวแดนนี่ไม่นานนัก เนื่องจากเขากำลังนั่งอยู่ในคุกของรัฐฟลอริดาจากข้อหาลักขโมยพอดี และจากการสอบสวน พร้อมกับตรวจ DNA ทั้งหมดนำไปสู่การค้นพบความจริงทีละอย่าง อย่างแรกคือ DNA ของแดนนี่ตรงกับหลักฐานที่พวกเขาพบในที่เกิดเหตุ อย่างที่สองคือ จากการเข้าค้นที่พัก ตำรวจได้พบเข้ากับเครื่องมือที่ใช้ก่อเหตุ และอย่างที่สามคือ ไดอารี่ของแดนนี่ที่เขียนบันทึกถึงการก่อเหตุเอาไว้ทั้งหมด ในเวลาต่อมาแดนนี่จึงรับสารภาพ และถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม ก่อนจะถูกประหารชีวิตในวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2006

 

ปูมหลังคดี

แดนนี่ ฮาโรลด์ โรลลิ่ง (Danny Harold Rolling) เกิดในวันที่ 26 พฤษภาคม ปี 1954 ในเมือง ชรีฟพอร์ต รัฐลุยเซียนา เขาเป็นลูกชายคนโตของ คลอเดีย (Claudia) และ เจมส์ โรลลิ่ง (James Rolling) ด้วยความโชคร้ายหรืออะไรก็ไม่อาจทราบได้ เจมส์ผู้เป็นพ่อไม่เคยคิดอยากที่จะมีลูกมาตั้งแต่แรก และมักจะทุบตีคลอเดียอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่าแดนนี่ก็หนีไม่พ้นจากความโหดร้ายของเจมส์ด้วยเช่นกัน ครั้งแรกที่แดนนี่ถูกทำร้าย เขาพึ่งอายุได้เพียง 1 ขวบเท่านั้นเอง

ครอบครัวโรลลิ่ง (ขวามือ: แดนนี่ โรลลิ่ง)

ในช่วงที่เขาเรียนอยู่เกรด 3 (ประถมศึกษาปีที่ 3) ทางโรงเรียนแจ้งกับแม่ของแดนนี่ว่า ตัวเขากำลังเป็นทุกข์จากความรู้สึกมีปมด้อย (Inferiority Complex) มีแนวโน้มก้าวร้าวและควบคุมแรงกระตุ้นได้ไม่ดี (Aggressive Tendencies and Poor Impulse Control) ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้น มันก็เป็นอย่างที่ทางโรงเรียนว่าเอาไว้จริงๆ

แดนนี่ถูกทารุณจากผู้เป็นพ่ออยู่แรมปี จนเมื่ออายุได้ 11 ปี เขาก็หันมาพึ่งยาเสพติด และตอนอายุได้ 14 ปี เขาถูกจับได้ขณะกำลังถ้ำมองลูกสาวของเพื่อนบ้าน ต่อมาในวัย 18 ปี เขาต้องลาออกจากกองทัพอากาศด้วยปัญหาอาการเสพยาของตน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเริ่มจะดีขึ้น ชีวิตของแดนนี่ใกล้เคียงคำว่าปกติที่สุดเมื่อเขาได้แต่งงานในวัย 20 ปี

จนกระทั่งปี 1977 ชีวิตของแดนนี่ในวัย 23 ปี ก็กลับตาลปัตรอีกครั้ง เมื่อภรรยาที่อยู่กินกันมานานกว่า 4 ปี ได้ขอแยกทางจากเขา เนื่องจากแดนนี่ขู่ฆ่าเธอด้วยอาวุธปืน หลังจากนั้นเป็นต้นมา แดนนี่กลายเป็นตัวหายนะอย่างเต็มรูปแบบ เขาล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงคนหนึ่งเพียงเพราะเธอมีหน้าตาและลักษณะคล้ายกับภรรยาเก่าของเขา ซึ่งแดนนี่ไม่เคยถูกจับได้ด้วยข้อหานี้แต่อย่างใด

​​ตั้งแต่นั้นมาจนถึงอายุ 35 ปี แดนนี่ก่ออาชญากรรมและการโจรกรรมเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้ง รวมไปถึงการใช้อาวุธเข้าปล้นชิง ส่งผลให้เขาถูกจับทั้งในรัฐลุยเซียนา มิสซิสซิปปี้ จอร์เจีย และอลาบาม่า ก่อนที่จะกลับมายังเมืองชรีฟพอร์ต พร้อมกับก่อคดีฆาตกรรมครอบครัวกริสซัมในเดือนพฤศจิกายน ปี 1989 หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมปี 1990 เขาได้ลงมือแก้แค้นผู้เป็นพ่อด้วยอาวุธปืน แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปี 1990 แดนนี่เปลี่ยนตัวตนด้วยเอกสารที่ขโมยมาจากการบุกรุกเข้าไปในบ้านของใครบางคน เขาหนีจากเมืองชรีฟพอร์ต ขึ้นรถบัสไปยังเมืองซาราโซตา รัฐฟลอริดา เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะ ไมเคิล เคนเนดี้ จูเนียร์ (Michael Kennedy Jr.) และเริ่มก่อคดีที่อันน่าเศร้าที่พรากชีวิตอันมีค่าของเหล่านักศึกษาไปทั้งสิ้น 5 ราย

 

พันธุกรรมอำพราง

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้แดนนี่ โรลลิ่ง กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง นั้นมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว การถูกผู้เป็นพ่อทารุณตั้งแต่เด็ก และการไม่ได้เข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์ตามที่แม่ของเขาให้การต่อศาลว่า เธอเคยคิดจะพาเขาไปพบจิตแพทย์ แต่กลับถูกผู้เป็นพ่อห้ามเอาไว้ 

อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ 2020 มานี้ ศาสตราจารย์เจมส์ เอช. เฟลลอน (James H. Fallon) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เออร์ไวน์ ได้ทำการทดลองสแกนสมองระหว่างคนทั่วไปและไซโคพาธ หรือผู้ที่เคยก่อเหตุอาชญากรรม และเป็นฆาตกร ผลลัพธ์ที่น่าตกใจคือ เขาพบสมองชิ้นหนึ่งที่ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า คนคนนี้จะเป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งสมองชิ้นนั้นคือ สมองของเขาเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุคำว่า ‘ไซโคพาธ’ (Psychopaths) เป็นหนึ่งในกลุ่มของ โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) และได้กลายเป็นคำที่วินิจฉัยถึงอาการทางจิตของผู้ที่เป็นโรคนี้ โดยมีลักษณะขาดความเห็นใจผู้อื่น, ขาดความสำนึกผิด, ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว, ขาดความยับยั้งชั่งใจ และเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

ศาสตราจารย์อธิบายว่า สมองบางส่วนของไซโคพาธกับคนทั่วไปมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกับส่วนสีเทาที่มีหน้าที่ทำงานเมื่อนึกถึงเรื่องศีลธรรมจรรยา ผู้ที่เป็นไซโคพาธจะมีความเข้าอกเข้าใจต่ออารมณ์ของผู้อื่นน้อยกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงสมองส่วนที่มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ที่มีความเชื่อมโยงต่อความรู้สึกกลัวอย่าง ‘อมิกดาลา’ (Amygdala)  จะมีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไปเช่นกัน 

และเมื่อมองจากข้อมูลที่ศาสตราจารย์บอกว่า มีคนในตระกูลเขาเป็นฆาตกรถึง 7 คน นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1670 นั่นจึงพอจะทำให้อนุมานได้ว่า การเป็นไซโคพาธนั้นมีพันธุกรรมเป็นส่วนเกี่ยวข้องในการส่งต่อ แต่ตัวศาสตราจารย์ไม่เคยและไม่แม้แต่จะมีความคิดที่จะก่อเหตุรุนแรงอะไรทั้งสิ้น ซึ่งมันก็นำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนที่เป็นไซโคพาธมีพิษภัยขึ้นมาได้

คำตอบของศาสตราจารย์นั้นอ้างอิงจากตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง หรือก็คือสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา พร้อมกับมีการเลี้ยงดูที่ดีจากครอบครัว โดยศาสตราจารย์ย้ำว่า ‘ดีเยี่ยม’ ในทางกลับกัน หากคนคนหนึ่งที่มีพันธุกรรมของไซโคพาธอยู่ในสมอง แล้วถูกทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่เด็ก สิ่งเหล่านั้นจะเป็นตัวกระตุ้น และเพิ่มโอกาสที่คนคนนั้นจะกลายเป็นอาชญากรในอนาคตอย่างไม่อาจยับยั้งได้

นั่นจึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า คนเราเกิดมาเป็นฆาตกรเลยหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะบอกว่าทั้งใช่และไม่ในเวลาเดียวกันก็คงไม่ผิดนัก ใช่-จากการที่มีพันธุกรรมไซโคพาธอยู่ในสมอง ซึ่งแดนนี่ โรลลิ่ง เองก็คงมีพันธุกรรมนั้นอยู่ในสมองเช่นกัน และ ไม่-ถ้าหากได้รับการดูแลที่ดีจากครอบครัว การมอบความรักอย่างถูกต้องตามที่เด็กคนหนึ่งสมควรได้ และการได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดปัจจัยที่จะกระตุ้นพันธุกรรมอำพรางที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้ถึงการมีอยู่ของมัน ข้อสำคัญที่ทุกบ้านควรตระหนักคือ ไม่มีเด็กคนไหนสมควรถูกทารุณกรรม ทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ ไม่ว่าเขาจะมีพันธุกรรมไซโคพาธนี้หรือไม่ก็ตาม

 

อ้างอิง

  • SHAWN VAN HORN. The Real-Life Killer That Inspired ‘Scream’. https://bitly.ws/Xyr2 
  • William DeLong. The True Story Of Danny Rolling, The Gainesville Ripper Who Inspired ‘Scream’. https://bitly.ws/Xyre 
  • Kriti Mehrotra. Who Were Danny Rolling’s Parents? What Happened to Them?. https://bitly.ws/Xyrq 
  • BBC News ไทย. อะไรทำให้คนเรากลายเป็น “ไซโคพาธ” หรือมีบุคลิกผิดปกติไร้ความรู้สึกไปได้. https://bitly.ws/CPGF 
  • กรมสุขภาพจิต. ชวนรู้จัก “โรคไซโคพาธ” อาการขาดความสำนึกผิด โกหก ไร้ความเห็นใจผู้อื่น. https://bitly.ws/XyrK