©ulture

สตรีทฟู้ดสุดพิสดาร ม่านฝุ่น PM 2.5 เสียงบีบแตรกระหน่ำ สตรีในชุดส่าหรี โยคีดัดตน วัวที่เดินได้อย่างเสรีตามท้องถนน ฯลฯ

นึกถึงอินเดีย หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพจำเหล่านี้ที่สามารถพบเห็นจนเจนตา

แต่ไม่ใช่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

เพราะที่นี่แทบไม่มีใครบีบแตรบนท้องถนน มองไปทางไหนก็สะอาดสะอ้านตา อากาศก็แสนจะบริสุทธิ์ สูดหายใจได้เต็มปอด 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาทำความรู้จัก ‘อินเดียอีสาน’ สวรรค์ของนักท่องเที่ยวกันเลย

Meghalaya
เมฆาแห่งเมฆาลัย

เสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครของรัฐเจ็ดสาวน้อย

อินเดียอีสานมักถูกเรียกขานในนาม รัฐเจ็ดสาวน้อย (ที่ประกอบด้วย 8 รัฐ ได้แก่ อัสสัม เมฆาลัย มณีปุระ อรุณาจัลประเทศ มิโซรัม นากาแลนด์ ตรีปุระ และสิกขิม ที่เปรียบเหมือนน้องชายคนสุดท้อง เพราะเป็นรัฐที่เพิ่งถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปี 1975) มีชายแดนติดประเทศจีน พม่า และบังคลาเทศ รวมถึงมีชนเผ่าต่างๆ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่มาอย่างยาวนาน

ผู้คนในแถบนี้จึงมีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเอง รวมถึงมีหน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน และการดำรงชีพใกล้เคียงกับผู้คนในพม่า ไทย และลาว ใครเคยไปเที่ยวอินเดียมาก่อนสามารถสัมผัสถึงความแตกต่างนี้ได้ทันทีที่เครื่องบินแลนดิ้งสู่ท่าอากาศยานนานาชาติ Lokpriya Gopinath Bordoloi International Airport ในเมืองกูวาฮาติ รัฐอัสสัม ซึ่งถือเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ จึงถือเป็นประตูสู่อินเดียอีสานก็ว่าได้

Meghalaya
หุบเขาและหมู่เมฆในรัฐเมฆาลัย

ความแตกต่างอันดับแรกที่สัมผัสได้ คือ ผู้คนส่วนใหญ่หน้าตาคล้ายคนไทยหรือคนพม่า ไม่พูดภาษาฮินดี เพราะมีภาษาเฉพาะเป็นของตนเองคือ ภาษาอัสสัมมีส เมื่อออกจากสนามบินเข้าสู่เขตเมืองก็สามารถพบเห็นตลาดค้าขายเนื้อสัตว์ที่มีทั้งหมู เป็ด ไก่ ปลา ฯลฯ ต่างจากรัฐอื่นในอินเดียที่ประชากรส่วนมากเป็นมังสวิรัติ เพราะนับถือศาสนาฮินดู ส่วนประชากรในอินเดียอีสานนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องอาหารการกิน และก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่การเดินทางท่องเที่ยวในแถบนี้สามารถพบเจอโบสถ์คริสต์สวยๆ แทบทุกหัวมุมถนน 

Meghalaya
รถบัสไม้ในเมืองชิลลอง
ภาพ: mowgli1854

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จัก 1 เมืองใหญ่ในรัฐอัสสัม คือ กูวาฮาติ (Guwahati) และอีก 2 เมืองสุดป็อปปูลาร์แห่งรัฐเมฆาลัย ได้แก่  ชิลลอง (Shillong) และ เชอร์ราปุนจี (Cherrapunji) ผ่าน 10 สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่เมื่อร้อยเรียงเข้าด้วยกันแล้วสามารถบอกเล่าถึงเอกลักษณ์ของรัฐเจ็ดสาวน้อยได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่าสถานที่ท่องเที่ยวทั้งสิบแห่งนี้เปรียบเหมือนหนังตัวอย่างสั้นๆ ที่เชื่อว่าสามารถเย้ายวนใจให้หลายๆ คนอยากออกเดินทางไปสัมผัสเสน่ห์แห่งอินเดียอีสานด้วยตัวเอง

1.

Kamakhya Temple

ขอพลังจากเจ้าแม่กามาขยา

เริ่มต้นออกเดินทางกันที่ กูวาฮาติ (Guwahati) เมืองที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย จนขยับขยายกลายเป็นเขตมหานครใหญ่สุดในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นที่ตั้งของเมืองทิสปุระ (Dispur) เมืองหลวงของรัฐอัสสัม 

กูวาฮาติเกิดจากการผสมภาษาอัสสัม 2 คำเข้าด้วยกัน คือ Guwa หมายถึง ผลหมาก และ Hati หมายถึง ทิวแถว รวมความแล้วหมายถึง ดินแดนที่เต็มไปด้วยทิวแถวของต้นหมาก ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะควรเป็นที่สุด เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนในเมืองกูวาฮาติ รวมถึงอีกหลายพื้นที่ในรัฐอัสสัมและเมฆาลัย ก็มองเห็นต้นหมากแทงยอดสูงสู่ฟ้าเป็นแถวเป็นแนวสุดลูกหูลูกตา

Meghalaya
ดงต้นหมากพบได้ทั่วไปในรัฐอัสสัมและรัฐเมฆาลัย

นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองกูวาฮาติส่วนมากมักหาโอกาสไปสักการะเทวาลัยเจ้าแม่กามาขยา (Kamakhya) เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยวัดกามาขยาตั้งอยู่บนเขานีลาจละ เป็นวัดที่มีเก่าแก่มากเสียจนมิอาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง และไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีประวัติปรากฏอยู่ในคัมภีร์กาลิกาปุราณะ โดยขอคัดลอกความตอนหนึ่งจากหนังสือ เยี่ยมไทยอาหม สายเลือดของเรา เขียนโดย สารนาถ หรือ สังข์ พัธโนทัย นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่มีโอกาสได้ไปเยือนเมืองกูวาฮาติตั้งแต่ พ.ศ. 2497

Assam
เทวาลัยเจ้าแม่กามาขยา (Kamakhya)

“ครั้งหนึ่งพระศิวะกับนางสตี (คือเจ้าแม่กาลี) ไปเยี่ยมพระทักษะบิดาของนางสตี พระทักษะแสดงความดูหมื่นเหยียดหยามลูกเขยจนนางสตีเสียใจถึงตาย พระศิวะยกร่างของนางสตีขึ้นเหนือหัว ร้องไห้คร่ำครวญไปจนแทบว่าโลกจะถล่มทลาย ทวยเทพจึงขอให้พระวิษณุใช้จักรทำลายร่างของนางสตีให้สูญสิ้นไปเสีย 

“ในที่สุดร่างของนางสตีก็ถูกจักรของพระวิษณุตัดออกเป็น 51 ท่อน กระเด็นไปตกตามที่ต่างๆ เช่น นิ้วเท้าขวาไปตกที่เมืองกัลกัตตา ชาวบ้านชาวเมืองถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ทำการบูชากราบไหว้อย่างสูงสุด จำเพาะอวัยวะสืบพันธุ์ของนางสตีมาตกลงที่เขา ณ เมืองเกาฮาตี เขานั้นก็กลายเป็นสีนิลไปพลัน จึงเรียกว่าเขาสีนิลหรือนีลาจละตั้งแต่นั้นมา และถือกันว่าเขานี้คือร่างของพระศิวะนั่นเอง”

Assam

สารนาถยังได้บันทึกเพิ่มเติมไว้ว่า “วัดกามาขยาเป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดเจ้าแม่กาลีที่สร้างขึ้น ณ ที่อื่นๆ ในอินเดีย เพราะไม่มีรูปเจ้าแม่กาลีประดิษฐานในโบสถ์เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ ภายในโบสถ์มีถ้ำ ที่มุมถ้ำมีรูปอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงสร้างไว้บนหินเรียกว่าโยนิ กับยังมีน้ำพุธรรมชาติไหลรินๆ ทำความชุ่มให้แก่รูปโยนิอยู่ตลอดเวลา ทุกวันมีการฆ่าสัตว์บูชาเจ้าแม่กาลีอย่างเดียวกับที่ปฏิบัติกันอยู่ตามวัดเจ้าแม่กาลีทั่วไป เว้นแต่ที่นี่ห้ามฆ่าสัตว์ตัวเมีย เพราะถือว่าเป็นเพศเดียวกับเจ้าแม่”

“พวกที่มาบูชาโยนิโดยมากเป็นพวกผู้หญิง ฤดูที่มาไหว้มากที่สุดคือเดือนมิถุนายนกับตุลาคม อุตส่าห์เดินทางมาจากที่ไกลๆ เมื่อมาถึงก็อยู่หลับนอนที่วัด 2-3 วัน บูชาโยนิเจ้าแม่กาลีด้วยดอกไม้และใบไม้ จนอิ่มอกอิ่มใจแล้วจึงเดินทางกลับ”

Assam
ภาพ: mowgli1854

ทั้งนี้ยังมีเรื่องเล่าจากคนไทยอีกหนึ่งคนที่ไปเยือนวัดกามาขยาเป็นคนแรกๆ เช่นกัน นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ที่กล่าวว่า “นอกจากวัดกามาขยาจะมีความน่าสนใจทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่น่าแปลกคือมีการบูชายัญด้วยสัตว์ที่ไม่ค่อยพบในการบูชายัญนัก เช่น นก นอกจากแพะซึ่งถูกบูชายัญอยู่ทุกวัน”

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ภายในบริเวณวัดกามาขยาจะเต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นแพะทุกขนาดทุกวัยที่เดินกันขวักไขว่ นกพิราบที่ทั้งเดินอยู่ตามพื้น บินอยู่บนฟ้า และเกาะอยู่ทั่วบริเวณ ยังรวมถึงวัว สุนัข แมว ฯลฯ ที่ใช้ชีวิตปะปนกับสาธุชนผู้ศรัทธาในพระแม่กามาขยา ต่อแถวยาวเหยียดคดเคี้ยวเป็นงูกินหางเพื่อรอคอยที่จะได้เข้าไปสักการะโยนีด้วยตัวเอง

Assam
ภาพ: mowgli1854

สำหรับใครที่ไม่ใช่สายมูบูชาเทพ แต่สนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมก็สามารถเอมใจกับการมาเยือนวัดกามาขยาได้เช่นกัน เพราะทั้งโครงสร้างอาคารของมนเทียรและประติมากรรมโดยรอบนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดสวยวิจิตรพิสดาร กล่าวกันว่าวัดกามาขยาแห่งนี้ผ่านการปฏิสังขรณ์หลายต่อหลายครั้งในระหว่างศตวรรษที่ 8–17 ก่อให้เกิดงานศิลปกรรมที่ผสมผสานรูปแบบพื้นถิ่นต่างๆ เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เรียกว่า ศิลปะนิลจัล (Nilachal Type) ซึ่งก็หมายถึง มณเฑียรที่มีโดมทรงกลมบนฐานอาคารทรงกางเขน อันเป็นรูปทรงอาคารที่ไม่ค่อยปรากฏในวัดฮินดูทั่วไป

2.

Umananda Temple

สักการะพระศิวะ ณ เกาะกลางแม่น้ำพรหมบุตร

การไปเยือนเมืองกูวาฮาติมิอาจสมบูรณ์แบบได้ หากคุณพลาดการนั่งเรือล่องแม่น้ำพรหมบุตร ( Brahmaputra) แม่น้ำที่เราคุ้นชื่อในตำราเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ พอมาเจอเข้ากับของจริงเป็นต้องตกตะลึงในความกว้างใหญ่ แลดูเปี่ยมด้วยพลังแห่งมวลน้ำมหาศาล 

Assam
เรือล่องแม่น้ำพรหมบุตร
ภาพ: mowgli1854

ท่ามกลางผืนน้ำกว้างสุดกว้าง มีเกาะเล็กๆ ร่มครึ้มด้วยแมกไม้เขียวขจีปรากฏอยู่กลางแม่น้ำ ชาวอังกฤษในยุคบริติชราชเรียกขานเกาะแห่งนี้ว่า Peacock Island ตามรูปลักษณ์ที่มองดูคล้ายนกยูงรำแพน และบนเกาะกลางแม่น้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของชาวอัสสัม นั่นคือ วัดอุมานันทา (Umananda Temple) 

Assam
Peacock Island
ภาพ: mowgli1854

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระศิวะทรงสร้างเกาะแห่งนี้แด่พระแม่อุมา หรือนางปารวตี ผู้เป็นมเหสี จากนั้นพระองค์ก็นั่งสมาธิบำเพ็ญเพียร ณ เนินเขา แต่กลับถูกกามเทพมายั่วให้ตบะแตก พลันดวงตาที่สามของพระศิวะเปิดขึ้นก็เกิดไฟเผาผลาญกามเทพจนม้วยมรณา กองเถ้าดังกล่าวพูนสูงเป็นเขาลูกนี้ที่ได้ชื่อว่า Bhasmachal อันเป็นที่ตั้งของวัดอุมานันทาในปัจจุบัน

Assam
วัดอุมานันทา

นอกเหนือไปจากตำนาน กล่าวกันว่าวัดอุมานันทาสร้างขึ้นโดยกษัตริย์อาหมเมื่อกว่า 330 ปีที่แล้ว แต่พังทลายไปในปี 1897 เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พ่อค้าวานิชผู้ร่ำรวยรายหนึ่งจึงทำการบูรณะวัดอุมานันทาขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ฮินดูชนได้มีโอกาสล่องเรือข้ามแม่น้ำมาขอพรพระศิวะผู้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตราบจนปัจจุบัน โดยผู้คนจะคลาคล่ำเป็นพิเศษในเทศกาลศิวะราตรีราวเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของทุกปี

3.

 Cathedral of Mary Help of Christians

มหาวิหารโกธิคแห่งชิลลอง

Meghalaya
Cathedral of Mary Help of Christians

หากถอยเวลากลับไปก่อนปี ค.ศ. 1972 สมัยที่รัฐเมฆาลัยยังไม่ถูกขีดเส้นแบ่งขึ้นบนแผ่นที่ประเทศอินเดีย นครที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของรัฐอัสสัมก็คือ ชิลลอง (Shillong) ที่อยู่ห่างจากกูวาฮาติไปเพียง 100 กิโลเมตร ทว่ากลับแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งสภาพภูมิอากาศ ภาษาที่ใช้ ศาสนาที่นับถือ รูปร่างหน้าตาของผู้คน ไปจนถึงบรรยากาศของบ้านเมือง

Meghalaya

จากกูวาฮาติที่ผู้คนนับถือศาสนาฮินดู หน้าตาคมสัน จมูกโด่ง ตาโต เหมือนชาวอินเดียที่เราคุ้นตา เพียงนั่งรถลัดเลาะป่าหมากและทิวเขา อ้อมผ่านทะเลสาบ Umiam ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งมาถึงเมืองชิลลอง ที่สภาพอากาศเปลี่ยนปุบปับ อุณหภูมิลดจากในกูวาฮาติหลายองศา จนต้องคว้าเสื้อกันหนาวมาสวมเพิ่ม มองไปทางไหนผู้คนก็หน้าตาคล้ายๆ คนไทย และที่น่าประหลาดใจคือ สองข้างทางเต็มไปด้วยเขียงขายเนื้อหมู เป็ด ไก่ ปลา ไปจนถึงเนื้อวัว! 

Meghalaya
ภาพ: mowgli1854

และแทนที่จะมีวัดฮินดูเหมือนที่อื่นๆ ในอินเดีย ชิลลอง (รวมถึงเกือบทุกเมืองในรัฐเมฆาลัย) กลับเต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์สวยๆ กระจายอยู่ทุกมุมเมือง โดยมีมหาวิหารทรงโกธิคสีฟ้าสวยสะดุดตาอย่าง Cathedral of Mary Help of Christians ตั้งเด่นเป็นสง่าใจกลางนครชิลลอง

Meghalaya
ภาพ: mowgli1854

นั่นเป็นเพราะประชากรในแถบนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีทั้งชาวกาสี เจนเตีย และกะโร ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของตนเอง แตกต่างทั้งหน้าตา การแต่งกาย ไปจนถึงอาหารการกินที่ไม่จำกัดแค่มังสวิรัติเหมือนฮินดูชน แต่สามารถกินเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ หลากหลาย คนไทยที่ไปเที่ยวรัฐเมฆาลัยจึงอิ่มเปรมกับอาหารรสชาติถูกปาก อากาศดีถูกใจ ผู้คนหน้าตาคล้ายๆ กับเรา และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยอลังการให้เที่ยวไม่อั้น ชนิดที่ต่อให้เผื่อเวลาแค่ไหนก็เก็บไม่มีทางครบแน่นอน

Meghalaya
ภายในมหาวิหารแห่งชิลลอง
ภาพ: mowgli1854

ก่อนจะไปสำรวจที่เที่ยวในรัฐเมฆาลัยให้ถ้วนทั่ว ห้ามพลาดการแวะไปถ่ายภาพกับมหาวิหารสีฟ้าสวยเท่แห่งนี้ ที่เป็นมหาวิหารนิกายโรมันแคทอลิกเก่าแก่อายุกว่า 85 ปี สร้างโดยคณะมิชชินนารี Salvatorians จากเยอรมนีที่มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่นี่เป็นคณะแรก เดิมเป็นอาคารไม้ แต่หลังจากถูกไฟไหม้ไปเมื่อปี 1936 ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่จนมีลักษณะสถาปัตยกรรมโกธิคสวยอลังการดั่งที่ปรากฏในปัจจุบัน

ไม่เฉพาะมหาวิหารแห่งนี้เท่านั้นที่งดงามแปลกตา ตลอดเส้นทางท่องเที่ยวในรัฐเมฆาลัยเต็มไปด้วยโบสถ์วิหารดีไซน์สวยล้ำไม่ซ้ำกันให้แวะถ่ายรูปได้ไม่รู้เบื่อ

Meghalaya
โบสถ์ริมทางละแวกหมู่บ้าน Wahkhen

4.

Laitlum Canyon

แกรนด์แคนยอนเขียวขจีแห่งอินเดียอีสาน

สก็อตแลนด์แห่งตะวันออก (The Scotland of the East) คือสมญาของเมืองชิลลอง ที่ชาวอังกฤษเรียกขานมาตั้งแต่สมัยบริติชราช เพราะหน้าตาของเทือกเขาในแถบนี้มีลักษณะเป็นทิวเขายอดตัดบ้าง กลมๆ มนๆ บ้าง บรรยากาศละม้ายทิวทัศน์แถบสก็อตแลนด์ไม่มีผิด 

หากยังท่องเที่ยวอยู่ในตัวเมืองชิลลองอาจจะรู้สึกไม่เข้าถึงกลิ่นอายความเป็นสก็อตแลนด์นัก เช่นนั้นแล้วขอให้ปักหมุดไปที่ Laitlum Canyon เขยิบห่างจากความพลุกพล่านในตัวเมืองชิลลองราว 45 กิโลเมตร ก็จะได้สัมผัสกับความงามของดินแดนหินผาและหุบเหวเขียวขจีที่สวยชวนตะลึง

Meghalaya
Laitlum Canyon

Laitlum เป็นภาษากาสี แปลว่า End of hills อันเป็นนิยามที่เหมาะกับทิวทัศน์ของสุดเนินเขาซึ่งมองเห็นหุบเขาสลับซับซ้อนแบบพาโนรามากว้างไกลสุดลูกหูลูกตาของหุบเขากาสีตะวันออก (East Khasi Hills) ที่เขียวขจีตลอดทั้งปี เพราะเมฆาลัยเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งบนโลกที่ได้ชื่อว่ามีปริมาณน้ำฝนชุกที่สุดในแต่ละปี 

ว่ากันว่า หากไปเยือน Laitlum Canyon ในหน้าฝนก็จะได้สัมผัสกับความชุ่มชื้นของสายฝน ไอหมอก และปุยเมฆลอยเคลียยอดเขา ราวกับได้เดินลุยเหนือเมฆสมชื่อของรัฐเมฆาลัย ส่วนในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เราไปเยือน เมฆาลัยเพิ่งหมาดฝนและกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ดอกไม้ป่าหลากสีสันจึงทยอยกันบานสะพรั่งตามเชิงผาและบนทุ่งหญ้าทั่วทั้งหุบเขา เป็นภาพที่สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำฤดูกาล

Meghalaya
แม่ค้าชาวกาสีพร้อมบริการชาแดงร้อนๆ ตลอดวัน
ภาพ: mowgli1854

Laitlum Canyon เป็นจุดหมายยอดนิยมในการท่องเที่ยวแบบ Day Trip ของชาวชิลลอง ทั้งเพื่อนฝูง ครอบครัว รวมถึงนักท่องเที่ยวนิยมมาเดินเล่น ชมวิว ถ่ายรูป พักผ่อนหย่อนใจกันที่นี่ตั้งแต่วันยันค่ำ โดยเฉพาะโมงยามที่พระอาทิตย์ค่อยๆ ลับเหลี่ยมเขาที่ Laitlum Canyon นั้นถือเป็นการชมอาทิตย์อัสดงที่พิเศษสุดครั้งหนึ่งในชีวิต

Meghalaya
อาทิตย์อัสดงที่ Laitlum Canyon
ภาพ: mowgli1854

5.

David Scott Trail

เส้นทางเดินป่าสุดคลาสสิคแห่งรัฐเมฆาลัย

ห่างจากตัวเมืองชิลลองไปเพียง 30 กิโลเมตร มีเส้นทางเดินป่าเก่าแก่ที่สุดแห่งรัฐเมฆาลัยรอให้นักเดินทางที่โปรดปรานการ hiking ได้เดินสำรวจผืนป่าศักดิ์สิทธิ์ของชาวกาสี ที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

David Scott Trail เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่มีระยะทางราว 16 กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามขุนเขากาสีฝั่งตะวันออก (East Khasi Hills) โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าเก่าแก่ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างอินเดียและบังคลาเทศในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดีย ชื่อของ Trail นี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ David Scott ผู้ตรวจการชาวอังกฤษคนแรกที่ถูกส่งตัวมากำกับดูแลอาณาเขตอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงต้นปี 1800s และเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางการค้าสายนี้

Meghalaya
จุดเริ่มต้นเดินป่าศึกษาธรรมชาติเส้นทาง David Scott Trail

David Scott Trail เป็นเส้นทางเดินป่าที่เชื่อมระหว่าง 2 หมู่บ้าน คือ Mawphlang และ Lad Mawphlang โดยอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บรรยากาศของเส้นทางเดินป่า David Scott Trail ลัดเลาะไปตามหุบเขาลึกที่มีแม่น้ำอูเมียม (Umiam) ไหลเคียงข้างไปตลอดทาง และพาดผ่านป่าศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Grove) ของชาวกาสี ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดหยิบฉวยทรัพยากรธรรมชาติในป่าผืนนี้ติดมือกลับไป แม้จะเป็นแค่กิ่งไม้หรือก้อนกรวดก็ไม่ควร

Meghalaya

Meghalaya
เส้นทางเดินป่าที่อุดมไปด้วยดงเฟิร์น

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ David Scott Trail ถือว่าเดินง่าย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย และปลอดภัยหายห่วง เพราะจะต้องติดต่อไกด์ท้องถิ่นในการนำทางเสมอ จึงทำให้เพลิดเพลินกับธรรมชาติสองข้างทางได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวหลง แถมยังได้รับเกร็ดความรู้ต่างๆ จากไกด์ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้รู้จักพืชพรรณประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่ริมทาง เด็ดผลไม้ต่างๆ ให้ลองชิม หรือใช้ความเจนถิ่นในการลิดเฟิร์นกิ่งโตมาสานเป็นมงกุฏดอกหญ้าให้นักท่องเที่ยวสวมศีรษะเพื่อถ่ายรูปเล่นกันสนุกๆ ไปจนถึงการแวะเล่นน้ำใสไหลเย็นในลำธารก็ยังได้

Meghalaya
สะพานแขวนข้ามแม่น้ำ Umiam
ภาพ: mowgli1854

รวมถึงการบอกเล่าตำนานและความสำคัญของสถานที่ต่างๆ เช่น สะพานแขวนข้ามแม่น้ำอูเมียมที่เคยถูกน้ำท่วมใหญ่พัดพังทลายไปเมื่อปี 2007 และสร้างขึ้นใหม่พร้อมใช้งานในปี 2012 พร้อมสร้างความตื่นเต้นเบาๆ เพิ่มสีสันให้ช่วงแรกของการเริ่มเดินป่า

Meghalaya
สะพานหินโค้ง 200 ปี

หนึ่งในไฮไลท์ช่วงใกล้จะสิ้นสุดเส้นทาง คือ พิกัดของสะพานหินเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่สร้างโดย เดวิด สก็อตต์ ซึ่งใช้ภูมิปัญญาเก่าแก่ของการหินก้อนโตมาก่อติดเข้าด้วยกันด้วยโคลนโดยไม่จำเป็นต้องใช้ซีเมนต์ในการยึดเกาะก็สามารถอยู่ยั้งยืนยงมาได้ถึงปัจจุบัน

Meghalaya
ผาหินตามธรรมชาติบนเส้นทาง David Scott Trail
ภาพ: mowgli1854

ด้วยเอกลักษณ์ของการเป็นพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและธรรมชาตินี่เอง ทำให้ David Scott Trail ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน หรือ ICCAs (Indigenous and Community Conserved Areas) ที่คนพื้นเมืองอยู่ร่วมกับผืนป่าได้อย่างยั่งยืน

6.

Kyllang Rock

โดมหินยักษ์แห่งมหาศึกระหว่างเทพ

เขยิบจากขุนเขากาสีตะวันออก ไปสู่ขุนเขากาสีตะวันตก (West Khasi Hills) กันบ้าง ตัวแทนแหล่งท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันตกโดดเด่นน่าสนใจไม่ใช่เล่น เพราะมีตำนานน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเทพในอดีตกาลมาพัวพัน

Meghalaya
บนยอด Kyllang Rock

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นมีชื่อว่า Kyllang Rock ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้าน Nongkhlaw ห่างจากเมืองชิลลองไปราว 60 กิโลเมตร เส้นทางลัดเลาะไปตามป่าเขาและหมู่บ้านผ่านทิวทัศน์เขียวขจีที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไร แล้วจู่ๆ ก็มีโดมภูเขาหินลูกโตโผล่ขึ้นกลางทางเสียดื้อๆ

Meghalaya
ระหว่างทางไปสู่ Kyllang Rock

Kyllang Rock เป็นก้อนหินยักษ์ที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่ราบ หรือที่ศัพท์ทางธรณีวิทยาเรียกกันว่า Monolith ซึ่งมักจะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป หรืออาจคล้ายสิ่งต่างๆ เช่น เต่า เกลียวคลื่น ฯลฯ สำหรับหินคิลแลงนั้นไม่มีรูปลักษณ์เหมือนอะไรเป็นพิเศษ แต่พิเศษตรงตำนานการเกิดของโดมหินก้อนนี้ที่ชาวกาสีเล่าสืบทอดกันมาแต่โบราณ

Meghalaya
เส้นทางเดินขึ้น Kyllang Rock
ภาพ: mowgli1854

ชาวกาสีเชื่อกันว่าโดมหินคิลแลงเป็นผลพวงของการต่อสู้กันระหว่างเทพเจ้าในยุคโบราณสององค์ คือ Kyllang กับ Symper ที่ต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มหินก้อนมหึมาและสารพัดโคลนต่างๆ นานาเข้าใส่กัน ผลที่ได้คือกองหินที่ก่อตัวจนพูนสูงกลายเป็น Kyllang Rock ดั่งที่เห็นในปัจจุบัน

Meghalaya

Meghalaya

Kyllang Rock เป็นอีกหนึ่งพิกัดของการเดินป่าแบบเบาๆ ที่ใครก็สามารถเดินขึ้นไปบนยอดโดมหินได้สบายๆ เพราะมีการทำเส้นทางเดินเอาไว้เป็นอย่างดี เดินง่าย ไม่อันตราย (แต่ไม่ควรมาเที่ยวในช่วงฤดูฝน เพราะอาจลื่นไถลได้) ใช้เวลาเดินไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้ไปนั่งชิล นอนชิลบนลานหินที่มองเห็นทิวทัศน์ของขุนเขากาสีตะวันตกได้กว้างไกลสุดสายตา

7.

Kongthong : The Whistling Village

หมู่บ้านที่ทุกคนผิวปากแทนการพูดจา

หน้าตาของ หมู่บ้าน Kongthong แทบไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ในแถบเมฆาลัย ทั้งลักษณะของตัวเรือนที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ เส้นทางสัญจรภายในหมู่บ้านที่สะอาดสะอ้าน และเชื่อมต่อกันทุกครัวเรือน ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่และสบายตาด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่ราวกับแต่ละบ้านแอบประกวดประชันกันเบาๆ 

ที่จริงแล้วไม่ว่าจะไปที่ไหนในรัฐเมฆาลัย เราสามารถสัมผัสได้ถึงความสะอาด ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ท่องเที่ยวมาแล้วหลายรัฐในอินเดีย กล้ายืนยันว่าเมฆาลัยเป็นรัฐที่สะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งการที่ไม่มีขยะเกลื่อนกลาด และเกือบทุกสถานที่ที่ไปเยือนมักมีบริการห้องน้ำสาธารณะแบบ Use and Pay ไว้บริการ 

Meghalaya
บ้านไม้ไผ่ในหมู่บ้าน Kongthong

หนึ่งในหลักฐานที่ Claim ความสะอาดระดับสุดยอดของเมฆาลัย คือ Mawlynnong Village เจ้าของสมญาหมู่บ้านที่สะอาดที่สุดในเอเชีย ที่มีจุดขายเป็นความสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนเนืองแน่นตลอดทั้งปี 

Meghalaya
โบสถ์คริสต์ในหมู่บ้าน Mawlynnong
ภาพ: mowgli1854

กลับมาที่หมู่บ้าน Kongthong ซึ่งไม่ได้มีจุดขายในแง่สะอาดเหนือใคร แต่พิเศษกว่านั้นคือ สมาชิกทุกคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กที่เริ่มพูดได้ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ล้วนมีวิธีสื่อสารกันเองในแบบเฉพาะตัวด้วยการผิวปาก ที่มีชื่อเรียกในภาษากาสีว่า jingrwai iawbei โดยแต่ละคนจะมี ‘ชื่อผิวปาก’ ที่เป็นทำนองเฉพาะตัว ชื่อนี้แต่งโดยผู้เป็นแม่ที่จะมอบเมโลดี้ไพเราะไม่ซ้ำใคร ผ่านการผิวปากหรือฮัมเพลงที่แม่แต่งขึ้นเองให้ลูกน้อยฟังทุกวัน

Meghalaya
เด็กๆ ในหมู่บ้าน Kongthong ที่แข่งกันผิวปากอวดอาคันตุกะอย่างสนุกสนาน

ความเพลิดเพลินของการได้เดินเล่นในหมู่บ้าน Kongthong จึงเป็นการแว่วเสียงคล้ายๆ ผิวปากกู่ก้องเป็นท่วงทำนองแปลกหูเกือบจะตลอดเวลา ซึ่งเหมือนเป็นการคุยกันจากระยะไกล อาจจะร้องเรียกกัน ทักกัน หรือส่งสัญญาณให้ทำอะไรบางอย่าง ฟังไปฟังมาก็เพลินดี คล้ายเสียงนกร้องหรือจักจั่นก้องกังวานไกล

8.

Bamboo Trail

สะพานไม้ไผ่สุดขอบฟ้า

ห่างจากหมู่บ้าน Kongthong ในระยะหนึ่งภูเขาขวางกั้นเป็นระยะทางราว 50 กิโลเมตร คือที่ตั้งของหมู่บ้าน Wahkhen อีกหนึ่งชุมชนชาวกาสีที่สื่อสารกันเองในหมู่บ้านด้วยการผิวปากเช่นกัน หากนั่นไม่ใช่จุดขายของที่นี่ เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหมู่บ้าน Wahkhen ต้องการพิชิต Bamboo Trail เป็นสำคัญ

Bamboo Trail เป็นเส้นทางเดินป่าบนสะพานไม้ไผ่สมชื่อ อารมณ์คล้ายๆ ภูทอกในจังหวัดบึงกาฬของบ้านเรา ที่เป็นสะพานไม้เวียนรอบหน้าผาเพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมน้อมนำให้เข้าถึงหลักคำสอนของพระพุทธองค์

ในขณะที่ Bamboo Trail นั้นมีจุดหมายปลายทางที่ U Mawryngkhang หรือ King of Stones หินยักษ์ทรงแหลมแทงสูงขึ้นไปสู่ฟ้า ที่แน่นอนว่าต้องมีตำนานเล่าขานที่น่าตื่นเต้นประกอบการเดินทาง

Meghalaya
U Mawryngkhang หรือ King of Stones

เชื่อกันว่าเมื่อครั้งอดีตกาล หินทุกก้อนมีชีวิตจิตใจ และมักรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกัน โดย Mawryngkhang คือผู้แข็งแกร่งเหนือหินผาทั้งหลาย จึงได้ครองตำแห่งราชาแห่งศิลาในอาณาจักรของตนเอง

ครั้งหนึ่งเมื่อ Mawryngkhang เดินทางท่องเที่ยวไปยังอาณาจักรใกล้เคียง แล้วเกิดตกหลุมรักเข้ากับหินสาวสวยที่มีนามว่า Kthiang สร้างความไม่พอใจให้กับ Mawpator ที่มีศักดิ์ศรีเป็นราชาแห่งศิลาประจำถิ่นนั้น ซึ่งก็มีใจให้ Kthiang เช่นกัน ราชันย์ของสองอาณาจักรจึงประลองกำลังห้ำหั่นกัน เพื่อชิงหญิงสาวมาครอบครอง

Mawpator นั้นเป็นต่อในช่วงแรก เพราะสามารถตัดแขนซ้ายของ Mawryngkhang จนขาดสะบั้น กระนั้นราชาแห่งศิลาก็ยังคงกัดฟันต่อสู้อย่างอาจหาญ รวบรวมพละกำลังทั้งหมดที่เหลืออยู่แล้วใช้แขนขวาบั่นศีรษะของ Mawpator จนแพ้หมดรูป

Meghalaya
U Mawryngkhang เมื่อมองจากจุดชมวิว Mawmoit

กล่าวกันว่าร่องรอยการต่อสู้ทั้งหมดยังปรากฏอยู่ ณ บริเวณนี้ โดยสามารถมองเห็นได้จาก Mawmoit ซึ่งเป็นจุดชมวิวก่อนถึง U Mawryngkhang โดยบริเวณผาสีขาวด้านซ้ายเปรียบเหมือนแผลฉกรรจ์ที่ Mawryngkhang ถูกตัดแขนซ้ายออกไป และไม่ไกลกันนั้นมีหินก้อนเล็กกว่าที่เชื่อกันว่าเป็น Kthiang ที่ได้ยืนหยัดเคียงข้าง Mawryngkhang ตลอดกาล ในขณะที่ศีรษะของ Mawpator นั้นร่วงหล่นไปอยู่ในหุบเขาด้านล่างนั่นเอง

Meghalaya

นอกเหนือไปจากตำนานสนุกๆ แล้ว เส้นทางเดินป่า Bamboo Trail ที่มีระยะทางไป-กลับรวม 3.7 กิโลเมตรก็เดินง่ายและสนุกเช่นกัน โดยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งได้รับการบุกเบิกและสร้างสะพานต่างๆ ขึ้นเมื่อปี 2017 มีทั้งสะพานแขวนข้ามแม่น้ำ Wahrew ทั้งหมด 5 เส้น สลับกับสะพานไม้ไผ่อีกกว่า 50 สะพาน 

สำหรับผู้ที่คิดคำนวณและลงมือก่อสร้างสะพานไม้ไผ่แห่ง Bamboo Trail ได้แก่ Roger Buhphang และ Nising Khongjirem ชาวบ้านในหมู่บ้าน Wahkhen ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความชำนาญในพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผืนป่าแห่งหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่นักเดินทางสายเอาท์ดอร์พร้อมจะดั้นด้นมาเยือน

หมายเหตุ : แม้จะเป็นสะพานไม้ไผ่ริมผาท่ามกลางอ้อมกอดของเทือกเขาสูงใหญ่ แต่กลับไม่น่าหวาดเสียวแม้แต่น้อย ภูทอกของเรามีดีกรีชวนขาสั่นมากกว่าสิบเท่า ! แนะนำว่าใครมาเที่ยวเมฆาลัยควรหาเวลาสักครึ่งวันมาเที่ยว Bamboo Trail แห่งนี้ที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย

9.

Dawki River

แม่น้ำที่ทำให้เรือทุกลำดูราวกับล่องลอยได้

ลองเสิร์ชคำว่า Dawki River ใน Google หรือ Instagram ดู

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เรือที่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำสีเขียวอมฟ้าใสแจ๋วเสียจนดูราวกับล่องลอยอยู่เหนือผิวน้ำ

ทิวทัศน์สวยสะกดใจแบบนี้ มีหรือจะอดใจไหว Dawki River จึงถูกปักหมุดลงในแผนการเดินทางทันที

Meghalaya
จุดให้บริการเรือล่องแม่น้ำ Dawki

จากเมืองชิลลองไปยังแม่น้ำดอว์กี (Dawki River) หรือในอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ แม่น้ำอุมโงต (Umngot River) เป็นระยะทางเพียง 80 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ด้วยเส้นทางคดโค้งลัดเลาะไปตามป่าเขา และระหว่างทางมีน้ำตกสวยๆ หลายแห่งให้แวะจอดรถหยุดพัก แล้วเดินไปทักทาย ไม่ว่าจะเป็น Krangshuri Falls, Phe Phe Waterfalls, Tyrshi Fall, Sua Ludong Waterfalls ฯลฯ ทำให้คนเดินทางต้องบริหารเวลาดีๆ เพราะขึ้นชื่อว่าน้ำตก แปลว่า ต้องอยู่กลางป่า นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาเดินเข้าไปเป็นระยะทางพอสมควรก่อนจะได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติ

Meghalaya
Sua Ludong Waterfalls

แม่น้ำดอว์กี อยู่ไม่ไกลจาก Mawlynnong หมู่บ้านที่สะอาดที่สุดในเอเชีย จึงสามารถหาบ้านพักที่ Mawlynnong ได้ แล้วค่อยนั่งรถมาล่องเรือที่ดอว์กี หรือจะหาที่พักแถวๆ แม่น้ำเลยก็สะดวกดี จะได้มีเวลาละเลียดวิวของพรมแดนอินเดีย – บังคลาเทศแบบไม่ต้องรีบร้อน

Meghalaya
ป้ายบอกเขตพรมแดนอินเดีย – บังคลาเทศ

ริมฝั่งแม่น้ำดอว์กีเรียงรายด้วยป่าหมากร่มเย็นสบายตา เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง จะมีคนขับเรือเดินมาทักทายขันอาสาพานั่งเรือล่องแม่น้ำในราคาที่ทัดเทียมกันทุกเจ้า ไม่ต้องต่อรองให้เหนื่อย (ราคาล่องเรือไป-กลับราว 1 ชั่วโมง 600 รูปี หรือประมาณ 300 บาท)

Meghalaya
น้ำใสไหลเย็นจนเห็นก้อนหินที่ก้นแม่น้ำ

แน่นอนว่าภาพจากอินเตอร์เน็ตดูจะสวยเกินจริงไปมาก เพราะแม้แม่น้ำดอว์กี้จะใสสะอาดจนสามารถมองเห็นหินกรวดก้อนกลมใต้ท้องน้ำและฝูงปลาแหวกว่ายได้ถนัดตา ทว่าไม่ได้มีสีเขียวฟ้ากระจ่างตาเหมือนผลจากการ Search ภาพในโลกออนไลน์

หากอยากได้ภาพของเรือลอยเหนือผิวน้ำสีฟ้าเขียวคราม คนพายเรือในท้องที่แนะนำว่าควรมาเที่ยวในเดือนมกราคม และออกเรือตอนเที่ยงท่ามกลางแดดจัดจ้า 200% ถึงจะได้ภาพในฝัน Instagrammer คนไหนอยากได้รูปสวยเหนือจริง เตรียมวางแผนการเดินทางไว้แต่เนิ่นๆ ได้เลย

Meghalaya
วิถีชีวิตชาวบ้านในแม่น้ำ Dawki
ภาพ: mowgli1854

นอกเหนือไปจากการถ่ายภาพสวยๆ แล้ว การได้ปล่อยจอยปล่อยใจล่องลอยไปกับเรือที่ลอยลำไปเรื่อยๆ ในแม่น้ำใส สะอาด สงบ ท่ามกลางโอบล้อมของขุนเขาเขียวขจีที่ขนาบสองฝั่งน้ำ ได้เมียงมองชาวบ้านที่กำลังจับปลาตามวิถีดั้งเดิม สัมผัสไอเย็นของแก่งน้ำไหลซู่รุนแรงที่ปลายทาง ถือเป็นหนึ่งในโมเมนต์ชวนประทับใจที่ Search หาในอินเตอร์เน็ตยังไงก็ไม่เจอ ต้องเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น 

Meghalaya
Dawki River
ภาพ: mowgli1854

10.

Living Root Bridge 

สะพานรากไม้ขวัญใจมหาชน

ปิดท้ายด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือเป็นแลนมาร์คประจำรัฐเมฆาลัยก็ว่าได้ นั่นคือ Living Root Bridge หรือสะพานรากไม้ มรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษชาวกาสีและเจนเตียใช้ภูมิปัญญาทางวิศวกรรมท้องถิ่นในการปลูกต้นยางขึ้นสองฝั่งแม่น้ำ รอคอยให้ต้นยางค่อยๆ เติบใหญ่ปีแล้วปีเล่า พลางถักทอรากอันเหนียวแน่นแข็งแรงของต้นยางจากทั้งสองฟากแม่น้ำให้ประสานเข้าหากันจนเกิดเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่แข็งแกร่งเสียยิ่งกว่าสะพานคอนกรีตสมัยใหม่

ว่ากันว่าลึกเข้าไปในผืนป่ากาสีละแวกนี้ยังมีสะพานรากไม้เก่าแก่หลงเหลืออยู่หลายแห่ง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมสะพานรากไม้แบบไม่ต้องบุกปาฝ่าดง คงไม่มีที่ไหนเหมาะเท่าหมู่บ้าน Nongriat ในเมืองเชอร์ราปุนจี (Cherrapunji) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Sohra ที่อยู่ห่างจากเมืองชิลลองไปราว 70 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเป็นที่เรียบร้อย

Meghalaya
เอกลักษณ์ของต้นไม้ในแถบนี้

ผู้เขียนเคยอยากไปเยือนความมหัศจรรย์ของธรรมชาติบวกความเพียรพยายามของมนุษย์แห่งนี้มากเสียจนหาข้อมูลเขียนถึง สะพานมีชีวิตแห่งเมฆาลัย ก่อนได้ไปเห็นของจริงนานถึงสามปี โดยเคยจินตนาการไว้ว่าสะพานรากไม้ต้องอยู่กลางป่าลึกและเดินทางไปยากมากเสียจนน้อยคนถึงจะสามารถไปเยือนได้

Meghalaya
ชาวบ้านชนเผ่า เจ้าของพื้นที่ตัวจริง

การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดป็อบ แม้จะต้องเดินลงบันไดถึง 3,000 กว่าขั้น (และต้องไม่ลืมว่าเดินลงแล้วต้องเดินขึ้นอีก 3,000 กว่าขั้นในขากลับเช่นกัน) นักท่องเที่ยวทั้งหลายก็ไม่หวั่น พร้อมใจกันเดินๆ พักๆ ตลอดทางเพื่อไปยลโฉมสะพานรากไม้ด้วยตัวเองให้ได้ 

Meghalaya
สะพานแขวนข้ามแม่น้ำ
ภาพ: mowgli1854

เส้นทางเดินป่าเพื่อไปชมสะพานรากไม้เริ่มต้นที่หมู่บ้าน Tyrna โดยจะมีสะพานรากไม้ให้ชม 2 แห่ง แห่งแรกที่จะถึงก่อน (หลังจากเดินลงบันไดราว 1,000 ขั้นนานครึ่งชั่วโมง) คือ สะพานรากไม้หมู่บ้านน็องทิมไม (Nongthymmai) ซึ่งถือเป็นสะพานรากไม้ที่มีความยาวมากที่สุด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่อาจมีอุปสรรคทางด้านสุขภาพร่างกายหรือมีเวลาท่องเที่ยวจำกัด มักเลือกชมแค่สะพาน Nongthymmai เพราะหากจะต้องเดินไปสะพานรากไม้แห่งที่สองต้องเดินลงบันไดอีก 2,000 กว่าขั้น และเดินข้ามสะพานแขวนชวนหวาดเสียวสำหรับคนกลัวความสูง สิริรวมแล้วเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง

Meghalaya
สะพานรากไม้สองชั้นอุมเชียง (Umshiang Double Decker Living Root Bridge)

แต่ไหนๆ ก็มาแล้ว ไม่ควรพลาดการไปเยือนสะพานลำดับที่สอง ซึ่งก็คือ สะพานรากไม้สองชั้นอุมเชียง (Umshiang Double Decker Living Root Bridge) นางเอกแห่งบรรดาสะพานรากไม้ทั้งปวงก็ว่าได้ เพราะเอกลักษณ์ของการเป็นสะพานสองชั้นที่เหลือเพียงไม่กี่แห่ง 

Meghalaya
เบื้องหลังความแข็งแกร่งของสะพานรากไม้

และด้วยความที่เป็นนางเอกประจำป่าศักดิ์สิทธิ์จึงมีนักท่องเที่ยวมาชื่นชมความสวยงามและแข็งแกร่งของสะพานรากไม้สองชั้นพลุกพล่านเป็นพิเศษ ใครอยากถ่ายรูปคู่กับสะพานต้องรอคิวนานหน่อย สามารถเล่นน้ำในลำธารหรือชื่นชมความงามของธรรมชาติรอบตัวแบบไม่ต้องรีบร้อน กว่าจะเดินเท้ามาถึงที่นี่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ลองนั่งนิ่งๆ แบบไม่ต้องทำอะไร เชื่อสิว่าบรรดาผีเสื้อหลากสีหลายพันธุ์เหล่านี้จะบินมาทักทายบรรดามนุษย์แปลกหน้าอย่างเราให้หัวใจเบิกบาน

Meghalaya

Meghalaya
ผีเสื้อหลากสีหลายพันธุ์มีให้พบเห็นตลอดเส้นทาง
ภาพ: mowgli1854

จริงๆ แล้วเราสามารถปิดทริปที่สะพานรากไม้เลยก็ได้ แต่หากใครอยากไปต่อก็มีจุดหมายสำหรับสายลุย นั่นก็คือ Rainbow Falls ที่ต้องเดินป่าต่อไปอีกราวหนึ่งชั่วโมงจึงจะได้พบกับน้ำตกที่สายน้ำตกกระทบทำมุมได้ระดับกับแสงอาทิตย์ส่อง เกิดเป็นสายรุ้งพาดผ่านสมชื่อ สร้างความสดชื่นให้ผืนน้ำสีเทอร์ควอยส์เบื้องล่างให้สวยงามขึ้นอีกเท่าตัว 

Meghalaya
Rainbow Falls

ปิดท้ายด้วยหนึ่งในแลนด์มาร์คของเมืองเชอร์ราปุนจีอย่าง Nohkalikai Falls หนึ่งในน้ำตกน้ำโจนที่สูงที่สุดในอินเดีย ซึ่งสามารถขับรถไปเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย แต่แน่นอนว่ามี options สำหรับคนรักการเดินป่า เพราะมีเส้นทางเดินป่าระดับเทพที่เชื่อมระหว่างน้ำตก Nohkalikai กับหมู่บ้าน Nongriat ที่ตั้งของสะพานรากไม้ทั้งสองแห่งที่กล่าวมา ใครอยากเดินป่ายาวๆ จากสะพานรากไม้ไปจนถึงน้ำตก Nohkalikai ควรติดต่อไกด์ในพื้นที่เป็นผู้นำทางจะปลอดภัยที่สุด

Meghalaya
Nohkalikai Falls

สำหรับ Nohkalikai Falls เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีตำนานประกอบความอัศจรรย์ของธรรมชาติ แต่ตำนานบทนี้ออกจะเศร้าสักหน่อย เพราะชื่อของน้ำตกแห่งนี้ แปลว่า สถานที่ที่ลิไกกระโดดลงมา โดยลิไกคือหญิงสาวในหมู่บ้านแถบนี้ที่เพิ่งแต่งงานและมีลูกน้อยกลอยใจ ทว่าสามีมาด่วนจากไปก่อนวัยอันควร ลิไกจึงแต่งงานใหม่ แต่โชคร้ายที่สามีใหม่อิจฉาความรักที่เธอมีต่อลูกของสามีคนแรก เมื่อลิไกออกไปทำไร่ทำสวน เขาจึงวางแผนปลิดชีพลูกน้อยของเธอ (บางเรื่องเล่าอ้างว่าเขานำลูกของลิไกมาทำเป็นอาหารให้เธอกิน เธอเองก็กินไปด้วยความไม่รู้…) เมื่อหญิงสาวทราบความจริงว่าลูกสาวได้จากไปอย่าวไม่มีวันกลับ

เธอจึงไปยังขอบผาของน้ำตกที่สูงสุดหยั่งแห่งนี้ แล้วกระโดดลงมาเพื่อปลิดชีพตัวเอง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกน้ำตกแห่งนี้ที่สวยไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดูกาล

*สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย บินตรงสู่กูวาฮาติ ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com 

 

อ้างอิง

  • สารนาถ.เยี่ยมไทยอาหมสายเลือดของเรา.สยามปริทัศน์,2555.
  • คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง.เทวาลัยเจ้าแม่กามาขยา : ที่แสวงบุญใหม่ของคนไทยสายมู.http://bit.ly/3ZD6dWj
  • Indiahikes.David Scott Trek Trek through the Khasi Hills of Meghalaya.https://bit.ly/3OT0ffh
  • MeghalayaTourism.Kyllang Rock.https://bit.ly/3OViVeh
  • IncedibleIndia.Umananda Temple.https://bit.ly/3OSNBwR
  • Precious Rongmei.Breathtaking beauty of Laitlum Canyons in Meghalaya.https://bit.ly/3VH74V4
  • Antara Choudhury.Mawryngkhang Trek (Bamboo Trail) Meghalaya – A Complete Travel Guide.https://bit.ly/4iDxv7E