บางสถานที่ตั้งอยู่มานาน มันตั้งอยู่ตรงนั้น อยู่แบบนั้น อยู่จนเราเคยชินและไม่สนใจที่จะทำความรู้จักมัน
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีกำหนดว่าจะปิดตัวในปีนี้ (พ.ศ.2562) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2532 เมื่อรัฐบาลไทยมีมติให้จัดสร้าง เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมใหญ่ที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ
การประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 (Annual Meeting of World Bank and IMF) คือการประชุมใหญ่ที่ว่า ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15-17 ตุลาคม พ.ศ.2534
ส่วนเหตุผลที่ใช้ชื่อศูนย์การประชุม ‘สิริกิติ์’ เนื่องมาจากศูนย์การประชุมแห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2534
โดยในวันเปิดนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์การประชุม และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 ครบ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2535
นั่นคือประวัติที่มาที่มีชีวิตอยู่แค่ในบันทึกเอกสาร แต่ไร้ความทรงจำในหมู่คนทั่วไป
เช่นเดียวกับอีกหลายสิ่งในศูนย์การประชุมแห่งนี้ โดยเฉพาะประติมากรรม “โลกุตระ” ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าศูนย์การประชุมฯ ซึ่งสร้างสรรค์โดย อ.ชลูด นิ่มเสมอ ที่ครั้งหนึ่งเคยตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดวงศิลปะและสื่อสารมวลชนไทย
หลายคนที่คุ้นตากับ ‘ประติมากรรมสีทอง’ นี้อาจสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น
ทว่าผลงานเกิดจากตัวผู้สร้าง แล้วผู้สร้างชื่อ ชลูด นิ่มเสมอ คือใคร?
กล่าวอย่างคนทั่วไป อ.ชลูด นิ่มเสมอ คือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรม พ.ศ.2541 เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของ อ.ศิลป์ พีระศรี ที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
กล่าวอย่างคนแวดวงศิลปะ อ.ชลูด นิ่มเสมอ คือ ศิลปินที่สนใจรากเหง้า แต่มีความก้าวหน้าล้ำสมัย ด้วยความคิดพื้นฐานที่สนใจความเป็นไทย ชนบทไทย และความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ แต่ก็พร้อมบุกเบิกสร้างสรรค์งานใน ‘ทาง’ ใหม่ โดยเรียนรู้และสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะทุกประเภท ตั้งแต่งานวาด งานปั้น ภาพพิมพ์ สื่อผสม จนถึง Conceptual Art
“ศิลปินเป็นอย่างไร ศิลปะของเขาก็แสดงออกมาอย่างนั้น” คือประโยคที่ อ.ชลูด มักจะพูดเสมอ
สำหรับงาน “โลกุตระ” ที่ อ.ชลูด สร้างสรรค์ และตั้งอยู่หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 นั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากเปลวรัศมีบนเศียรของพระพุทธรูปยุคสุโขทัย ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของพระพุทธองค์กับคนธรรมดา เรียกว่า “มหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ” อันหมายถึงพระปัญญาที่หลุดพ้นจากโลกียะสู่โลกุตตระ
อ.ชลูด ได้นำเฉพาะส่วนเปลวรัศมีที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวที่พ้นน้ำ และกำลังทะยานสู่เบื้องสูง มาสร้างสรรค์ในรูปกลีบเปลว 8 กลีบ เพื่อสื่อถึงมรรค 8 หรือหนทางแห่งการพ้นทุกข์ 8 ประการ โดยออกแบบให้ส่วนโคนของประติมากรรมตั้งอยู่บนฐานหินแกรนิตสีดำ
“ทำลายสิ่งที่เคารพของชาวพุทธ” คนที่วิจารณ์งานชิ้นนี้ให้เหตุผล เพราะชิ้นงานดูเหมือนสื่อว่าเศียรของพระพุทธรูปจมอยู่ใต้ดิน
อ.ชลูด อธิบายต่อประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถ้ามองในมุมมองแบบเทวดามอง คือ มองจากข้างบนลงมา ก็อาจจะเห็นเหมือนกับเศียรพระพุทธรูปจมดินโผล่มาแต่รัศมี แต่ในแนวคิดอาจารย์เป็นการมองจากเบื้องต่ำ จากโลกียชนมองเงยหน้าไปสู่ของสูง จากโลกียะไปสู่โลกุตตระ
ผลงาน “โลกุตระ” ที่ตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนสีดำ คือการสื่อให้เห็นความหมายของการแบ่งแยกเขตแดน ระหว่างโลกมนุษย์ (หินแกรนิตสีดำ) กับการบรรลุธรรมในแดนพระนิพพาน (เปลวรัศมีสีทอง)
ส่วนเจตนาลบหลู่นั้นมีไม่ จะมีก็เพียงแต่เจตนาที่จะแสดงถึงหัวใจของหลักธรรมอันสูงสุด ผ่านเปลวรัศมีสีทองนี้เท่านั้น
เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง อ.ชลูด นิ่มเสมอ บอกว่า “ศิลปะเริ่มต้นด้วยความงาม จบลงที่ความดี”
เรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คนที่พอรู้ความเมื่อปี พ.ศ.2534 อาจจะยังพอจำได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องเหล่านี้ก็กลายเป็นแค่ฝุ่นของกาลเวลา ที่ไม่มีใครจดหรือจำ
ก่อนวันหนึ่งเราจะกลับมารื้อฟื้นมันอีกครั้ง ในวันที่สิ่งนั้นกำลังหายไป…
อ้างอิง:
- Wikipedia. ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์. https://bit.ly/2I57dOG
- ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์. ประวัติ. http://www.qsncc.co.th/th/qsncc-venue-information/history.html
- ชลูด นิ่มเสมอ คอลเลคชั่นแอนด์อาร์ไคฟ. ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ สายธารแห่งชีวิต สายธารแห่งศิลปะ. https://issuu.com/chalood
- The World Bank Group. 1991 Annual Meetings of The Boards of Governors SUMMARY PROCEEDINGS. https://bit.ly/2DoMNuq
FACT BOX
- One Shot Knockout คือโครงการแข่งขันประกวดถ่ายภาพที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 27 ปี ภายใต้โจทย์ มุมประทับใจศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้เข้าแข่งขันจำนวน 206 คน มีภาพที่ส่งเข้าร่วมประกวด 145 ภาพ *ภาพที่คุณเห็นในบทความนี้ คือภาพบางส่วนจากการประกวด โดยผู้ที่สนใจสามารถชมภาพทั้งหมดได้ในนิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเร็ววันนี้