©ulture

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2534 และกำลังจะปิดปรับปรุงในปีนี้ (พ.ศ.2562) มีผลงานศิลปะมากกว่า 1,500 ชิ้น ที่มาจากฝีมือของศิลปินและช่างฝีมือกว่า 100 คน

งานทุกชิ้นล้วนเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และให้สอดรับกับแนวคิด ‘ไทยไฮเทค’ ที่ใช้ในการออกแบบตัวอาคาร ซึ่งใช้ระบบและเทคโนโลยีอันทันสมัยใน พ.ศ. นั้น

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ถึงแม้เมื่อแรกสร้างจะตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่จัด งานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 (46th Annual Meeting of the Boards of Governors of the World Bank Group and the International Monetary Fund) รวมถึงงานกิจกรรมทั้งน้อยใหญ่ในเวลาต่อมา ไปพร้อมกับให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานกิจกรรมที่จัดขึ้นกลับโดดเด่นและเป็นที่พูดถึงมากกว่าตัวงานศิลปะ จนวันหนึ่งที่ไม่รู้ว่าตอนไหน งานศิลปะเหล่านั้น แม้ยังคงยืนเด่น แต่กลับไร้ตัวตน

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครเอ่ยถาม ไม่มีใครสะดุดตา อย่างมากก็แค่มองผ่าน และมีจำนวนน้อยชิ้นที่จะตกค้างอยู่ในหน่วยความทรงจำ

เรื่องทั้งหมดคงจะเป็นเช่นนั้น ถ้าวันหนึ่งไม่มีข่าวศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะปิดปรับปรุงในเดือนเมษายนที่ใกล้จะมาถึง

common ได้รู้ข่าวว่าจะมีการขนย้ายงานศิลปะทั้งหมดออกจากตัวอาคาร โดยในจำนวนนั้นมี 8 ชิ้นที่เป็นงานของศิลปินชั้นครู

บางชิ้นเป็นที่คุ้นตา และบางชิ้นยอมรับตามตรงว่า

“ไม่เคยเห็นมาก่อน”

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แต่ทุกชิ้น เมื่อได้จ้องมองอย่างพิจารณา เรากลับพบว่าทั้งเบื้องหน้าที่ปรากฏและเบื้องหลังแนวคิดที่หลบซ่อนล้วนงดงามน่าประทับใจ

ขณะเดียวกันก็อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ ที่คนทั่วไปจะได้เห็นงานศิลปะชั้นครู 8 ชิ้นนี้ตั้งอยู่ในที่ที่เคยอยู่ ถึงแค่สิ้นเดือนเมษายน

1. เสาช้าง-ลูกโลก

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: ธานี กลิ่นขจร

ลักษณะผลงาน: ประติมากรรมลอยตัวติดตั้งบนเสารูปช้างสี่เศียร รองรับโครงลูกโลกโปร่ง

ที่ตั้ง: โถงกลางต้อนรับ

“เป็นหนึ่งในผลงานประติมากรรมที่ภูมิใจมาก และมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมชมเสมอ เมื่อไปร่วมงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”

ธานี กลิ่นขจร พูดถึงผลงาน เสาช้าง-ลูกโลก ที่ตั้งอยู่กลางโถงต้อนรับ หนึ่งในผลงานประติมากรรมที่สะท้อนความเป็นไทยในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นโจทย์การสร้างงานของศูนย์ประชุมฯ ที่มีกำหนดจะเปิดในปี 1991

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ประติมากรรมที่มีลักษณะลอยตัว ประกอบด้วยช้างสี่เศียร รองรับโครงลูกโลกโปร่งสีทอง บนเสาโครงเหล็กปิดผิวด้วยแผ่นทองเหลืองรมดำ แม้จะให้ภาพที่เข้าใจยาก แต่ทุกอย่างล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ ที่สื่อถึงความเป็นไทยในสากล

เริ่มจากช้างเท่ากับไทย เศียรทั้งสี่หมายถึงสี่ทิศ ส่วนลูกโลกด้านบน คือตัวแทนของนานาอารยประเทศ และแสดงถึงจุดกำเนิดของศูนย์ประชุมฯ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่จัดงานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ในเวลานั้น

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ทุกมุมที่เราเห็นจะต้องสร้างความรู้สึกถึงปริมาตร” คำพูดของ ธานี กลิ่นขจร ชวนให้อยากมอง เสาช้าง-ลูกโลก อย่างรอบด้าน

พร้อมกับหวนคิดถึงอดีตของไทยที่เคยมาไกลจนได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม World Bank เมื่อพ.ศ.2534

2. โลกุตระ

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ

ลักษณะผลงาน: ประติมากรรมกลางแจ้งที่สามารถมองเห็นเป็นรูปเปลวรัศมี กลีบดอกบัว หรือคล้ายพนมมือ เพื่อสื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง

ที่ตั้ง: หน้าทางเข้าโถงต้อนรับด้านทิศตะวันออก

หลังจาก ชลูด นิ่มเสมอ สร้างโลกุตระเสร็จสิ้น

งานชิ้นนี้ที่ได้แรงบันดาลใจจากเปลวรัศมีบนเศียรของพระพุทธรูปยุคสุโขทัย ที่สื่อถึงพระปัญญาที่หลุดพ้นจากโลกียะสู่โลกุตระ ซึ่งตั้งโดดเด่นที่หน้าทางเข้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ติดริมถนนใหญ่ ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทันที

“ทำลายสิ่งที่เคารพของชาวพุทธ” คือข้อวิจารณ์ที่ปรากฏในเวลานั้น โดยคนวิจารณ์ให้เหตุผลว่า ดูเหมือนเศียรพระพุทธรูปจมอยู่ใต้ดิน

อาจารย์ชลูดบอกว่านั่นคือการมองในมุมมองของเทวดา คือมองจากข้างบนลงมา แต่แนวคิดของผู้สร้างมองในอีกมุม คือมองแบบโลกียชนที่เงยหน้ามองของสูง เป็นการมองจากเบื้องต่ำขึ้นไป จากโลกมนุษย์ไปสู่การบรรลุธรรมในแดนพระนิพพาน

โดยใช้หินแกรนิตสีดำเป็นฐานเพื่อสื่อถึงโลกียะ และเปลวสีทองสุกสว่างสื่อถึงการหลุดพ้นหรือโลกุตระนั่นเอง

และเมื่อมองที่ตัวงานอย่างพิจารณา จะพบรายละเอียดที่ลึกซึ้งน่าสนใจ

เปลวรัศมีที่ดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร สังเกตดีๆ จะมีลักษณะคล้ายดอกบัวที่พ้นน้ำ และกำลังทะยานสู่เบื้องสูง

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กลีบเปลว 8 กลีบนั้นก็สื่อถึงมรรค 8 หรือหนทางสู่การพ้นทุกข์ 8 ประการ ส่วนที่แทงขึ้นจากหินแกรนิตสีดำ เพื่อสื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้าล้วนต้องอยู่ในโลกมาก่อน แต่เมื่อปฏิบัติตนตามมรรค 8 แล้วย่อมล่วงพ้นสู่โลกุตระได้ในวันหนึ่ง

ผลงานโลกุตระที่ดูเรียบง่ายแต่มีนัยยะลึกซึ้งนี้ ไม่ใช่ผุดขึ้นมาทันทีทันใด แต่ผ่านการครุ่นคิดอย่างจริงจังและคลี่คลายมาถึง 6 แบบ

โลกุตระ ชลูด นิ่มเสมอ

1. เริ่มแรกจากการเป็น ‘โลก’ แผ่นกลม มีความโค้งนูนด้านหน้าและด้านหลัง ตรงกึ่งกลางแนวดิ่งเป็นร่องห่าง ยึดติดด้วยสลักสี่เหลี่ยมเป็นระยะถี่ เพื่อสื่อความหมายถึง 2 ซีกโลก คือตะวันตกและตะวันออกที่เชื่อมต่อสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น

โลกุตระ ชลูด นิ่มเสมอ

2. ‘โลก’ ในรูปแบบและความหมายเดียวกับแบบก่อน แต่ต่างกันที่รอยแยกที่แคบกว่า

โลกุตระ ชลูด นิ่มเสมอ

3. จากโลกก็พัฒนาแบบเป็น ‘ดวงอาทิตย์’ เพื่อขยายไปสู่สุริยจักรวาล โดยเจาะรูกลมตรงกลาง รอบๆ มีเปลวรัศมีกระจายออกในลักษณะหมุนวน และตั้งใจว่าจะปิดทองอร่ามทั้งหมด

โลกุตระ ชลูด นิ่มเสมอ

4. จินตนาการของผู้สร้างได้เดินทางไปไกลถึง ‘จักรวาล’ โดยเปลี่ยนลายภายในเป็นวิมานและปราสาทของเทพชั้นต่างๆ ที่กำลังล่องลอยอย่างไร้ศูนย์ถ่วง จากที่ตั้งใจจะปิดทอง ก็หวังจะลงสีต่างๆ และติดกระจกสีตามเทคนิคช่างไทยโบราณ

โลกุตระ ชลูด นิ่มเสมอ

5. ความคิดถอยกลับมาสู่ ‘กาแล็คซี’ วงกลมเจาะรูเปลี่ยนเป็นรูปลีลาที่เร้าใจ ด้วยลายกนกที่หมุนตัวเป็นก้นหอย สะบัดปลายออก มองดูคล้ายดอกบัว

โลกุตระ ชลูด นิ่มเสมอ

6. หลังจากวนอยู่ในโลกและจักรวาล ความคิดก็ขยายตัวต่อไปสู่การเหนือโลก อาจารย์ชลูดแน่ใจว่าการเดินทางของความคิดหรือการขยายตัวของจินตนาการได้จบลงแล้วในรูปนี้ ที่ความงาม ความเป็นไทย และความดีอันสูงสุดได้มาประชุมในที่เดียวกัน

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ศิลปะเริ่มต้นด้วยความงาม จบลงที่ความดี” อาจารย์ชลูดมักจะพูดประโยคนี้เสมอ

3. พระราชพิธีอินทราภิเษก

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: จรูญ มาถนอม

ลักษณะผลงาน: ประติมากรรมประดับผนังด้วยไม้จำหลักนูนต่ำนูนสูงและกึ่งลอยตัว เป็นประวัติการณ์ของพระอินทร์ประกอบฉากจักรวาลตามประเพณีไทย

ที่ตั้ง: โถงทางเดินหลัก

งานศิลปะชิ้นนี้น่าจะสะดุดตาคนที่มาเยือนศูนย์ฯ สิริกิติ์มากที่สุด ด้วยสองเหตุผล ได้แก่

ขนาดที่ใหญ่โต และจุดที่ตั้งอยู่บริเวณโถงทางเดินไปเพลนนารี ฮอลล์

แต่ถ้าถามถึงความหมาย คงมีน้อยคนที่รู้ว่า งานไม้จำหลักที่งดงามที่สร้างจากไม้ประดู่ 56 แผ่น เพลาะต่อกันจนมีขนาดกว้าง 22.80 เมตร สูง 6.35 เมตร กำลังเล่าถึงพระราชพิธีอินทราภิเษก

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

พระราชพิธีอินทราภิเษกคืออะไร?

ตามโบราณราชประเพณี ลักษณะ “ราชาภิเษก” หรือพระราชพิธีขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์มี 5 ประการเรียกว่า “ปัญจราชาภิเษก”

โดยมีพระราชพิธีอินทราภิเษกเป็นหนึ่งในนั้น ที่สื่อนัยยะว่า พระอินทร์นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า (ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน) มาถวาย พร้อมด้วยพระพิชัยราชรถ และฉัตรทิพยโอภาส ประหนึ่งว่าพระอินทร์ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แนวคิดที่ว่านี้รับมาจากอินเดียโบราณ ส่วนพระอินทร์ตามคติความเชื่อคือเจ้าจักรวาลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม คัมภีร์ฤคเวทในยุคเริ่มแรกก็กล่าวถึงพระอินทร์ว่าเป็นประมุขแห่งทวยเทพ เป็นเจ้าแห่งสงคราม ที่มีอุปนิสัยชอบช่วยเหลือสรรพสัตว์ จนกลายเป็นต้นแบบแห่งกษัตริย์ทั้งมนุษย์และเทวดาในเวลาต่อมา

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

งานจำหลักไม้ที่แสดงถึงพระราชพิธีอินทราภิเษก จึงสื่อความหมายของอำนาจในวัฒนธรรมไทยว่ามิใช่พละกำลัง แต่เกิดจากคุณธรรมที่สร้างอำนาจและบารมีให้ผู้ปกครอง

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“เราอยากจะทำงานจำหลักไม้ชิ้นใหญ่ๆ สักชิ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวของพระราชพิธีอินทราภิเษกและเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9” จรูญ มาถนอม พูดถึงแรงบันดาลใจของผลงานขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นอยู่ในศูนย์การประชุมฯ

4. ศาลาไทย

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี

ลักษณะผลงาน: ศาลาโถงเครื่องไม้ชนิดหน้าบันชั้นประเจิด ขนาด 5 ห้อง เครื่องบนรวยระกา ช่อฟ้ามอญ หน้าบันลายดอกพุดตาน

ที่ตั้ง: สวนหย่อมทิศเหนือระหว่างลานจอดรถและห้องอาหาร

“เป็นสถาปัตยกรรมประเภทศาลาไทยที่อนุชนรุ่นหลังจะได้มีไว้ศึกษาต่อไป…”

รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เล่าว่า งานศาลาไทยสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีภาคกลางตามธรรมเนียมช่างหลวง แต่ด้วยข้อจำกัดของที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับตัวอาคารศูนย์การประชุมฯ ที่มีขนาดใหญ่ จึงได้มีการปรับสัดส่วนและรูปแบบให้โดดเด่น

“ผมจึงได้กำหนดทรงหลังคาเป็นแบบมุขชะโงก (ลักษณะอาคารที่ออกแบบมุขให้มีลักษณะที่ดูเสมือนลอยออกจากผืนหลังคาปีกนก ที่คลุมอาคารทั้งด้านหน้าและหลัง) คือมีหลังคาเอกเป็นหลัก ไม่ทำการซอยชั้นหลังคามากจนเกินไป…”

สิ่งที่น่าสนใจในการก่อสร้างคือการใช้วัสดุทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย เช่น ฐานหินอ่อน แกรนิตปูพื้น โครงสร้างอาคารไม้มะค่า รวมถึงลวดลายประดับตบแต่งเป็นไม้สักทองคุณภาพดี

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ขณะที่วิธีการก่อสร้างก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

โครงสร้างศาลา ใช้วิธีการสลักเดือยตามแบบช่างครูไทยเดิม เมื่อเข้าที่แล้วจึงถอดออก นำไปประกอบใหม่ได้

ฐานอาคารเป็นแบบฐานสิงห์ โดยมอบให้ช่างจำหลักหินอ่อน สลักบัว กาบสิงห์ บัวหลังสิงห์ บัวคว่ำ บัวหงาย และพนักพลสิงห์บันได

ส่วนสีหลังคา คนที่พบเห็นอาจแปลกใจว่า ทำไมสีออกเทาๆ?

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รศ.ดร.ภิญโญ ผู้สร้างให้ข้อมูลไว้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ว่า นี่คือสีเทาฟ้า ซึ่งเป็นลักษณะสีหลังคาของไทยเดิม ที่เป็นสีดีบุก เหมือนเมื่อครั้งสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ภายในล้วนตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ทุกชิ้นล้วนลงรักปิดทอง โดยนำลายดอกพุดตานมาใช้ในการออกแบบทุกส่วนขององค์ประกอบ เพดานไม้แกะสลักลงรักปิดทองบนพื้นสีแดงชาด แลดูงามขลังและอร่ามในเวลาเดียวกัน

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

น่าแปลกที่ผ่านมา คนที่เคยแวะเดินศูนย์ฯ สิริกิติ์มาหลายครั้ง มีน้อยคนที่จะสังเกตเห็น และมีน้อยกว่านั้นที่จะเดินไปชมศาลาไทยแห่งนี้ในระยะใกล้

เพราะความงามที่เห็น บางทีจะซาบซึ้งได้ อาจต้องใกล้พอ

“การทำงานออกแบบศาลาไทยของผมเกิดจากความตั้งใจและภาคภูมิใจอย่างเต็มเปี่ยม และจากการที่ช่างฝีมือทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี…”

รศ.ดร.ภิญโญ หวังว่าผลงานที่สร้างอย่างตั้งใจนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษารูปแบบของศาลาไทยในอนาคต

 

5. หนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: ประพันธ์ สุวรรณ

ลักษณะผลงาน: ฉากเล่าเรื่องการศึกครั้งสุดท้ายในเรื่องรามเกียรติ์ จำลองแบบจากศิลปการฉลักหนังตะลุงของภาคใต้

ที่ตั้ง: โซนพลาซ่า

“เราอยากให้งานชิ้นนี้ออกมาไม่เหมือนใครในโลก”

คือความตั้งใจของ ประพันธ์ สุวรรณ ในการสร้างงานศิลปะโดยใช้เทคนิคการทำหนังตะลุงที่ตัวเองถนัด ด้วยเลือกใช้แผ่นอัลลอยขนาดใหญ่แทนผืนหนัง

แน่นอนว่าเป็นโจทย์ที่หิน แต่ประพันธ์มองว่า “ท้าทายความสามารถ”

จากจุดนั้น ประพันธ์ก็ค่อยๆ สร้างงานทีละขั้น ตั้งแต่ร่างภาพ ซึ่งเป็นฉากการศึกครั้งสุดท้ายระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ โดยวาดจากต้นเค้าตำนานวรรณคดี ผสมกับจินตนาการ

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การทำในแต่ละขั้นตอนค่อนข้างละเอียด แต่ขั้นตอนที่ยากที่สุด ประพันธ์บอกว่า คือเป็นการเจาะลาย เพราะแผ่นอัลลอยนั้นแข็งกว่าหนัง “ต้องใช้สว่านในการเจาะ โอกาสที่จะพลาดมีเยอะกว่าการตอกมือ จึงต้องมีการจุดนำไว้ก่อน”

ส่วนการลงสี ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นการทาสีเลียนแบบหนังตะลุง โดยขั้นตอนนี้ประพันธ์ได้เด็กนักเรียนจากวิทยาลัยเพาะช่างมาช่วย จนสำเร็จออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ที่มีความยาว 11.4 เมตร สูง 4.44 เมตร และที่สำคัญเป็นงานที่แปลกไม่เหมือนใคร

เพราะดูเผินๆ เหมือนทำด้วยหนัง แต่เมื่อมองใกล้ๆ กลับทำด้วยโลหะ

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“รู้สึกภูมิใจมากที่เราได้สร้างประวัติศาสตร์ตามที่ตั้งใจไว้สำเร็จ”

แต่ประพันธ์บอกว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกภูมิใจยิ่งกว่า คือในวันเปิดศูนย์การประชุมฯ วันนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จมาเปิดงาน แต่ด้วยความที่มีศิลปินหลายคน ประพันธ์เลยไม่ได้เข้ารับเสด็จ แต่อาศัยดูจากจอใหญ่ที่ถ่ายทอดบรรยากาศด้านใน

เมื่อสมเด็จพระราชินีเห็นผลงานของเขา แล้วตรัสถามว่า ‘ประพันธ์นี่ใคร?’

“นาทีนั้นรู้สึกภูมิใจมาก” ประพันธ์ระลึกความหลัง

 

6. พระบรมฉายาทิสลักษณ์

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: สนิท ดิษฐพันธุ์

ลักษณะผลงาน: จิตรกรรมแขวน 2 ชิ้น พร้อมกรอบ รูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเครื่องทรงราชภูษิตาภรณ์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี

ที่ตั้ง: ผนังเหนือทางเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่ ด้านทิศตะวันออก

หลายคนคงไม่รู้ว่า พระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้รับการอัญเชิญให้ประดิษฐาน ณ ตำแหน่งที่ไม่มีตำแหน่งใดเปรียบเทียบได้

นั่นคือผนังทิศตะวันออก เหนือทางเดินเข้าห้องประชุมใหญ่ (เพลนนารี ฮอลล์) อันเป็นจุดที่เส้นทางภายในทั้งหมดมาบรรจบกัน

“คุณนิพัทธ (พุกกะณะสุต) บอกกับผมว่า เคยเห็นผลงานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ทั้งสองพระองค์ของผมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม” สนิท ดิษฐพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ฟื้นความหลังถึงที่มาของผลงานในศูนย์ฯ สิริกิติ์

สำหรับ สนิท ดิษฐพันธุ์ แม้จะมีฝีมือเชี่ยวชาญด้านการวาดภาพจิตรกรรม และเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ แต่การวาดพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ไม่ง่ายเลย

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“กว่าภาพจะเสร็จสมบูรณ์ได้ ก็ทำให้ผมต้องนึกในใจว่า “เกือบไปแล้วไหมล่ะ” หลายครั้งหลายหนด้วยกัน”

เนื่องจากการวาดครั้งนี้ สนิท ดิษฐพันธุ์ ต้องใช้เวลาวาดมากกว่าการทำงานปกติเกือบเท่าตัว จากที่ทำงานอย่างมากวันละ 5 ชั่วโมง เพิ่มเป็นวันละ 9 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ต่อมาเมื่อการวาดภาพคืบหน้า ก็ตรวจสอบพบความคลาดเคลื่อนของรายละเอียดต่างๆ ในภาพ ตั้งแต่พระแท่นภัทรบิฐที่กว้างกว่าของจริง พระแสงขรรค์ชัยศรีที่เขียนสั้นไป รวมถึงเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ต้องถูกต้องตามความเป็นจริง

“คุณเศวต ธนะประดิษฐ์ ที่ปรึกษาจากสำนักพระราชวังได้ให้ความถูกต้องหลายอย่าง ผมก็ได้แก้ไขไปตามที่ท่านได้กรุณาแนะนำมา ผมเลยได้คิดว่าในหลวงถ้าทรงเครื่องใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องการความประณีตและต้องพิถีพิถันมากพอดู มิฉะนั้นจะต้องถูกท่านผู้รู้ตำหนิเอาได้ในภายหลัง”

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หลังจากปรับแก้รายละเอียดในจุดต่างๆ อยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระบรมฉายาทิสลักษณ์ก็สมบูรณ์

“ถ้าไม่มีจิตใจในหน้าที่อย่างมั่นคงแล้วทุกอย่างพังหมด เพราะมันต้องใช้จิต และอารมณ์ที่ใสสะอาดจริงๆ”

อาจพูดได้ว่า นี่คือหนึ่งในผลงานของ สนิท ดิษฐพันธุ์ ที่เขาทุ่มหัวใจวาดอย่างสุดฝีมือ

 

7. เรือกอและ

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศิลปิน: กวี ศิริธรรม

ลักษณะผลงาน: เรือประมงขนาดเล็ก สำหรับใช้งานในลำคลองและชายฝั่งทะเล ตัวเรือ ตกแต่งด้วยลวดลายเขียนสีพร้อมอุปกรณ์เดินเรือ

ที่ตั้ง: โซนพลาซ่า

“ผมตัดสินใจเลือกทางที่ 2 เพราะผมเห็นว่าการทำงานแข่งกับเวลาโดยได้ผลงานที่ดีกว่ามันท้าทายดี”

เมื่อครั้งยังมีชีวิต กวี ศิริธรรม ปฏิเสธการให้ยืมเรือกอและจำลองจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีที่เขาสังกัด แต่ตกลงรับจัดสร้างเรือกอและลำใหม่

เพราะเล็งเห็นว่าสถานที่จัดประชุมระดับประเทศแห่งนี้ ควรได้ผลงานชั้นเลิศไว้ประดับ

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เรือกอและคืออะไร?

กวี ศิริธรรม เล่าเป็นเกร็ดความรู้ว่า “กอและ” เป็นคำภาษามลายูของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชาวมุสลิมใช้กัน หมายถึงโคลงเคลง พลิกไปพลิกมา

ในอดีต ชาวไทยมุสลิมที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย จะนิยมใช้เรือกอและออกหาปลาในท้องทะเลแถบชายฝั่ง เพราะเรือกอและแล่นออกทะเลได้ที่ความลึกแค่ 10 วา (ราว 20 เมตร) เท่านั้น และนิยมนำมาแข่งพายเรือ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว

ต่อมาเมื่อมีเรือจับปลาที่ทันสมัยกว่า ก็ทำให้เรือกอและลดจำนวนลง

ความโดดเด่นของเรือกอและ คือลวดลายต่างๆ ที่เขียนข้างลำเรือ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างลายไทยภาคกลางกับลายพื้นถิ่น โดยศิลปินหรือช่างเขียนจะวาดไปตามความคิดโดยไม่มีแบบร่าง แต่จะใช้ความชำนาญเป็นผู้นำทาง

“ก่อนจะลงมือเขียน จะกำหนดขนาดเรือว่าควรจะใช้ลายแบบใด แต่ละเส้นควรจะกว้างยาวเท่าไร เมื่อกำหนดเสร็จก็จะลงมือทาสีรองพื้น แล้วเขียนลายทันที”

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เส้นสายและลายสีบนเรือกอและจึงเกิดขึ้นอย่างพริ้วไหวและรวดเร็ว

ปัจจุบันเรือกอและที่จัดแสดงอยู่ในศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นเรือกอและจริงขนาด 5.50 เมตรที่หาดูได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะเรือกอและได้เคลื่อนออกจากวิถีชีวิตของคนหาปลา เข้าสู่น่านน้ำสินค้าเชิงวัฒนธรรมและของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เห็นฝั่ง

“นอกจากจะแสดงถึงศิลปะท้องถิ่นของภาคใต้แล้ว คงเป็นเรือลำเดียวที่ทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมระลึกถึงความหลังด้วยความภูมิใจและอาลัย”

 

8. ประตูกัลปพฤกษ์* และมือจับพญานาค**

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

*ศิลปิน: ไพเวช วังบอน

ลักษณะผลงาน: แผ่นกระดานเขียนลายรดนำ้รูปต้นกัลปพฤกษ์ จำลองแบบมาจากบานประตูลายรดน้ำพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ในพระบวรราชวังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

**ศิลปิน: ปั้นและหล่อโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดพุทธรังสีปฏิมากรรม

ลักษณะผลงาน: มือจับบานประตู จำลองแบบจากนาคสัมฤทธิ์ศิลปเขมรแบบบายน เดิมใช้เป็นเครื่องประดับส่วนปลายของคานหามที่นั่งผู้สูงศักดิ์

ที่ตั้ง: ประตูเข้าห้องประชุมใหญ่

หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่าประตูทางเข้า เพลนนารี ฮอลล์ หรือห้องประชุมใหญ่ เป็นประตูลายรดน้ำที่วาดขึ้นอย่างงดงาม

ลวดลายดังกล่าวเป็นรูปต้นกัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึกในสวรรค์ โดยจำลองแบบมาจากบานประตูรดน้ำของพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ในพระบวรราชวัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

บานประตูทั้งหมดมี 16 บาน ติดอยู่รอบด้านทางเข้าห้องประชุม

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ไพเวช วังบอน ศิลปินผู้สร้างและคุมงานเล่าว่า งานเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากงานแต่ละขั้นต้องประณีต “จะเร่งมากไม่ได้”

เพราะลายรดน้ำเป็นงานประณีตศิลป์ ต้องวาดลวดลายต่างๆ ก่อนปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก (รัก คือ ยางที่ได้มาจากต้นรัก ช่วยให้ผิวของวัตถุมันวาวทองอร่าม) โดยมีขั้นตอนสุดท้ายคือการเอาน้ำรด เพื่อให้ลวดลายทองที่ปิดไว้ปรากฏ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ลายรดน้ำ’

แต่เมื่อทีมงานทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน “น้องๆ และเพื่อนๆ รวมทั้งหมด 8 คนต่างทำงานกันโดยไม่ได้หลับนอน” งานทั้งหมดก็สำเร็จตามกำหนดเวลา

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เมื่อนำประตูทั้งหมดประกอบเข้ากับมือจับที่จำลองแบบจากนาคสัมฤทธิ์ศิลปเขมรแบบบายน ที่เดิมใช้เป็นเครื่องประดับของคานหามที่นั่งผู้สูงศักดิ์

ประตูที่งดงามจึงยิ่งเฉิดฉาย จนรู้สึกเสียดายหากไม่ได้มอง

QSNCC งานศิลปะ ศูนย์สิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

อีกไม่กี่วัน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะอำลาจากคนไทยเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ จาก ‘ไทยไฮเทค’ เมื่อ พ.ศ.2534 ให้เป็นไทยที่ไฮเทคกว่าเดิมตามยุคสมัย

สถาปัตยกรรมและตัวอาคารที่เห็นในวันนี้ จะถูกรื้อถอนและหายไป

เหลือเพียงงานศิลป์ชั้นครู 8 ชิ้นที่จะเก็บรักษาไว้ เพื่อรอวันประดับประดาในอาคารหลังใหม่ แล้วส่งเสียงกระซิบเล่าขานเรื่องราวแต่หนหลัง

ว่ากาลครั้งหนึ่งศูนย์การประชุมฯ แห่งนี้ เคยมีวันวานและความเป็นมาอย่างไร.