©ulture

โลกจะเหมือนเดิม และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในยุคหลังโควิด-19

ประโยคข้างต้นอาจฟังดูงงๆ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้น

เพราะการมาถึงของโรคภัยครั้งใหญ่ เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตในทุกมิติ ไม่ว่าในระดับบุคคล องค์กร สังคม หรือประเทศ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น รุนแรงและรวดเร็ว จนผู้คนและธุรกิจจำนวนมากไม่อาจต้านทานและหล่นหายไปจากสายธารของยุคสมัย

ผู้นำในหลายวงการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน การอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรใหม่ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงระดับนี้ ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตาย

ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ให้ยาวไกลกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ก็จะพบว่าโลกก็เป็นเช่นนี้ เปลี่ยนแปลง สิ่งเก่าหายไป สิ่งใหม่ทดแทน วนเวียนยาวนานราวกับนิทานเรื่องเก่าที่นำมารีอีดิทให้ร่วมสมัย แล้วเล่าซ้ำใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

หากตอนนี้โลกอยู่ในฤดูมรสุม ผู้คนเก็บตัวและใช้เวลาส่วนใหญ่หลบมรสุมอยู่ในบ้าน

อะไรคือ ‘เรื่องราว’ ที่เราควรอ่านเพื่อสะสมองค์ความรู้ ที่จะนำมาปรับใช้กับชีวิตในช่วงวิกฤต รวมถึงก่อร่างความคิดใหม่ เพื่อใช้เดินต่อไป ในวันที่คลื่นลมสงบลง

1

ย้อนมองอดีต เพื่อเห็นอนาคต กับ ‘เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี’

ความรุ่งเรือง และ ความร่วงโรย
ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์มนุษย์
ราวกับวงจรประหลาดที่มักจะวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นเสมอ
ตลอดเวลา 1,000 ปีที่ผ่านมา
อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ บริษัท สิ่งประดิษฐ์มากมาย ล้วนเกิดขึ้น รุ่งเรือง
และเข้าสู่ช่วงเวลาร่วงโรยในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม…
ทุกอย่าง ต่างก็หลงเหลือร่องรอยแห่งภูมิปัญญาเอาไว้
กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ค่อยๆ ปะติดปะต่อจนกลายเป็นความก้าวหน้าของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน…
– บทนำ, หน้า 3

นี่คือหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านง่ายและสนุกมากที่สุดเล่มหนึ่ง เนื้อหาพูดถึงเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ ค.ศ.1100 – 2019 โดยเริ่มนับหนึ่งที่ยุคกลาง ยุคที่ขุนนางเป็นใหญ่ในยุโรป แล้วค่อยๆ คลี่ประวัติศาสตร์ไปทีละบท ว่ากว่าโลกจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ก่อนวันที่สหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นพี่ใหญ่ ย้อนกลับไปนานไกล โปรตุเกสและสเปนเคยเป็นมหาอำนาจของโลก ทั้งสองประเทศต่างออกเดินเรือ เพื่อค้นหาโอกาสและดินแดนใหม่ โปรตุเกสเดินทางไปพบอินเดีย สเปนที่ตอนนั้นคณะเดินทาง นำโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินเรือด้วยเส้นทางที่ไม่เหมือนใคร จนพาเขาไปพบดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก ก่อนต่อมาผู้คนจะเรียกขานมันว่า ‘อเมริกา’

ข้างต้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ที่ครั้งหนึ่งเคยมีประเทศที่รุ่งเรือง แล้วร่วงโรย พลัดเปลี่ยนกันไปตามเหตุและปัจจัย โรคระบาด สงคราม ภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ วิกฤตเกิดขึ้นแล้วก็ล้วนจากไป พร้อมกับผู้ที่ฉวยคว้าโอกาสได้ขึ้นมารับบทนำแทน

โลกเป็นเช่นนี้ มีวันที่ดีและร้าย แต่สุดท้ายไม่ว่าวันไหน สิ่งต่างๆ ก็จะผ่านไป

หนังสือเล่มนี้บอกกับเราว่า วันที่ร้ายที่สุดจะอยู่กับเรา วันที่ดีที่สุดก็จะอยู่กับเราเช่นกัน หากตอนนี้เป็นวันร้ายๆ อย่าเพิ่งยอมแพ้และถอดใจ วันใหม่รออยู่ในวันพรุ่งนี้เสมอ

นี่คือสิ่งที่อดีตกระซิบบอกมนุษย์ตลอดหนึ่งพันปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี
โดย ลงทุนแมน
ราคา 350 บาท | 222 หน้า
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ ร้านหนังสือ Readery 

 

2

สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ในวันที่บริโภคนิยมไม่ใช่คำตอบของความยั่งยืนและความสุข
กับ ‘ดิน – วิญญาณ – สังคม’

ในกระบวนทัศน์ใหม่ สิ่งที่สำคัญคือคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ปริมาณวัตถุในการครอบครอง สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องสุขภาพ ความสร้างสรรค์ วัฒนธรรม หัตถกรรม อาหาร ครอบครัว มิตรภาพ การร่วมแรงร่วมใจ และเวลาที่จะได้ใช้ชีวิตมากกว่าการดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะได้ครอบครองมากขึ้น
– กระบวนทัศน์ใหม่ กับ กระบวนทัศน์เก่า, หน้า 329

ในวันที่โลกเต็มไปด้วยวิทยาการล้ำหน้า ผู้คนสามารถเสกสรรสิ่งต่างๆ ได้เพียงลัดนิ้วมื้อ ราวกับเทวดาเสกของทิพย์บนสวรรค์ แต่แทนที่ขนาดของความสุขจะใหญ่ขึ้น ความทุกข์กลับถมทับมากล้นพ้นทวี

สาทิศ กุมาร ปราชญ์ชราที่ยังคงมีแววตาสว่างไสว ผู้อุทิศตนเพื่อกระตุกเตือนผู้คนทั้งโลกว่า ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งแสวงหา โดยการกอบทุกสิ่งทุกอย่างเข้าตัว ผ่านวิธีคิดแบบบริโภคนิยม ที่มุ่งให้คนเห็นแก่ฉัน มากกว่าสิ่งอื่นใด กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ และบั่นทอนความกลมกลืนในสังคม

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงปัญหาโลกและปัญหาใจ ว่าบ่อเกิดความทุกข์นั้นมาจากไหน ทำไมโลกและเราถึงไร้ความรื่นรมย์และความสุข ผ่านความรู้ที่ สาทิศ กุมาร สั่งสม ผ่านปัญญาของปราชญ์ที่ สาทิศ กุมาร ศึกษาชื่นชม 

เพื่อทะลวงมายาของการพัฒนาและความสุขภายใต้นิยามโลกกระแสหลัก เพื่อให้เราเห็นเหตุแห่งทุกข์ที่เรารู้สึก แต่อาจไม่รู้ว่า ต้นเหตุที่แท้นั้นมาจากไหน

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ ชูมาเคอร์เห็นว่าองค์กรขนาดใหญ่ประเมินผลการทำงานจากมุมมองที่แคบอย่างยิ่ง และการประเมินเหล่านี้ยึดตัวเลขผลกำไรระยะสั้นทุกสามเดือน หรือพิจารณาจากอัตราผลกำไรประจำปีเป็นเกณฑ์ บรรษัทข้ามชาติที่ค้าขายทั่วโลกต้องอาศัยสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐเป็นผู้สร้างด้วยภาษีของประชาชน แต่กระนั้น พวกเขากลับจ้างนักบัญชีฉลาดๆ ที่รู้วิธีเลี่ยงภาษี ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่คำนวณต้นทุน ก็ไม่เคยรวมต้นทุนที่แท้จริงของสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย

นี่คือหนึ่งในปัญหาหรือทุกข์ที่หนังสือเล่มนี้พูดถึง ก่อนจะฉายภาพให้เห็นจนชัด แล้วชี้ว่า ‘อะไร’ คือหนทางที่จะพาเราพ้นจากห้วงทุกข์ในโลกสมัยใหม่นี้ได้

ถ้าตอบอย่างลัดสั้นที่สุด คือ การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเรา ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไร คำตอบอยู่ในหนังสือเล่มนี้

ดิน – วิญญาณ – สังคม
โดย สาทิศ กุมาร, แปล นัยนา นาควัชระ
ราคา 450 บาท | 368 หน้า
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์ openbooks

 

3

บทเรียนจากไวรัส เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวที่เปลี่ยนไป
เพื่อมีชีวิตใหม่อีกครั้งกับ ‘ในการแพร่ระบาด’

เราอาจพยายามหาความหมายให้แก่การแพร่ระบาด
ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ในทางที่ดีที่สุด
ใช้มันในการคิดสิ่งที่ภาวะปกติไม่ยอมให้เราคิด
นั่นคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และเราประสงค์จะลุกขึ้นอีกครั้งด้วยท่วงท่าแบบไหน
นับวัน พยายามให้ได้มาซึ่งหัวใจอันเปี่ยมด้วยปัญญา
อย่ายอมให้ความทุกข์ทรมานทั้งหลายเหล่านี้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์
– นับวัน หน้า 88

ผู้เขียนคือผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ เขาเป็นอิตาเลียนโดยกำเนิดและใช้ชีวิตอยู่ในอิตาลี ที่ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เขาใช้เวลาระหว่างกักตัวอยู่ในบ้านเขียนหนังสือเล่มนี้จนเสร็จ ถึงแม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็ก (ความหนาเพียง 89 หน้า) แต่ชวนตั้งคำถามยิ่งใหญ่ต่อโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเพราะผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในสภาวการณ์เช่นนี้ เราควรทำอย่างไร?

เนื้อหาทั้ง 27 บท ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์จนเห็นเป็นภาพรวมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทุกความเป็นไปที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านข้อเท็จจริง มุมมองส่วนตัว และประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เพื่อเปิดกว้างให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดทบทวน ไตร่ตรอง และใคร่ครวญทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ถึงแง่มุมต่างๆ ที่มนุษย์เรียนรู้ได้จากเชื้อไวรัส

ในสงคราม หากเกิดขึ้นแล้วย่อมลุกลามบานปลาย และความแข็งแกร่งก็อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้กองทัพชนะ ในทางตรงกันข้ามอาจต้องแพ้อย่างน่าเสียดาย หากขาดกลวิธีคิดและการวางแผนต่อสู้ที่รัดกุม สงครามระหว่างมนุษย์กับไวรัสก็เช่นเดียวกัน เราต้องเรียนรู้จากมัน เพื่อปรับตัวอยู่กับความไม่ปกติเหล่านี้ต่อไปชั่วเวลาหนึ่ง และใช้ปัญญาคิดหาอาวุธใหม่ที่จะสยบมันให้ได้โดยเร็วที่สุด 

หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ทุกอย่างมีที่มาและเหตุผลของการดำรงอยู่ทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญและไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะล้วนแล้วแต่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว หากแต่เรายังอาจไม่ทันได้ครุ่นคิด หรือเรียนรู้เพื่อรับมืออย่างจริงจัง

โมงยามนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนจะลุกขึ้นมาเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยใช้ปัญญาเพื่อเรียนรู้ ใช้หลักการและสติรับมือความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง ใช้ใจที่กล้าหาญเผชิญหน้าความเศร้าและความสูญเสีย เพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดและมีชีวิตใหม่อีกครั้ง

ในการแพร่ระบาด
โดย Paolo Giordano, แปล นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
ราคา 160 บาท | 89 หน้า
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี

 

4

ซ่อมแซมใจที่เคยบอบซ้ำ เยียวยาความรู้สึกเศร้าในวันวาน
ผ่าน ‘ศูนย์รับฝากความเสียใจ’

เรื่องในอดีตไม่เคยจากไปไหน
สิ่งที่ทำได้มีเพียงอยู่ร่วมกับมันอย่างสงบสุขเท่านั้น
ยอมรับการมีอยู่ของมันให้ได้
จากนั้นก็เพียงให้อภัยตัวเอง
– หน้า 97

ทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางเป็นจริง แต่ในหลายๆ ครั้ง เราก็มักจะเผลอคิดเข้าข้างตัวเองว่า คงจะดีกว่านี้หากสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขบางสิ่งบางอย่างในอดีตได้ โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นยังคงทำให้เรารู้สึกเศร้าหรือเสียใจจนถึงตอนนี้

เรื่องราวในหนังสือ จึงเสนอทางเลือกให้ผู้อ่านได้คิดและตัดสินใจเช่นเดียวกับตัวละครว่า หากรู้ว่ามีสถานที่พิเศษแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้ส่งจดหมายหรือสิ่งของกลับไปหาใครบางคนในอดีต เพื่อชดเชยความรู้สึกค้างคาใจของตัวเอง โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องปฏิบัติตามกฏและเงื่อนไขที่ ‘ศูนย์รับฝากความเสียใจ’ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเสียก่อน เราในฐานะคนที่เก็บงำความเศร้าไว้ในใจมาตลอด พร้อมทำตามและยืนยันว่าจะใช้บริการหรือไม่

ขณะที่เรื่องราวในชีวิตจริง หากปัจจุบันคือยุคสมัยแห่งความเศร้า เราต่างมีชีวิตไร้ความสุขในสังคมไร้ความหวัง ไม่มีสถานที่พิเศษใดให้ผ่อนคลายความทุกข์ เรากำลังเปียกปอนด้วยน้ำตาแห่งความเสียใจ แม้ไม่ได้ชะโลมอาบแก้มให้คนอื่นได้เห็น เพราะน้ำตาทั้งหมดตกในส่วนลึกของหัวใจ ไหลเข้าไปถึงแก่นแกนชีวิต และคอยกัดกินใจอย่างเงียบเชียบ เราในฐานะผู้กุมหัวใจ ควรทำอย่างไรต่อไปดี

บางที ถ้าหากใจของเราชำรุด ก็ขอเพียงซ่อมแซมใจให้กลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด และถ้าหากความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและการเติบโตอย่างที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็ขอเพียงมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างเข้าใจกว่าที่เคย

เมื่ออดีตคือสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว เราทำได้เพียงยอมรับความจริง หาหนทางเยียวยาตัวเองและปลดโซ่ตรวนแห่งความเสียใจที่เราเคยยอมให้มันพันธนาการไว้ เพื่อก้าวข้ามไปสู่จุดใหม่ของชีวิต จุดที่เราหลุดพ้นจากความรู้สึกหดหู่เพราะความเศร้า

เพราะความเสียใจในอดีตมีไว้ เพื่อให้เราทะนุถนอมชีวิตในปัจจุบัน

ศูนย์รับฝากความเสียใจ
โดย ซื่ออี, แปล รักสิริ
ราคา 245 บาท | 236 หน้า
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ แพรวสำนักพิมพ์

 

5

ตกผลึกทางความคิด เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตในโลกที่ไม่เคยเหมือนเดิม
กับ ‘Unstructured วิธีคิดไร้กระบวนท่า’

จากแจ๊ก เวลช์ ถึง อีลอน มัสก์
จากโรคซึมเศร้าถึงเวทียิมนาสติก
จากความล้มเหลวสู่การเรียนรู้
จนเมื่อหัวถึงหมอนก็จงนอนอย่างสมบูรณ์แบบ
สารพันเรื่องราวร้อยเรียงอย่างไร้กระบวนท่า
เพื่อเข้าถึงภาวะพร้อมปรับตัวตลอดเวลา
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของทุกชีวิตในโลกยุคนี้
– โปรยปกหลัง

ในสนามประลอง กระบวนท่าเฉพาะตัวคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะผู้ต่อสู้ได้ก็จริง แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากระบวนท่าเดิมๆ จะยังใช้ได้ผลในครั้งต่อๆ ไป

หนังสือเล่มนี้ ตั้งคำถามทำนองเดียวกันว่าการต่อสู้อย่างไร้กระบวนท่า เพื่อเรียนรู้ท่าใหม่ๆ ตลอดเวลา อาจดีกว่าการฝึกฝนแต่ท่าเก่า เพราะนั่นคือหลุมพรางที่เราวางให้ตัวเองหล่นลงไปโดยไม่ทันได้ระวัง

โลกทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงเร็ว มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นระดับวินาที เราเองจึงไม่อาจเชื่อมั่นในความคิด ทักษะ และความรู้เดิมอีกต่อไป วิธีคิดอย่างไร้กระบวนท่าที่ไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคสมัยใหม่ เพราะหมายความว่าอย่างน้อยที่สุดเราได้เตรียมพร้อมปรับตัวตลอดเวลา 

ภายในหนังสือ นำเสนอบทความคัดสรรที่สรุปใจความสำคัญจาก Mission to the Moon Podcast ในปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 44 บท ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าประสบการณ์จากการทำงาน รวมถึงยกตัวอย่างกรณีศึกษา และบทเรียนจากคนดังระดับโลกที่น่าสนใจ เพื่ออธิบายความแตกต่างของความคิดและความเชื่อระหว่างเจเนอเรชั่น ระดับความสัมพันธ์ ชนชั้นทางสังคม รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เพื่อสื่อว่าการปรับตัวคือกุญแจสู่ความสำเร็จในโลกาภิวัตน์

วิธีคิดแบบไร้กระบวนท่าแบบนี้แหละ ที่ชวนให้ตกผลึกทางความคิด และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตในโลกที่ไม่เคยเหมือนเดิม

Unstructured วิธีคิดไร้กระบวนท่า
โดย รวิศ หาญอุตสาหะ
ราคา 380 บาท | 266 หน้า
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์ KOOB