©ulture

“ความโศกเศร้าคือบทเรียนแสนอำมหิต คุณจะเรียนรู้ว่าการไว้ทุกข์นั้นไร้ความปรานี เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวเพียงใด เรียนรู้ว่าคำปลอบประโลมอันปลิ้นปล้อนทำให้คุณรู้สึกอย่างไร คุณเรียนรู้ว่าความระทมทุกข์เป็นเรื่องของภาษามากมายแค่ไหน มันคือเรื่องของความล้มเหลวทางภาษา และการพยายามคว้าจับถ้อยคำเอาไว้”

นี่คือข้อความบางส่วนจากหนังสือ ‘Notes on Grief’ ของ ชิมามามานดา เอ็นโกซี อาไดซี่ (Chimamanda Ngozi Adichie) นักเขียนที่นักอ่านชาวไทยน่าจะคุ้นเคยจากหนังสือแปลขายดี ‘WE SHOULD ALL BE FEMINISTS : เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์’

ชิมามามานดา เอ็นโกซี อาไดซี่ / Photo: Christophe ARCHAMBAULT / AFP

ไม่ได้อยากทำให้หดหู่กับภาวะที่ชวนหดหู่อยู่แล้วนี้ แต่ขออนุญาตพูดถึงหนังสือที่เขียนถึงคนรักผู้จากไปอีกสักรอบ หลังจากเคยพูดถึงเรื่องราวในทำนองเดียวกันจากหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ A Farewell to Gabo and Mercedes  โดย โรดริโก การ์เซีย ลูกชายของนักเขียนโนเบล กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เขียนถึงช่วงชีวิตสุดท้ายและความตายของพ่อและแม่ของตน

เพราะช่วงนี้ความตายจำนวนมากเกินขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว การตระหนักว่าคนรัก หรือกระทั่งอาจเป็นเราเองที่สามารถจากไปได้ทุกเมื่อ จึงวนเวียนอยู่ในความสนใจของผู้เขียนบทความนี้อยู่ไม่น้อย

ปี 2020 ขณะสร้างชื่อเสียงขึ้นมาเป็นนักเขียนวรรณกรรมแถวหน้าของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ชิมามามานดา เอ็นโกซี อาไดซี่ สูญเสียบิดาผู้เป็นที่รักไปตลอดกาล โลกของเธอกลับหัวกลับหาง ถูกความอลม่านพุ่งชน สิ่งที่เคยมีรูปร่างจับต้องได้ถูกทุบทำลาย แน่นอน ความตายของบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นเป็นของจริง ความเศร้าโศกเกิดขึ้น แต่เราจะเขียนถึงความเศร้านั้นอย่างไรเมื่อมันเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่างตายตัว เปลี่ยนผันไปตามตัวตนและมุมมองของผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับมัน เพราะ “เราต่างไว้ทุกข์ในท่วงทำนองที่แตกต่างกัน”

เขียนถึงความรักอาจง่ายกว่า แม้มันจะนามธรรมพอๆ กัน เพราะเวลาเขียนถึงความรักเรามักเขียนในสถาวะที่หัวใจปกติ ต่างจากความเศร้าที่เป็นการพูดถึงโลกที่ภาษา ซึ่งเคยสามารถหยิบจับมาบันทึกและบอกเล่าเรื่องราวถูกฉีกทึ้งกระจัดกระจาย และใช่ การเขียนถึงความระทมทุกข์เหล่านั้นคือการ “พยายามคว้าจับถ้อยคำเอาไว้”

Notes on Grief ถูกเขียนขึ้นในห้วงสัปดาห์หลังความตายของบิดาของอาไดซี่ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกใน The New Yorker ก่อนนำมาแก้ไขเพื่อตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในเดือนพฤษภาคม 2021

“Ka chi fo” หรือ “นอนหลับฝันดี” ในภาษาอิกโบซึ่งเป็นภาษาถิ่นของชาวไนจีเรียบ้านเกิดของเธอ คือคำพูดสุดท้ายของพ่อที่อาไดซี่ได้ยินผ่านโปรแกรม Zoom จากอเมริกาสู่ไนจีเรีย ก่อนวันที่ 10 มิถุนายน 2020 พ่อของเธอจะจากไปอย่างกระทันหัน

“I came undone” หรือ “ฉันแตกสลาย” คือประโยคสุดท้ายในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ที่อาไดซี่เขียนขึ้น

Photo: CLAUDIO REYES / AFP

และความแตกสลายนั้นก็เปิดเผยออกมาผ่านงานเขียนของเธอ ผ่านการพยายามคว้าจับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ พยายามกอบเก็บชิ้นส่วนแตกสลายมาประกอบใหม่ให้เป็นรูปร่าง Notes on Grief จึงเป็นทั้งคำไว้อาลัย และการพยายามค้นหาหนทางและวิธีการมีชีวิตต่อไปของผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ การค้นหาความหมายที่สูญหายไปอย่างฉับพลันและง่ายดาย หลังลมหายใจของผู้เป็นที่รักของเรามอดดับ ซึ่งบางครั้งมันอาจถูกอธิบายออกมาผ่านความเจ็บปวดทางกาย ความเจ็บปวดที่ใกล้ชิดกับตัวเอง และสามารถอธิบายออกมาได้ง่ายที่สุด

“…ทำไมสีข้างของฉันถึงแจบแปลบทรมาน? มันมาจากการร่ำไห้ ใครบางคนบอกเช่นนั้น ฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราร้องไห้ด้วยกล้ามเนื้อ ความเจ็บปวดไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่ความเจ็บปวดทางกายช่างน่าฉงน ลิ้นของฉันขมปร่าเกินทานทน ราวกับฉันกินอาหารอันน่าขยะแขยงและลืมแปรงฟัน ทรวงอกของฉันหนักอึ้งสาหัส และภายในของฉันเต็มไปด้วยความรู้สึกของการสูญสลายที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

จะกล่าวว่ามันเป็นแค่หนังสืองานศพที่เป็นเรื่องราวส่วนตัวเล่มหนึ่งก็ได้ หรือจะพูดว่ามันเป็นงานวรรณกรรมเปี่ยมด้วยโภชนาการทางจิตวิญญาณที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนผู้มีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคก็ได้อีกเช่นกัน เพราะแม้อาไดซี่จะยอมรับว่า มันยากเย็นเพียงไรในการค้นหาถ้อยคำมาบรรยายาความเศร้าโศกที่กำลังดำเนินอยู่ แต่เธอก็พยายามรวบรวมสติให้สงบภายใต้ความคุคลั่งปั่นป่วนนี้ จดจารมันออกมาด้วยถ้อยคำอันงดงาม ยกตัวอย่างก็เช่นเมื่อเธอพยายามบรรยายมวลบรรยากาศรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากความเศร้าภายในตัวเอง

“ลมหายใจของฉันแตกต่างออกไป นี่คือความหมายของหัวใจที่ถูกสั่นไหวกระทันหันใช่หรือเปล่า อากาศกลายเป็นกาวเหนียวเหนอะ”

ก็เพราะ “เราต่างไว้ทุกข์ในท่วงทำนองที่แตกต่างกัน” การเขียนงานในแนวบันทึกความทรงจำถึงคนรักที่จากไปจึงเติบโตขึ้นมาเป็นประเภทงานเขียนที่มีที่หยัดที่ยืนบนชั้นหนังสือในทศวรรษนี้ เพราะบางครั้งเราไม่ได้ต้องการจะรับการแสดงความเสียใจอย่างขอไปทีจากใคร ความโศกเศร้าแม้จะไร้รูปร่างชัดเจนจับต้องไม่ได้แต่มันก็มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง มันมาพร้อมความโกรธเกรี้ยว มีความเบื้อใบ้ ประดักประเดิด และการพลัดตกร่วงหล่นสู้สภาวะไร้ความหมายเฉพาะตน คำสอนประเภทที่ว่าให้ปล่อยวาง หรืออะไรทำนองบางครั้งจึงเป็นเรื่อง “bullshit”

ในบางส่วนของ Notes on Grief อาไดซี่ระลึกถึงคำแสดงความเสียใจอย่างขอไปทีของตัวเองที่มีให้เพื่อนผู้เคยสูญเสียคนรักและตกอยู่ในความโศกเศร้า

“ฉันสะดุงกับคำพูดของตนในอดีตที่มีต่อเพื่อนผู้เศร้าโศก ‘จงค้นหาความสงบในความทรงจำ” ฉันเคยพูดอะไรแบบนั้น การที่อยู่ๆ คนรักถูกพรากไปจากคุณอย่างกระทันหัน หลังจากนั้นใครบางคนก็บอกให้คุณย้อนกลับไปในความทรงจำ แต่แทนที่มันจะช่วยบรรเทาเยียวยา ความทรงจำของฉันกลับนำความเจ็บปวดที่แสนคมคายมาทิ่มแทงด้วยการบอกว่า ‘นี่คือสิ่งที่คุณจะไม่มีวันได้รับอีกแล้ว’ บางครั้งความทรงจำก็นำเสียงหัวเราะมาให้ แต่เสียงหัวเราะนั้นก็เหมือนถ่านหินเรืองแสงที่ในไม่ช้าจะระเบิดเปลวไฟแห่งความเจ็บปวดออกมา ฉันหวังว่ามันจะเป็นเพียงคำถามแห่งกาลเวลา ว่ามันยังเร็วเกินไป เร็วเกินไปอย่างร้ายกาจที่ฉันจะคาดหวังว่าความทรงจำจะเป็นแค่ยารักษาแผลร้าวในใจ”

ความโศกเศร้าเป็นเรื่องเฉพาะตน และมันก็เป็นสากลเช่นกัน ผู้คนจึงยังอ่านความโศกเศร้าของคนอื่นอยู่เสมอ อาจเพื่อเตือนตัวเองว่าหากวันใดวันหนึ่งรยางค์สำคัญที่หมายถึงคนรักในชีวิตของเราหลุดหายไป เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้ และมองเห็นสิ่งที่เราจะไม่มีวันได้รับกลับคืนมาอีกแล้วในฐานะเครื่องมือนำทาง

“…เสียงหัวเราะในแบบที่ฉันจะไม่สามารถหัวเราะได้อีกแล้ว ‘ไม่มีอีกแล้ว’ กลายเป็นสิ่งที่สถิตอยู่ข้างใน ‘ไม่มีอีกแล้ว’ ให้ความรู้สึกว่ามันคือการลงทัณฑ์อันไม่เป็นธรรม และตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของฉัน ฉันจะมีชีวิตอยู่ด้วยด้วยมือที่ยื่นออกไปเพื่อสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกแล้ว”