©ulture

สืบค้นความหมายที่แฝงอยู่ในลวดลายหลากสีสันตัดกันฉูดฉาดบนผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง ความภูมิใจของชาวแอฟริกัน

ด้วยสีสันฉูดฉาดและลวดลายที่สะกดทุกสายตา ทำให้เสน่ห์ของผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง (Wax Print) กำลังเป็นที่สนใจในระดับโลกอยู่ ณ ขณะนี้

ยิ่งนับตั้งแต่แบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Dior หยิบเอาแรงบันดาลใจจากชนพื้นเมืองแอฟริกัน มาออกแบบเสื้อผ้าในหลายคอลเล็กชั่นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สปอตไลท์ก็เริ่มจะสาดส่องไปที่ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง เสน่ห์แห่งแอฟริกันมากยิ่งขึ้น

African Wax Print
Dior cruise 2020 by the Italian designer Maria Grazia Chiuri.
AFP

แน่นอนว่าชาวแอฟริกันเองต่างก็ภูมิใจในเอกลักษณ์แห่งลายผ้าพื้นเมือง ที่ถูกใจชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลในบางประเทศอย่างกานาถึงกับออกกฎให้ประชาชนสวมชุดลายผ้าพื้นเมืองไปทำงานทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เพื่ออนุรักษ์และสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศ

ทั้งๆ ที่ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งส่วนใหญ่แทบไม่ได้ผลิตในแอฟริกาเลย

African Wax Print
Dior cruise 2020 by the Italian designer Maria Grazia Chiuri.
AFP

“ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง” สัญลักษณ์แห่งยุคล่าอาณานิคม

“ผ้าเหล่านี้ดีไซน์ในยุโรปอย่างนั้นเหรอ ผมไม่เคยรู้มาก่อน คิดว่าผลิตในกานาเสียอีก ในเมื่อเราเองก็สามารถออกแบบลายผ้าได้สบายๆ ทำไมเราไม่ทำกันเองล่ะ” อารมณ์ผิดหวัง เศร้าใจ และน้อยใจ เจืออยู่ในน้ำเสียงของ Nana Kwame Adusei ดีไซเนอร์ชาวกานา ที่แสดงความรู้สึกนี้ต่อผู้สื่อข่าว BBC

และตั้งแต่รู้ความจริงข้อนี้ เขาก็ปฏิเสธที่จะใช้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในการตัดเย็นเสื้อผ้า ready-to-wear แบรนด์ Ćharlotte Prive ของตนอีกต่อไป เพราะนี่เป็นสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคมอย่างหนึ่ง

“บริษัทผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งโกยเงินมานานกว่า 170 ปี โดยที่เงินเหล่านั้นไม่ถึงมือชาวแอฟริกันอย่างเรา”

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ Amaka Osakwe ดีไซเนอร์ชาวไนจีเรีย ปฏิเสธการใช้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในการออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ Maki Oh ของเธอ รวมถึงศิลปินย้อมครามชาวมาลีอย่าง Aboubakar Fofona ที่ยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง สัญลักษณ์แห่งการล่าอาณานิคม”

African Wax Print
Models present a creation by label Patricia Waota during a fashion show marking the 170th anniversary of VLISCO in Abidjan on November 26, 2016.
ISSOUF SANOGO / AFP

การเดินทางของผ้าแอฟริกันในชวา อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์

ยุคล่าอาณานิคมที่เหล่าดีไซเนอร์แอฟริกันหมายถึงคือเมื่อไร คงต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสงครามนโปเลียน ที่เกิดขึ้นในชวา หรือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ดินแดนที่ชนพื้นเมืองนิยมวาดลวดลายผ้าสีสันสดใสที่เรียกว่า ผ้าบาติก

บุคคลสำคัญผู้ทำการจดบันทึกขั้นตอนการทำผ้าบาติกโดยละเอียดในยุคนั้น ก็คือ เซอร์โทมัส สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ ผู้ปกครองชวาในปี 1811 หลังจากอังกฤษยึดชวามาจากชาวดัตช์

African Wax Print

ราฟเฟิลส์อธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติกเอาไว้ว่า ต้องเทขี้ผึ้งร้อนๆ ผ่านท่อขนาดเล็กเพื่อวาดลวดลายบนผืนผ้า ก่อนนำไปย้อม วาดลายซ้ำอีกรอบ ย้อมอีกครั้ง ก่อนนำไปตากให้แห้งนาน 17 วัน จึงจะใช้ได้

นอกจากนี้ ราฟเฟิลส์ยังได้ส่งผ้าบาติก 22 ผืนไปยังอังกฤษ เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่โน่นถอดแบบกระบวนการผลิต เพื่อลงมือผลิตผ้าบาติกขึ้นเอง 

หลังจากที่อังกฤษคืนดินแดนชวาแก่ฮอลแลนด์ และราฟเฟิลส์เองก็เดินทางกลับบ้านเกิดเป็นที่เรียบร้อย ชาวดัตช์ยังคงใช้ตำราที่ราฟเฟิลส์จดบันทึกไว้ในพัฒนาต่อยอดการผลิตผ้าบาติกขึ้นเอง จนสามารถลดต้นทุนได้ต่ำกว่าอังกฤษหลายเท่า

African Wax Print

เครื่องพิมพ์ผ้าบาติกหลังแรกถูกส่งจากฮอลแลนด์มายัง Dutch East Indies ราวปี 1850 แต่กลับขาดทุนไม่เป็นท่า เพราะในตอนนั้นช่างฝีมือชาวชวาเองได้หันมาพิมพ์ขี้ผึ้งด้วยตราประทับ เพื่อลดต้นทุน และทำให้เสื้อผ้าจับต้องได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ยังคงดำเนินการส่งออกผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องนาน 22 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดัตช์ค่อยๆ แผ่ขยายอาณานิคมไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก

African Wax Print

และในระหว่างปี 1831 – 1872 ดัตช์ได้ว่าจ้างทหารจากแอฟริกาตะวันตกจำนวน 3,000 นายในการแผ่ขยายอาณาจักร โดยส่งกองกำลังเหล่านี้ไปสู้รบยังเกาะสุมาตรา

ตำนานว่าไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดสงคราม ทหาร 700 นายเดินทางกลับไปยังโกลด์โคสต์ หรือประเทศกานาในปัจจุบัน โดยพกเอาม้วนผ้าบาติกฝีมือชาวดัตช์กลับบ้านเกิดไปด้วย

ที่ต้องระบุว่าเป็นตำนาน ก็เพราะชาวแอฟริกันจำนวนหนึ่งยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ว่า กองทหารที่ยากจนเหล่านี้จะมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อผ้าบาติกหลายม้วนข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน นี่ต้องเป็นเรื่องแต่ง ที่บริษัทดัตช์อย่าง Vlisco รวมถึงบริษัทอังกฤษอย่าง ABC ปั้นขึ้น เพื่อใช้บอกเล่าที่มาสวยหรู จะได้อ้างว่าตนเป็นผู้กรุยทางผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งขึ้นมา

African Wax Print
A model presents a creation by label Reda Fawaz during a fashion show marking the 170th anniversary of VLISCO in Abidjan on November 26, 2016.
ISSOUF SANOGO / AFP

นานกว่า 20 ปี หลังการส่งออกผ้าบาติกมายัง Dutch East Indies สิ้นสุดลง นักธุรกิจชาวสก็อตชื่อ  Ebenezer Brown Fleming ได้ส่งผ้าบาติกล็อตแรกจากอุตสาหกรรมการผลิตของดัตช์ไปยังโกลด์โคสต์ ในปี 1893 

และในปี 1907 บราวน์ เฟลมมิ่ง ก็ได้เริ่มว่าจ้างนักพิมพ์ผ้าชาวอังกฤษให้เริ่มผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งขึ้นเองดูบ้าง

ในขณะเดียวกัน คณะมิชชินนารีชาวสวิสในแอฟริกาเองก็เริ่มเกิดความรู้สึกท้าทายในการสอนหญิงชาวแอฟริกันพื้นเมืองให้ตัดเย็บ และทำผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งเพื่อหารายได้ โดยปรับแบบให้เป็นชุดที่สวมใส่ง่ายในชีวิตประจำวัน

และด้วยการเดินทางยาวนานระดับล่าข้ามศตวรรษของผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในทั้ง 3 ทวีป ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย และแอฟริกานี้เอง ที่ทำให้ไปๆ มาๆ ลายเซ็นที่ชัดเจนตามตำรับแอฟริกัน พลอยทำให้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งกลาเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะของดีประจำตำบลแห่งแอฟริกาไปในที่สุด

แม้เม็ดเงินส่วนใหญ่จะไหลเข้ากระเป๋า Vlisco บริษัทดัตช์ผู้เป็นต้นกำเนิดผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งก็ตาม

African Wax Print

อนาคตของผ้าแอฟริกันในแอฟริกา

“Vlisco เป็นบริษัทที่ออกแบบและผลิตผ้าแอฟริกันมาตั้งแต่ปี 1846 โดยนำแรงบันดาลใจจากทวีปแอฟริกา มาผสมผสานเข้ากับเทคนิคการพิมพ์ผ้าด้วยขี้ผึ้งของผ้าบาติกจากอินโดนีเซีย และการออกแบบลวดลายในเนเธอร์แลนด์ จนออกมาเป็นเอกลักษณ์แห่งผ้าพิมพ์ลายต้นตำรับ Vlisco”

ลองเข้าไปดู profile ของ Vlisco ผู้ผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็จะพบเรื่องราวความเป็นมาที่ชัดเจนและไม่ปิดบังเช่นนี้

Vlisco เองยังคงทำการผลิตซ้ำผ้าแอฟริกันลายดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยการออกแบบลวดลายร่วมสมัย และผลักดันให้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งขึ้นไปเฉิดฉายบนงานแฟชั่นโชว์ระดับชาติ และระดับโลกในทุกปี

ดังนั้น จึงไม่ใช่สารัตถะอันใดในการยื้อแย่งผ้าผวยสักผืนมาจับจองเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตน เพราะนี่คือตัวอย่างของการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดเจน จับต้องได้ และสามารถนำมาห่มคลุมกาย เพิ่มดีกรีความเปรี้ยวเท่ในตัวได้อย่างดีที่สุด

African Wax Print
an exhibition of Vlisco wax fabric brand in Abdijan.
ISSOUF SANOGO / AFP

แต่สิ่งที่ชาวแอฟริกันควรตระหนักมากกว่า คือ ทำอย่างไรจึงจะผลิตผ้าแอฟริกันได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ตามที่รัฐบาลอุตส่าห์สนับสนุนให้ผู้คนสวมผ้าแอฟริกันทุกวันศุกร์ได้จริง

เพราะตอนนี้ มีเพียงบริษัท Uniwax ในไอวอรี่โคสต์เท่านั้น ที่เป็นบริษัทแอฟริกันเพียงแห่งเดียวที่สามารถออกแบบและผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งเองได้

ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทจีนอย่าง Hitarget ที่แข่งขันด้วยราคาต้นทุนที่ถูกกว่าหลายเท่า

กับอีกส่วนตกเป็นของ Ghana Textiles Printing (GTP) เจ้าของเดียวกับ Vlisco นั่นเอง

African Wax Print

“ผ้าพิมพ์แอฟริกันเป็นสิ่งแรกเลยด้วยซ้ำที่จะสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมแอฟริกันได้ เพราะผ้าผืนแรกที่ใช้ห่อตัวเราตอนแรกเกิดก็คือ ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง” Belinda Compah-Keyeke ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของแอฟริกาอย่าง Zoharous เล่าถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้งที่ชาวแอฟริกันมีต่อผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง

“ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งคือมรดกชิ้นสำคัญของชาวแอฟริกัน ที่บ่งบอกเรื่องราวเฉพาะตัวของพวกเรา”

และด้วยความที่ความต้องการบริโภคผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการออกแบบผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งด้วยลวดลายร่วมสมัยเพิ่มขึ้นอีกมากมาย จนยากจะบอกได้ว่า ลายไหนคือลายดั้งเดิม

Becommon จึงไปคัดสรรผ้าแอฟริกันลายดั้งเดิมมาเล่าสู่กันฟังถึงที่มาและความหมายที่ซ่อนอยู่ เพื่อเอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจในวันที่คุณเกิดนึกสนุก อยากเลือกซื้อเสื้อผ้าสไตล์แอฟริกันมาใส่ท้าแสงแดดกับเขาบ้าง เพราะในไทยเองตอนนี้ก็มีแม่ค้านำเข้าผ้าแอฟริกันสีเจ็บๆ มาขายอย่างแพร่หลายมากขึ้นทุกที

Good Living

African Wax Print
Photo: Vlisco.com

หน้าตาคุ้นๆ เหมือนลายโสร่งหรือผ้าปาเต๊ะบ้านเรา แน่นอน เพราะนี่ถือเป็นผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งลายต้นแบบ ซึ่งมีที่มาจากผ้าบาติกท้องถิ่นในหมู่บ้าน Pekalongan ในชวา (หรือประเทศอินโดนีเซีย) ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลลวดลายดอกไม้มาจากจีนอีกทอดหนึ่ง ก่อนจะถูกส่งผ่านทางวัฒนธรรมจากชาวดัตช์มาสู่แผ่นดินแอฟริกาในท้ายที่สุด

The Household Gravel

African Wax Print
Photo: Vlisco.com

แม้จะมีอีกชื่อเรียกว่า หนังเสือดาว แต่จริงๆ แล้ว ผ้าลายแรกๆ ที่ บราวน์ เฟลมมิง ออกแบบและจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1895 ลายนี้ เป็นภาพก้อนกรวดเล็กๆ ที่ชาวแอฟริกันมักโรยไว้เป็นทางเดินรอบบ้าน สะท้อนความหมายของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ที่ต้องเจอการกระทบกระทั่งกันบ้าง ผ่านคำพูดหรือการกระทำที่เชือดเฉือนจิตใจ ไม่ต่างอะไรกับก้อนกรวดอันแหลมคม

ยังมีอีกหนึ่งความหมายที่ตีความผ่านก้อนกรวดเหล่านี้ โดยแปลตรงตัวตามภาษาแอฟริกันว่า คนจนไม่กินก้อนหิน หมายถึง แม้จะยากจน แต่คนยากไร้ก็ยังต้องกินอาหารไม่ต่างกับชนชั้นอื่นในสังคม

พอถึงทศวรรษ 1990 ที่เชื้อ HIV แพร่ระบาดอย่างหนัก ผ้าลายเม็ดกรวดแบบดั้งเดิมที่ให้บังเอิญมีสัญลักษณ์คล้ายอักษร V, I และ H อยู่ในเม็ดกรวดแต่ละก้อน ก็เพิ่มความหมายให้ตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

แถมเป็นความหมายในแง่ลบ เพราะกลายเป็นว่าใครที่สวมใส่ผ้าลายก้อนกรวดถูกเหมารวมว่าเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ HIV ไปเสียอย่างนั้น ทำให้ยอดขายผ้าลายนี้ในไนจีเรียตกลงฮวบฮาบ ทำให้บริษัท ABC แห่งอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าของงานออกแบบต้องปรับโฉมลายนี้ใหม่ในที่สุด

Gramaphone Apawa

African Wax Print

Gramaphone Apawa เป็นภาษาแอฟริกัน หมายถึง แผ่นเสียง ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อความบันเทิงยอดนิยมแห่งยุค 60 แต่ด้วยราคาที่สูงและเป็นของหายาก จึงไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้าง ดังนั้น ผืนผ้าลายแผ่นเสียงจึงสะท้อนให้เห็นถึงนึกถึงยุครุ่งเรืองของการฟังเพลงในอดีต ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่จำกัดเฉพาะคนรวยเท่านั้น

จริงๆ แล้วผ้าลายนี้มีอีกหลายชื่อเรียกและหลากความหมาย ตามแต่ละพื้นที่ในแอฟริกา อย่างในโทโก กลับมองเห็นวงกลมนี้เป็นรูปหมวกปีกกว้างที่เอาไว้ใส่กันแดด โดยมีชื่อเรียกว่า Consulaire, Gbédjégan และ Gbedze

ในขณะที่กานาเรียกลายกลมๆ นี้ว่า Plaque-Plaque, Target หรือ Nsu Bura ที่มีความหมายว่า บ่อน้ำ เพราะมีลักษณะเหมือนคลื่นน้ำที่กระจายออกวงแล้ววงเล่า หลังจากโยนก้อนหินลงน้ำ

ดังนั้น ลวดลายนี้จึงมีอีกความหมายแฝงว่า ทุกการกระทำของเรา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างเสมอ

Nkrumah Pencil 

African Wax Print
Photo: Vlisco.com

ลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจากดินสอของ Dr. Kwame Nkrumah ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศกานา ผู้เป็นเจ้าของสุนทรพจน์เนื้อหาหนักแน่น เข้มข้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศกานาเองและระดับโลก โดยก่อนที่ประธานาธิบดี Nkrumah จะเอ่ยวจีใดออกไปนั้น ท่านจะใช้ความคิดตรึกตรองอย่างหนัก และร่างในกระดาษก่อนเสมอ ดินสอของท่านจึงต้องเหลาให้แหลมพร้อมใช้งานทุกครั้ง ดังนั้น ทุกถ้อยความที่ถูกเขียนขึ้นจึงเปรียบดังอาวุธในการฟันฝ่าทุกอุปสรรคบนเส้นทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

Nkrumah Pencil ถือเป็นลายผ้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในทศวรรษ 60 และสื่อถึงความมีอำนาจไปในตัว

ABC

African Wax Print
Photo: Vlisco.com

หรือในอีกชื่อคือ Alphabet ตรงตามเนื้อผ้า ผู้ที่เลือกสวมใส่ผ้าลายตัวอักษรก็เหมือนจะสื่อกลายๆ ว่าตนเป็นผู้รู้หนังสือ ผ่านการเรียน เขียน อ่านมาแล้ว ทั้งยังเป็นการบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญในการให้การศึกษาแก่ลูกๆ ซึ่งก็หมายความว่า เขาต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าเล่าเรียนของบุตรหลานนั่นเอง

Advice

African Wax Print
Photo: Vlisco.com

ในไอวอรี่โคสต์ ผ้าลายนี้มีชื่อเรียกว่า Conseille แปลว่า คำแนะนำ ซึ่งมักเป็นลายผ้าที่บรรดาคุณแม่เลือกสวมใส่ เพราะกิจวัตรหลักของแม่ชาวไอวอเรียน ก็คือ การให้คำแนะนำแก่ลูกสาวอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ต่างจากในประเทศเบนิน ที่เรียกลายนี้ว่า มักกะโรนี ตามรูปร่างที่เหมือนเส้นมักกะโรนี

Hibiscus

African Wax Print
Photo: Vlisco.com

ดอกชบาเป็นดอกไม้ที่มีความหมายมากต่อชาวแอฟริกัน ผ้าพิมพ์ลายชบาผืนนี้จึงได้รับความนิยมมากในประเทศกินีและไอวอรี่โคสต์ ที่นิยมใช้ผ้าพิมพ์ลายชบายาว 12 หลาเป็นสินสอดในการแต่งงาน

ผ้าพิมพ์ลายชบามีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น Topizo ในประเทศโตโก และ Tohozin ในประเทศเบนิน ที่ต่างก็ไม่ได้แปลว่า ดอกชบา แต่มีความหมายเดียวกันว่า rush ซึ่งมีที่มาจากการที่ผ้าลายนี้ขายได้ ขายดี ขายหมดทุกล็อต จนลูกค้าต้องรีบมาแย่งกันซื้อเสมอ

และด้วยความเป็นลายมงคล สายการบินประจำชาติคองโกอย่าง Air Zaire จึงเลือกผ้าลายชบามาตัดเย็บเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตั้งแต่ ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา

อ้างอิง