©ulture

จากตอนที่แล้ว สินค้าใดใดในโลก ล้วนมีหมี คงเห็นกันแล้วว่า สินค้าหลายแบรนด์ล้วนใช้ “หมี” เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา

บางแบรนด์แจ้งเกิดได้เพราะหมี และขณะเดียวกันหมีก็ทำให้สินค้าบางแบรนด์เข้าไปอยู่ในหัวใจผู้คนมากขึ้น จนผมตั้งข้อสังเกตว่า หากจะมีใครที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการโฆษณา

“หมี” น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น

คำถามคือ…ท่ามกลางสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในโลกกว่า 4,500 ชนิด ทำไมคนถึงคลั่งไคล้หมีกันนัก

กระแสคลั่งหมีเกิดขึ้นตอนไหน

คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน

ว่ากันว่าเรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1902 นักเขียนการ์ตูนการเมืองชื่อ คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน ได้เขียนการ์ตูนลงใน The Washington Post ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน

เนื้อหาของการ์ตูนช่างกินใจ เพราะคลิฟฟอร์ดเขียนขึ้นจากความประทับใจที่มีต่อเรื่องเล่าเกี่ยวกับประธานาธิบดีรูสเวลต์

ประธานาธิบดีรูสเวลต์

ที่เล่ากันว่าวันหนึ่งขณะที่ประธานาธิบดีคนนี้ไปมลรัฐมิสซิสซิปปี้เพื่อเจรจาเรื่องพรมแดนกับรัฐหลุยส์ เซียน่า ทางเจ้าภาพจึงเชิญชวนท่านผู้นำไปล่าหมีเพื่อเป็นการต้อนรับ

แต่ในป่าวันนั้นกลับไม่มีหมีโผล่มาให้ล่าเลยสักตัว

ด้วยหวังอยากสร้างความประทับใจแก่ประธานาธิบดี จึงมีคนนำลูกหมีมาล่ามโซ่เพื่อให้รูสเวลต์ยิง แต่ประธานาธิบดีปฏิเสธที่จะยิงลูกหมีไร้ทางสู้ที่ถูกล่ามโซ่

เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมีเกียรติและศักด์ศรีของประธานาธิบดีรูสเวลต์

คลิฟฟอร์ดวาดภาพนั้นด้วยความเลื่อมใสอย่างจริงใจ จนเป็นที่กล่าวขวัญถึง กลายเป็นกระแสชื่นชมสร้างความประทับใจแก่ชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก

ความประทับใจนี้ถูกส่งต่อไปถึงสามีภรรยา มอร์ริส และ โรส มิชทอมส์ ในนิวยอร์ค จนทั้งคู่ทำตุ๊กตาหมีมาวางโชว์ที่ตู้กระจกหน้าร้านขายเครื่องเขียนและลูกกวาดของตน เพื่อยกย่องการกระทำของรูสเวลต์

ตุ๊กตาหมีของมอร์ริส และโรส มิชทอมส์ เป็นลูกหมีหน้าตาน่ารักไร้เดียงสา ยืนตัวตรงแตกต่างจากตุ๊กตาหมีในสมัยนั้นที่มักดูเหมือนจริง ยืนสี่ขา ดูดุร้ายน่ากลัว

พวกเขาตั้งชื่อตุ๊กตาหมีนั้นว่า “เทดดี้แบร์” ซึ่ง “เท็ดดี้” คือชื่อเล่นของ ธีโอดอร์ รูสเวลท์

“เท็ดดี้แบร์” จึงหมายถึงหมีของเท็ดดี้ที่อ้างอิงตามเรื่องราวในการ์ตูนของ คลิฟฟอร์ด เบอร์รีแมน นั่นเอง

ตุ๊กตาหมี “เทดดี้แบร์” ขายดีจนสร้างปรากฏการณ์ระดับชาติ ลุกลามกลายเป็นความคลั่งไคล้ตุ๊กตาหมีชนิดข้ามน้ำข้ามทะเลไปทั่วโลก จนมีอีกหลายต่อหลายเจ้าผลิตตุ๊กตาหมีออกมาขายกันมากมาย กลายเป็นตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ที่มีหลากเวอร์ชั่น หลายคาแรกเตอร์ ที่ครองใจเด็กๆ และผู้ใหญ่ทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้

และตำแหน่งผู้ที่มีตุ๊กตาหมีสะสมเยอะที่สุด ก็คือ ”คุณป้าแจ็คกี้ (Jackie Miley)” คนนี้นี่เอง จนได้รับการบันทึกใน Guinness World Records 2018 ซึ่งตุ๊กตาหมีในคอลเล็คชั่นของเธอ มีมากถึง 8,602 ตัว ในเมืองแรพิดซิตีมลรัฐเซาท์ดาโคตาประเทศสหรัฐอเมริกา

ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องราวของหมีในภาพการ์ตูนเมื่อปี 1902 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ หมีไม่ใช่แค่หมี แต่คือ “ซุปเปอร์สตาร์” ในเวลาต่อมา.

อ้างอิง:

  • FourBears. ความเป็นมาของ ตุ๊กตาหมี เทดดี้แบร์. http://bit.ly/2Lw6N5K
  • Kristen Stephenson. Take a tour of the world’s largest collection of teddy bears. http://bit.ly/2JrCCKd
  • Natalie Hartman Whitnack. Century of American AD-BEAR-TISING. http://bit.ly/2H9n5fn