©ulture

โปรดอย่าเราว่าเรียก “หมี” เพราะเราคือ “ซุปเตอร์สตาร์”

ประโยคข้างต้นผมคิดเอาเอง ไม่ใช่หมีที่ไหนคิดหรอกครับ เพราะนอกจากวงการโฆษณา (ตอนนี้ขอแวะพาชมหมีในวงการอื่นๆ ก่อนนะครับ) หมียังเป็นที่โด่งดังในวงการต่างๆ โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์

หมีหลายตัวแจ้งเกิดในบทนำของหนังหลายเรื่อง และบางตัวโด่งดังถึงขั้น ‘ซุปเปอร์สตาร์’ ที่มีแฟนคลับติดตามกันอย่างเหนียวแน่น

ไม่เชื่อลองดูหมีๆ ต่อไปนี้ ผมกล้าท้าเลยว่า ต้องมีหมีสักตัวที่คุณรู้จัก

Paddington

หลายคนคงเคยเห็นเจ้าหมีใส่หมวกแดง ถือกระเป๋าเอกสาร น่ารักน่ากอด ที่ชื่อว่า Paddington การ์ตูนหมีจากอังกฤษเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของหมีที่ออกเดินทางจากเปรูมายังลอนดอน แล้วจากนั้นการผจญภัยแสนสนุกของเจ้าหมีก็เริ่มต้นขึ้น

Winnie the pooh

คงไม่มีใครไม่รู้จาก วินนี่-เดอะ-พูห์ และเพื่อนของเขาผู้สร้างเสียงหัวเราะสุดครื้นเครงในพื้นที่ป่ากว่า 1,000 เอเคอร์

Yogi Bear

หมีโยกี้ ผู้เชื่อว่าตัวเองคือ “หมีที่ฉลาดที่สุดในโลก” ปรากฏตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ในฐานะตัวประกอบการ์ตูนซีรีส์ Huckleberry Hound Show และมีซีรีส์เป็นของตัวเองในปี ค.ศ. 1961 จวบจนทุกวันนี้

หมี TED

ต้องยอมรับว่าเจ้าหมี TED ตัวนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของเยาวชน เพราะมันคือหมีที่มีคาแรกเตอร์แบบผู้ชายดิบเถื่อน นิสัยแย่คนหนึ่ง แต่ด้วยรูปลักษณ์ของตุ๊กตาหมีขนฟูดูน่ากอด ทำให้หมี TED โด่งดังเปรี้ยงปร้างเคียงข้าง มาร์ค วอลเบิร์ก ในภาพยนตร์เรื่อง “TED” จนมีการสร้างภาคต่อได้ถึง 3 ภาคมาแล้ว

“อาโป” แห่งกังฟูแพนด้า

ความโก๊ะกังซุ่มซ่ามของ “อาโป” ตัวละครจาก ‘กังฟูแพนด้า’ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นกำลังภายในจากค่าย DreamWorks เรียกเสียงฮาจากเด็กๆ และผู้ใหญ่หัวใจเด็กได้ทั่วโลก จนมีภาคต่อถึง 3 ภาค และต่อยอดเป็นซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์อีกหลายสิบตอนเลยทีเดียว

หมีคุมะมง

ข้ามมาทางฝั่งเอเซียก็ยังมี “คุมะมง” มาสค็อตประจำจังหวัดคูมาโมโตะ ที่แสนเกรียน ด้วยบุคคลิกโคตรกวนจอมป่วนนี้เอง ได้ยึดพื้นที่หัวใจคนทั้งโลกซึ่งช่วยให้การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยงญี่ปุ่นในจังหวัดนี้ได้ผลแบบสุดๆ ไปเลย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหมีผู้โด่งดังเท่านั้น ถ้าให้ผู้อ่านลองนึกถึง “หมี” ที่มีชื่อเสียงสักตัวหนึ่ง เชื่อว่าคงมีหมีอีกตัวผุดขึ้นมาอย่างแน่นอน

ดังไม่ดัง ถึงกับมีเทศกาลประกวดภาพยนตร์เป็นของตัวเอง คิดดูเอา

นอกจากจะเป็น “นักแสดง” ร้อยบทบาทในงานภาพยนตร์ (และโฆษณา) แล้ว หมียังมี “เทศกาลประกวดภาพยนตร์” เป็นของตัวเองด้วยนะ

นั่นคือ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) หรือที่เรียกกันว่า “Berlinale” (ล้อชื่อ Biennale ที่เวนิส) ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำของยุโรป จัดขึ้นเป็นประจำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1951

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเทศกาลนี้คือรางวัลที่ชื่อ หมีทองคำ (โกลเดนแบร์) และ หมีเงิน (ซิลเวอร์แบร์)

โดยรางวัล หมีทองคำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ หมีทองคำ สำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Motion Picture) และหมีทองคำเกียรติยศ สำหรับผู้ที่อุทิศชีวิตให้กับภาพยนตร์ (Lifetime Achivement)

ส่วนรางวัลหมีเงินมอบให้กับสาขาย่อยอื่นๆ เช่น ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงยอดเยี่ยม เป็นต้น

ถามว่าทำไมต้องเป็นหมี? ตอบสั้นๆ ครับ เพราะหมีเป็นสัญลักษณ์ของเบอร์ลินนั่นเอง

เรื่องของหมียังไม่จบ…

ตอนหน้าเราจะมาพูดถึง หมีที่ไปคว้ารางวัลบนเวทีประกวดโฆษณากันต่อใน เห็นหมีเงียบๆ รางวัลเพียบนะครับ.