©ulture
*หมายเหตุ: บทความนี้สะกดคำว่า สะเก๊ตตามการสะกดของหนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ในช่วง พ.. 2469

 

ในชีวิต ทำความรู้จักกับ ‘บางลำพู’ หนแรกสุดจากเสื้อผ้าชุดนักเรียน !

ย้อนไปสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นครองสถานะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ยายของผมเดินทางจากสุราษฎร์ธานีขึ้นมาเยี่ยมน้าๆ ที่กรุงเทพมหานคร พอกลับเมืองใต้ ท่านซื้อเสื้อนักเรียนมาฝาก ป้ายคอเสื้อเผยรายละเอียดร้านค้าว่าตั้งอยู่ย่านบางลำพู

ผมหาใช่คนบางลำพู ความทรงจำตลอดวัย ‘เยาวรุ่น’ เกี่ยวกับชื่อนี้จึงมีเท่าที่เอื้อนเอ่ย กระทั่งมาสวมและมิค่อยสวมชุดนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแท้จริงควรผูกพันแน่นแฟ้นกับทุ่งเชียงราก อำเภอคลองหลวงมากกว่า เพราะเรียนเต็ม 4 ปีที่นั่น มิได้ย้ายสู่ทางฟาก ‘ท่าอีเกิ้ง’ ตามฝีปากของผม หรือ ‘ท่าพระจันทร์’ ที่ใครๆ จัดเจน (‘อีเกิ้ง’ เป็นภาษาที่ใช้กันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมายความว่า พระจันทร์)

แผนที่กรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร แสดงให้เห็นพื้นที่ของบางลำพู

กระนั้น เนื่องจากเป็นพวกมิอาจอดทนเฝ้าทุ่งร้องเพลงรอแม่กลอยบ้านนาให้หวนย้อนมาเยี่ยมเยือน บางอารมณ์ใคร่อยากร้องเพลงลูกกรุงจรุงจิต ผมมุ่งบากบั่นอาศัยสารพัดรถรามาเที่ยวท่าพระจันทร์เนืองๆ

ไหนๆ มาทั้งที ก็อดมิได้ที่จะผ่านทางไปทอดน่องท่องบางลำพู และกลายเป็นว่าโชคชะตาได้รุนหลังให้ตระเวนสัมผัสละแวกนี้เสียช่ำชอง

ครั้นลุ่มหลง (และเดินหลง) หลายหนเข้าก็ชวนให้พลอยชื่นชอบการอ่านอะไรๆ เกี่ยวกับบางลำพูโดยปริยาย เจ้าของผลงานเขียนที่ผมมิวายจดจ่อสายตาเสมอๆ ได้แก่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เฉกเช่นถ้อยความของเขาที่จับใจคือ บทเปิดในหนังสือเรื่อง บางลำภูสแควร์  ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2505 ความว่า

“ข้าพเจ้าได้อะไรมาจากบางลำภูเกินกว่าใครจะคาดคิด เหมือนกับที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้นวนิยายหลายโหลเรื่องมาจากเหมืองแร่ นพพร บุณยฤทธิ์ รู้ว่าควรจะจูบผู้หญิงตอนไหนจึงจะไม่โดนตบเพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเต้นรำ หรือ อุษณา เพลิงธรรม สามารถจะวาดภาพบ้านหม้อออกมาเป็นตัวหนังสือ จนมองเห็นห้องแถวโกโรโกโสในสมัยที่เขาวิ่งไล่ตีลูกล้อได้งามลึกซึ้งเหมือนภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสต์ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว มีเค้าโครงเรื่องสนุกแปลกๆ เพราะเขาอยู่ในธุรกิจอาชีพระหว่างตำรวจกับผู้ร้าย หรือนายแพทย์ เสนอ อินทรสุขศรี เขียนเรื่องคนโฆษณาขายยาเร่ร่อนได้สนุก เพราะเขาเป็นทั้งเพื่อนไอ้หมอนั่นและเป็นหมอมีอารมณ์ขัน

ใครต่อใครที่เป็นนักเขียนอีกหลายคน น้อย อภิรุม เขียนเรื่องท่องป่าได้เอร็ดก็เพราะเขาเป็นนักเล่าที่ฉลาด และเข้าใจธรรมชาติของคนและของป่าอย่างลึกซึ้ง ถ้าเรื่องหักกันอย่างนักเลงไม่มีใครเกิน “อรวรรณ” เพราะเขาสมบุกสมบันมากับชีวิต รู้จักทุกเหลี่ยมของมันและเขียนขึ้นด้วยน้ำใสใจจริง หรือ มนัส จรรยงค์ ไล่เฒ่าหนูเฒ่าโพล้งครูสง่าให้ออกมาหายใจอยู่บนหน้ากระดาษได้ ก็เพราะนักเขียนยิ่งยงผู้นี้คลุกคลีกับวงกระแช่ของชาวชนบทใต้ต้นตาลเมืองเพชรมานานพอควร

น่าเสียดาย ถ้าข้าพเจ้าจะไปเป็นสถาปนิกหรือนักเลงคุมบาร์ เพื่อนข้าพเจ้าบางคนบอก เพราะข้าพเจ้าได้และมีอะไรมามากเหลือเกินจากบางลำภู”

บางลำภูสแควร์ โดย ’รงค์ วงษ์สวรรค์

’รงค์ ผลิหน่อเนื้อที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน หากเขาเคยมาใช้ชีวิตหนุ่มพำนักถิ่นบางลำพูหลายขวบปีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลายทศวรรษ 2480 และทศวรรษ 2490 จึงถือตนเป็นคนบางลำพู ผมเองมิแคล้วคลับคล้ายกระมัง ลืมตาดูโลกครั้งปฐมฤกษ์ที่ลุ่มแม่น้ำตาปี ระหกระเหินมาดอมดมลมหายใจวัยหนุ่มฟ้อ ณ ทุ่งเชียงราก จนอาจนับตนเป็นชาวทุ่งเมืองปทุม

’รงค์ วงษ์สวรรค์

ในชิ้นงานเรื่อง ๒ นาฑีบางลำพู ตีพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2538 ’รงค์เปรยๆ เหตุผลที่เขามักเขียนถึงบางลำพูว่า

“ทำไมบางลำพู?

ผู้เขียนไม่เคยถามตัวเองเหมือนกัน (บางเวลาผู้ชายรู้ว่าคำถามเป็นอันตราย) แต่น่าประเมินว่าคงพาดพิงถึงความผูกพันและห่างเหิน ผู้เขียนเป็นคนบางลำพูในสองฉากของชีวิตก่อนและหลังสงครามโลก ๒ เผชิญโชคและเคราะห์หลายแง่เงื่อน ผ่านความสุขและความทุกข์และแม้แต่หยอกเอินกับความตายหลายหน บางลำพูฝากแผลและแฝงบทเรียนไว้มากมายซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเลศมายาแห่งชีวิต”

แม้บรรยากาศบางลำพูห้วงยามนั้น จะไม่ผิดแผกแตกต่างจากบางอื่นๆ หรือตำบลอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร แต่เพราะ ’รงค์ “…เป็นคนบางลำพูจึงไม่สามารถเขียนถึงคนบางอื่นได้แนบเนียนกว่า”

ผมรับทราบเรื่องราวของบางลำพูโดยวิธีหมั่นอ่านสิ่งที่นักเขียนไม่น้อยรายถ่ายทอดเอาไว้ทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์นานา แน่นอนเทียว ตามประสบการณ์ของผมเองย่อมมิอาจได้อะไรทัดเทียมพวกเขา ซึ่งเป็นผู้คลุกคลีย่านนี้เนิ่นนานยาว และขอสารภาพ ผมเผลอละเลยมิค่อยได้ขะมักเขม้นศึกษาประวัติศาสตร์บางลำพูสักเท่าไหร่หรอก

เชิงสะพานนรรัตน์สถาน ย่านบางลำพพู เมื่อครั้งอดีต
Photo: http://banglamphulife.blogspot.com/2018/06/blog-post_5.html

ถ้าจะมีอะไรที่ผมคว้าได้มาบ้างตอนสืบค้นหลักฐานเอกสารเก่าๆ แล้วเผอิญเจอะเจอเรื่องราวอันปรากฏ ณ บางลำพู ก็เรื่องการเป็นแหล่งที่ตั้งโรงมหรสพและโรงภาพยนตร์นามลือเลื่องหลายโรง เช่นใน พ.ศ. 2487 ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่านนี้มีโรงหนังปีนัง, โรงหนังนรรัตน์สถาน และโรงหนังบุศยพรรณ (หรือ ‘บุสยพรรน์’ ตามภาษายุคสงคราม อยู่แถวตลาดนานาที่ขายพืชผักผลไม้และอาหารอร่อยโต้รุ่ง) เป็นต้น

โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ด้านหน้าติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ประกาศฉาย ภาพยนตร์ เรื่อง ‘จับกัง กรรมกรเต็มขั้น’
Photo: http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=104

สำหรับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์  โรงหนังบุศยพรรณคือมหาวิทยาลัย นักเขียนหนุ่มตลอดกาลเคยเล่าติดตลกขณะร่วมสนทนางานอภิปรายเรื่อง ‘เขาเขียนหนังสือและเขียนการ์ตูนกันอย่างไร?’ ในรายการคุยกันเรื่องหนังสือ จัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ณ สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เช้าวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ว่า

“…ลาออกจากโรงเรียนแล้วผมก็เลยมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบุศยพรรณบางลำพู มาเรียนที่นี่อยู่อีกหลายปีครับได้รู้จักคนมาก ได้รู้จักเด็กหน้าโรงหนังด้วยกัน คำว่า “ด้วยกัน” นี่หมายถึงผมด้วยนะครับในฐานะเป็นนิสิตร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็มีนักล้วงกระเป๋า มีเด็กคาวบอย มีอีกหลายพวกครับ เด็กกระเป๋ารถเมล์ มาร์กเก้อร์บิลเลียด ตัดช่องย่องเบาเกือบทุกชนิดในบรรดาเด็กที่พวกเราเรียกว่าคาวบอยในสมัยนั้น”

นอกเหนือจากชื่อเสียงในฐานะย่านโรงภาพยนตร์ ย้อนไปช่วงปี พ.ศ. 2469-2470 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บางลำพูยังกระเดื่องดังเพราะมี ‘ลานสะเก๊ต’ แห่งแรกๆ ในเมืองไทย

ประจวบเหมาะเหลือเกินที่ช่วงนี้กระแสการเล่นสะเก๊ตบอร์ด (Skateboard) กำลังนิยมอีกคราคราว นั่นละครับ ผมจึงพลันเกิดความนึกจะเขียนถึงบางลำพูครามครัน

ประกาศเกี่ยวกับ ‘ลานสะเก๊ต’ ณ ย่านบางลำพูในสมัยนั้น

คาดคะเนว่า ลานสะเก๊ตบางลำพูน่าจะเริ่มริเปิดบริการประมาณ พ.ศ. 2469 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ดังประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ปีที่ 7 ฉบับที่ 208 ประจำวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2469

“ลานสะเก๊ตบางลำภู เวลานี้กำลังขยายลานใหม่เพื่อให้ทันคริสมาส เพราะลานเก่าเล็กไปและเนื่องด้วยมีผู้นิยมกันมากขึ้นด้วย และได้ทราบว่าเจ้าของจะตัดภาระให้น้อยลงไปจึงตกลงจะให้มีผู้รับผูกขาดตัดตอนในแพนกขายอาหารและเครื่องดื่มไปจัดรายการขายเอง จึงเปนโอกาศของผู้ซึ่งมีประสงค์จะค้าขายควรรีบไปทำความตกลงกับเจ้าของลานสะเก๊ตเสียโดยเร็ว”

มิหนำซ้ำ ยุคนั้น ประจักษ์ความพยายามประโคมข่าว การเล่นสะเก๊ตจัดเป็น ‘ยารักษาโรคกายสิทธิ์’

“ไม่ต้องกิน, ไม่ต้องทา, แลไม่ต้องทำอะไรๆ ทั้งหมด คณะแพทย์ศาสตร์รับรองว่าการเล่นสะเก๊ต ป้องกันโรคที่จะบังเกิดขึ้นได้เช่นโรค “ฝีในท้อง” (Tuberculosis) “ปอดบวม” (Pneumonia) “โลหิตน้อย” (Anemia) และโรคอื่นๆ อีกมาก ถ้าสงสัยเชิญแวะไปที่ลานสะเก๊ต บางลำภู…”

อีกทั้งเนื่องในวาระเทศกาลคริสต์มาส พ.ศ. 2469 ลานสะเก๊ตยังกำหนดให้จัดงานแฟนซีสุดเสน่ห์ หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ปีที่ 7 ฉบับที่ 218 ประจำวันพุธที่ 22 ธันวาคม และปีที่ 7 ฉบับที่ 220 ประจำวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม รายงานพาดหัว ‘งานแฟนซี ลานสะเก๊ต บางลำภูว่า

“ด้วยกำหนดจะมีงานแต่งกายแฟนซีสะเก๊ต ณ ลานบางลำภูในคืนวันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนนี้ ซึ่งตรงกับวันตรุสฝรั่ง ท่านทั้งหลายควรไปชม เพราะเปนงานรื่นเริงครั้งแรกที่จัดมีขึ้นตั้งแต่เปิดลานมา ท่านจะได้ชมนักกีฬาสะเก๊ตแต่งกายแปลกๆ และแสดงท่าทางโลดโผน, เต้นรำ, ประกวดชิงรางวัล มีแตรวงบรรเลง สรรพ์แต่เพลงเพราะๆ กับได้จัดเครื่องดื่ม เครื่องเย็น พร้อมทั้งเบียร์สดแช่เย็นเจี๊ยบไว้รับรองท่านเมื่อยามกระหาย เริ่มแสดงเวลา ๘ ล.ท. ตรง ควรรีบมาจองที่นั่งไว้แต่หัวค่ำ

อัตราที่นั่ง

บ๊อกซ์ ๖ เก้าอี้ ๔๐ บาท

เก้าอี้ในบ๊อกซ์ เก้าอี้ละ ๕ บาท

เก้าอี้ลอย ๓ บาท

ชั้นที่ ๑ ๑ บาท

ชั้นที่ ๒ ๕๐ ส.ต.

อัฒจันทร์ ๒๕ ส.ต.”

ภายหลังพ้นผ่านวันตรุษฝรั่ง ลานสะเก๊ตบางลำพูก็ได้จัดแข่งขันการเล่นสะเก๊ตทุกๆ สัปดาห์ ดังหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ปีที่ 7 ฉบับที่ 224 ประจำวันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2469 รายงานพาดหัว

ลานสะเก๊ตบางลำภู การแข่งขันประจำทุกสัปดาห์ว่า

“เพื่อความรื่นเริงและส่งเสริมการกีฬาชนิดนี้ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ณ วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม จะจัดให้มีการแข่งขันชิงรางวัลขึ้น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ วิ่งเร็ว ๕ รอบชุดใหญ่ ประเภทที่ ๒ วิ่งเร็ว ๓ รอบชุดเล็ก เพื่อเปนการทดลองกำลังหรือเท่ากับสอบภาค จะได้เตรียมตัวสำหรับเข้าแข่งขันคราวใหญ่ต่อๆ ไป ส่วนท่านคณะสะเก๊ตที่ไม่ได้เข้าแข่งขันหรือท่านผู้ที่ฝึกหัดใหม่ นับแต่เวลา ๙ ก.ท. เปนต้นไป ขอให้ฝึกหัดแลแสดงภายในหลักเขตร์จนกว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดทั้ง ๒ ประเภท ค่าผ่านประตู ๑๐ สตางค์ ๒๕ สตางค์”

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจผูกโบหัวคิ้วสงสัย ‘เวลา ก.ท.’ และ ‘เวลา ล.ท.’ เอ๊ะ! มันกี่โมงกี่ยาม

การระบุเวลาเช่นนี้ มักพบเห็นในเอกสารเก่าๆ เกือบๆ หนึ่งร้อยปีก่อนบ่อยๆ คำว่า ก.ท. ย่อมาจาก ก่อนเที่ยง ‘เวลา ๙ ก.ท.’ ก็คือ 09.00 น. ส่วน ล.ท. ย่อมมิพ้น หลังเที่ยง ‘เวลา ๘ ล.ท.’ คือ 20.00 น.

บรรยากาศพระนคร และภาพถ่ายชนชั้นสูงใน พ.ศ. 2465
Photo: https://teakdoor.com/famous-threads/39970-siam-thailand-bangkok-old-photo-thread-256.html

ลานสะเก๊ตบางลำพูหาได้เป็นแค่เพียงสถานละเล่นหรือแข่งขันกีฬาสะเก๊ตอย่างเดียว ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-วันขึ้นปีใหม่แบบฝรั่ง ยังจัดแสดงการแข่งขันหมากรุกคนสวมหัวโขน สอดคล้องกับข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ปีที่ 7 ฉบับที่ 226 ประจำวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2469

“ท่านทุกท่าน ถ้าได้รับความครึกครื้นขบขันเปนเครื่องบรรเทิงใจท่านอยู่บ้างแล้ว ชีวิตร์อันมีค่าของท่านก็จะเบิกบาน สดชื่นขึ้นมีความศุขกายศุขใจอย่างยิ่ง

โดยเหตุในวันที่ ๓๑ ธันวาคมถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. นี้  ซึ่งตรงกับปีใหม่ฝรั่ง อันเปนวันรื่นเริงนั้น จะได้มีการแข่งขันหมากรุกคน กล่าวคือแต่งคนเปนหมากรุกสรวมหัวโขน แต่งอย่างลครงดงาม มีการพากย์แลรำประกอบท่าทาง พร้อมด้วยเครื่องปี่พาทย์ดูราวกับนารายณ์ยกทัพปะทะทศกรรฐ จะมีการร้องรำท้าทายกันรับด้วยปี่พาทย์น่าดูมา

ส่วนผู้เดินแต้มนั้นล้วนแต่ผู้ที่สามารถคือฝ่ายหนึ่ง (คุณพระ) อีกฝ่ายหนึ่ง (จีนแส) ท่านจะได้ชมความสามารถแลไหวพริบของผู้เดินแต้มนี้ แต่ฝ่ายพวกเปนหมากรุกล้วนแล้วแต่ท่านพวกจำอวดตัวกลั่นแทบทั้งนั้น รับรองว่าต้องหัวเราะตลอดเวลา มีทั้งโอดแลเยาะกันตามแบบลครทีเดียว ท่านจะได้รับความครึกครื้นที่กล่าวมานี้ จากสวนรมณีย์ในคืนวันที่ ๓๑ ธันว์แลวันที่ ๑ มกรา เวลาลงมือ ๘ ล.ท. ขอเชิญอย่าลืม

(ขอพักการเล่นสเก๊ตใน ๒ คืนนี้)”

ลานสะเก๊ตบางลำพูดำเนินกิจการตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ข้ามปีเรื่อยมาจวบเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2470 ก็มีอันต้องปิดตัวลงชั่วคราว สื่อสิ่งพิมพ์เยี่ยง ศรีกรุง เจ้าเก่าเกาะติดสถานการณ์เหนียวแน่น โดยเฉพาะฉบับที่ 403 ปีที่ 8 ประจำวันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2470 โปรยพาดหัว ‘ลานสะเก๊ต บางลำภูปิดชั่วคราวและเขียนชี้แจงว่า

“เนื่องจากการทำหลังคาและเปลี่ยนแปลงบางส่วนของลานสะเก๊ต เพื่อใช้เปนสถานที่แสดงมหรศพได้ด้วย จึงได้กำหนดปิดและงดการเล่นตั้งแต่วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ ๒๔๗๐ เปนต้นไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ถ้าท่านผู้ใดมีความประสงค์จะเช่าสถานที่นี้ ก็ขอให้ไปตกลงกับเจ้าของ ณ ลานสะเก๊ต บางลำภูตั้งแต่เวลา ๑๐ ก.ท. ถึง ๔ ล.ท. ได้ทุกวัน เครื่องดื่มต่างๆ มีขายตามเคย”

ข้อพึงฉุกคิดคือ ลานสะเก๊ตบางลำพูจัดให้ละเล่นแข่งขันกีฬาสะเก๊ตลักษณะไหนกันแน่? ลองพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ ค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะมิใช่รูปแบบการเล่นสะเก๊ตบอร์ดที่ชาวไทยหันกลับมาคลั่งไคล้ในปัจจุบัน เพราะสะเก๊ตบอร์ดเพิ่งริเริ่มสำแดงโฉมในโลกช่วงทศวรรษ 1940 ส่วนลานสะเก๊ตบางลำพูโลดแล่นระหว่าง พ.ศ. 2469-2470 หรือ ค.ศ. 1926-1927 จึงมีแนวโน้มเป็นการแข่งขันโรลเลอร์สะเก๊ต (Roller skate)

พิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ซึ่งประยุกต์การแสดงวัตถุและการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์เข้ากับวิถีชุมชนบางลำพู

ถ้วนเท่าเคยฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงย่านบางลำพูในอดีต ดูเหมือนจะไม่คุ้นเคยทำนองยินใครกล่าวขานว่าละแวกย่านนี้ในวันวานปรากฏ ‘ลานสะเก๊ต’

อย่างคาดหวัง การบังเอิญได้อะไรๆ ของผม คงพอจะเย้ายวนให้ใครต่อใครนึกคำนึงถึงภาพจำของ บางลำพูในอีกมิติอันน่าพิศวง ช่างตื่นตาประทับจิต!

 

อ้างอิง

  • หจช. บก.สูงสุด 7/202 บัญชีรายชื่อโรงมหรสพต่างๆ ที่มีอยู่ใน จ.พระนคร ธนบุรี ( 27-29 ม.ค. 2487)
  • “เขาเขียนหนังสือและเขียนการ์ตูนกันอย่างไร” ใน ชมรมนักอภิปราย. ทวน วิริยาภรณ์ (บันทึกและรวบรวม).พระนคร: โรงพิมพ์อักษรบริการ, 2508. หน้า405-434
  • ’รงค์ วงษ์สวรรค์. บางลำภูสแควร์. พิมพ์ครั้งที่ กรุงเทพฯ: สำนักหนังสือสายคำ, 2531
  • ’รงค์ วงษ์สวรรค์. ๒ นาฑีบางลำพู. กรุงเทพฯ: มติชน, 2538
  • ศรีกรุง. ปีที่ 7 ฉบับที่ 208 (10 ธันวาคม 2469)
  • ศรีกรุง. ปีที่ 7 ฉบับที่ 218 (22 ธันวาคม 2469)
  • ศรีกรุง. ปีที่ 7 ฉบับที่ 220 (24 ธันวาคม 2469)
  • ศรีกรุง. ปีที่ 7 ฉบับที่ 224 (29 ธันวาคม 2469)
  • ศรีกรุง. ปีที่ 8 ฉบับที่ 403 (3 สิงหาคม 2470)