©ulture

อารมณ์รำพันที่ไหลปรี่มาสู่ขบวนตัวอักษรดังคุณผู้อ่านจะได้ยล  หากให้เปรียบเปรย ก็ประหนึ่งน้ำเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์ของ สุเทพ วงศ์กำแหง[1] ผ่านบทเพลง ‘ลำพูนรำพึง’[2]

“ลำพูนรำพึง คร่ำครวญคะนึงถึงเธอเพ้อพาไป รำพึงรำพันฝันใฝ่ สู่แดนใจ อาลัยทรวงห่วงหากัน……”

บรรจงประพันธ์คำร้องโดย ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ และทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน สองครูเพลงคนสำคัญแห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์  แม้ผู้ขับขานเพลงนี้เป็นต้นฉบับคือชาญ เย็นแข[3](เจ้าของเสียงเพลง ‘ค่าน้ำนม’) แต่ผมอาจคุ้นเคยสองหูกับลูกคอของสุเทพกระมัง

บรรยากาศสถานีรถไฟขุนตาล จังหวัดลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2498
ภาพ: https://teakdoor.com/Gallery/albums/userpics/26751/1955-khun-tal-station-lamphun.png

คงมิวายหวนรำลึกถึงลำพูนเสมอๆ นั่นเพราะช่วงกลางปีพุทธศักราช 2562 จวบกลางปีพุทธศักราช 2563 ผมกับมิตรสหายลงพื้นที่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองลำพูน ได้รับการอนุเคราะห์จากทางเทศบาลเมืองลำพูนนำโดยท่านนายกเทศมนตรี “โกบุ่น” ประภัสร์ ภู่เจริญ และคณะ ซึ่งเอื้ออำนวยความสะดวกและดูแลพวกเราอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง กระบวนการเก็บข้อมูลดำเนินราบรื่น มาชะงักงันลงบ้างเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19)

ถ้วนเท่ารับฟังมาเนืองๆ ชาวลำพูนมักตัดพ้อว่าจังหวัดของตนเป็นเพียงทางผ่านไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะเชียงใหม่ จึงมิค่อยมีใครแวะเวียนมาเที่ยวชมเมืองนี้สักเท่าไหร่ แว่วยินผาดเผินดูเหมือนจะเป็นเยี่ยงนั้น หากเมื่อมาลงพื้นที่และสัมผัสบรรยากาศนครลำพูนเข้าจริงๆ พลันรู้สึกคลับคล้ายกำลังเคลิ้มคลุกอยู่ในกลิ่นอายวัฒนธรรมความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่เล่าลือกันว่ายาวนานเกือบ 1,400 ปี เก่าแก่ยิ่งกว่าเมืองเชียงใหม่เสียอีก

ยากจะปฏิเสธสถานะนครประวัติศาสตร์ แต่คนส่วนใหญ่มิแคล้วผูกโยงเมืองนี้เข้ากับความโบร่ำโบราณนับพันๆ ปี ครั้นจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ลำพูนช่วงหนึ่งร้อยปีล่วงผ่าน  ใครๆ กลับนึกไม่ค่อยออกว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง ทั้งที่จริงแล้ว นี่แหละคือเมืองอันเปี่ยมล้นแง่มุมประวัติศาสตร์สนุกๆ และวัฒนธรรมน่าทึ่งมากมายแฝงเร้น

ผังเมืองนครลำพูน

ผมขออนุญาตไม่เล่าย้อนอดีตไปไกลถึงยุคสมัยเจ้าแม่จามเทวีนะครับ เอาเป็นว่าจักจาระไนฉายภาพนครลำพูนนับแต่ทศวรรษ 2460 เรื่อยมา ซึ่งพอลองตรวจสอบเอกสารทางประวัติศาสตร์จะค้นพบการเขียนบันทึกภาพเมืองลำพูนไว้มิใช่น้อยทีเดียว ทั้งยังเป็นเมืองหนึ่งในภาคเหนือที่ปรากฏบุคคลต่างๆ นานามาเยือนหลายหน

เฉกเช่นในปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2465 ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466 (เพราะก่อนปี พ.ศ. 2484 เริ่มนับขึ้นต้นปีศักราชใหม่ที่เดือนเมษายน) พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ได้ติดตามเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ขาไปโดยสารรถไฟจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่  ส่วนขากลับล่องเรือแม่น้ำปิงจากเชียงใหม่มาขึ้นรถไฟที่ปากน้ำโพ การเผชิญภูมิประเทศและรับรู้เรื่องราวต่างๆ บันดาลแรงปรารถนาถ่ายทอดประสบการณ์จนนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ระยะทางไปมณฑล ภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

หนังสือ ระยะทางไปมณฑล ภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์แวะเยี่ยมนครลำพูนในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ท่านเจ้าคุณบรรยายลักษณะบ้านเมืองขณะนั้นว่า เมืองนครลำพูนตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำห้วยแม่กวง ด้าน “กำแพงเมืองนครลำพูนนี้ ตามตำนานที่ว่ารูปเปนเกล็ดหอยนั้น ความจริงที่เปนรูปไข่ (อย่างท้องสนามหลวง) มากกว่า ส่วนยาวจากเหนือไปใต้ประมาณ ๓๗ เส้น ๑๐ วา ส่วนกว้างจากตวันออกไปตวันตกประมาณ ๑๕ เส้นเศษ ทางทิศตวันออกมีลำห้วยแม่กวงเปนคู นอกนั้นมีคูล้อมรอบ มีประตูซึ่งเรียกกันอยู่เวลานี้ ๔ ประตู คือ ทางทิศเหนือเรียกประตูช้างสี  ทางทิศใต้เรียกประตูลี้ ตวันออกเฉียงเหนือเรียกประตูท่านาง ตวันออกเฉียงใต้เรียกประตูท่าขาม

มิเว้นแผ่เผยภาพถนนหนทาง

ถนนในเมืองที่เปนสายยาวนั้น เรียกถนนอินทยงยศต่อจากถนนมาจากเชียงใหม่แต่ประตูช้างสีไปออกประตูลี้จนถึงวัดเรียกวัดประตูลี้  มีถนนซอยทั้ง ๒ ข้างถนนอินทยงยศ ทางตวันออก ๑ ถนนท่านางไปออกประตูท่านาง ๒ ถนนอัฐรถ ๓ ถนนไชยมงคล ๔ ถนนวังขวา ถนนนี้พาไปออกประตูท่าขาม และเชื่อมกับถนนที่จะไปจังหวัดลำปาง ถนนซอยซีกทางตวันตกของถนนอินทยงยศ คือ ถนนราชวงศ์ ๑ ถนนแว่นคำ ๑ ถนนรถแก้ว ๑ กับมีถนนสายยาวขนานเปนคู่กันกับถนนอินทยงยศอีกสายหนึ่ง เริ่มแต่ถนนแว่นคำลงไปทางทิศใต้ ชื่อถนนวังซ้าย ยาวประมาณ ๑๙ เส้น ๑๐ วา รอบกำแพงเมืองชั้นในมีถนนยาว ๖๒ เส้น รอบคูเมืองชั้นนอกก็มีถนนเหมือนกันยาวประมาณ ๗๒ เส้น  (ด้านทางลำแม่น้ำกวงไม่มีถนน) มุมกำแพงเมืองทางทิศใต้มีถนนไปอำเภอปากบ่อง

พร้อมอธิบายสถานที่ต่างๆแจ่มชัด ทั้ง วัดพระธาตุหริภุญไชย ตั้งอยู่ในระหว่างถนนสายกำแพงด้านตวันตก  ด้านเหนือจดถนนอัฐรถ ด้านใต้จดถนนไชยมงคล ด้านตวันตกจดถนนอินทยงยศ… และ

ถัดวัดนี้ลงไปทางทิศใต้ในระหว่างถนนวังขวากับถนนอินทยงยศเปนคุ้มเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้านครลำพูนในบัดนี้ เปนเรือนไม้มีมุขกลาง ใต้ถุนสูงประมาณ ๓ ศอก เปนเรือนค่อนข้างเก่าสมัยเก่าและคับแคบ ทราบว่าท่านเจ้าของกำลังดำริห์จะสร้างใหม่

ซีกกำแพงเมืองด้านนี้ ทางทิศเหนือ คือ ระหว่างถนนรอบกำแพงกับถนนอินทยงยศมีจวนปลัดมณฑลประจำนครลำพูน

ในระหว่างถนนอินทยงยศกับกำแพงเมืองทางทิศตวันตกมีที่ทำการไปรสณีย์โทรเลขอยู่มุมถนนราชวงศ์ด้านเหนือ

มุมถนนราชวงศ์ด้านใต้กับถนนแว่นคำกันเปนบริเวณศาลากลางจังหวัด ตัวศาลากลางจังหวัดเปนเรือนไม้ ๒ ชั้น ในเวลานี้ที่ว่าการอำเภอเมืองนครลำพูนทำรวมอยู่ในศาลากลาง และในบริเวณศาลากลางนี้มีสโมสรเสือป่ารวมอยู่ด้วย

ถัดศาลากลางมาในระหว่างถนนวังซ้ายกับถนนรถแก้วบรรจบกันมีที่ทำการโอสถสภา

ในระหว่างถนนวังซ้ายถนนมุกดาบรรจบกันมีเรือนจำ ซึ่งเปนเครื่องไม้จริง

ถัดจากนี้ลงไปทางใต้ ในระหว่างถนนอินทยงยศกับถนนวังซ้ายเปนคุ้มเจ้านครลำพูนคนเก่า เปนเรือนฝากระดานสมัยเก่า (อยู่ตรงข้ามกับคุ้มเจ้านครเดี๋ยวนี้)

นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือมีโรงพักตำรวจภูธรอยู่ในระหว่างถนนสายไปเชียงใหม่กับถนนแยกไปวัดพระคง  การก่อสร้างก็เปนเครื่องไม้อย่างโรงพักอื่นๆ

ต่อจากโรงพักไปมีถนนแยกทางขวามือถึงสถานีรถไฟ จากศาลากลางจังหวัดไปสถานีรถไฟระยะประมาณ ๒ กิโลเมตร์เศษ

นอกเมืองทางทิศตวันตก พ้นประตูมหาวันออกไปมีโรงฆ่าสัตว์

ทางทิศใต้ทางถนนไปอำเภอปากบ่องมีโรงเรียนประจำจังหวัดซึ่งกำลังสร้างผนังชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเครื่องไม้จริง

ทางทิศตวันออกข้ามลำแม่กวงไปถึงวัดพระยืนแล้วจึงถึงทางรถไฟ พ้นจากทางรถไฟไปก็เปนสนามสำหรับอากาศยาน

การก่อสร้างสำหรับนครนี้ ตลาดก็ดี บ้านเรือนราษฎรก็ดี ยังไม่มีการก่อสร้างเปนตึกเลย และมีธรรมเนียมที่ถือกันอยู่ในนครนี้ว่า ถ้าผู้ใดสร้างบ้านเรือนยกพื้นสูงเกิน ๓ ศอกเปนบาป เพราะอยู่สูงกว่าพระบรมธาตุ แต่ต่อไปเห็นจะเลือนเพราะมีผู้สร้างเรือน ๒ ชั้นขึ้นหลัง ๑ แล้ว และที่เจ้าจักรคำริห์จะสร้างก็จะสร้างเปน ๒ ชั้น

ถ้อยความแจกแจงรายละเอียดดุจภาพถ่าย สะท้อนว่าตอนนั้น นครลำพูนยังไม่ค่อยมีตึกอาคารสองชั้น คุ้มเจ้าและบ้านเรือนของชาวบ้านล้วนทำจากไม้ กระทั่งคุ้มหลวงเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ในรูปโฉมอาคารทรงปราสาทตามสถาปัตยกรรมยุโรปแบบที่ตกทอดให้เห็นในทุกวันนี้ก็ยังมิได้สร้าง (คุ้มทรงปราสาทของเจ้าหลวงจักรคำสร้างประมาณต้นทศวรรษ 2480 ส่วนคุ้มเจ้าหลวงเดิมตั้งอยู่ตรงศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน)

พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ)
ภาพจากหนังสือ นายทองมหาดเล็ก
คุ้มทรงปราสาทของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์
ภาพจาก www.youtube.com

 

ไข้หวัดสเปน เคยระบาดที่ลำพูน

ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคไข้หวัดโควิด-19 (COVID-19) ในปีพุทธศักราช 2563 และแม้ขณะนี้ในปีพุทธศักราช 2564 ยังไม่สร่างซาระลอกหมาดใหม่ ได้ชักนำให้คนไทยเหลียวหันมาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่หรือ ‘ไข้หวัดสเปน’ซึ่งเคยระบาดหนักหน่วงในทวีปยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปีคริสต์ศักราช 1918 หรือตรงกับพุทธศักราช 2461 ชาวโลกติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้ประมาณ 50-100 ล้านคนและเสียชีวิตราว 20-40 ล้านคน ทั้งยังแพร่ลามเข้ามาระบาดในประเทศสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เริ่มจากทางภาคใต้แล้วกระจายไปทั่วราชอาณาจักร หลักฐานแจ้งความกระทรวงมหาดไทยที่ลงพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 วันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2462 ระบุว่าคนติดเชื้อไข้ในมณฑลหัวเมืองต่างๆ ทั้ง 17 มณฑลจำนวน 2,317,662 คน (ยังไม่นับรวมมณฑลกรุงเทพฯ) จากพลเมืองทั้งสิ้น 8,479,566 คน และมีผู้เสียชีวิต 80,223 คน ฟากมณฑลพายัพอันประกอบด้วยเมืองเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำพูน ขณะนั้นมีพลเมืองรวมทั้งหมด 805,787 คน ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้จำนวน 147,794 คน และเสียชีวิต 12,204 คน

แน่ละ ชาวนครลำพูนต้นทศวรรษ 2460 มิอาจแผ้วพาน ‘ไข้หวัดสเปน’  ในจำนวนพลเมือง 130,987 คน ล้มป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่นี้จำนวน 23,022 คน และเสียชีวิต 959 คน

กลุ่มเวสป้าคลับ ลำพูน ท้ายรูปหน้าพระธาตุหริภุญไชย เมื่อ พ.ศ. 2502
ภาพ: https://teakdoor.com/images/imported/2018/02/260.jpg

 

สนามบินลำพูน

ลำพูนไม่มีสนามบิน ถ้าชาวลำพูนจะเดินทางโดยสารเครื่องบินต้องเดินทางบากบั่นไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ สำหรับปัจจุบันความเข้าใจข้างต้นย่อมไม่ผิด ทว่าขอป้องปากกระซิบ ในอดีตเมืองลำพูนเคยมีสนามบินมาตั้งแต่ทศวรรษ 2460

ก็จากเรื่อง ระยะทางไปมณฑล ภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ ของพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) นั่นแหละ ที่บอกว่าตอนรถไฟแล่นพ้นผ่านสถานีทาชมภู สถานีหนองหล่ม เข้าใกล้เขตเมืองลำพูนจะมองเห็น “…มีหมู่บ้านแลทุ่งนาสลับเปนระยะมาจนพ้นดอยติมาหน่อยหนึ่งก็ผ่านสนามเรือบินจังหวัดลำพูน สนามเรือบินอยู่ทางขวามือ และตอนพรรณนานครลำพูน ทางทิศตวันออกข้ามลำแม่กวงไปถึงวัดพระยืนแล้วจึงถึงทางรถไฟ พ้นจากทางรถไฟไปก็เปนสนามสำหรับอากาศยาน

ยังกล่าวกันอีกว่าเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ได้ออกเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,176 บาท เพื่อจัดซื้อที่ดินในการสร้างสนามบินประจำจังหวัด

เรียกว่าน่าตื่นเต้นไม่เบา แม้สนามบินลำพูนแห่งวันวานจะไม่หลงเหลือให้เห็นในวันนี้ก็ตามเถอะ

 

นางสาวคำแหว้น ไชยถวิล
ภาพจากเพจ นางงามไทย

“กุหลาบลำพูน” ประกวดสาวงามก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ณัฐธิดา ทองเกษม หญิงสาวผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์นางงาม เธอเน้นย้ำกับผมบ่อยๆ ว่าได้มีการประกวดนางงามที่มาก่อนการประกวดนางสาวสยามภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ซึ่งเพิ่งเริ่มจัดขึ้นเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2477 ณัฐธิดาจะเอ่ยพาดพิงว่าที่นครลำพูนเคยปรากฏกิจกรรมการประกวดสาวงามในชื่อ “กุหลาบลำพูน” ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2473 สาวงามผู้ได้รับเลือกคือนางสาวคำแหว้นหรือคำแว่น ไชยถวิล และถือเป็นนางงามลำพูนคนแรกสุดด้วย

ชื่อนางงามชวนให้ผมพลันฉุกนึกเมื่อคราวอ่าน โคลงนิราศล่องแก่งแม่ปิง ที่ จางวางเอก พระยารัตนราชวัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ประพันธ์ขึ้นขณะร่วมตามเสด็จพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประพาสหัวเมืองเหนือปลายปีพุทธศักราช 2470 ความตอนหนึ่งกล่าวถึงการพักผ่อนที่คุ้มเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์  เจ้าผู้ครองนครลำพูน และเครือญาติของเจ้าหลวงมาเข้าเฝ้าอย่างพร้อมเพรียง ทั้งมีคนมานั่งขายผ้าซิ่น เพราะในคุ้มหลวงทอผ้าซิ่นยกดอก               

“… อันปวงพวกแม่ค้า     นำซิ่นขายทั้งผ้า  ส่ำวาง

นางสาวคำแว่นนั้น    งามยิ่งนับให้ชั้น  เอกงาม”

นางสาวคำแว่น แม่ค้าผ้าซิ่นในบทร้อยกรอง ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าคือนางสาวคำแหว้น ไชยถวิล ผู้ที่ต่อมาเธอเข้าประกวดความงามจนกลายเป็น “กุหลาบลำพูน” บานสะพรั่งครั้งปฐม

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นครลำพูนสานความผูกพันกับงานฉลองรัฐธรรมนูญแน่นแฟ้น แทบจะเรียกว่ากลิ่นอายความตื่นตัวตลบอบอวลมิเสื่อมคลาย ซึ่งสำแดงออกมาผ่านการจัดกิจกรรมประกวดนางงามในวาระงานฉลองรัฐธรรมนูญ กระทั่งแปรเปลี่ยนมาสู่การจัดงานฤดูหนาว

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)
ภาพจาก www.vajiravudh.ac.th
หนังสือ โคลงนิราศล่องแก่งแม่ปิง

 

นวนิยายชื่อ ‘ลำพูน’

ลำพูนนอกจากเป็นชื่อจังหวัด คราหนึ่งยังเคยถูกนำไปใช้ตั้งเป็นชื่อนวนิยายและชื่อตัวละครนางเอก ในปีพุทธศักราช 2489 นักประพันธ์สตรีเจ้าของนามปากกา ‘น. ประภาสถิต’ เขียนนวนิยายเรื่อง ลำพูน จัดพิมพ์เป็นเล่มขนาดเท่าฝ่ามือโดยสำนักพิมพ์อุดม ความยาว 135 หน้า จำหน่ายราคาปกแข็ง 10 บาท และปกอ่อน 8.50 บาท นำเสนอเรื่องราวความรักของตัวละครชื่อลำพูน หญิงสาวอายุหย่อนๆ 19 ขวบ บุตรีของท่านผู้พิพากษา เหตุเจ้าหล่อนที่ได้ชื่อนี้เพราะเกิดที่จังหวัดลําพูน ขณะบิดาย้ายไปรับราชการประจำที่นั่น ตัวละครท่านผู้พิพากษามีบุตรธิดาชายหญิงรวมทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ พรรณี, นวล, พริ้มพราย, แพร่, ลําพูน และศิริชัย หมายความว่านางเอกเป็นลูกคนที่ 5

เชิญดู ‘น. ประภาสถิต’ ร่ายเรียงบทเปิดนวนิยายสักหน่อย

เมื่อเสียงกริ่งโทรศัพท์ดังขึ้น ทุกคนต่างพากันรู้สึกว่า นี่เป็นเสียงเรียกลำพูนคนเดียว ลำพูนเองก็คอยอยู่แล้ว พอได้ยินเสียงกริ่งแรกหล่อนก็ลุกขึ้นยืนทันที แล้วร่างอันระหงแต่เล็กกะทัดรัดซึ่งปกคลุมด้วยเสื้อและซิ่นไหมสีฟ้าแก่ ก็ค่อยก้าวออกเดินช้าๆ ศีร์ษะ-ซึ่งคาดผมด้วยริบิ้นสีเดียวกับชุดเสื้อผ้า-ตั้งตรง แลดูสง่าและงาม เหมือนเวลาที่หล่อนเดินในห้องเต้นรำ เว้นแต่ดวงตาสีนิลที่เบิกกว้างเท่านั้นที่บอกความรู้สึกข้างใน ไม่เหมือนกับท่วงทีภายนอก แต่ก็เป็นเพราะเหตุว่าหล่อนจะเดินไปพูดกับหมอพรต่อหน้าพี่น้องและเขยสะใภ้ซึ่งชุมนุมกันอยู่พร้อมหน้าในห้องนั้น.

แม้ผู้ประพันธ์หาได้ถ่ายทอดฉากนครลำพูน เพียงหยิบยกชื่อจังหวัดมาตั้งเป็นชื่องานเขียนและชื่อตัวละคร แต่ก็มีจุดเริ่มต้นของชื่อมาจากลำพูน มิหนำซ้ำ ยังเอื้ออำนวยให้ชื่อจังหวัดสะดุดตาสะดุดใจนักอ่านสมัยนั้นไม่น้อย

นวนิยายเรื่อง ลำพูน ผลงานของ น.ประภาสถิต
พิมพ์ครั้งแรกปีพุทธศักราช 2489

นครลำพูนอาจเป็นเมืองเล็กๆเงียบสงัดสงบ แต่เสียงก้องกังวานจากเรื่องเล่าสารพันในอดีตก็เสมือนรอคอยให้ใครต่อใครมาเงี่ยหูลองสดับ คุณผู้อ่านสบโอกาสไปเมืองลำพูน อย่าลืมยินยลกันเน้อจ้าว

——————————

[1] ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนลือนามเป็นผู้มอบฉายาให้สุเทพ วงศ์กำแหง

[2] ขอบคุณ ธีรติชาต พงษ์ประยูร ที่ได้แนะนำให้ผมทำความรู้จักบทเพลงนี้

[3] เนื้อเพลงที่ชาญ เย็นแขขับร้องมีความแตกต่างไปจากเนื้อเพลงที่สุเทพ วงศ์กำแหงขับขาน ดังเช่นท่อนขึ้นต้น ชาญจะร้องว่า “ลำพูนรำพึง คร่ำครวญคะนึงซึ้งทรวงซึ้งดวงใจ  รำพึงรำพันฝันไป สู่แดนใจ ไมตรีทรวงห่วงหากัน……”

สุชีลา ศรีสมบูรณ์ อดีตนางสาวไทย คนลำพูน รูปถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2497
ภาพ: https://teakdoor.com/Gallery/albums/userpics/26751/1953-miss-lamphun.png

 

เอกสารอ้างอิง

  • แจ้งความกระทรวงมหาดไทย”ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 (27 กรกฎาคม 2462). หน้า 1193-1202
  • ธงทอง จันทรางศุ. นายทองมหาดเล็ก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558
  • น. ประภาสถิต. ลำพูน. พระนคร: อุดม, 2489
  • บุรุษรัตนราชวัลลภ (นพ ไกรฤกษ์), จางวางเอกพระยา. โคลงนิราศล่องแก่งแม่ปิง.พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาเพ็ชร์พิสัยศรีสวัสดิ์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2505
  • สุนทรเทพกิจจารักษ์, พระยา. ระยะทางไปมณฑล ภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕.พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรณฒนากร, 2466