©ulture

คราวหนึ่งในชั่วโมงวิชากวีนิพนธ์ ณ โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ ราวกลางพุทธศักราช 2464  ‘ขุนสุนทรภาษิต’ (ถนอม เกยานนท์) ได้ให้นักเรียนฝึกหัดครูทั้งห้องจำนวนประมาณ 50-60 คนแต่งลิลิต อันหมายถึงคำประพันธ์ประเภทโคลงและร่ายสลับกัน เพื่อพรรณนาภาพกรุงเทพพระมหานครที่มองเห็นจากเครื่องบินลอยลำผ่านมาทางพระบรมรูปทรงม้า  กำหนดเวลาแต่ง 45 นาที

เมื่อนักเรียนฝึกหัดครูทั้งหมดส่งงาน มีอยู่เพียงสองคนได้รับคำชมเชย มิหนำซ้ำ ท่านขุนยังทำนายไว้ว่าสองคนนี้ต่อไปภายภาคหน้าจะต้องเป็นนักประพันธ์แน่

สองนักเรียนฝึกหัดครูนั้นได้แก่ เอื้อ บุษปะเกศ หงสกุล และ มาลัย  ชูพินิจ

ท่าอากาศยานกรุงเทพ ดอนเมือง ปี 2018

ขุนสุนทรภาษิต ถือเป็นครูหนุ่มและกวีเอกลือเลื่อง ผลงานโคลงฉันท์กาพย์กลอนของเขาปรากฏตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  ชิ้นงานแรกๆ ลงพิมพ์ใน อุตริวิทยา ใช้นามปากกา ‘ทิดมุ่ย’ ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุลฉบับแรกช่วงกลางทศวรรษ 2450 จึงเติมนามสกุลเพิ่มในนามปากกาเป็น ‘ทิดมุ่ย ปากน้ำ’ เพราะเขาเป็นชาวริมคลองปากน้ำ ตำบลท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ อุปสมบทที่วัดบ้านกลาง เคยแต่งโคลงกระทู้เข้าประกวดและลงตีพิมพ์ใน วิทยาจารย์ จนได้รางวัลชนะเลิศ ทั้งเป็นที่ถูกใจเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ช่วงพุทธศักราช 2458-2460 ขุนสุนทรภาษิตรับตำแหน่งครูแผนกคุรุศึกษาประจำโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกาลต่อมา) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่นั่น และย้ายมาสอนประจำโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศระหว่างพุทธศักราช 2461-2467 ศิษย์คนสำคัญซึ่งต่อมากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงคือมาลัย ชูพินิจ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์เจ้าของหลากหลายนามปากกา เช่น ‘เรียมเอง’, ‘แม่อนงค์’ และ ‘นายฉันทนา’ เป็นต้น ท่านขุนมองว่าการเรียนวิชาครูมีโอกาสก้าวหน้าน้อย พยายามแนะนำให้ศิษย์ของตนเสาะหาหนทางอื่นๆ นักเรียนฝึกหัดครูหลายคนตัดสินใจเปลี่ยนแผนการเรียน แต่มาลัย ชูพินิจยังคงเรียนต่อ เพราะวิชาครูมิต้องเสียเงินค่าเล่าเรียนประกอบกับกิจการค้าไม้ที่กำแพงเพชรของบิดากำลังขาดทุน ท่านขุนเห็นมาลัยมีแววจะเป็นนักประพันธ์ในอนาคต ก็หมั่นส่งเสริมให้ศิษย์ฝึกปรือแต่งคำประพันธ์ต่างๆ โดยถ่ายทอดผ่านมุมมองแปลกใหม่

มาลัย ชูพินิจ ในวัยหนุ่ม
ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) ตอนอายุ 33 ปี ภาพจากหนังสือ เสนอสุนทรภาษิต

งานประพันธ์ถ่ายทอดภาพกรุงเทพมหานครอันทัศนาลงมาจากเครื่องบินลอยลำบนท้องฟ้า อาจน่าตื่นเต้นครามครันสำหรับนักเรียนฝึกหัดครูผู้เพิ่งสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาและเพิ่งเข้าเรียนต่อในพุทธศักราช 2464 ซึ่งพวกเขาจะต้องจินตนาการให้พวกตนขึ้นไปอยู่ในตัวเครื่องบินพร้อมบรรยายสิ่งที่แลเห็นจากการก้มมอง ทว่าในโลกสื่อสิ่งพิมพ์ได้เคยมีนักเขียนไทยนำเสนอเรื่องราวลักษณะนี้สู่สายตานักอ่านตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2450 นักเขียนผู้นั้นยังขึ้นไปนั่งเครื่องบินเหาะเหินเดินอากาศด้วยตนเองจริงๆ ครั้นลงมาถึงพื้นดินพลันจัดแจงแต่ง นิราศอากาศยาน ส่งไปพิมพ์เผยแพร่ใน ศรีกรุง เล่มที่ 4 ตอน 2 ประจำเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2459 ใช้นามปากกาว่า ‘คนดง’

รองอำมาตย์เอก ‘หลวงอรรถเกษมภาษา’ (เพ็ญ บุนนาค) เกิดและเติบโตในครอบครัวขุนนางรับราชการด้านกฎหมาย เมื่อพุทธศักราช 2450 พออายุพ้น 17 ล่วงเข้า 18 ปีจึงเริ่มรับราชการเป็นเสมียนศาลต่างประเทศ ขณะเดียวกันเริ่มแต่งบทร้อยกรองส่งไปหนังสือพิมพ์ ประตูใหม่ ใช้นามแฝง ‘นายเพ็ญ ศาลต่างประเทศ’

ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต้นพุทธศักราช 2452 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ลุงของนายเพ็ญได้กราบถวายบังคมลาออกตาม แล้วมาตั้งสำนักทนายความใต้สะพานพิทยเสถียร ถนนเจริญกรุง เขาลาออกมาทำงานสำนักทนายความ กระทั่งผู้เป็นลุงถึงแก่กรรม ก็กลับเข้ารับราชการอีกหนในกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘ขุนสินสำรวจ’ เมื่อพุทธศักราช 2457 สองปีถัดมาย้ายไปประจำกรมอัยการ สังกัดกระทรวงเดิม และได้รับเลื่อนเป็นคุณหลวงในพุทธศักราช 2461

หลวงอรรถเกษมภาษา เจ้าของนามปากกา ‘คนดง’
ภาพจากหนังสือ ชุมนุมกวีพากยประพนธ์.

ช่วงพุทธศักราช 2454 กระแสความนิยมละครร้องอุบัติขึ้นในสังคมไทย นายเพ็ญเริ่มแต่งบทละครร้องป้อนแก่โรงละครปราโมทัย และเริ่มใช้นามปากกา ‘คนดง’ เป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นก็ใช้นามนี้แต่งคำประพันธ์ทั้งร้อยกรองและร้อยแก้วเรื่อยมา

จุดกำเนิด นิราศอากาศยาน สืบเนื่องมาจากในวันพุธที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2459 มิตรสหายที่เป็นนายทหารสองคนได้ชวน ‘ขุนสินสำรวจ’ หรือในร่างทรง ‘คนดง’ แวะไปเยี่ยมเยือนกองการบินของทหารบกที่ดอนเมือง ดังบทโคลงและกลอนเปิดฉากนิราศว่า

๏ ลีลา ลิบลิ่วเคว้ง  แขวงสวรรค์
อากาศ พาหนาศน์ผัน   เผ่นคว้าง
นิราศ คลาดเรือนวัน เดียวดั่ง เดือนนา
สำนัก เคยรักร้าง  เลิศแล้วอาลัย

          ๏ นิราศเร่เพทนาอุราหวิว ไปดอนเมืองเนื่องในตั้งใจปลิว  โพยมลิ่วลอยลมชมสุธา เมื่อจากเรือนเพื่อนชวนสรวลสนุก แต่แท้ทุกข์ทับอยู่ยิ่งภูผา พุทธศกสองพันคัณนา สี่ร้อยห้าสิบเก้าเมื่อคราวจร  ประดิทินไทยชี้ที่สิบสาม มิทันยามรุ่งแจ้งก็แหนงหมอน ด้วยวันพุธฉุดใจมิให้นอน แสนอาวรณ์ในวัสสันต์กันยายน ไม่เกรงมิตร์คิดเคืองเรื่องกลับปาก แล้วไม่จากคฤหาอย่าฉงน นี่เปนยามความสัตย์มัดกระมล จึ่งจำจนจำใจจำไกลเรือนฯ

‘คนดง’ จับขบวนรถไฟสายเหนือออกเดินทางจากกรุงเทพฯ แล่นผ่านสถานีต่างๆ สามเสน บางซื่อ บางเขน และหลักสี่ เขาเขียนบทพร่ำรำพึงตามขนบนิราศถึงแต่ละแหล่งเหล่านั้น จวบกระทั่ง “๏ ถึงดอนเมืองเยื้องยาตร์นิราศรถ ฝนพึ่งงดดอนกลายลม้ายถัง แผ่นดินโชกโซกน้ำเหลือกำลัง ต้องระวังล้มขอนบนดอนเมือง สองสหายนายทหารชำนาญบุก แต่เรากุกกักหน่อยไม่ค่อยเปรื่อง เลยล้าหลังรั้งท้ายเดินย้ายเยื้อง ยอมให้เปลืองเวลาหลายนาฑีฯ”

นอกเหนือจากตระเวนชมบรรยากาศรอบๆ กิจการกองบิน ทหารนักบินยังชวนเพื่อนนายทหารของ ‘คนดง’ ขึ้นนั่งเครื่องบินโฉบเฉี่ยวลัดเลาะน่านฟ้า “ประหนึ่งมีอิทธิฤทธิ์พิศดาร” แต่ท่านขุนสินสำรวจไม่สามารถขึ้นนั่งเครื่องบินได้ ต้อง “….เจ๋าจ๋อยหงอยกว่าเพื่อน อยากใคร่เลื่อนลอยลมชมถิ่นฐาน ติดบัญญัติขัดคำสั่งผู้รั้งการ ใช่ทหารห้ามหาญโดยสานบิน” อย่างไรก็ดี ตอนบ่ายโมงกว่า ฝนที่ตกค่อนข้างซา อากาศสดใส จังหวะพิเศษของข้าราชการกรมอัยการก็มาถึง เพราะ “….ผู้ช่วยบังคับการบันดาลจร เดินซอกซอนมาประสบพบพวกเรา จึงถูกวอนงอนง้อขอคำสั่ง เพื่อให้นั่งโดยสานยานกับเขา ท่านไล่เลียงเกี่ยงซักความหนักเบา จนจวบเข้าใจคำจึงอำนวยฯ”

Photo:https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/6d/Don_Muang_BKK.jpg

เป็นอันว่า ‘คนดง’ ได้รับอนุญาต นายร้อยโทยศธรจะเป็นผู้ขับ ตอนยวดยานปีกชั้นเดียวยี่ห้อ เนียวปอ กำลังจะเหินลอยขึ้นจากพื้นโลก อารมณ์ของท่านขุนแห่งกรมอัยการ “เหมือนเทวาพาบินจากดินต่ำ อากาศฉ่ำมีลอองเปนฟองฝอย เครื่องบินละปถพีทีละน้อย ระเห็จคล้อยหมอกหมายคล้ายสำลี” แม้ลมจะโบยตีจนเจ็บดวงหน้า สองหูจะอื้อ และลึกๆท่านขุนนึกประหวั่นพรั่นกลัว แต่ “แม้นอับปางคงเก๋กว่าเภตรา” ครับ ความปีติยินดีที่ได้นั่งเครื่องบิน ถึงจะตกลงมาตาย ก็ยังรู้สึกเท่กว่าเรือล่มตาย

ในฐานะนักประพันธ์ สบโอกาสเหาะขึ้นมาชมทิวทัศน์กรุงเทพพระมหานครและดอนเมืองจากเบื้องสูงทั้งที มีหรือจะไม่ถ่ายทอดสิ่งที่แลเห็นเป็นตัวอักษร ต่อให้สุนทรภู่เป็นยอดกวีแห่งกลอนนิราศ ก็ได้แต่นั่งเรือล่องแม่น้ำหรือท้องทะเล แหงนมองท้องฟ้า ยังมิเคยนั่งเรือเดินอากาศยลเมืองแบบเทวดาเยี่ยงนี้หรอก ผู้แต่งนิราศผ่านมุมมองระดับสายตาบนผืนแผ่นดินและมองเงยมากมายเหลือคณา หาก คนดงนับเป็นชาวไทยคนแรกที่เขียนนิราศโดยมองก้มมาจากเครื่องบิน เขารำพันรายละเอียดผ่านเนื้อถ้อยนิราศของตนว่า

          ๏ แลอันนาน่าเอ็นดูอยู่เบื้องต่ำ  เล็งสบส่ำมิได้มีสีประสม งามจะหยดสดสอาดเหมือนลาดพรม ปางระทมทัศนาก็พาคลาย  ผืนน้อยๆค่อยคลี่เปนสี่เหลี่ยม  สำอางเอี่ยมเยี่ยมสีมณีฉาย เขียวสนิทติดเหลืองประเทืองพราย  ตองอ่อนผายเพราะโศกเปนโคกนา  สามร้อยเมตร์เศษคว้างกลางอากาศ  สูงทายาดยิ่งอยู่ยอดภูผา  ชีวิตร์มอบตอบสนองกันสองรา พึ่งปรีชาชาญชินนักบินไทย มองแม่น้ำเจ้าพระยาน่าสนุก คดขยุกขยิกสีวารีใส  แรกทฤษดิ์คิดแคลงแหนงในใจ  ว่ามิใช่แม่น้ำเปนลำธาร  รุกขชาติดาษดินสิ้นทุกหย่อม  ตล้อมป้อมเปรียบดัดจัดขนาน  ไม้ขุนช้างสร้างไว้ก็ไม่ปาน  งามตระการตาเห็นว่าเปนเอง  บ้างโดดเดี่ยวเขียวขจีอยู่ที่แจ้ง  บ้างเหมือนแสร้งสร้างเลมาะไว้เหมาะเหมง  บ้างเรียงพุ่มซุ้มแผ่มาแต่เพรง  เพียงละเลงสีสลับกับท้องนา  ทางรถไฟใหญ่กว้างสล้างยืด  รถเปนพืดแล่นผ่านขนานหน้า  แลเขม้นเห็นสนุกเหมือนตุ๊กกระตา  เป็นที่น่าเพลินจิตร์เมื่อพิศดู  ฝูงกระบือถือถิ่นติณชาติ  เที่ยวเดินกลาดวิ่งเกลื่อนเสมือนหนู มองมนุษย์สุดสงสารคลานดังปู เกือบไม่รู้และไม่เห็นว่าเปนคน อันกระท่อมห้อมหอซอมซ่อทรุด กลับผาดผุดพึงตาน่าฉงน  ทุกแผ่นแผนแสนจะงามเมื่อยามยล  เราวกวนอยู่กว่าสิบนาที  เมฆบางก้อนร่อนขวางทางระเห็จ บางก้อนเล็ดลอดคว้าเอาข้างสี บางก้อนด่ำต่ำต้อยถอยฤทธี ควรยินดีโดยเครื่องอยู่เบื้องบน  ยามร้อนๆยังสท้อนสท้านหนาว  ด้วยลมพาวพัดกรอกกับหมอกฝน  เมฆกีดกางขวางหน้าเราฝ่าชน กว่าจะพ้นพืดเยิ่นเกินอึดใจ  เย็นยะเยียบเสียบแทงแสลงจิตร์  ทั้งมืดมิดมัวตาเปนฝ้าไข  เห็นปลายปีกหลีกลมแต่รำไร  ยื่นมือไกลจากกายรับสายตาฯ”

หลวงอรรถเกษมภาษา (เพ็ญ บุนนาค) กับ ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) เป็นคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียว อายุใกล้ๆ กัน  พุทธศักราช 2464  ทั้งสองมีชื่อเสียงทางด้านการประพันธ์ มีผลงานตีพิมพ์แพร่หลาย แม้คุณหลวงจะดูรุ่งโรจน์กว่าทั้งหน้าที่การงานและความสำเร็จในงานเขียน แต่พอพุทธศักราช 2465 เจ้าของผลงาน นิราศอากาศยาน เผชิญวัณโรคเล่นงานเสียทำราชการมิได้ และอาการเพียบหนักจนสูญสิ้นลมหายใจเมื่อวันพฤหัสบดีที่  27 กันยายน พุทธศักราช 2466

บรรยากาศทุ่งดอนเมือง พุทธศักราช 2493 (คริสต์ศักราช 1950)
ภาพจากเพจ 77PPP

พื้นที่ดอนบริเวณทางตอนเหนือของอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จรดเขตแดนทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี เดิมทีเป็นป่าสะแกและทุ่งนา ชาวบ้านเรียกขานติดปากว่า ‘ดอนอีเหยี่ยว’ หรือ ‘ดอนอีแร้ง’เพราะชุกชุมนกเหยี่ยวและนกแร้งกระพือปีกบินออกหากินแถวนั้น  หมื่นหาญใจอาจ (พู่ จามรมาน) เจ้าของที่นาจำนวนมากได้ยกที่ดินส่วนหนึ่งสร้างอารามขึ้นคือวัดดอนอีเหยี่ยว การเดินทางมายังดอนแห่งนี้ ถ้าไม่มาโดยรถไฟก็ล่องเรือมาทางคลองเปรมประชากร

ในพุทธศักราช 2454 หลังจากนักบินชาวเบลเยี่ยมนาม ฟาน เดน บอร์น (Van den Born) เข้ามาจัดแสดงการบิน ณ สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน ชาวไทยพลันตื่นตัวกับยวดยานเดินอากาศหรือ ‘เครื่องบิน’ รัฐบาลสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป), นายร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) และนายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ปีถัดๆ มา เริ่มสั่งซื้อเครื่องบินเข้ามาใช้ฝึกหัด กิจการด้านการบินยุคนั้นอยู่ในความดูแลของกรมการช่างทหารบก เรียก ‘กองบินทหารบก’ และตั้ง ‘สนามบินสระปทุม’ ตรงสนามม้าราชกรีฑาสโมสร ครั้นพื้นที่ย่านสระปทุมคับแคบเกินไป ทางการดำริให้ย้ายสนามบินและกองบินทหารบกมาตั้งอยู่ที่ดอนอีเหยี่ยวเมื่อพุทธศักราช 2457 พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘ดอนเมือง’ รวมถึงเปลี่ยนชื่อวัดประจำถิ่นตามชื่อใหม่

บรรยากาศทุ่งดอนเมือง พุทธศักราช 2499 (คริสต์ศักราช 1956)
ภาพจากเพจ 77PPP

สนามบินและกองบินทหารบกที่ดอนเมืองได้พัฒนาเป็นกรมอากาศยานทหารบก และต่อมายกฐานะเป็น ‘กองทัพอากาศ’ ในพุทธศักราช 2480 ล่วงมาต้นทศวรรษ 2490 พื้นที่ดอนเมืองซึ่งอยู่ในความดูแลของทหารมาตลอดก็มีการเข้ามาของการบินพลเรือนเพื่อปรับปรุงเป็นท่าอากาศยานการบินระหว่างประเทศ เรียกว่า ‘ท่าอากาศยานดอนเมือง’ และต่อมาปลายทศวรรษนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ท่าอากาศยานกรุงเทพ’

พนมพร ลูกเพชร

เพลงลูกทุ่งเก่าๆ ถ้าจะบอกเล่าถึงการพลัดพรากจากคนรัก ซึ่งเขาหรือเธอต้องโดยสารยานพาหนะจากไป มักสะท้อนภาพให้หนุ่มสาวทอดอำลากันที่สถานีขนส่งรถประจำทางหรือสถานีรถไฟ แต่ในบทเพลงหนึ่งที่ ‘พนมพร ลูกเพชร’ แห่งวงดนตรี เทียนชัย สมยาประเสริฐ ขับร้องในท่วงจังหวะโบเลโร่ (ราวๆ ช่วงปลายทศวรรษ 2500 และต้นทศวรรษ 2510) กลับแหวกแนวออกมาด้วยการจากไปโดยเครื่องบิน เพลงชื่อ ‘จากกันที่ดอนเมือง’ ฉัตรชัย สมยาประเสริฐ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง

“ยามสายัณห์ ตะวันสีเหลือง  มองทั่วทั้งดอนเมือง  พาหัวใจให้หวั่นไหว  เครื่องบินครวญคราง  เสมือนน้องนางเจ้าร้องไห้  น้องรักเจ้าจากพี่ไป  เมื่อไหร่ถึงจะกลับมา…”

ฝ่ายหญิงสาวต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ฝ่ายชายจึงพลอดเพ้อที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ

“กานดา อย่าตรมระทมหม่นหมอง ไปดีเถิดนะเนื้อทอง  ฟ้าจงป้อง ให้น้องเลิศลอย  โชคดีเถิดน้อง รับรองพี่นี้จะคอย ก่อนที่เครื่องบินจะคล้อย ขอหอมหน่อยเถิดน้องคนดี”

“ตัวพี่คอยอยู่ที่ดอนเมือง  วอนให้น้องรุ่งเรือง ขออวยพรให้สุขี  น้องไปเมืองนอก พอพ้นบางกอก แม้ลืมพี่  กราบเท้าแม่ธรณี ฝังชีวีไว้ที่ดอนเมือง”

บทเพลงนี้ช่างผิดแผกจากเพลงลูกทุ่งอื่นๆ ร่วมสมัยเดียวกัน ซึ่งนิยมสะท้อนมนต์รักของหนุ่มสาวชาวไร่ชาวนาต่างจังหวัด กลับเสนอภาพชีวิตชนชั้นกลางที่ฝ่ายหญิงสามารถเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ และฝ่ายชายเองก็ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาสามัญ คงเป็นคนมีฐานะพอสมควร จึงมาเฝ้าคอยส่งที่สนามบินได้

ท่าอากาศยานดอนเมือง พุทธศักราช 2504 (คริสต์ศักราช 1961)
ภาพจาก teakdoor.com

ดอนเมืองใช่พรั่งพรูแค่เรื่องเครื่องบิน ยังเป็นอีกหลายฉากอื่นๆ น่าใคร่ครวญ ถ้าจะพิจารณาผ่านวรรณกรรม เชื่อว่าย่อมมีอยู่ไม่น้อยเรื่อง เรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจผมมาเนิ่นนานนับแต่อ่านหนแรกๆ คือเรื่องสั้นเรื่องแรกของ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ชื่อ สงคราม ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 15 ฉบับที่15 วันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2511 ซึ่ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นบรรณาธิการคัดสรร ในงานเขียนชิ้นนี้ มิได้ระบุเลยว่าใช้ฉากบริเวณดอนเมือง กระนั้น ผมข้องใจเหลือเกินเรื่อง ‘บ้านสน’ หรือซ่องที่ตัวละครพ่อผู้เป็นหมอต้องนั่งเรือพายตอนเกือบเที่ยงคืนไปทำคลอดให้หญิงโสเภณี จนท้ายที่สุดเธอเสียชีวิต ดังผู้ประพันธ์บรรยายบรรยากาศทำนอง

“…มีผู้ชายหลายคนเดินเตร่สวนกันไปมาอยู่ตรงปากทาง ท่าทางพวกเขาเคร่งเครียด แต่เสียงหัวเราะกลับแสดงความชอบใจ บางทีออกวาจาหยาบคาย  บางคนก้าวขาด้วยอาการรีรอไม่ผิดสัตว์ป่าเดินหลงทาง  แสงเจ้าพายุที่แขวนติดขื่อใต้รางน้ำจากบ้านหลังหนึ่งส่องสลัวๆ มองเห็นผู้หญิงหลายคนนั่งเรียงรายอยู่บนม้ายาวข้างระเบียง ทุกคนเขียนคิ้วดำหนา ทาปากแดง นั่งไขว่ห้าง แข้งขาไม่เข้าระเบียบ บ้างนุ่งซิ่น บ้างใส่เสื้อดอกแขนสั้น บ้างสวมกระโปรงสั้นเต่อถลกถึงบริเวณขาอ่อน เเละบ้างก็ไม่สนใจที่จะกลัดกระดุมเสื้อเม็ดบน หญิงร่างอ้วนคนหนึ่งมีแต่ก้อนเนื้อห่อหุ้มภายใต้เสื้อผ้าซึ่งตัดจนคับเปรี๊ยะ หล่อนมักจะหันหน้ามาทางถนนพร้อมพูดกับพูดว่า

“เชิญข้างในสิคะ ชอบคนไหนเลือกได้เลยค่ะ ห้องยังว่าง”

เมื่อชายที่นั่งอยู่ข้างๆ ใช้แขนโอบกอดและวางมือลงบนก้อนเนื้อกระเพื่อมเบื้องหน้าพลางกระซิบ หล่อนก็หัวเราะชอบใจ พยักหน้าเนิบนาบ และเดินนำหายเข้าไปในความมืด ผมหันไปมองพ่อ แต่พ่อเดินตามผู้หญิงคนนั้นต่อไปเหมือนไม่เห็นสิ่งใด ชายคนหนึ่งเดินสวนมาและจำพ่อได้

“คุณหมอมาเที่ยวหรือครับ”

“เปล่า มาทำคลอด””

นั่นชวนให้ขบคิด หาก ‘บ้านสน’ เป็นสถานที่จริงๆ จะอยู่ที่ไหนกัน? ผมเคยคลับคล้ายคลับคลาว่า เรื่องสั้นนี้อาจมีต้นเค้ามาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตเยาว์วัยของผู้เขียน บางทีตัวละครหมออาจถอดมาจากพ่อของสุชาติ ผู้เป็นหมอเสนารักษ์ มียศทางทหารอากาศ และซ่องบ้านสนอาจจะอยู่แถวดอนเมือง ย่านที่สุชาติเติบโตมา แม้จะไปเกิดแถวบ้านญาติฝ่ายบิดาที่อำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา เพราะหนีเครื่องบินทิ้งระเบิดลงทุ่งดอนเมือง ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

สุชาติ สวัสดิ์ศรีในวัยหนุ่ม

กลางพุทธศักราช 2560 ในวงสนทนาร้านเป็ดย่างไม่ห่างเหินวัดดอนเมือง สุชาติ สวัสดิ์ศรีรำลึกความหลังและเปิดเผยให้ผมรับฟัง ดูเหมือนละแวกร้านเป็ดย่างนี่แหละเคยเป็น ‘บ้านสน’ ที่ปรากฏในเรื่องสั้นอันมีต้นเค้ามาจากเหตุการณ์จริงๆ ผมคิดว่าสีสันการมีอยู่ของ ‘ซ่อง’ แห่งนี้น่าจะช่วงราวๆ ปลายทศวรรษ 2490

สถานีรถไฟดอนเมืองยังเป็นความทรงจำเกี่ยวกับการอ่านหนังสือสมัยสุชาติยังเป็นเด็ก ซึ่งหนังสือที่พบได้ตามแผงริมทางรางรถไฟ มักจะเป็นวรรณกรรมแนวเริงรมย์

สนามบินดอนเมือง ปี 2017

ใคร่สมทบอีกเสียงเล่า หลายปีก่อน (ปลายทศวรรษ 2550) ผมเองเคยโลดแล่นในความจับตามองของพี่โชเฟอร์แท็กซี่ย่านมหาวิทยาลัย เขาคงสะสมปมสงสัย เหตุไฉนจึงมักได้รับการโบกเรียกจากผมให้ไปส่งสนามบินเนืองๆ จู่ๆ คราวหนึ่ง เขามิอาจอดเปรยเอ่ยปากถาม ชวนคุยว่าจำผมได้แม่นยำ เพราะนั่งรถแท็กซี่ของเขาไปดอนเมืองบ่อย ตามที่เขาครุ่นคิด เครื่องบินมิแคล้วยวดยานโดยสารราคาไม่ย่อมเยา เขาเฝ้าแหงนมองดูการลอยลำบนท้องฟ้าและใฝ่ฝันทำนองถ้าได้นั่งสักครั้งน่าจะดี แต่อาจไม่มีวาสนา ตั๋วเครื่องบินต้องแพงโขเกินกว่าเงินรายรับที่เขาเพียรหาแต่ละวัน ผมสดับพร้อมแย้มยิ้ม ให้กำลังใจเขา เดี๋ยวนี้เครื่องบินราคาไม่แพงมากนักหรอก เขาควรลองไปเหินฟ้า จองล่วงหน้านานๆ ผ่านทางออนไลน์ ผมสนับสนุนและเล่าแจ้งราคาที่เคยใช้บริการ แววตาพี่โชเฟอร์วับวาว เขาว่าถ้าเป็นอย่างผมบอก พอจะมีหวังนั่งเครื่องบินบ้าง ผันผ่านหลายเดือนกว่าผมจะเจอชายผู้นั่งหลังพวงมาลัยคนนี้อีกหน เขาเริงโลดรีบสาธยายเรื่องไปนั่งเครื่องบินมาแล้ว ผมถามจองอย่างไร เขาบอก ไปจีบสาวและสาวช่วยดำเนินการ ทั้งผมและเขาพากันหัวเราะ

ปัจจุบัน เอ่ยขานว่า ‘ดอนเมือง’ ใครๆ ย่อมนึกโดยพลันถึงท่าอากาศยานและภาพเครื่องบินขณะขึ้นหรือลง ประหนึ่งภาพจำแนบแน่นความรู้สึกคนไทย หากแท้จริง ละแวกแห่งนี้ยังรุ่มรวยเรื่องราวในอดีตคอยส่องประกายดึงดูดให้เพ่งพินิจ

 

เอกสารอ้างอิง

  • ชุมนุมกวีแก้ว : ชิต บุรทัต คนดง. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ. นนทบุรี : ต้นฉบับ,
  • มาลัยอนุสรณ์. ลมูล อติพยัคฆ์ บรรณาธิการ.พระนคร : โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน, 2506
  • เสนอสุนทรภาษิต. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2496. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2496
  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี. “ประวัติศาสตร์ส่วนตัว ชีวิตการอ่านช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น.” ใน ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊ค, 2556.
  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี. “สงคราม” ใน ความเงียบ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สามัญชน, 2546
  • สุธิรา สุขนิยม. มาลัย ชูพินิจ และผลงานประพันธ์เชิงสร้างสรรค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2532
  • อนุสรณ์เฉลิมอากาศ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ณ วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร 30 มกราคม 2499. พระนคร: โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารอากาศ, 2499
  • อรรถเกษมภาษา (เพ็ญ บุนนาค), หลวง. ชุมนุมกวีพากยประพนธ์. รวบรวมพิมพ์เปนของชำร่วยในการพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถเกษมภาษา (เพ็ญ บุนนาค) ณ เชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ วันที่ 20 มีนาคม พระพุทธศักราช 2466. พระนคร: โรงพิมพ์สยามราษฎร์ และโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2466