©ulture

ข้าพเจ้ามองดูภูเขียว แล้วก็อยากกลั้นใจตายให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเสียจริง…!

ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว หรือ พันตำรวจเอก (พิเศษ) ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว กล่าวถึง ภูเขียว ยามแรกเผชิญไว้ในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของเขาเช่นนั้น

งานเขียนชิ้นนี้เอง ผมจึงทำความรู้จักอำเภอภูเขียวครั้งแรกสุด และคงอดมิได้ที่จะหวนระลึกไปยัง วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนเจ้าของนวนิยาย มนต์รักทรานซิสเตอร์  ในฐานะผู้แนะนำให้ลองหาอ่าน ขณะผมเรียนชั้นมัธยมปลาย ซึ่งสบโอกาสได้รับคัดเลือกไปร่วมเข้าค่ายวรรณกรรมริมแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปีพุทธศักราช 2550

เพียงชิมด้วยสองตาคราปฐม ความประทับใจพลันก่อเกิด กระทั่งตราตรึงห้วงอารมณ์เรื่อยมาตราบปัจจุบัน

ภาพบรรยากาศผืนป่าภูเขียวในปัจจุบัน / photo: designbydx

ในเรื่องสั้น ‘ภูเขียว’ ปกรณ์ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนคราวต้องระหกระเหินมารับตำแหน่งนายตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรภูเขียว หากเป็นบรรยากาศเมื่อปีพุทธศักราช 2503

ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว อาจมิแคล้วนักเขียนที่นักอ่านรุ่นใหม่ๆ แทบไม่มักคุ้น ทั้งๆ ที่เขาได้รับยกย่องให้เข้าข่ายหนึ่งในมือฉมังทางด้านเรื่องสั้นสำหรับนักอ่านรุ่นก่อนๆ

18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2468 ปกรณ์ถือกำเนิด ณ ละแวกย่านช้างคลาน เมืองเชียงใหม่ เดิมผู้บิดาบรรจงตั้งชื่อว่า ‘ไมรา’ เพื่อเหมาะเจาะคล้องจองกับพี่สาวที่ชื่อ ‘มาลัย’ ต่อมากลางทศวรรษ 2490 ตอนรับราชการอยู่เมืองแพร่ ได้เปลี่ยนชื่อเสียเองเป็น “ปกรณ์”  ที่จริง เขาเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  พลิกผันมาเป็นนายตำรวจ เคยประจำพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือทั้งเชียงใหม่และแพร่ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างชัยภูมิ การครองตำแหน่งนายตำรวจภูธรพร้อมๆกับสวมบทบาทนักประพันธ์ ทำให้เขาสามารถหยิบยกสารพัดเรื่องราวชีวิตและงานของตำรวจที่ได้สัมผัสคลุกคลีกับบุคคลและสถานการณ์ต่างๆมานำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้น ซึ่งนิยมใช้กลวิธีหักมุมจบ

พันตำรวจเอก(พิเศษ) ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว

งานเขียนของ ‘ไมรา’ เผยโฉมบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 ปรากฏในนิตยสาร สยามสมัย รายสัปดาห์ ประมาณปีพุทธศักราช 2492 ก่อนจะมาโลดแล่นเกรียวกราวในนาม ‘ปกรณ์’ นิตยสาร สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และ ชาวกรุง ช่วงปลายทศวรรษ 2490 และต้นทศวรรษ 2500

เรื่องสั้นระบือเลื่องเยี่ยง ‘ภูเขียว’ คลับคล้ายคลับคลาว่าลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ชาวกรุง ประมาณปลายปีพุทธศักราช 2503 หรือปีพุทธศักราช 2504 และนำมาพิมพ์รวมเล่มกับเรื่องอื่นๆ เมื่อราวปีพุทธศักราช 2508

ความรู้สึกของนายตำรวจหนุ่ม แม้ ‘ภูเขียว’ จะประหนึ่งเมืองลับแล แต่กลับมิได้น่าหลงใหลตื่นเต้นดุจดั่งเขาดื่มด่ำอรรถรสจากงานเขียนแนวผจญภัยของเซอร์ เฮนรี ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด (Sir Henry Rider Haggard) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ

“อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ คือลับแลของอีสาน เช่นเดียวกับแม่ฮ่องสอนคือลับแลของถิ่นไทยงาม คำว่าลับแลในที่นี้ จึงหวังว่าท่านผู้อ่านคงไม่เข้าใจเลยเถิดไปว่ามันเป็นเมืองแบบนิยายในฝันอันแสนสนุก น่าตื่นเต้นระทึกใจของ เอช ไรเดอร์ แฮกการ์ด ซึ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์และวีรบุรุษวีรสตรี อย่างเซอร์เฮนรี่ เคอร์ตีส  อัมสโลโปแกส นาดาแม่ดอกพลับพลึง หรืออิกโนสี พระนางชีบา และ ฯลฯ ที่นี่ไม่มีกลิ่นเย้ายวนของป่า หรือสิงสาราสัตว์ ไม่มีทวาลาตาเดียว ไม่มีมะคูมะซันผู้มองสว่างในความมืด ไม่มีกากูล ยายแก่ยอดอุบาทว์ และไม่มีแม้แต่ขุมทองขุมเพชรที่หลอกล่อให้คนมาขุด ให้เป็นเรื่องสัปดนเล่น”

เพราะเป็นดินแดนที่ “มันมีแต่ฝุ่น- ฝุ่นทั้งนั้น! ฝุ่นสีแดงในเนื้อตัวเสื้อผ้า ในอาหาร ในอากาศที่หายใจ ฝุ่นในทุกสิ่งทุกอย่างที่รวมเรียกว่าภูเขียว แล้วยังมีข้าราชการผู้ถูก รีไทร์ จากทุกสารทิศทั่วเมืองไทยแทรกปนยาดำอยู่กลางกลุ่มฝุ่นนี้ ซึ่งแน่นอน ณ ที่ที่เขาทั้งหลายถูกรีไทร์มาเดิมนั้น แม้จะเลวร้ายปานใด มันก็ยังดีกว่าที่นี่”

หนังสือรวมเรื่องสั้นของปกรณ์ ปิ่นเฉลียวที่ให้ชื่อปกว่า ‘ภูเขียว’

ตัวละคร ‘ข้าพเจ้า’ อันเสมือนเงาของตัวปกรณ์ นับเป็นคนหนึ่งที่ถูก ‘รีไทร์’ และตระหนักต่อสภาพย่ำแย่ของภูเขียว เขาจึงพร่ำพรรณนาภาพพจน์เสียยืดยาว แค่ “หยิบแผนที่ทางหลวงประเทศไทยแผ่นเท่าบ้านออกมากาง…” ก็หาเส้นทางไปอำเภอภูเขียวไม่เจอ โทรศัพท์ถามแผนกประชาสัมพันธ์กรมทางหลวงได้ความว่า “ไม่รู้” จนได้รู้เนื่องจากบังเอิญพบเพื่อนเก่าผู้เคยไปรับราชการทางอีสานเสียนานตรงหน้ากรมตำรวจ

ปกรณ์สะท้อนการเดินทางทุลักทุเลไปอำเภอภูเขียว เริ่มตั้งแต่ตื่นตีห้า ขึ้นรถตุ๊กตุ๊กมาสถานี บ.ข.ส. ถนนพหลโยธิน ซื้อตั๋วรถโดยสารกรุงเทพฯ-เมืองเลย บอกว่าจะลงภูเขียว ราคาห้าสิบบาทถ้วน เหวี่ยงกระเป๋าสัมภาระเก็บไว้บนหลังคา ได้ที่นั่งเบอร์ 13 พอตีห้าครึ่งรถออก ซึ่ง “แรกๆ โชเฟ่อร์ท่านก็ขับสุภาพระมัดระวังดีดอก แต่ที่ไหนได้ พอเลยดอนเมืองมา ท่านก็สวมใส่วิญญาณของยมบาลไว้ที่มือและเท้า ห้อเหยียดยังกับท่านจะรีบไปกินข้าวเช้าที่นรก…”

พอเลี้ยวถนนสายสีคิ้ว-ชัยภูมิ ทางคดเคี้ยวและดาษดื่นหลุมบ่อโคลนตม เล่นเอานายตำรวจหนุ่มนั่งกระเด้งกระเด็นกระดอนไปซ้ายทีขวาทีมิหยุดหย่อน เปรียบเปรย “เหมือนถูกหยอกด้วยตีนม้า” ตอนรถแล่นเลยเขตอำเภอแก้งคร้อไม่นาน พบควายที่มานอนในหลุมบ่อขวางถนน รีบลุกพรวดหนีไปข้างทาง จนผู้โดยสารมิอาจกลั้นหัวเราะ ระยะทางจากกรุงเทพฯ มาถึงสี่คิ้วประมาณสามร้อยกิโลเมตร รถใช้เวลาแล่นสามชั่วโมงเศษๆ ส่วนระยะทางจากสีคิ้วไปถึงภูเขียวไม่เกินสองร้อยกิโลเมตร แต่รถใช้เวลาแล่นเก้าชั่วโมงเต็ม

ภาพถ่ายถนนภูเขียวในปัจจุบัน / photo: tuaindeed

ทว่าในที่สุด “ข้าพเจ้าก็บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง- ดีสซะตินเนเชิ่น ภูเขียว” และ

“…ภาพภูเขียวที่ข้าพเจ้าเห็น ทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงภาพยนตร์คาวบอยตะวันตกของฮอลลีวูดในจอโทรทัศน์ทันที ให้ตายไปอย่าได้พบพระเลยเถอะท่าน! มันเป็นความสัตย์จริงๆ ภูเขียวตรงหน้าข้าพเจ้านี้ ไม่มีที่ผิดเพี้ยนแตกต่างกับเมืองโคบาลในหนังเลยแม้แต่นิดเดียว อำเภอ โรงพัก โรงแรม โรงเหล้า ร้านค้า แบงค์ วัด และ ฯลฯ ตั้งกองอยู่เรียงรายติดๆ กันไปสองฟากทาง มีถนนสีแดงเต็มไปด้วยฝุ่นผ่ากลาง ถนนสายนี้ยาวประมาณหนึ่งกิโล เลยออกไปคือ วัวควาย ทุ่งนา และป่าเขา ตอนลงจากรถโดยสาร หิ้วกระเป๋าเข้าไปในโรงแรมซึ่งชั้นล่างเป็นโรงเหล้า ข้าพเจ้ายังนึกทึกทักเอาว่า ตัวเองคือยอน เวย์นมือปืนพเนจรผู้ลงจากหลังม้าเข้ามาปราบอธรรม นึกเช่นนี้แล้วมันครึ้มใจวูบขึ้นมาชอบกลผ่าเถอะ! นี่ถ้าได้แม่เจน แมนฟิลด์ นุ่งกระโปรงยาวสีขาว ไม่ใส่ยกทรง กางร่มแพรเดินทิ้งหางตาฉับผ่านยอน เวย์นด้วยอีกสักคนละก้อ…แสบซ่านเข้าไส้ไปเลย”

‘ภูเขียว’ หาใช่ฉากหนังคาวบอย นายตำรวจหนุ่มตั้งสติตรองดู มิวายผุดพรายความนึก ข้าพเจ้ามองดูภูเขียว แล้วก็อยากกลั้นใจตายให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเสียจริง…!

‘ข้าพเจ้า’ แทบจะฟุ้งซ่านถอดเสื้อผ้าลงไปนอนกลิ้งเกลือกกายดงฝุ่นแดง วิธีดับความคิดพิเรนทร์ๆ คือลงไปดื่มเหล้าชั้นล่างของโรงแรม เจ๊กโกเจ้าของร้านกำลังนั่งจับเจ่าเหงาซึม และในโรงเหล้า “นอกจากข้าพเจ้า ทั้งร้านมีลูกค้าอยู่คนเดียวคือชายผู้นั่งตรงโต๊ะตัวหน้าสุด เขามีอายุประมาณไม่ถูก แต่งกายซอมซ่อ สาระรูปดูไม่ได้ แล้วพี่แกกำลังเพลินนั่งแกะหนังตีนง่วนอยู่คนเดียวเสียด้วย”

ศาลจังหวัดภูเขียวดั้งเดิม ภาพถ่ายโดย กุลระวี สุขีโมกข์

นายตำรวจหนุ่มรู้สึกตัวลืมตาตื่นเกือบสิบเอ็ดนาฬิกาของอีกวัน สับสนเพราะเมื่อวานดื่มเหล้าหนักหน่วงและเมาจนจำความอะไรไม่ได้ จัดแจงอาบน้ำแต่งกายผลุนผลันออกจากโรงแรม รีบไปรายงานตัวกับท่านนายอำเภอภูเขียว ตลอดบ่ายได้ทำความรู้จักเพื่อนข้าราชการหลายคน ย้อนกลับมาโรงแรมราวสี่โมงเย็น กำลังจะพักงีบหลับ ยินเสียงใครมาเคาะเรียก พอเปิดประตู “…ชายคนหนึ่ง แต่งกายแปลกประหลาดมาก ยืนยิ้มเผล่อยู่ เขานุ่งโสร่ง ไม่สวมเสื้อและเท้าเปล่า ที่คอผูกผ้าแดงทำเงื่อนแบบลูกเสือ ในมือขวาสกปรกมอมแมมนั้นคีบบุหรี่อะไรไม่ทราบ มวนเท่าเทียนไข กลิ่นและควันคลุ้งโขมง…”

ชายคนนั้นทักทายสนิทสนม บอกว่าจะมารับไปกินข้าวและดื่มเหล้าที่บ้าน แต่นายตำรวจหนุ่มงุนงงว่าไปสนิทกันตอนไหน

ชายแต่งกายประหลาดมิใช่ใครอื่นหรอก คือชายชาวพื้นเมืองคนที่นั่งแกะหนังตีนในร้านเหล้าชั้นล่างโรงแรมเมื่อเย็นวาน ตอนนายตำรวจเมาจนไม่รู้ตัว นอกจากจะคุยโวบอกเล่าเรื่องการเดินทางทรหดมายังภูเขียว ยังได้เลี้ยงเหล้าและพาไปเดินเที่ยวสำรวจเมือง กว่าจะกลับโรงแรมล่วงตีสอง โดยชายพื้นเมืองมาส่ง ทั้งอ้างว่านายตำรวจเป็นฝ่ายนัดเจอกันวันนี้สี่โมงเย็น

นายตำรวจหนุ่มจากบางกอก แม้จะไม่รู้ตัวว่าเผลอทำอะไรไปบ้าง แต่เมื่อรับปากชายชาวพื้นเมืองไว้ เขายินดีไปกินข้าวและดื่มเหล้าที่บ้าน

จุดสำคัญของเรื่องสั้น ‘ภูเขียว’ ซึ่งส่งสารกระทบอารมณ์ผู้อ่านให้สะเทือนสะท้านหัวใจมิรู้ลืมเลือน ก็ในตอนที่นายตำรวจหนุ่มไปเยี่ยมบ้านชายชาวพื้นเมืองนี่แหละ

ภาพบรรยากาศภูเขียว / photo: Sarunya khopan

บ้านของชายชาวภูเขียวต้องปีนกระไดลิงขึ้นไปนั่งบนระเบียงนอกชานสั่นคลอนง่อนแง่น เขาตะโกนบอกเมียให้ยกสำรับอาหารที่ตระเตรียมมาเลี้ยงรับรองเพื่อนใหม่จากพระนคร สิ่งที่ “หญิงกลางคนนางหนึ่ง นุ่งผ้าถุงขาดกะรุ่งกะริ่ง สวมเสื้อในรอยปะชุนสอง-สามแห่ง…” เดินยิ้มแฉ่งยกมาวางเทียบ ทำให้ตัวละคร ‘ข้าพเจ้า’ รู้สึกเหมือนถูกตบหน้าเต็มแรง ได้แก่ “…ส้มตำมะละกอ มีปลาร้าดิบๆ ราดหน้าใส่ในจานสังกะสีสกปรกมีคราบดำปื้นจับเต็ม และอีกจานหนึ่งซึ่งเป็นจานชนิดเดียวกัน มีหัวปลากรอบ หัวปลาล้วนๆ ห้า-หกหัว! กล่องบรรจุข้าวเหนียวเหล้าเถื่อนหนึ่งขวด แล้วก็แก้วปลาสติคเต็มไปด้วยคราบขี้ไคลสองใบ” มิหนำซ้ำปลาร้าดิบๆ ยังกลิ่นโชยฉม หัวปลากรอบมีหนอนตัวเล็กๆ กำลังคลานยุ่บยั่บ

นายตำรวจหนุ่มบังเกิดความขยะแขยงสะอิดสะเอียนต่ออาหารในสำรับ ลุกขึ้นพรวดพราด ถามหาห้องน้ำ ชายชาวพื้นเมืองชี้ว่าด้านหลังบ้าน นายตำรวจเดินข้ามระเบียง ผ่านห้องนอน ผ่านห้องครัว ก่อนจะไปถึงห้องน้ำ ที่ห้องครัวมองแวบเข้าไปแบบไม่เจตนา แลเห็นภาพเมียและลูกน้อยๆ ของชาวพื้นเมืองสามคน นั่งล้อมวงกินข้าว กินเพียงข้าวเหนียวเปล่าๆ ไม่มีกับข้าวเลยสักนิด

ชายชาวภูเขียวยอมให้ลูกเมียกินข้าวเหนียวเปล่า และยกสำรับอาหารดีที่สุดที่บ้านของตนมีอยู่มาเลี้ยงต้อนรับเพื่อน ซึ่งเป็นสำรับอาหารที่นายตำรวจหนุ่มจากบางกอกไม่พึงใจจนจะเดินหลีกเลี่ยงมาอาเจียน แต่พลันฉุกคิดได้ น้ำใจของชายชาวพื้นเมืองช่างประเสริฐเหลือล้น

นักเขียนปิดท้ายเรื่องสั้นว่า “ข้าพเจ้ายื่นคำร้องสมัครใจอยู่ภูเขียวต่อไป ให้มันเป็นนรก แต่ถ้ามันมีน้ำใจแล้วไซร้ มีหรือคนเราจะอยู่ไม่ได้?”

‘ภูเขียว’ ที่ปกรณ์ ปิ่นเฉลียวจัดวางให้เป็นฉากทุรกันดาร อาจเป็นมุมมองที่ผมในฐานะคนรุ่นใหม่คงจะไม่คล้อยตามทั้งหมด และครุ่นคิดว่าสร้างภาพความเป็นชนบทแบบสายตาจากส่วนกลางเกินไปสักหน่อยหรือเปล่า (ต้องไม่ลืมว่านี่คืองานเขียนขึ้นมาเกินหกสิบปี) แต่ยอมรับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์และความมีน้ำใจบนบ้านของชายชาวพื้นเมือง ยังสำแดงอานุภาพให้ผมจุกหัวอกในทุกคราสายตาจดจ่อตัวอักษร

บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรภูเขียวในปัจจุบัน ภาพถ่ายโดย กุลระวี สุขีโมกข์

ดังแจกแจงแถลงขาน ผมสนอกสนใจอำเภอภูเขียวตั้งแต่อายุสิบเจ็ดย่างสิบแปดจากการอ่านเรื่องสั้น แต่กว่าผมจะได้มาเยือนยลจนสัมผัสลักษณะทำนอง ‘ภูเขียวเฟิร์สไทม์ !’ อายุของผมกระหยับเลยสามสิบเอ็ด

วันจันทร์ต้นเดือนเมษายน พุทธศักราช 2564 ผมสบโอกาสได้เดินทางไปอำเภอภูเขียว สืบเนื่องจากสองมิตรสหาย วีรวรรธน์ สมนึกและกุลระวี สุขีโมกข์ต้องไปทำกิจธุระที่นั่น จึงเอ่ยปากชวน ครับ ผมย่อมไม่ปฏิเสธ

การเดินทางสู่ภูเขียวไม่เป็นไปแบบที่เรื่องสั้นของปกรณ์ ปิ่นเฉลียวบรรยาย ยุคสมัยนี้ทางหลวงสะดวกสบาย รถแล่นโฉบฉิว พวกเรามาถึงอำเภอภูเขียวตอนบ่ายสองโมง และน่าทึ่งไม่เบา ผมทำความรู้จักดินแดนแห่งนี้จากงานเขียนของนายตำรวจแท้ๆ ครั้นพอได้มาเข้าจริงๆ ก็เริ่มตั้งต้นออกเดินเที่ยวชมเมืองจากหน้าสถานีตำรวจภูธร

ทอดน่องถัดมาจากสถานีตำรวจไม่ห่างไกล  แวะรับประทานก๋วยเตี๋ยวและลองสอบถามเส้นทาง แม่ค้าอธิบายเสร็จ ผมแจ้งว่ามิค่อยเข้าใจ เพราะเพิ่งมาเป็นครั้งแรกในชีวิต แม่ค้าเสริม “เดี๋ยวนี้ ภูเขียวครึกครื้น”

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่อำเภอภูเขียวในอดีต ภาพจากหนังสือ ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร ของศรัญญู เทพสงเคราะห์

ความประสงค์ครามครันของผมอีกอย่าง ยิ่งไปกว่าการมาประจักษ์เมืองภูเขียวให้ชัดสายตา หลังเคย ‘ทัศนาทิพย์’ ผ่านงานวรรณกรรมแล้ว คือความใคร่จะมาบันทึกภาพ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองแห่งอำเภอภูเขียว ค้นคว้าข้อมูลทราบว่าโดดเด่นบริเวณหน้าวัดนครบาล

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองแห่งภูเขียว เริ่มสร้างสมัยขุนพิทักษ์นราดูรเป็นนายอำเภอผักปังเมื่อปีพุทธศักราช 2480 โดยความพร้อมใจของข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนระดมเงินทุน เสร็จสิ้นสมัยขุนประเสริฐสรรพกิจเป็นนายอำเภอภูเขียวเมื่อปีพุทธศักราช 2483 (เปลี่ยนชื่อจากอำเภอผักปังเป็นอำเภอภูเขียว ปีพุทธศักราช 2482) ป้ายแสดงประวัติความเป็นมาที่ตั้งใกล้ๆ ฐานอนุสาวรีย์จาระไนรายละเอียดเช่นนั้น แต่ถ้าพิจารณาหลักฐานเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะระบุว่าแนวคิดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองแห่งภูเขียวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2484 ต่างหาก ขุนประเสริฐสรรพกิจคือผู้เริ่มริโครงการ ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่เห็นพ้องและเสนอให้นำเงินทุนไปทำถนน ขุดบ่อ สร้างสุขศาลาเสียดีกว่า กระนั้นชาวภูเขียวก็ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์จนสำเร็จ มีศึกษาธิการอำเภอเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และชาวภูเขียวที่เชี่ยวชาญการช่างช่วยกันลงเรี่ยวแรงสร้าง

เกี่ยวกับขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียว หลายปีก่อน ผมเคยอ่านเจอเอกสารและสื่อสิ่งพิมพ์ทำนองท่านขุนเคยได้รับการกล่าวโทษจากบัตรสนเท่ห์ของนายจันทรว่าเป็นผู้ไม่นิยมระบบประชาธิปไตย  มีพฤติการณ์กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลคณะราษฎร จนต้องถูกสอบสวน ท้ายสุดท่านขุนสามารถพิสูจน์ตนเองและยืนยันได้ถึงความเป็นผู้รักประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่อำเภอภูเขียว เมื่อต้นเดือนเมษายน พุทธศักราช 2564 ภาพถ่ายโดย กุลระวี สุขีโมกข์

เย็นย่ำจวนค่ำคล้อย ผมกับวีรวรรธน์และกุลระวีไม่คิดจะแกร่วอยู่กับที่พักแถวๆ อ่างเก็บน้ำหนองผักปัง วีรวรรธน์ยื่นข้อเสนอ หรือจะลองขับรถไปเที่ยวเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอำเภอไม่ห่างไกลจากอำเภอภูเขียว ผมตกลงโดยปราศจากลังเล

ชั่วไม่นานเกินครึ่งชั่วโมง พวกเราเข้ามาอยู่กลางเมืองเกษตรสมบูรณ์ เงียบเชียบกว่าคาดการณ์ ทว่าแว่วเสียงเพลงก้องกังวานแทรกความคิดคำนึงขึ้นมา

“จากไปสวีวี่วี จากไปสวีวี่วี ถ้าบุญเฮามี คงจะได้เจอกัน ถ้าบุญเฮามี คงจะได้เจอกัน

สายัณห์ ตะวันแล่แล่ สาวบ้านแต้ ขี่รถสักขะยาน ขี่ไปล่ะทุกถิ่นสถาน ขี่ไปล่ะทุกถิ่นสถาน ขี่รถสักขะยานไปกับฉันไหมเธอ ขี่รถสักขะยานไปกับฉันไหมเธอ

เสียใจบ้านอยู่ไกลไปหน่อย กล้วยอ้อยเป็นแต่ป่าสอนลอน ขี่ไปจนหัวเข่าเหนื่อยอ่อน ขี่ไปจนหัวเข่าเหนื่อยอ่อน เป็นป่าสอนลอนคือเกษตรสมบูรณ์ เป็นป่าสอนลอนคือเกษตรสมบูรณ์

สองหูฟังเพลงนี้ของวงดนตรีสุนทราภรณ์มาแต่เยาว์วัย สงสัยเสมอ ‘สาวบ้านแต้’ คือสาวแห่งหนใดกัน? ท่อน “จากไปสวีวี่วี…” เนื่องด้วยผมเป็นชาวสุราษฎร์ธานี เผลอไผลคิดว่าในเพลงนี้คงพาดพิงอำเภอสวี จังหวัดชุมพรกระมัง สารภาพว่าสุดปีติตื้นตันที่จู่ๆ ผมจรดลมาสู่ดินแดนแห่งป่าสอนลอน ความน่าตื่นตาของเกษตรสมบูรณ์คือพวกเราได้เห็นทิวเขาภูเขียว ซึ่งแรกทีเดียวผมเข้าใจว่าคงจะเห็นที่ตัวเมืองภูเขียว

ภาพผืนป่าภูเขียว / Photo: Rachasie

ราตรีนั้น พวกเราวกย้อนกลับมาชมตลาด ‘ภูเขียว’ ผมสะดุดตาและผลิคำถาม เหตุไฉนชาวภูเขียวดูเหมือนจะชอบกินโรตีกันไม่น้อย ได้สนทนาพอหอมปากหอมคอกับเยาวชน และยังรับรู้ว่าหนุ่มนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่คนเรียกขาน ‘ไผ่ ดาวดิน’ แท้แล้วเป็นชาวภูเขียว จำเดิมผมเข้าใจว่าเขาเป็นชาวขอนแก่นมาตลอด

เช้าตรู่วันอังคาร พวกเราอันหมายถึง ผม วีรวรรธน์ สมนึกและกุลระวี สุขีโมกข์ ได้ตระเวนสำรวจภายในตัวเมืองภูเขียวอีกเล็กน้อย เฉกเช่นแวะชมอาคารศาลจังหวัดภูเขียวเก่า ตกสายๆ จึงโบกมืออำลาภูเขียว หากปลูกปณิธานแม่นมั่น จะหวนย้อนกลับมายลเยือนในวันข้างหน้า

แน่ละ ‘ภูเขียว’ สมัยปัจจุบันหาใช่ดินแดนลับแลแบบในเรื่องสั้นของปกรณ์ ปิ่นเฉลียว หากถือเป็นเมืองที่มีอะไรให้ค้นมิรู้จบสิ้น ครั้นสืบสาวเข้าไปในประวัติศาสตร์ ก็มิได้พบเพียงดงฝุ่นแดงให้สูดดม ทว่ากลับสำเหนียกกลิ่นอายความเป็นเมืองแห่งประชาธิปไตยแข็งขันมาแต่ต้นทศวรรษ 2480 กระทั่งทุกวันนี้ดูเหมือนว่าพลังเช่นนั้นยังไม่ราแรง

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช. มท. 2.2.5/137 เรื่องคณะกรรมการจังหวัดชัยภูมิ เสนอเรื่องคณะกรรมการจังหวัดภูเขียว ประสงค์จะก่อสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง (พ.ศ. 2484)
  • หจช. มท.5.13/119 เรื่องหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า นายจันทร กล่าวหาว่า ขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียวติเตียนการปกครองระบอบประชาธิปตัย (พ.ศ. 2480-2485)
  • คริส สารคาม. นักเขียนในอดีต 2. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2542
  • ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว. ภูเขียว. พระนคร: ก้าวหน้า, 2509
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ: สุวีริยาสาส์น, 2542.
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ(คณะ)ราษฎร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562