เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเดินทางไปทำความรู้จักประเทศอินเดียเป็นครั้งแรกผ่านทริปแสวงบุญอย่างการไปเยือน “สี่สังเวชนียสถาน”
สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ ลุมพินี (สถานที่ประสูติ) พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้) สารนาถ (สถานที่แสดงปฐมเทศนา) และกุสินารา (สถานที่เสด็จปรินิพพาน) ซึ่ง 3 ใน 4 ตั้งอยู่ในแถบอินเดียตอนเหนือ และลุมพินีเป็นแห่งเดียวที่อยู่ในเขตประเทศเนปาล
และด้วยความที่อินเดียเป็นดินแดนอัศจรรย์ราวกับมีมนต์ขลังวิเศษสามารถหยุดเวลาเอาไว้ได้ ทำให้โบราณสถานทั้ง 4 แห่งแทบจะมีบรรยากาศไม่ต่างจากเมื่อ 2,500 กว่าปีที่แล้วไม่มีผิด (เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากคนที่เคยไปมาแล้วยืนยันเช่นนั้น)
บรรยากาศที่ว่าก็อย่างเช่น วิถีชีวิตผู้คนในชนบทที่ผู้ชายยังคงนุ่งโธตี สตรีห่มส่าหรี หาเลี้ยงชีพด้วยการทำมาค้าขาย กสิกรรม ปั้นหม้อปั้นไห ไม่ไกลกันนักมักมีฝูงวัวที่ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรีตามท้องถนน รวมถึงความเจริญที่ยังไม่ย่างกรายไปสู่เขตสังเวชนียสถานทั้งสี่ จนต้องแปดเปื้อนจนกลายเป็นพุทธพาณิชย์เหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในหลายๆ ประเทศ
ด้วยมนต์ขลังดังกล่าวทำให้พุทธศาสนิกชนรุ่นแล้วรุ่นเล่ายังคงนิยมเดินทางไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน (ที่จริงๆ แล้วมีมากกว่า 4 แห่ง) อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการจัดทริปทัวร์จาริกสี่สังเวฯ ไว้ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวสายบุญอยู่เนืองๆ
แต่เชื่อว่าบางคนที่ยังไม่เคยไป (หรือต่อให้ไปมาแล้ว) อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัยว่า อะไรทำให้สถานที่เหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นที่บรรดาผู้มีจิตศรัทธาต้องดั้นด้นไปให้ถึง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะได้ชื่อว่าไปแสวงบุญ ไม่ได้แค่ไปเที่ยวหรือถ่ายรูปเฉยๆ
ไปจนถึงขั้นตั้งคำถามว่า ในเมื่อพระพุทธองค์ทรงเคยตรัสไว้ว่า “ผู้ใดนึกถึงเรา เราจะอยู่ตรงหน้าผู้นั้น” แบบนี้แค่นั่งสมาธิสวดมนต์อยู่ที่บ้านก็ได้บุญแล้ว ทำไมต้องเดินทางไปไกลถึงอินเดีย-เนปาลให้ลำบาก
เพราะรู้จักธรรมชาติของจิตแสนรู้ชอบคิดไปในทางลบและขี้สงสัยของมนุษย์เป็นอย่างดี ทำให้ ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ลามะชาวภูฏานผู้เคยมีงานเขียนแนวพุทธมาแล้วหลายเล่ม ลงมือเขียนคู่มือเยือนแดนพุทธภูมิเล่มนี้ขึ้นในชื่อ Best Foot Forward: A Pilgrim’s Guide to the Sacred Sites of the Buddha หรือฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย พินทุสร ติวุตานนท์ ในชื่อ จาริกในรอยบุญ: สิ่งควรรู้ก่อนไปเยือนสังเวชนียสถาน
เนื้อหาของจาริกในรอยบุญตอบโจทย์ชาวพุทธนักปุจฉาตั้งแต่บทแรก ที่พาผู้อ่านไปหาคำตอบแบบไม่ต้องรีรอว่า อะไรทำให้บางสถานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่ใช่แค่สังเวชนียสถานของศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ อิสลาม ยูดาห์ ฯลฯ ต่างก็มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวพันกับศาสดาของตนให้ศาสนิกชนได้เดินทางไปจาริกแสวงบุญตามความศรัทธา
เฉพาะในส่วนของศาสนาพุทธนั้นน่าสนใจตรงที่ ทำไมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเลือกมาประสูติในอินเดียโบราณ
ลามะเคียนเซกล่าวสรุปไว้ในย่อหน้าหนึ่งว่า “โดยทั่วไปแล้ว สภาพแวดล้อมของเรามีผลกระทบต่อวิธีที่เราคิดถึงสิ่งรอบตัวและรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราควรระลึกอยู่เสมอว่าแม้จะมีดาวเคราะห์พันล้านดวงที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าสามารถไปปรากฏได้ แต่พระองค์ก็ทรงเลือกโลกของเรา มีประเทศเป็นร้อยๆ ในโลกนี้ แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะประสูติในอินเดียโบราณ มีสถานที่มากมายที่จะตรัสรู้ แต่ก็ทรงเลือกรัฐพิหาร”
ว่าง่ายๆ ก็คือ ดินแดนอันมากด้วยรายละเอียดซับซ้อนของทั้งสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนในอินเดียโบราณ มีส่วนเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งในการส่งผลให้พระพุทธองค์สามารถรู้แจ้งแทงตลอดจนถึงขั้นตรัสรู้ได้ในที่สุด
นอกจากนี้ สาระสำคัญในหนังสือเล่มนี้กล่าวย้ำว่า การไปจาริกแสวงบุญไม่ใช่แค่การไปเยี่ยมชมและกดชัตเตอร์บันทึกภาพผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเท่านั้น หากตลอดระยะเวลาของการเดินทางหรือโดยเฉพาะเมื่อไปถึงสถานที่นั้นๆ แล้ว ผู้แสวงบุญควรระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์เท่าที่พอจะนึกออกให้ได้มากที่สุด
หมายความว่าไม่จำเป็นต้องจำหลักอริยสัจสี่แบบเรียงตามลำดับเป๊ะๆ ได้ทุกข้อ หรือท่องมนต์ได้ทุกบท แค่พอระลึกได้ว่าหนทางที่จะกำจัดกิเลสหรือดับทุกข์ให้ได้นั้นเป็นวิถีที่ปุถุชนสามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องร้องขออภินิหารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ
เพราะแก่นแท้ของการอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ แล้วซื้อตั๋วเครื่องบิน ขอวีซ่า ลาพักร้อน แล้วพาตัวเองไปจาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถานทั้งสี่ ก็เพื่อไปประจักษ์ให้เห็นกับตาและสัมผัสด้วยหัวใจว่า พระพุทธองค์เองก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งผู้เกิดมาในฐานะเจ้าชายที่ชื่อสิทธัตถะ ที่ก็ต้องบำเพ็ญเพียรด้วยความยากลำบากกว่าจะค้นพบสัจธรรม นำมาเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป กระทั่งในที่สุดก็ลาจากโลกนี้ไปในวัย 80 ปี ตามอายุขัยเฉลี่ยของสามัญชน ไม่ได้อยู่ยงคงความอมตะไปตลอดกาล
เนื้อหาในครึ่งหลังของเล่มกล่าวสรุปถึงหลักธรรมสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังเวชนียสถานแต่ละแห่ง รวมถึงวิธีสั่งสมบุญกุศลที่สามารถทำได้หลากหลาย เช่น การให้ทาน ถือศีล ฝึกขันติ (เช่น พยายามไม่ถือสาคนดูแลวิหารที่มาคอยตื๊อให้ทำบุญคราวละมากๆ) สวดมนต์ เจริญสมาธิ ทำความสะอาดพื้นที่รอบๆ สังเวชนียสถานแต่ละแห่ง หรือแค่เก็บขยะของตนและขยะอื่นๆ ที่พบเห็นไปทิ้งให้หมดก็ได้กุศลแล้ว
ท้ายเล่มได้มีการรวบรวมบทสวดมนต์ตามแบบพุทธวัชรญาณไว้หลายบท ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยในหมู่ผู้อ่านชาวไทยที่นับถือพุทธแบบเถรวาท แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการรู้ไว้ใช่ว่า ส่วนใครใคร่สวดมนต์ด้วยภาษาบาลีในแบบที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นบทสั้นหรือบทยาว ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด จะสวดแค่อะระหังสัมมา หรือว่าต่อด้วยอิติปิโสฯ ตามด้วยบทธัมมจักฯ จนจบ ก็ล้วนก่อให้เกิดปีติสุขและความอิ่มเอมใจไม่ต่างกัน
ข้อมูลหนังสือ
- จาริกในรอยบุญ : สิ่งควรรู้ก่อนไปเยือนสังเวชนียสถาน (แปลจาก Best Foot Forward: A Pilgrim’s Guide to the Sacred Sites of the Buddha)
- ผู้เขียน: ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ริมโปเช (Dzongsar Jamyang Khyentse Rinpoche)
- ผู้แปล: พินทุสร ติวุนานนท์
- สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา