“เมืองที่มีเสน่ห์ด้วยตรอกซอกซอยแคบ ๆ เรียงรายด้วยบ้านเรือนสีน้ำเงินฟ้า ทะเลสาบ เนินเขา ตลาดสด และวัดที่สามารถพบเจอได้ทุกหัวมุมถนน”
Lonely Planet ไกด์บุ๊กฉบับอินเดียเล่มหนาเตอะเกริ่นถึง บุนดี (Bundi) ไว้เช่นนั้น ตามด้วยข้อมูลของเมืองเล็กแห่งนี้สิริรวม 4 หน้าถ้วน ถือว่าน้อยนิดกระจิริดเมื่อเทียบกับข้อมูลนำเที่ยวในเมืองร่วมรัฐราชสถานอย่างชัยปุระ โยธปุระ อุทัยปุระ และจัยแซลแมร์ – ก๊วนเมืองสีชมพู เมืองสีฟ้า เมืองสีขาว และเมืองสีทอง ซึ่งเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หมายตาที่จะไปเยือน
ทิ้งให้ ‘บุนดี’ เมืองที่อุดมด้วยของดีกลายเป็นม้านอกสายตาอย่างน่าเสียดาย
บุนดีมีดีอะไรบ้าง ? บุนดีมีทุกอย่างที่หลายเมืองเด่นๆ ในรัฐราชสถานมี ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังและป้อมปราการบนเนินเขาที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Amber Fort แห่งชัยปุระ บ้านเรือนสีฟ้าครามก็หนาแน่นเป็นกลุ่มก้อนไม่ต่างจากเมืองสีฟ้าโยธปุระ ทะเลสาบใจกลางเมืองก็ยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุทัยปุระ โดยเฉพาะใครที่หลงใหลเสน่ห์น่าพิศวงของสถาปัตยกรรมแห่งบ่อน้ำขั้นบันได หรือ Baori (บาวรี) ยิ่งไม่ควรพลาดการมาเยือนบุนดี สถานที่ตั้งของบ่อน้ำราชินีแสนงามสง่า รวมถึงบ่อน้ำขั้นบันไดอีกหลายแห่งที่แทรกอยู่ทั่วมุมเมือง สมศักดิ์ศรีหนึ่งในเมืองโบราณที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 12
“มีเพียงไม่กี่แห่งในรัฐราชสถานที่ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยบรรยากาศอัศจรรย์ของศตวรรษที่ผ่านมา”
ไกด์บุ๊กเล่มเดิมย้ำถึงอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของบุนดีที่ไม่มีเมืองไหนในราชสถานสามารถลอกเลียนแบบได้
ใครกำลังมองหาจุดหมายที่สามารถเดินเล่นชมแดนภารตะแบบสบายๆ ไม่คลาคล่ำด้วยทัวร์ริสต์จากทั่วโลก แถมยังรวมทุกของดีสไตล์ราชปุตไว้ในที่เดียว เราเชื่อว่า ‘บุนดี’ คือคำตอบที่คุณกำลังมองหา
สำรวจพระราชวังโบราณที่เร้นกายในเทือกเขาอราวัลลี
ถึงจะเกริ่นว่าเป็นม้านอกสายตา ทว่าการเดินทางไปเมืองบุนดีไม่ได้ยากลำบากจนเกินไป ด้วยระยะทางที่ห่างจากเมืองชัยปุระไปทางใต้ราว 210 กิโลเมตร จึงสามารถนั่งรถโดยสารท้องถิ่นใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงก็เดินทางถึงบุนดี เมืองขนาดย่อมที่สามารถใช้สองเท้าเดินท่อมๆ ทัวร์เมืองได้ทั่วด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องเช่ารถหรือพึ่งคนขับรถรับจ้างให้เปลืองรูปี เพราะท่ารถโดยสารห่างจากเขตเมืองเก่าซึ่งเป็นเป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น
อีกทั้งเขตเมืองเก่าเองก็กินพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตร ตรอกซอกซอยเดินสะดวก ไม่ซับซ้อน สองข้างทางคึกคักด้วยตลาดร้านค้าและบ้านเรือนเพนต์สีสันลวดลายสดสวยแปลกตา ถูกใจคนชอบถ่ายภาพแนวสตรีทอาร์ตแน่นอน
จุดหมายแรกที่ควรค่าในการไปเยือนกันตั้งแต่หัววัน ได้แก่ พระราชวังบุนดี (Bundi Palace หรือ Garh Palace) พระราชวังเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของ Rao Raja Ratan Singh ผู้ปกครองบุนดีระหว่าง ค.ศ.1607 – 1631 และมีการก่อสร้างต่อเติมพระราชวังส่วนอื่นๆ ขึ้นในแต่ละรัชสมัยของผู้ปกครองแต่ละองค์ จนก่อร่างสร้างขึ้นเสร็จสมบูรณ์เป็นราชวังสีทรายตั้งตระหง่านบนเนินเขาลูกเดียวกับ ป้อมธาราการห์ (Taragarh Fort) แนวกำแพงที่พาดลดเลี้ยวเลื้อยไปตามแนวเทือกเขาอราวัลลีที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล
เช่นเดียวกับพระราชวังบนเนินเขาทั้งหลายในรัฐราชสถาน ที่หลังจากซื้อบัตรผ่านประตู (บัตรเข้าชมโบราณสถานในบุนดีซื้อทีเดียวสามารถเข้าชมได้ 3 แห่ง ได้แก่ Bundi Palace, Taragarh Fort และ Kshar Bagh) ผู้เยี่ยมชมจำเป็นต้องออกแรงเดินไต่เนินขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าจะถึง Hathi Gate ประตูวังที่โดดเด่นด้วยรูปสลักช้างงดงามอลังการ
‘ประตูช้าง’ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสัมผัสบรรยากาศของวังโบราณที่ครั้งหนึ่ง รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) นักเขียนชาวอังกฤษเจ้าของงานประพันธ์อมตะ The Jungle Book หรือเมาคลีลูกหมาป่า ผู้เคยพำนักที่เมืองบุนดี เคยพรรณนาถึงความงามวิจิตรของพระราชวังบุนดีเอาไว้ว่า สถานที่แห่งนี้หาใช่ฝีมือมนุษย์สร้างไม่ หากเป็นบรรดาภูตวิเศษต่างหากที่ช่วยกันรังสรรค์ราชวังแห่งนี้ขึ้นมา
เมื่อเดินผ่านประตูช้างเข้าไปจะพบกับสนามหญ้าเขียวขจีในเขตวัง เริ่มต้นสำรวจความรุ่งเรืองในอดีตโดยเลี้ยวขวาแล้วเดินขึ้นบันไดสู่ชั้นสอง เพื่อชมความงามของ Ratan Daulat หรือ Diwan-e-Aam ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสถานะเป็นท้องพระโรงที่ตั้งของบัลลังก์พิธีราชาภิเษกทำจากหินอ่อนสีขาวทั้งหลังที่ยังคงความงามอย่างสมบูรณ์
จากนั้นจะเข้าสู่พื้นที่ของ Chhatra Mahal วังที่สร้างขึ้นเพิ่มเติมในรัชสมัยของ Rao Raja Shatrushal Singh ในปี ค.ศ. 1644 บริเวณนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามหลายแห่ง แต่น่าเสียดายที่หลุดลอกไปตามกาลเวลาหลายจุด เช่นเดียวกับภาพวาดบนฝาผนังใน Phool Mahal หรือพระราชวังดอกไม้ ที่มีระเบียงหน้าต่างฉลุลายโปร่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ทะเลสาบ Phool Sagar ได้อย่างชัดเจน
อีกหนึ่งไฮไลท์ห้ามพลาด ได้แก่ Badal Mahal หรือพระราชวังก้อนเมฆ ที่โดดเด่นด้วยภาพเขียนฝาผนังซึ่งยังคงความงดงามและค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อแหงนคอตั้งบ่าขึ้นมองบนเพดานจะพบศิลปะแบบจีนผสมผสานอย่างลงตัว
ปิดท้ายกันที่ Chitra Sala พระราชวังที่มีสวนสวยช่วยเพิ่มสีสันให้ฉากหลังของพระราชวังสีทรายดูมีชีวิตชีวาขึ้น จิตรศาลาโดดเด่นด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบทิศที่เลือกใช้สีเทอร์ควอยส์ แดง และดำ บันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งจากตำนานของเทพยดาและวิถีชีวิตในรั้วในวังไว้อย่างละเอียด
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าควรเผื่อเวลามาชมพระราชวังบุนดีตั้งแต่หัววัน เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดให้คนชอบประวัติศาสตร์ได้ละเลียดเวลาศึกษาร่องรอยอดีตได้นานๆ และคนที่ชอบถ่ายภาพก็เพลินกับการรัวชัตเตอร์แบบไม่หยุดกับฉากหลังแสนมลังเมลืองของวังเก่าแก่ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนไม่มาก จึงแทบจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวทำให้ไม่ต้องเร่งรีบแต่อย่างใด
เสร็จสิ้นการชมพระราชวังบุนดีแล้ว ใครชอบเดินไฮกิ้งเบาๆ แนะนำให้ลัดเลาะไปตามแนวกำแพงวังเพื่อเยี่ยมชม ป้อมธาราการห์ (Taragarh Fort) ที่อยู่เหนือพระราชวังไปอีกราว 2 กิโลเมตร เส้นทางไม่ลำบาก แค่ต้องระมัดระวังฝูงลิงเจ้าถิ่น แนะนำว่าไม่ควรถือของกินหรือข้าวของไว้ในมือ และอาจหาไม้มาถือติดมือไว้ขณะเดิน พร้อมส่งเสียงดังเป็นพักๆ กำราบลิงไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
ป้อมธาราการห์ เป็นป้อมปราการเก่าแก่ที่สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 14 เมื่อขึ้นมาถึงบนนี้แน่นอนว่าจะได้เห็นทิวทัศน์เมืองบุนดีกว้างไกลสุดสายตา และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของ Rani Mahal หรือพระราชวังราณี ลักษณะคล้ายแมนชั่นสองชั้นขนาดกว้างขวางที่แต่ละโถงแต่ละห้องเชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด บวกกับการที่ถูกทิ้งไว้ให้รกร้างจึงแนะนำว่าไม่ควรไปเที่ยวที่นี่ตามลำพัง เพราะเป็นบริเวณที่ค่อนข้างเปลี่ยว วังเวง และอาจเสี่ยงอันตรายได้ แต่ถ้าไปกันหลายคนก็ไม่อยากให้พลาดการได้เยี่ยมชมบรรยากาศที่อยู่อาศัยของหญิงสาวชาววังในครั้งโบราณ ที่แอบซ่อนอยู่ในอ้อมกอดของป้อมปราการแห่งนี้
ไม่ไกลจากป้อมธาราการห์มีบ่อน้ำขั้นบันไดร้างขนาดเล็กหนึ่งแห่งที่หากใครสนใจสามารถถ่ายภาพสวยๆ เก็บไว้ได้ และในเส้นทางเดียวกันนี้ยังมี วัดพระศิวะ ให้แวะไปชมอีกหนึ่งความสวยงามของศิลปะแห่งเมืองบุนดี ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงวิหารแห่งนี้ก็น่าจะใกล้ถึงเวลาอาทิตย์อัสดงลับเหลี่ยมเขาอราวัลลี เหมาะแก่การบันทึกภาพความงามเก็บไว้เป็นความทรงจำ (แต่ควรเผื่อเวลาเดินกลับลงไปให้ทันก่อนปิดประตูวังเวลา 18.00 น. ขากลับจะใช้เวลาเดินไม่เกินครึ่งชั่วโมง)
ตระเวนชม ‘บ่อน้ำขั้นบันได’ ที่แทรกตัวอยู่ทั่วเมือง
ชิมลางกันที่บ่อน้ำขั้นบันไดร้างในเขตวังกันไปแล้ว ถึงเวลาสัมผัสความงามของ ‘บาวรี’ ทั่วเมืองบุนดีกันต่อ เพราะใน Lonely Planet บันทึกไว้ว่าเมืองเล็กแห่งนี้เคยมีบ่อน้ำขั้นบันไดไว้ใช้งานมากถึง 60 แห่ง!
แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน บาวรีทุกแห่งไม่สามารถใช้งานตามฟังก์ชั่นเดิมอย่างการนำน้ำใต้ดินมาใช้งานได้อีกต่อไป เพราะทุกบาวรีเต็มไปด้วยขยะอุดตันและน้ำเน่าเสีย บ่อน้ำขั้นบันไดจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็นโบราณสถานสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาเยี่ยมชมภูมิปัญญาของชาวอินเดียโบราณแทน
พิกัดแรก มุ่งหน้าเดินออกนอกเขตกำแพงเมืองไปทางใต้ สัมผัสความงดงามของราชินีแห่งบ่อน้ำขั้นบันไดในเมืองบุนดีอย่าง Raniji-Ki-Baori ที่มีความหมายตรงตัวว่า บาวรีของราณี (หรือราชินี) เพราะถูกสร้างขึ้นตามบัญชาของ Rani Nathawat มเหสีของ Rao Raja Anirudh Singh โดยบาวรีแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยที่ลูกชายของพระนางปกครองเมืองในปี ค.ศ. 1757
ความงดงามราณีบาวรีคือนิยามของคำว่า สวยชวนตะลึง ขนานแท้ เพราะบาวรีแห่งนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่ยักษ์อลังการอย่าง Chand Baori (จันทบาวรี) บ่อน้ำขั้นบันไดชื่อดังในหมู่บ้านอภาเนรีของราชสถาน แต่ราณีบาวรีเป็นบ่อน้ำไซส์กำลังดีที่แทรกตัวอย่างกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งของตลาด ร้านค้า และบ้านเรือนของชาวเมืองบุนดี ด้านนอกของบาวรีล้อมรอบด้วยสวนขนาดเล็กร่มรื่น ราวกับเป็นอินโทรเบาๆ ก่อนจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยซุ้มประตู Toran Gate ประติมากรรมของช่างฝีมือโบราณที่สลักเสลาศิลาให้มีลวดลายอ่อนช้อย หรูหรา และประณีตงดงาม ประทับด้วยรูปสลักช้าง ซิกเนเจอร์ของเมืองบุนดีที่มักพบเห็นในทุกโบราณสถานสำคัญๆ
หายตะลึงแล้วก็ค่อยๆ เดินลงบันไดนับร้อยขั้นลงไปอย่างไม่เร่งร้อน ไล่สายตาสำรวจฝีมือของช่างสลักในยุคเก่าก่อนที่ใช้ศรัทธาในการประดิดประดอยรูปสลักของเทพและเทวีฮินดูหลายองค์ ทั้งพระพิฆเนศวร พระแม่สรัสวตี พระศิวะ ฯลฯ ให้ปรากฏอยู่บนผืนกำแพงที่ทอดลงไปสู่บ่อน้ำความลึกกว่า 46 เมตร
ความสวยลึกลับชวนค้นหาและงดงามในแบบที่ต้องพิศชมนานๆ ของราณีบาวรี น่าจะสะกดให้ใครหลายคนใช้เวลาอยู่ที่บ่อน้ำโบราณแห่งนี้นานเป็นพิเศษ พลางจินตนาการถึงวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อสองศตวรรษที่แล้วว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร และมีศักดิ์ศรีเป็นถึงขั้นบ่อน้ำราชินี ฉะนั้นแล้วสามัญชนมีสิทธิ์หาบน้ำไปใช้ได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วมีระบบทดน้ำที่อำนวยความสะดวกมากกว่าที่ดวงตาของมนุษย์ยุคปัจจุบันมองเห็น ประติมากรรมเทพเทวีมากมายพลอยทำให้ที่นี่มีสถานะเป็นวัดสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาด้วยรึเปล่า ฯลฯ
หลากหลายคำถามย่อมเกิดขึ้นมากมาย เมื่อบรรยากาศแห่งความขรึมขลังเป็นใจ
จากราณีบาวรีสามารถเดินเท้าไปสู่อีกหนึ่งบ่อน้ำขั้นบันไดขึ้นชื่อของเมืองบุนดีอย่าง Dhabhai Kund บ่อน้ำขั้นบันไดที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีลักษณะคล้ายพีระมิดกลับหัว ด้วยองศาของบันไดที่ทอดลงไปสู่ก้นบ่อซึ่งออกแบบตามหลักเรขาคณิตที่ผ่านการคิดคำนวณมาเป็นอย่างดี Dhabhai Kund มีอีกสมญาว่า บ่อเสือคำราม เพราะในอดีตเคยมีเสือตกลงไปในบ่อน้ำแห่งนี้และเอาแต่ส่งเสียงร้องคำรามกึกก้อง เพราะไม่มีใครสามารถช่วยมันขึ้นมาได้
ความเก๋อีกประการของบุนดี คือ มีบ่อน้ำขั้นบันไดแฝด ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าใกล้ประตูเมือง Chauhan คู่แฝดนี้มีชื่อว่า Nagar Sagar Kund แทรกตัวอยู่ท่ามกลางตลาดอันขวักไขว่ นาการ์กับซาการ์ถูกแยกจากกันด้วยถนนเส้นเล็กๆ ดีกรีความลึกของบ่อชวนให้หวาดเสียวเช่นเดียวกับทุกบาวรี อดนึกไม่ได้ว่าคนโบราณต้องลำบากลำบนแค่ไหนกว่าจะมีน้ำไว้กินใช้บริโภค โดยเฉพาะในรัฐราชสถานที่ตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายอันร้อนแล้ง บาวรีจึงแทบจะเป็นหัวใจของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่ก็ว่าได้
ถ้ายังอยากสำรวจพิกัดอื่น ๆ ของบาวรี สามารถเดินซอกแซกไปตามถนนหนทางในเมืองเพื่อตามหาบ่อน้ำขั้นบันไดลับได้อีกหลายแห่ง เช่น Nahar Dhuns Ki Baori ที่อยู่ไม่ไกลจากบ่อเสือคำราม บริเวณปากทางเข้าทำหน้าที่เป็นศาสนสถานไปในตัว มีรูปเคารพพระศิวะ พระพรหมณ์ พระพิฆเนศวร ฯลฯ ให้ผู้ที่ศรัทธาได้บูชา บาวรีบางแห่งที่แทรกตัวอยู่ในชุมชนมักล้อมด้วยลูกกรงและล็อกกุญแจไว้ ถ้าสนใจเข้าไปเยี่ยมชมจริง ๆ สามารถเมียงมองไปตามร้านขายของชำละแวกนั้น อาจมีคุณลุงผู้คุมกุญแจใจดีอาสาเปิดประตูให้เข้าไปถ่ายรูปได้แบบไม่หวง
เก็บตกที่กิน ที่เที่ยว และช้อปของฝากที่มีชิ้นเดียวในโลก
บุนดียังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าไปเยี่ยมชมอีกหลายแห่ง อาทิ 84 Pillared Cenotaph อนุสรณ์สถานเก่าแก่ที่มหาราชาอนิรุธ (Anurudh) ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1683 เพื่อรำลึกถึงน้องชายบุญธรรม มีลักษณะเด่นเป็นหลังคาทรงฉัตร โครงสร้างหลังประกอบด้วยเสา 84 ต้นสมชื่อ ตรงกลางอาคารเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์สำหรับเคารพบูชา สามารถเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์เมืองบุนดีได้กว้างไกลตา
ใครที่ชอบเสพงานศิลปะน่าจะต้องใช้เวลาอยู่ที่อนุสรณ์สถาน 84 เสานานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมที่สลักเสลาประดับประดาในทุกรายละเอียด และภาพเขียนสีบนเพดานที่โดดเด่นด้วยลวดลายปลาและหญิงสาว รายล้อมด้วยกิจวัตรต่าง ๆ ของผู้คนในสมัยนั้น เช่น ภาพคนเล่นมวยปล้ำ นักดนตรีชายและหญิงกำลังดีดวีณา (เครื่องดนตรีอินเดีย) ฯลฯ หากเพ่งมองในรายละเอียดจะรู้สึกอิ่มเอมกับอนุสรณ์สถานแห่งนี้ดียิ่งขึ้น
ในวันที่อากาศดีเหมาะแก่การเดินชมนกชมไม้ บุนดีมีทะเลสาบ 2 แห่งให้เลือกชิลตามอัธยาศัย แห่งแรกคือ Nawal Sagar ที่อยู่ใจกลางย่านเมืองเก่า สามารถเดินเล่นรอบ ๆ ทะเลสาบที่สะท้อนภาพของบ้านเรือนและพระราชวังบุนดีไว้บนผืนน้ำที่มีบรรดานกน้ำบินหากินอยู่โดยรอบ
จุดหมายอีกแห่ง ได้แก่ พระราชวังฤดูร้อน Sukh Mahal ริมทะเลสาบ Jait Sagar สถานที่ซึ่งรัดยาร์ด คิปลิง เคยมาพักที่พระราชวังแห่งนี้และเขียนบางส่วนของวรรณกรรมเรื่อง Kim ขึ้นที่นี่ ซึ่งในอดีตเคยรายล้อมด้วยแมกไม้ดอกไม้เขียวขจี มีฉากหลังเป็นภูเขาและทะเลสาบที่อุดมไปด้วยบัวนานาชนิด ในขณะที่ปัจจุบัน ‘พระราชวังแห่งความสุข’ ถูกทิ้งให้รกร้าง ห้องหับถูกล็อกกุญแจ เยี่ยมชมได้เฉพาะบริเวณระเบียงโดยรอบ บัวในทะเลสาบก็เน่าตายเปลี่ยนผืนน้ำเป็นสีดำ การไปเยี่ยมเยือนที่นี่อาจจะไม่ได้สร้างความประทับใจมากนัก เพียงแค่ไปดูให้รู้ให้เห็นว่าหากขาดการดูแลใส่ใจ สถานที่แห่งความสุขก็มิอาจสร้างความสุขใจได้สมดังชื่อที่ตั้งไว้
เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะทุกอณูอย่างบุนดีจนครบ ถึงเวลาหาซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไทย ซึ่งตัวแทนที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของบุนดีได้เป็นอย่างดี ก็คือ ภาพวาด Miniature เป็นภาพเขียนสีที่ถอดแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่เราเห็นในวัง โดยบรรดาศิลปินในบุนดีนำเอกลักษณ์ของภาพเขียนสีดังกล่าวมาบันทึกไว้บนโปสการ์ดมือสอง ที่เมื่อนำมาวาดรูปทวยเทพ สรรพสัตว์ สารพัดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นแล้วระบายสีทับลงไป เท่านี้ก็เป็นของฝากที่ผู้รับต้องตาลุกวาว
และยิ่งพิเศษกว่านั้นหากคุณอยากมีภาพเหมือนของตัวเอง คนที่คุณรัก รวมถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักในรูปแบบ Miniature สามารถใช้บริการได้ที่ Yug Art สตูดิโอของ ยุก ปราสาท นักวาดเขียนยืนหนึ่งแห่งบุนดีที่เป็นต้นตำรับงานวาดภาพเหมือนตามสั่งเจ้าแรกที่ให้บริการมานานกว่า 20 ปี คุณสามารถเจรจากับยุกได้ว่าอยากให้ภาพเหมือนในจินตนาการออกมามีฉากหลังแบบไหน ทำท่าทางอะไร แต่งตัวอย่างไร ฯลฯ หรือจะให้ยุกเติมแต่งองค์ประกอบในสไตล์ภารตะลงในภาพวาดก็ได้ รับประกันความประทับใจ
Yug Art : ตั้งอยู่ใกล้กับ Surang Gate ไม่ไกลจากทางเข้าชมพระราชวังบุนดี
IG : yugartist
มาถึงบุนดีทั้งที ถ้าไม่ได้ดื่มชามาซาลาที่ Krishna’s Chai ก็เหมือนมาไม่ถึง สำหรับร้านชาขวัญใจนักท่องเที่ยวเจ้านี้ ไม่จำเป็นต้องระบุพิกัดก็รับรองว่าต้องหาเจอ เพราะร้านตั้งอยู่ระหว่างทางเดินไปยังพระราชวังบุนดี และมีลูกค้านั่งจิบชาอยู่ในร้านทั้งวันทั้งคืน หม้อต้มชาของคุณลุงกฤษณะจึงวนเวียนอยู่บนเตาไฟมาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 และยังเข้มข้นด้วยสารพันเครื่องเทศทั้งขิง กระวาน กานพลู พริกไทย และอบเชยในปริมาณถึงเครื่อง ชาทุกแก้วต้มใหม่หม้อต่อหม้อ พิถิพิถันเสียจนสัมผัสได้ถึงรสชาติเข้มข้นเผ็ดร้อน แตกต่างจากชามาซาลาเจ้าอื่นจนสัมผัสได้
ปิดท้ายด้วยพิกัดสำหรับฝากท้องให้อิ่มในทุกมื้อ แนะนำห้องอาหาร The Blue Door บนชั้นดาดฟ้าของ Zostel Bundi ซึ่งเสิร์ฟทั้งอาหารอินเดียและอาหารนานาชาติในราคาย่อมเยา รสชาติถูกปากคนไทยแน่นอน เหมาะสำหรับคนที่อยากเปิดใจทำความรู้จักอาหารอินเดีย หรือถ้ากินอาหารอินเดียจนเบื่อแล้วอยากเบรกรสชาติด้วยแซนด์วิช พิซซ่า หรือจะลองม็อกเทลรสหมาก! มาลองได้ที่อีกหนึ่งของดีประจำบุนดีแห่งนี้ได้เลย
FB : TBD – The Blue Door
* สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย บินตรงสู่ชัยปุระ ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com
เตรียมตัวก่อนไปบุนดี
- ช่วงที่เหมาะที่สุดในการไปเที่ยวบุนดี คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิราว 10-25 องศาเซลเซียส
- หลีกเลี่ยงการไปบุนดีในฤดูร้อน (เมษายน - มิถุนายน) เพราะอากาศร้อนจัด อุณหภูมิอาจพุ่งสูงแตะ 50 องศาเซลเซียส
- จากชัยปุระสามารถเดินทางต่อไปยังบุนดีได้ทั้งทางรถไฟและรถโดยสาร ระยะทางราว 210 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
- ลองหาโอกาสเข้าพักในโรงแรมที่ดัดแปลงจากฮาเวลีเก่า เพื่อเข้าถึงอารมณ์ของเมืองได้ดียิ่งขึ้น
- กิจกรรมยามว่างของชาวเมือง คือ การเล่นว่าว มีร้านขายว่าวอยู่ทุกหัวมุมเมือง สามารถซื้อหาและฝึกเล่นว่าวได้ตามชอบใจ
- การเดินทางไปอินเดียสามารถทำ VISA ออนไลน์ได้ภายใน 72 ชั่วโมงในราคาหลักร้อย (ประมาณ 800 กว่าบาท)
- เดินทางสะดวกที่สุดด้วยสายการบินแอร์เอเชียที่บินตรงสู่อินเดียมากที่สุดถึง 9 เมือง ถึงที่หมายตรงเวลาในราคาสุดคุ้ม