หากลองเดินลัดเลาะในนครโฮจิมินห์ เมืองหลวงของเวียดนาม
สิ่งที่เราพบเจอจำนวนมากไม่แพ้ 7-11 ในกรุงเทพฯ คือ คาเฟ่ ซึ่งผุดขึ้นจำนวนมากราวกับดอกเห็ด โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
common ชวนไปสำรวจวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวเวียดนามที่เข้มข้นไม่แพ้ชาติไหน
ตั้งแต่เจเนเรชั่นคุณปู่คุณย่า มาจนถึงหนุ่มสาววัยรุ่น
วัฒนธรรมนั่งคาเฟ่ วิถีใหม่ของวัยรุ่นเวียดนาม
“จริงๆ แล้ว คนเวียดนามเริ่มกินกาแฟมากันนานมากแล้ว กาแฟเริ่มเข้ามาตั้งแต่ตอนที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส”
ตวน เล นักข่าวหนุ่มชาวเวียดนามวัยสามสิบปี เล่าให้ฟัง เมื่อเราถามว่าทำไมคนเวียดนามชอบดื่มกาแฟ
ตวนสรุปให้ฟังว่า จริงๆ แล้วเรื่องของกาแฟไม่เคยหายไปจากวิถีของคนเวียดนาม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบกาแฟ วิธีการดื่มและการชง รวมทั้งดีไซน์ของร้านที่ผสมผสานความเป็นตะวันตกและร่วมสมัยมากขึ้น
“คนสมัยก่อนชอบดื่มกาแฟดำใส่นมข้นหวานแบบที่เห็นชงขายกันตามถนน แต่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นชอบดื่มกาแฟแบบใส่นมสดกันมากกว่า และนั่งดื่มกันในคาเฟ่ที่ตกแต่งสวยๆ”
จากการใช้ชีวิตและสำรวจร้านกาแฟทั่วเมืองโฮจิมินห์ สังเกตเห็นว่า คนเวียดนามมักนั่งดื่มกาแฟกันตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่และวัยชรา
หากเป็นช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ บ่ายแก่ๆ ตามร้านกาแฟขนาดเล็กและใหญ่ จะเต็มไปด้วยวัยรุ่นออกมานั่งจิบกาแฟกับกลุ่มเพื่อน
แม้ช่วงเย็นย่ำหัวค่ำ วัยรุ่นหลายคนแต่งตัวจัดราวกับนัดเพื่อนไปเที่ยวผับบาร์ กลับมาสังสรรค์กันตามคาเฟ่ จนถึงดึกดื่นเกือบเที่ยงคืน และสั่งกาแฟมากกว่าแอลกอฮอล์
“ในเมืองไม่ค่อยมีผับบาร์มากเท่าไร บางทีไม่รู้จะไปเจอเพื่อนที่ไหน ก็นัดเจอกันที่ร้านกาแฟ”
หนุ่มนักดื่ม (กาแฟ) คนหนึ่งที่มานั่งรอเพื่อน เล่าให้เราฟังใน กงคาเฟ่ (Cong Caphe) ร้านกาแฟชื่อดังในหมู่วัยรุ่นที่จำลองบรรยากาศในธีมทหารเวียดกงสมัยโบราณ ที่นี่เปิดให้บริการตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึงเกือบราวๆ เที่ยงคืน
“เดี๋ยวนี้ ตามคาเฟ่สมัยใหม่ ดูเป็นมากกว่าที่นั่งจิบคาเฟอีน บางทีก็มีจัดอีเวนต์เล็กๆ เช่น จัดเป็น language cafe แลกเปลี่ยนภาษาอังกฤษกัน”
บู หญิงสาวชาวเวียดนามที่ภาษาอังกฤษแข็งแรงมาก เล่าให้ฟังระหว่างนั่งคุยกับเพื่อนๆ ในร้าน Trung Nguyen Legend หนึ่งในร้านกาแฟแบรนด์ดังสัญชาติเวียดนามที่มีสาขาในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อเมริกา
เวียดนามคอกาแฟไม่แพ้ใครในโลก
เวียดนามเริ่มต้นปลูกกาแฟตั้งแต่ราวๆ ปี 1857 โดยฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมในขณะนั้นเป็นผู้นำเข้ามา และตอนนี้เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกกาแฟอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของบราซิล
กาแฟของเวียดนามส่วนใหญ่เน้นไปทางสายพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งมีคาเฟอีนสูง และมาพร้อมรสชาติเข้มข้น
เช่นเดียวกับกาแฟหลายเมนูในร้าน Trung Nguyen คาเฟ่แบรนด์หรูของเวียดนามคล้ายสตาร์บัคส์ ที่มักอยู่ตามตึกสำนักงาน สถานที่ราชการ ย่านนักท่องเที่ยว และตกแต่งร้านในดีไซน์มินิมอล ต้อนรับคนทำงานหรือหนุ่มสาวออฟฟิศ
ในขณะที่ร้านกาแฟ Highlands Coffee มีสาขาอยู่แทบทุกมุมและมักคึกคักไปด้วยนักเรียนและครอบครัว เพราะกาแฟมีราคาที่ย่อมเยากว่า และมีเมนูให้เลือกหลากหลายกว่า
“เราชอบกาแฟของที่นี่มากกว่าสตาบัคส์ (หัวเราะ) มันเข้มข้น อร่อย แรง คุณภาพดี ที่สำคัญคือ ราคาถูกกว่าในปริมาณที่เท่ากัน”
คุณสมบัติของกาแฟเวียดนามเหล่านี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กาแฟแบรนด์นางเงือก ไม่สามารถตีตลาดที่โฮจิมินห์ได้ และหาดื่มได้ยากในเมืองโฮจิมินห์ เพราะมีสาขาน้อยกว่าร้านกาแฟเฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Highlands Coffee, Phúc Long และ Trung Nguyen Legend
Cheo Leo ร้านกาแฟโบราณที่ได้ใจทั้งคนรุ่นเก่าและวัยรุ่นยุคใหม่
นอกจากคาเฟ่ยุคใหม่ที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน
ในเมืองโฮจิมินห์ยังมีร้านกาแฟอีกแห่งหนึ่งที่โต๊ะไม่เคยว่างเช่นกัน
นั่นคือ Cheo Leo ร้านกาแฟเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี ที่ยังคงชงกาแฟสไตล์โบราณ โดยใช้หม้อต้มแบบดั้งเดิม ใส่ผงกาแฟลงในถุงชง แล้วใส่น้ำร้อนให้ไหลผ่านก้นถุงลงไปในถ้วยกาแฟ
หากใครได้นั่งใกล้ครัว จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นกาแฟที่ลอยตลบหอมอบอวลแตะจมูก และหากได้ลองจิบกาแฟสักคำ จะรู้สึกได้ถึงรสชาติสุดเข้มข้น และความหวานจับใจของนมข้น
แต่สิ่งที่ทำให้ Cheo Leo อยู่ยืนยงชงกาแฟเสิร์ฟทั้งคนรุ่นเก่าและเอาใจคนรุ่นใหม่ให้นั่งเต็มร้านได้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของรสชาติ
แต่เป็นบริการที่มาพร้อมความยิ้มแย้มแจ่มใสของเจ้าของร้าน และยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่สนใจเข้าไปดูการชงกาแฟโบราณถึงก้นครัว
สำหรับคนที่มีแผนจะไปโฮจิมินห์เร็วๆ นี้ นอกจากเที่ยวชมเมือง มิวเซียม การตะลุยเที่ยวคาเฟ่
พร้อมจิบกาแฟและพูดคุยกับคอกาแฟชาวเวียดนาม ก็ดูเป็นแพลนที่ไม่เลวทีเดียว.
อ้างอิง:
- Wikipedia.Coffee Production in Vietnam.https://en.wikipedia.org/wiki/Coffee_production_in_Vietnam
- Nippon.Imports of Vietnamese Coffee Cutting into Brazil.http://bit.ly/2lV2vIC