©ulture

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562

แสตมป์ ชุด บรมราชาภิเษก ๒๕๖๒
แสตมป์ ชุด บรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

ชวนให้นึกถึงหนังสือ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และ เครื่องสูง ที่เรียบเรียงโดย ยุพร แสงทักษิณ ขององค์การค้าของคุรุสภา

ที่ได้ตอบคำถามง่ายๆ แต่น่าสนใจว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากไหน?

ยุพร แสงทักษิณ เล่าว่า ประเทศไทยแม้ไม่ได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศอินเดียโดยตรง แต่ก็ได้รับผ่านประเทศเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลเหนือไทยในอดีต เช่น ชวา มอญ เขมร

และวัฒนธรรมอินเดียบางด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมชั้นสูงที่เกี่ยวกับกษัตริย์และราชสำนักนั้นได้ฝังรากลึกในสังคมไทยมาจนถึงวันนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 5
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 5
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6

ด้วยคติทางศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือ “เทพ” ที่เสด็จจากสวรรค์มาปกป้องคุ้มครองและมอบความสุขให้แก่มวลมนุษย์ ทำให้เกิดลัทธิเทวราชขึ้น

พระราชาหรือกษัตริย์จึงเป็นสมมติเทพ ทรงดำรงอยู่ในสถานภาพที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์เหนือผู้อื่นใด และเพื่อขับเน้นสถานะดังกล่าว จึงได้เกิดพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกษัตริย์มากมาย

หนึ่งในนั้นได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกอบขึ้นในวโรกาสที่กษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

พระองค์เจ้าธานีนิวัต
พระองค์เจ้าธานีนิวัต

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัต) ได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือ เรื่องบรมราชาภิเษก ตอนหนึ่ง มีใจความว่า…

แต่โบราณมา หลังจากที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเป็นแต่เพียงผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปก่อนจนกว่าจะได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับพิธีราชสูยะ (พิธีแสดงความเป็นราชาธิราช) ของอินเดียมาก เพียงแต่ของไทยจะมีรายละเอียดและขั้นตอนมากกว่า เพราะเราได้นำเอาทั้งคติความเชื่อและพิธีการในศาสนาพราหมณ์ พุทธ และคติความเชื่อดั้งเดิมของไทยมาผสมผสานกัน จนมีลักษณะเฉพาะกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกของไทย

เชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 18 มีปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ซึ่งบันทึกถึงการอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย ดังข้อความที่ว่า

“…พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว ให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหาย เรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์…”

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏว่ามีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีก ดังหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“…พระยาลือไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยได้ราชาภิเษก อันฝูงท้าวพระยาทั้งหลาย อันเป็นมิตรสหาย อันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวายของฝากหมากปลามาไหว้ อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยา จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช…”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7

หลังจากนั้นได้มีการสืบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรื่อยมาสู่กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จะเป็นงานที่จัดขึ้นในรอบ 69 ปี หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9

ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน จะเป็นที่ประจักษ์ต่อพสกนิกรไทยกว่า 66 ล้านคน

และเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตที่คนไทยมิอาจลืม.

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10

อ้างอิง:

  • ยุพร แสงทักษิณ. เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง. องค์การค้าของคุรุสภา, 2539