“ศิลปะคืออะไร?”
เป็นคำถามสั้นๆ ที่ตอบไม่ง่าย
เพราะแม้แต่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปราชญ์ศิลปินผู้วางรากฐานศิลปะไทยสมัยใหม่ และอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังเคยเอ่ยว่า
“ศิลปะคืออะไรนั้นไม่ใช่ของง่ายที่จะอธิบาย…”
อาจารย์ศิลป์เปรียบเปรยว่า การพูดถึงศิลปะนั้นไม่ต่างกับการพูดถึงความลึกลับของจักรวาล แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็ได้เมตตาเขียนอธิบายความหมายของศิลปะไว้ในบทความ อะไรคือศิลปะ ได้อย่างเห็นภาพ
“คำว่า ‘ศิลปะ’ หมายความถึง การงานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิดเห็น เช่น ตัดเสื้อ สร้างเครื่องเรือน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น”
นี่คือความหมายของศิลปะอย่างกว้าง ที่น่าจะให้คำตอบกับผู้ที่สงสัยในเบื้องต้น
แต่ถ้าลงในรายละเอียดอีกสักหน่อย เคยสงสัยไหมว่า ศิลปะคืออะไร มีไปทำไม และมีไปเพื่ออะไร?
ศิลปะคือการพวยพุ่ง แทรกซึม และสัญชาตญาณ
อาจารย์ศิลป์ได้อธิบายถึงความหมายของศิลปะอย่างชี้ชัด โดยลงน้ำหนักที่ วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) ว่านอกจากต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิดแล้ว “ยังต้องมีการพวยพุ่งแห่งปัญญาและจิตออกมาด้วย”
หรือ Intellectual and Spiritual Emanation ในภาษาอังกฤษ ซึ่ง พระยาอนุมานราชธน ผู้แปลข้อเขียนของอาจารย์ศิลป์ ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในวงเล็บว่า
ถ้ากล่าวเป็นภาษาสามัญ คือ ต้องมีใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ เพื่อให้เกิดปัญญาความคิดและความรู้สึกทางใจให้พวยพุ่งออกมาและแทรกซึมเข้าไปในสิ่งนั้น
เพราะอะไรมนุษย์ถึงสร้างงานศิลปะ?
อาจารย์ศิลป์อธิบายความข้อนี้ว่าเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณ นั่นคือการรัก พอใจ และนิยมในสิ่งสวยงามที่มีมาแต่กำเนิด
“ความจริงคนเราไม่ว่าคนเช่นไร ย่อมยินดีเข้าใกล้สิ่งที่เป็นความงาม ความไพเราะ และรู้สึกขยะแขยงออกห่างจากสิ่งที่เป็นความน่าเกลียด…”
โดยยกตัวอย่าง…
“ถ้าเราจำเป็นจะต้องเลือกเอาสิ่งใดในชนิดเดียวกัน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก จะเป็นปากกาหมึกซึม เสื้อผ้า รถยนต์ ขวดน้ำหอม หรือเรือนที่อยู่ก็ตาม เราก็พยายามเลือกเอาสิ่งเหล่านั้นแต่ที่เห็นว่างามที่สุดในพวกของมัน เพราะเส้นและสี (คือลวดลายและสีสัน) ที่งามสมบูรณ์ กระทำให้บันเทิงใจอันแท้จริง
“ความรู้สึกบันเทิงใจนี้เป็นสัญชาตญาณมีมาแต่กำเนิด เรียกว่า ความรู้สึกทางสุนทรียภาพ”
ทว่าความรู้สึกทางสุนทรีภาพ แม้จะมีอยู่ในคนทุกคน แต่อาจารย์ศิลป์ก็ชี้ว่า อาจประณีตและหยาบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ ความรู้รสแห่งศิลปะ (Artistic Taste) หรือการเข้าถึงความงาม อันเกิดจากการศึกษาอบรม การคลี่คลายทางปัญญาและความคิดของแต่ละคน ที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าความรู้เชิงเทคนิค
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน…แล้วจึงเรียนศิลปะ”
อาจารย์ศิลป์จะพูดประโยคนี้กับนักเรียนศิลปะที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรในวันแรก ด้วยเหตุผลว่า เพราะศิลปะไม่ว่าจะเป็นภาพวาด บทเพลง บทกวี ภาพถ่าย หรือแขนงใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่รองรับและแสดงออกถึงความคิดของมนุษย์
และเมื่อเป็นเช่นนั้น คนสร้างงานศิลปะจะปฏิเสธที่จะไม่เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร
“ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ… แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่ อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือ ฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม นายต้องค้นให้พบ…”
ศิลปะมีไว้ทำไม และมีไปเพื่ออะไร?
หากที่ผ่านมาคือการพูดถึงนิยามของศิลปะ ข้อสงสัยนี้กำลังพุ่งตรงไปที่คำถามใหญ่ เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของศิลปะ ว่ามีไปเพื่ออะไร?
อาจารย์ศิลป์ตอบกระชับแต่ได้ใจความว่า “ศิลปะมีไว้เพื่อให้เป็นที่ยินดีและขัดเกลาความคิดจิตใจให้ผ่องใส”
และไม่ว่างานศิลปะนั้นจะเป็นประเภทใด ล้วนมุ่งตรงไปที่จุดหมายนั้นเสมอ
“ในงานศิลปะ 100 ชิ้น ท่านอาจได้พบงานสักชิ้นหนึ่ง ซึ่งก่อให้ท่านเกิดอารมณ์ซาบซ่านสะเทือนใจ ให้ความสุขและเป็นบ่อเกิดให้คิดให้ทำในสิ่งที่ดีงาม”
โดยอาจารย์ศิลป์ย้ำว่า “นี่แหละคือความสำเร็จในเจตนาขั้นสุดท้ายของการแสดงศิลปกรรม”
ทั้งหมดนี้คือคำตอบโดยรวบรัดของคำถามสั้นๆ ที่ว่า
“ศิลปะคืออะไร?”
ปล.สำหรับผู้ที่สนใจศึกษามุมมองเกี่ยวกับศิลปะของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ศิลปวิชาการ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และ ศิลปวิชาการ ๒ : ศิลปะคืออะไร ที่เป็นหนังสือรวบรวมบทความศิลปะของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่เคยเขียนไว้ในวาระต่างๆ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และวิบูลย์ ลี้สุวรรณ เป็นบรรณาธิการ
อ้างอิง:
- ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. (2549). อะไรคือศิลปะ. ศิลปวิชาการ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. หน้า 19-25
- ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. (2549). ศิลปะคืออะไร?. ศิลปวิชาการ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. หน้า 107-109
- nintara1991. 3 คำคม 5 คำสอนสุดอมตะของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/113800.html