©ulture

คนเกือบทั้งโลกรู้จัก ‘เดวิด’

 

เดวิดเป็นรูปปั้นหินอ่อนที่แกะสลักโดย มีเกลันเจโล (Michelangelo) ศิลปินระดับมาสเตอร์คนหนึ่งซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)

 

Michelangelo
มีเกลันเจโล

 

ทุกๆ ปี คนกว่า 1.2 ล้านคนจะแวะเวียนมาที่หอศิลป์ Galleria dell’Accademia ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อมาเยี่ยมชมเดวิด

Caffe Accademia หอศิลป์ Galleria dell'Accademia ฟลอเรนซ์ อิตาลี Florence Italy
แก้วกาแฟ หรือ Caffe ในภาษาอิตาลี ซื้อจากคาเฟ่ที่อยู่ใกล้หอศิลป์ Galleria dell’Accademia (Photo: Vachi)

ตามบันทึกระบุว่า เดวิดยืนอยู่ตรงนี้มา 145 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ปี 1873

มีเรื่องเล่าว่า ผู้ว่าจ้างตั้งใจจะให้เดวิดอยู่บนหลังคาโบสถ์แห่งเมืองฟลอเรนซ์ แต่เดวิดมีขนาดและน้ำหนักมากเกินไป จึงเปลี่ยนมาวางที่จตุรัส Piazza della Signoria ก่อนจะย้ายมาอยู่ในหอศิลป์แห่งนี้

อาสนวิหารฟลอเรนซ์ Florence Cathedral อิตาลี Italy
อาสนวิหารฟลอเรนซ์ หรือ Florence Cathedral (Photo: Vachi)

ช่วงปลายฤดูหนาว มีนาคม ปี 2018 ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเดวิด เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาจากทั่วโลก

ระหว่างที่หยุดนั่งพัก ผมสังเกตเห็นหลายคนชี้ชวนกันดู ‘จู๋’ ของเดวิด พวกเขาพูดถึงมันอย่างไร ผมไม่รู้ แต่จากการค้นหาข้อมูลจากหนังสือและโลกออนไลน์

นอกจาก ‘จู๋’ เดวิดยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกที่น่าสนใจ

เดวิด หอศิลป์ Galleria dell'Accademia ฟลอเรนซ์ อิตาลี Florence Italy
นักท่องเที่ยวกำลังเงยหน้าชมรูปปั้น ‘เดวิด’ (Photo: Vachi)

หินอ่อนที่ถูกทิ้งร้างนาน 26 ปี

ราวปี 1464 หินอ่อนก้อนยักษ์ถูกขนมาจากเมือง Carrara เพื่อใช้สลักรูปปั้น ‘เดวิด’

Agostino di Duccio ศิลปินผู้รับงานนี้ สลักขึ้นโครงช่วงขาและเท้า แต่งานก็ต้องหยุดชะงักและถูกยกเลิกในที่สุด เมื่อโตนาเตลโล (Donatello) ประติมากรชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ดูแลโปรเจคนี้เสียชีวิต

 

โดนาเตลโล Donatello
โตนาเตลโล

 

ต่อมาศิลปินชื่อ Antonio Rossellino มารับช่วงต่อ แต่ไม่นานก็ถูกยกเลิกสัญญาจ้าง หินอ่อนก้อนยักษ์จึงถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพไม่เป็นรูปเป็นร่างนานถึง 26 ปี

กระทั่งเริ่มมีการเสาะหาศิลปินที่จะมาสานต่องานนี้ให้ลุล่วง โดยมีเงื่อนไขอย่างเดียวคือ ผู้จะทำงานนี้ต้องเป็นยอดฝีมือเท่านั้น

‘มีเกลันเจโล’ ศิลปินหนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้แกะสลักหินอ่อน Pieta หรือรูปปั้นพระแม่มารีกำลังประคองร่างพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากกางเขน คือชื่อที่ถูกพูดถึง

ปีเอตะ Pietà
ปีเอตะ ประติมากรรมที่เป็นรูปพระแม่มารีย์ประคองร่างพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากกางเขน Pietà ในภาษาอิตาลี แปลว่า ความสงสาร (photo: commons.wikimedia.org)

ความลับของมีเกลันเจโล

มีเกลันเจโลใช้เวลาราว 4 ปี (ปี 1501-1504) แกะสลักหินอ่อนก้อนยักษ์ที่ดูแข็งทื่อ ไร้ชีวิต กลายเป็นรูปปั้นที่เสมือนมีลมหายใจ

มัดกล้ามเนื้อ เส้นเลือดปูนโปน สรีระอันสมบูรณ์แบบ ทำให้คนที่เห็นอดไม่ได้ที่จะตกตะลึงกับความงามของเดวิด

เดวิด รูปปั้น
(Photo: Vachi)

นอกเหนือจากพรสวรรค์ที่พระเจ้าให้มา อะไรคือวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างงานของมีเกลันเจโล

ครั้งหนึ่งมีเกลันเจโลกล่าวในทำนองว่า แท้จริงแล้ว เขาเห็นผลงานก่อนที่จะเริ่มทำงาน ส่วนหน้าที่ของเขาคือทำให้ผลงานปรากฎขึ้นมาเท่านั้น

ฉันเห็นทูตสวรรค์ในหินอ่อนและแกะสลักไว้แล้ว ฉันแค่ปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ”

สายตาที่พิเศษของศิลปิน อาจเป็นความลับในการสร้างงานของมีเกลันเจโล

เสน่ห์จากสัดส่วนที่ผิดเพี้ยน?

เสน่ห์ของเดวิด นอกจากความงาม คือการตีความและข้อถกเถียง ตั้งแต่ท่าทางของเดวิดว่า เขากำลังยืนทำอะไร จนถึงเรื่องของสัดส่วน เช่น ศีรษะและมือขวาที่ดูใหญ่ไม่สมส่วน

เดวิด รูปปั้น
(Photo: Vachi)

ข้อสังเกตบางประการระบุว่า เดวิดกำลังยืนประจันหน้ากับชายร่างยักษ์นาม ‘โกไลแอธ’ (Goliath) ส่วนสีหน้า แววตา และมัดกล้ามที่ดูเขม็งเกรียว แสดงถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นก่อนการต่อสู้

บางย่อหน้าจากหนังสือ ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ (A Little History of Religion ผู้เขียน Richard Holloway ผู้แปล สุนันทา วรรณสินธ์ เบล, สำนักพิมพ์ openworlds) เล่าเรื่องราวการสู้รบของชาวอิสราเอลในดินแดนคานาอันกับชนเผ่าพื้นเมือง มีตอนหนึ่งพูดถึงเดวิดว่า

วันหนึ่งขณะที่สองกองทัพเรียงแถวเข้าปะทะกัน โกไลแอธก้าวออกมาข้างหน้าเพื่อท้าประลองเดี่ยวกับใครก็ตามในกองทัพของซาอูล ไม่มีใครจากฝ่ายอิสราเอลเสนอตัว จนกระทั่งเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่งก้าวออกมารับคำท้า แต่เขากลับถูกเยาะเย้ย เด็กหนุ่มอย่างเขาจะสู้นักฆ่ามือฉมังอย่างโกไลแอธได้อย่างไร

“ก็ทำแบบเดียวกับที่ข้าปกป้องฝูงแกะของบิดาจากเหล่าหมาป่าไงเล่า” เด็กหนุ่มตอบ

เด็กหนุ่มเลี้ยงแกะคนนั้นคือ เดวิด จากนั้นเขาใช้ ‘บ่วงเชือก’ เหวี่ยงก้อนหินกระแทกขมับโกไลแอธจนล้มลง ก่อนจะใช้ดาบของโกไลแอธตัดหัวของเขา

เหตุการณ์นั้นได้สร้างเดวิดให้กลายเป็นวีรบุรุษคนใหม่ของชาวอิสราเอล และกลายเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา

เดวิด รูปปั้น
(Photo: Vachi)

ขณะที่สัดส่วนอันไม่สมส่วน มีข้อสันนิษฐานต่างๆ กัน เช่น มือขวาที่ใหญ่เกินไป บ้างระบุว่า ในยุคนั้นเชื่อกันว่า คนที่มีมือใหญ่คือลักษณะที่แสดงถึงความแข็งแรง

บ้างก็มองว่า ศีรษะและมือขวาที่ใหญ่กว่าปกติมาจากการออกแบบ โดยคิดจากมุมที่คนมองรูปปั้นจากด้านล่าง (ตอนแรกจะติดตั้งเดวิดไว้บนหลังคาโบสถ์ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง)

หรือสัดส่วนโดยรวมที่ดูเรียวบางผิดปกติเมื่อเทียบกับความสูง น่าจะเป็นเพราะรูปร่างหินอ่อนที่ถูกขึ้นแบบไว้ก่อนที่มีเกลันเจโลจะเข้ามารับงาน

ข้อสังเกตข้างต้นไม่ใช่ข้อสรุป เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ซึ่งทำให้เดวิดเป็นรูปปั้นที่มีเสน่ห์มากกว่าแค่ความงดงาม

จู๋ของเดวิด

‘จู๋’ คือ สิ่งที่คนไปดูเดวิดจ้องมองกันมากเป็นพิเศษ

หลายคนให้ความเห็นว่า มันดูเล็กเกินไป

บางคนพูดติดตลกว่า คงเพราะอากาศหนาว ‘ขนาด’ จึงเล็กและหดสั้น

คนที่พอจะรู้เรื่องราวของเดวิดก็บอกว่า คงเป็นเพราะกลัวโกไลแอธจน ‘หด’

เดวิด จู๋ รูปปั้น
(Photo: Vachi)

ข้อสงสัยเกี่ยวกับ ‘ขนาด’ ของเดวิดไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งถูกสงสัย เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับขนาดองคชาตของรูปปั้นโบราณในเว็บไซต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อ www.howtotalkaboutarthistory.com ว่า ทำไมรูปปั้นสมัยก่อนถึงมีองคชาตเล็ก?

เว็บไซต์ดังกล่าวให้คำตอบว่า ถ้า ‘รูปปั้นสมัยก่อน’ หมายถึง รูปปั้นกรีกโรมันโบราณซึ่งมีอิทธิพลต่อรูปปั้นในทวีปยุโรป มีเหตุผล 2 ข้อที่ทำให้รูปปั้นเหล่านั้นมีองคชาตเล็ก

ข้อแรก องคชาตที่เห็นน่าจะอยู่ในภาวะที่ไม่แข็งตัว ซึ่งย่อมเล็กกว่าขนาดที่ควรจะเป็นในชีวิตจริง

ข้อสอง ค่านิยมทางวัฒนธรรม ในยุคกรีก ผู้ชายที่ดีในสมัยนั้นต้องฉลาด มีหลักการ และมีความเป็นผู้นำ การมีอวัยวะเพศที่ใหญ่และยาวเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความโง่เขลา ตัณหา และความอัปลักษณ์

เมื่อคิดตามเหตุผลข้างต้น จู๋ของเดวิดที่ดูเล็ก จึงอาจเป็นสิ่งแทนภาพอุดมคติความเป็นชายในยุคสมัยนั้น

รอยตำหนิบนรูปปั้น

เดวิดมีรอยตำหนิที่คล้ายรอยแผลเป็นบริเวณ ‘นิ้วเท้าข้างซ้าย’ ผู้เข้าชมจะสามารถเห็นได้ในระดับสายตา

 

เดวิด รูปปั้น ขา
(Photo: Vachi)
เดวิด รูปปั้น
(Photo: Vachi)

หลายคนสงสัยว่า รอยแผลนั้นเกิดจากอะไร?

หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 15 กันยายน ปี 1991 ระบุถึงที่มาของรอยแผลนี้ว่า ชายตกงานผู้วิกลจริตชาวอิตาเลียนชื่อ Piero Cannata เป็นคนทำ เขาคว้าค้อนที่ซ่อนไว้ใต้แจ็กเก็ต แล้วเดินดุ่มเข้าไปทุบที่นิ้วเท้าซ้ายของเดวิด

หลังโดนจับกุม Piero Cannata ให้การว่า มีคนสั่งให้เขาทำ ซึ่งคนๆ นั้นคือศิลปินชาวเวนิสในศตวรรษที่ 16!

เดวิด รูปปั้น ทำร้าย เสียหาย Piero Cantana
ข่าวเดวิดถูกทำร้าย ผู้ชายในภาพคือ Piero Cantana (photo: pratosfera.com)

ผลงานที่ยิ่งใหญ่กับความรักของศิลปิน

ทำไม เดวิด ถึงกลายเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่?

พรสวรรค์คงใช่ แต่มากกว่านั้น มีเกลันเจโลสร้างงานศิลปะด้วยหัวใจ

ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานศิลปะตั้งแต่อายุ 14 ปี มีเกลันเจโลก็ไม่เคยลาออกจากอาชีพศิลปินอีกเลย จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

‘Rondanini Pieta’ หรือรูปปั้นพระแม่มารีโอบอุ้มร่างของพระเยซู คือ หลักฐานของความรักที่มีเกลันเจโลมีให้กับงานศิลปะ

Rondanini Pieta รูปปั้น
รูปปั้น Rondanini Pieta (photo: italianways.com)

รูปปั้นนี้คือผลงานชิ้นสุดท้ายที่ยังไม่เสร็จสิ้น มีเกลันเจโลเริ่มแกะสลักตั้งแต่ปี 1552 จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตในปี 1564

6 วันก่อนสิ้นลม เขาใช้เวลาทั้งวันหมกตัวแกะสลักรูปปั้นไม่ไปไหน

แม้จะเป็นศิลปินที่มีทรัพย์สินมากมาย แต่มีเกลันเจโลกลับใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ ไม่แยแสการกินดื่ม ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับใคร และมักทำงานจนลืมเวลาจนนอนหลับคาชุดทำงานบ่อยๆ

เขาเป็นชายโสด ไม่แต่งงาน เพราะสำหรับเขา งานศิลปะคือภรรยา และภรรยาคนนี้ก็ทำให้เขาเหนื่อยมากพอแล้ว จนไม่มีเวลาทุ่มเทชีวิตให้กับใครได้อีก

หลังกลับจากอิตาลี…

ผมมองรูปปั้น Rondanini Pieta ซึ่งเป็นภาพที่เสิร์จจากอินเทอร์เน็ต สลับกับภาพเดวิดที่ตัวเองถ่ายมาผ่านจอโน้ตบุ๊ค แล้วนึกถึงเดวิดและผู้คนมากมายในหอศิลป์ Galleria dell’Accademia ที่เมืองฟลอเรนซ์

เดวิด รูปปั้น
(Photo: Vachi)

บางทีสิ่งที่ทำให้ เดวิด กลายเป็นรูปปั้นที่ยิ่งใหญ่ อาจไม่ใช่เรื่องเล่า ตำนาน การตีความข้อสงสัย หรือขนาดอวัยวะเพศ

แต่คือการทุ่มหัวใจลงไปในงานที่ทำของมีเกลันเจโล

นี่คือสัจธรรมของการทำงานและชีวิต ที่ผมได้คิดหลังจากได้พบเดวิดและนึกถึงมีเกลันเจโล.

 

อ้างอิง:

  • Wikipedia. David_(Michelangelo). https://en.wikipedia.org/wiki/David_(Michelangelo)
  • Wikipedia. Michelangelo. https://en.wikipedia.org/wiki/Michelangelo
  • How to talk about art history. “Why do all old statues have such small penises?”. https://bit.ly/2DNjzaM
  • Alan Cowell. Michelangelo’s David Is Damaged. https://nyti.ms/2RycVsX
  • Rossella Lorenzi. Art lovers go nuts over dishy David. https://ab.co/2RydbYX
  • Nils Parker. The Angel in the Marble Modern Life Lessons from History’s Greatest Sculptor. https://bit.ly/2vvf4Kq
  • Accademia Gallery. Michelangelo’s David. https://bit.ly/1iSK6AL
  • Takieng. ไมเคิลแองเจโล ศิลปินมือเทวดาผู้สร้างสุดยอดศิลปะ 3 สาขาหนึ่งเดียวของโลก. https://www.takieng.com/stories/8111