w©rld

อีกไม่นาน ‘ดุสิตธานี’ โรงแรม 22 ชั้นที่เคยได้ชื่อว่า เป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ก็จะปิดให้บริการ

กำหนดวันปิดอย่างเป็นทางการ คือ 5 มกราคม พ.ศ.2562

วันนั้นตรงกับวันเสาร์ และอาจเป็นวันเศร้าของใครหลายคน

เพราะกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ความทรงจำของหลายคนอยู่ที่นี่ โรงแรมบนหัวมุมถนนพระราม 4 ที่กำลังจะถูกรื้อถอน เปลี่ยนให้เป็นอาคารแบบ mixed use ที่มีทั้งศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม

โลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน โรงแรมที่ยืนยงมาเกือบ 50 ปี จึงต้องปรับตัวเพื่อไปต่อ

โรงแรมดุสิตธานี พ.ศ.2561
โรงแรมดุสิตธานี พ.ศ.2561 (Photo: Vachi)

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ซีอีโอกลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เข้ามารับภารกิจนี้เผยว่า เพราะในอนาคตรายได้จะไม่ได้มาจากโรงแรมทางเดียวอีกต่อไป

ก่อนม่านจะเลื่อนปิด ก่อนอาคารหลังเก่าจะเลือนหาย ก่อนกาลเวลาจะกลืนโรงแรมดุสิตธานีให้เหลือเพียงภาพถ่าย

common ได้ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของสถานที่แห่งนี้ ที่กาลครั้งหนึ่งถือกำเนิดมาจากหญิงสาวผู้ไม่เคยเรียนการโรงแรม

ระเบียง โรงแรมดุสิตธานี
ระเบียงโรงแรมดุสิตธานี (Photo: Vachi)

อเมริกา…จุดเริ่มต้นความฝันสร้างธุรกิจโรงแรม

หลังเรียนจบเตรียมธรรมศาสตร์รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานีในวัยสาวได้เดินทางไปอเมริกา หวังจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่กลับถูกปฏิเสธ

ชนัตถ์ ปิยะอุย
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

คงเป็นโชคชะตามากกว่าโชคร้าย เพราะหลังจากนั้นเธอได้ใช้เวลาที่มีเดินทางท่องเที่ยวอเมริกา และได้กลายเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ที่ทำให้เธอฝันอยากจะทำธุรกิจโรงแรม

“ระหว่างทางเราพักที่โฮเต็ล โมเต็ล ทำให้ดิฉันคิดว่าธุรกิจโรงแรมคงจะเป็นอาชีพอิสระ …ดิฉันเป็นคนชอบความเป็นอิสระ”

โรงแรมแห่งแรกของท่านผู้หญิงชนัตถ์ไม่ใช่ดุสิตธานี แต่เป็นโรงแรมย่านถนนเจริญกรุงชื่อ ‘ปริ๊นเซส’ (Princess Hotel)

ฟังดูชีวิตของเธอคงเป็นลูกเศรษฐีที่มีชีวิตราบรื่น แต่ความจริงเธอมีชีวิตต้องสู้ โดยเฉพาะในช่วงทำโรงแรมปริ๊นเซส โรงแรมเล็กๆ ที่เธอต้องทำเองทุกอย่างเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

“การทำงานในโรงแรมปริ๊นเซสของดิฉัน เรียกว่าทำทุกหน้าที่ทั้งกลางวันและกลางคืน ได้กลับไปบ้านเฉพาะเวลานอนเท่านั้น

“…ธุรกิจโรงแรมไม่ค่อยจะสม่ำเสมอ บางครั้งลูกค้าน้อย รายได้ตก ดิฉันไม่อยากจะผัดหนี้ ทำให้ต้องขายเครื่องแต่งตัว เพราะตามธรรมดาไม่แต่งอยู่แล้ว เพียงแต่ชอบมี ชอบสะสม เพราะนิสัยผู้หญิงที่จะต้องมีเครื่องประดับบ้าง

“ครั้งหนึ่งขายรถเพื่อต้องชำระหนี้ให้ทันตามสัญญา แล้วก็นั่งสามล้อมาทำงาน”

หลังเปิดให้บริการได้ 4-5 ปี จากห้องพัก 60 ห้องขยับขยายเป็น 106 ห้อง และมีสระว่ายน้ำ

โรงแรมปริ๊นเซสกลายเป็นที่พูดถึงในวงสังคม เพราะในเวลานั้นนี่คือโรงแรมแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่มีสระว่ายน้ำ

โรงแรมปริ๊นเซส พ.ศ.2506
โรงแรมปริ๊นเซส พ.ศ.2506 (photo: www.paacrewlayover.com/)

ด้วยเงื่อนเวลาเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมใน พ.ศ.2492 ตรงกับยุคสงครามเย็นและช่วงสงครามเวียดนามยังคงคุกรุ่น ลูกค้าหลักของโรงแรมปริ๊นเซสจึงเป็นคณะลูกเรือของสายการบินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกาอย่าง Pan Am (Pan American Airways) และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แพนแอม (Pan Am) หรือ แพนอเมริกันเวิลด์แอร์เวส์ สายการบินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ช่วงปี 1927-1991 ก่อนยุติให้บริการวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1991 เนื่องจากปัญหาการเงินล้มละลาย (photo: www.everythingpanam.com)

กิจการโรงแรมปริ๊นเซสของเธอเติบโตอย่างต่อเนื่องตามสายธารของวันเวลา จนกระทั่งมีข่าวโรงแรมหรูขนาดใหญ่ชื่อ ‘Siam Inter-Continental’ จะมาเปิดให้บริการ

โรงแรมแห่งนั้นเป็นโรงแรมแห่งแรกของไทยที่บริหารโดยเชนต่างชาติ

และมีสายการบิน Pan Am เป็นเจ้าของกิจการ

โรงแรม Siam Inter-Continental
โรงแรม Siam Inter-Continental (photo: hotelstationery.files.wordpress.com)

เดินฝ่ามรสุมด้วยการสร้างโรงแรมไทยระดับ 5 ดาว

การมาถึงของทุนต่างชาติที่ได้เปรียบกว่าทุกช่วงตัวในธุรกิจโรงแรม คือมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังรุกคืบเข้ามา

แทนที่จะอยู่เฉยๆ และบ่นเบื่อสภาพฟ้าฝนทางธุรกิจ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ใช้เวลาช่วงนั้นเดินทางไปอเมริกา ยุโรป และพยายามเข้าพักในโรงแรมหรูหรา เพื่อจะหาไอเดียสร้างโรงแรมที่ได้มาตรฐานระดับโลกในแบบของตัวเอง

“เราอยากทำโรงแรมระดับ 5 ดาว เป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และลักชัวรี่”

ในที่สุดท่านผู้หญิงชนัตถ์ก็ได้พบช่วงเวลามหัศจรรย์อีกครั้งในปี พ.ศ.2508 เมื่อเธอได้รับเชิญไปร่วมงานด้านอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่น และเข้าพักที่ Hotel Okura ในโตเกียว

โรงแรม Okura Tokyo 1960s
โรงแรม Okura Tokyo ราวปี 1960s (photo: sometimes-interesting.com)

ที่นั่นเธอได้มีโอกาสพบ Iwajiro Noda ประธานกรรมการของโรงแรม เธอบอกเขาว่าประทับใจบรรยากาศที่อบอุ่นของโรงแรมแห่งนี้มาก และในฐานะคนทำธุรกิจโรงแรม เธอกำลังมีความคิดที่จะสร้างโรงแรมแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ

พอได้ยินเช่นนั้น Iwajiro Noda ก็แนะนำให้เธอรู้จักสถาปนิกหนุ่มชื่อ Yozo Shibata หนึ่งในทีมสถาปนิกที่ร่วมออกแบบโรงแรม

ต่อมา Yozo Shibata ผู้นี้ได้กลายเป็นผู้ออกแบบโรงแรมแห่งใหม่ของเธอที่ชื่อ ‘ดุสิตธานี’

Yozo Shibata
Yozo Shibata คนใส่แว่นและสวมเชิ้ตสีขาวกลางภาพที่ยืนหน้าสุด กับทีมวิศวกรจากบริษัท C-ltoh จากโตเกียว (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)
โรงแรมดุสิตธานี
โรงแรมดุสิตธานี (อาคารที่มียอดแหลม) ระหว่างการก่อสร้าง ปี 1968 (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

ที่มาของชื่อ ‘ดุสิตธานี’

ชื่อโรงแรม ‘ดุสิตธานี’ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ตั้งขึ้นจากเหตุผล 2 ข้อ

1. ต้องการให้คล้องกับ ‘ดุสิต’ ซึ่งเป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ 4 (จากทั้งหมด 6 ชั้น) เพื่อให้คนที่มาใช้บริการรู้สึกเสมือนอยู่ในสวรรค์

2. โรงแรมดุสิตตั้งอยู่ตรงข้ามพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมพินี ซึ่งพระองค์เคยมีพระราชประสงค์จะสร้างเมืองแม่แบบประชาธิปไตยชื่อ “ดุสิตธานี”

โปสการ์ดโรงแรมดุสิตธานี ปี 1971
โปสการ์ดโรงแรมดุสิตธานี ปี 1971 (photo: oldbangkok.com)

แม้ตอนแรกทุกคนจะไม่เห็นด้วยกับชื่อนี้ โดยให้เหตุผลว่าฝรั่งเรียกไม่เป็น จะกลายเป็น “Dosit” ความหมายไม่ดีนัก แต่สุดท้ายก็ยอมตกลงใจใช้ชื่อที่เธอเสนอ

ท่านผู้หญิงชนัตถ์เคยเล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ดิฉันไม่เข้าใจ แต่คิดว่าสะกดให้ถูกๆ ออกเสียงสั้นๆ ก็คงจะไม่ยากสำหรับชาวต่างประเทศ ดิฉันตกลงใจแล้วและไม่ขอเปลี่ยน ทุกคนยอมตามใจดิฉัน แม้จะไม่เห็นด้วย เราจึงมีชื่อว่า ดุสิตธานี”

โรงแรมดุสิตธานี ปี 1968
โรงแรมดุสิตธานีระหว่างการก่อสร้าง ปี 1968 (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

นอกจากนี้เธอยังได้นำแนวคิดของรัชกาลที่ 6 ที่นำความทันสมัยแบบตะวันตกมาหลอมรวมกับศิลปะความเป็นไทยในการออกแบบตกแต่งโรงแรม

ภาพวาดลวดลายไทย วัสดุของไทยที่ขึ้นชื่อ เช่น ผ้าไหม ไม้สัก ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่ง โดยผสมผสานกับเครื่องใช้อันทันสมัยจากตะวันตก

โรงแรมดุสิตธานี
การตกแต่งในห้องพัก (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)
โรงแรมดุสิตธานี ศาลาแดง
(Photo: Vachi)

หลังจาก Yozo Shibata ตกลงที่จะรับงานออกแบบ และภาพโรงแรมแห่งใหม่เริ่มชัด ท่านผู้หญิงชนัตถ์ก็ตัดสินใจขายโรงแรมปริ๊นเซสทิ้ง เพื่อหาทุนมาสร้างโรงแรมในฝัน

“เพราะว่าไม่มีเงิน ส่วนตัวมีเงินอยู่ไม่เท่าไหร่ แต่อยากจะทำให้มันใหญ่ก็ต้องอาศัยการระดมทุนโดยการขายหุ้น ซึ่งก็ลำบากเพราะขณะนั้นตลาดหลักทรัพย์ไม่มี…”

จากนั้นโครงการโรงแรมที่เธอวาดหวังให้เป็นสวรรค์ก็เริ่มต้นสร้างในปี พ.ศ.2509

“ไม่มีสิ่งใดในประเทศไทยจะเทียบโรงแรมดุสิตธานี” โบรชัวร์โรงแรมดุสิตธานี (photo: oldbangkok.com)

ยินดีต้อนรับสู่อาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 โรงแรมดุสิตธานีเปิดให้บริการวันแรก

ในวันนั้นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และตัวอาคารที่สูง 22 ชั้น ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ทำให้ดุสิตธานีกลายเป็นที่พูดถึง

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

เบื้องหลังความสูงของโรงแรมดุสิตธานีนี้มาจากความต้องการของท่านผู้หญิงชนัตถ์ที่ต้องการให้โรงแรมแห่งใหม่ กลายเป็นแลนด์มาร์คของประเทศไทย

ประจวบกับ Yozo Shibata สถาปนิกผู้ออกแบบโรงแรมดุสิตธานี ได้เคยออกแบบ New Otani Hotel (ปี 1965) ที่มีความสูง 17 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเวลานั้น ก็ได้ช่วยสานฝันนี้ให้เป็นจริง

โรงแรมดุสิตธานี ช่วงทศวรรษ 1970s
โรงแรมดุสิตธานี ช่วงทศวรรษ 1970s (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)
ภาพจากบทความหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ตำรวจกำลังถ่ายภาพสี่แยกถนนพระราม 4 จากชั้นบนสุดของโรงแรมดุสิตธานี
ภาพจากบทความหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ตำรวจกำลังถ่ายภาพสี่แยกถนนพระราม 4 จากชั้นบนสุดของโรงแรมดุสิตธานี (photo: streetsidebangkok.com)

จากวันแรกที่เปิดให้บริการจนถึงวันนี้ ดูเหมือนท่านผู้หญิงชนัตถ์จะทำให้ดุสิตธานีเป็นได้อย่างที่ตั้งใจ

เหมือนที่ครั้งหนึ่งเธอเคยบอกไว้ “เราอยากทำโรงแรมระดับ 5 ดาว เป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และลักชัวรี่”

รื้อถอน ปรับปรุงสู่ยุคใหม่

‘ปิดดีล! ผู้ถือหุ้นโรงแรมดุสิตธานีไฟเขียวใช้พื้นที่มุมถนนพระราม 4 เป็นมิกซ์ยูส-เตรียมปิดให้บริการกว่า 2 ปี’

พาดหัวข่าวจากเว็บไซต์มติชนที่รายงานเหตุการณ์ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2560 คือคำยืนยันกระแสข่าวการปิดโรงแรมดุสิตธานีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

เมื่อสังคมรับรู้ว่า จะมีการทุบอาคารและรื้อทิ้ง หลายฝ่ายได้แสดงความเสียดายที่วันหนึ่งอาคารแห่งนี้จะหายไป โดยมองว่าโรงแรมดุสิตธานีมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมอาคารแบบโมเดิร์นยุคแรกของไทย

บางกลุ่มพยายามส่งเสียงให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพื่อไม่ให้โรงแรมแห่งนี้เหลือเพียงความทรงจำ

รถยนต์ โรงแรมดุสิตธานี 1970s
รถยนต์ในลานจอดรถ โรงแรมดุสิตธานี ช่วงทศวรรษ 1970s (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

ท่ามกลางกระแสสังคมที่พยายามให้ทุกสิ่งคงอยู่ ผู้บริหารโรงแรมได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่ต้อง ‘เปลี่ยน’ เพื่อ ‘ปรับ’ ให้อยู่รอด

“โรงแรมนี้อายุเกือบ 50 ปีแล้ว ทำให้การดูแลรักษาทำได้ยากมาก และลูกค้าก็มีน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะไปจองพักกับโรงแรมสร้างใหม่ ทำให้เราต้องปรับตัว…” สุกัญญา จันทร์ชู ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมดุสิตธานี ให้สัมภาษณ์ คมชัดลึก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560  

แม้สิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไป แต่ ‘มาตรฐานแบบดุสิตธานี’ คือสิ่งที่จะไม่เปลี่ยน ถามว่าทำไมบริการของดุสิตธานีถึงเป็นที่กล่าวขาน หัวใจของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ ‘คน’

ผู้บริหารดุสิตธานีให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ว่า การปิดปรับปรุงโรงแรมครั้งนี้ แม้จะใช้เวลา 3-4 ปี แต่จะไม่มีการปลดพนักงานเก่าอย่างแน่นอน โดยจะให้พนักงานทั้ง 588 คนกระจายไปทำงานในสาขาต่างๆ ในเครือโรงแรมดุสิตธานี

ดุสิตธานี โรงแรม
(photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงนักข่าว แนวหน้า ที่เคยถาม สุกัญญา จันทร์ชู ในทำนองว่าท่านผู้หญิงชนัตถ์บอกอะไร ทำไมพนักงานโรงแรมดุสิตธานีถึงบริการแขกด้วยความเอาใจใส่และเอื้ออาทร

“ต้องเรียนอย่างนี้ค่ะว่า ท่านปลูกฝังเอาไว้ให้เป็นหลักการของโรงแรม ก็คือ ‘ไทยเนส’ หรือความเป็นไทย ซึ่งท่านไม่ได้ให้เฉพาะกับแขกเท่านั้น กับพนักงานท่านก็ดูแลเหมือนเครือญาตินะคะ แล้วก็อบรมเพื่อให้พนักงานมีโอกาสเติบโต แล้วก็อยู่กับบริษัทได้นานๆ ส่วนเรื่องบริการนั้นแน่นอนท่านพยายามให้ทุกคนทำให้ดีที่สุดในลักษณะของคนไทย นั่นก็คือ ยิ้มแย้ม แล้วก็ทำสิ่งที่เขาปรารถนาให้ดีกว่าด้วย เพราะฉะนั้นการต้อนรับมันก็จะอบอุ่น”

นี่อาจเป็นเคล็ดลับของบริการอันน่าประทับใจ ที่ทำให้ดุสิตธานีได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในโรงแรมที่มีเซอร์วิสดีที่สุดในประเทศ

คุณผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย กำลังตัดเค้กในวาระฉลองโรงแรมดุสิตธานีครบรอบ 15 ปี เมื่อปี 1984

กาลครั้งหนึ่งก่อนเหลือเพียงความทรงจำ

เมื่อกำหนดการรื้อโรงแรมดุสิตใกล้เข้ามา ความรู้สึกโหยหาอาลัยสิ่งเก่าที่กำลังจะหายไป และความรู้สึกต่อต้านสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ชวนให้นึกถึงโรงแรม Siam Inter-Continental ที่เข้ามา disrupt ธุรกิจโรงแรมปริ๊นเซสของคุณผู้หญิงชนัตถ์ จนเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอทำโรงแรมดุสิตธานี

โรงแรม Siam Inter-Continental
โรงแรม Siam Inter-Continental (photo: innersanctum.com)

โรงแรม Siam Inter-Continental ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ ก็สูญหายไปกับกาลเวลาเช่นกัน

แต่เดิมโรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่เคยเป็นสวนผลไม้ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่าของในหลวง รัชกาลที่ 8 และ 9) จนกระทั่งดำเนินการมาครบ 30 ปีตามกำหนดสัญญาเช่าในปี พ.ศ.2538 และได้ขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 60 ปี พร้อมกับไอเดียการสร้างโครงการใหม่

นั่นคือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ ‘สยามพารากอน’

ภาพถ่ายทางอากาศ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พ.ศ. 2488-2489 หอจดหมายเหตุ โรงแรม Siam Inter-Continental โดนรื้อทิ้ง สร้างสยามพารากอน
ภาพถ่ายทางอากาศวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ประมาณปี พ.ศ. 2488-2489 จากหอจดหมายเหตุ *พื้นที่บริเวณวัดด้านบน ถูกสร้างเป็นโรงแรม Siam Inter-Continental ก่อนจะโดนรื้อทิ้งและสร้างโครงการสยามพารากอนในปัจจุบัน (photo: rotfaithai.com)

โรงแรม Siam Inter-Continental จึงถูกรื้อถอน เพื่อเปิดโอกาสให้โครงการใหม่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตในโลกที่เปลี่ยนไปได้ถือกำเนิด

‘เสียใจที่พวกเขาจะรื้อถอนโรงแรมแห่งนี้ ฉันจำได้ว่าฉันเคยมาที่นี่กับพ่อแม่ของฉันราวในช่วง 80s ความทรงจำมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ฉันจะไม่ลืม’ kai birli

‘ฉันเคยมาที่นี่ในปี 1994 มันเป็นสถานที่ที่สวยมาก…’ Anonymous

นี่คือความคิดเห็นบางส่วนในเว็บไซต์ 2Bangkok.com ที่นำเสนอเรื่องราวของโรงแรมแห่งนี้ในชื่อ End of the Siam Intercontinental Hotel

ดูเหมือนทุกสิ่งในโลกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีจุดจบ

รื้อโรงแรม Siam Inter-Continental 7 ตุลาคม 2545
ระหว่างรื้อโรงแรม Siam Inter-Continental, 7 ตุลาคม 2545
รื้อโรงแรม Siam Inter-Continental 25 ตุลาคม 2545
ระหว่างรื้อโรงแรม Siam Inter-Continental, 25 ตุลาคม 2545

ความทรงจำเดิมถูกแทนด้วยความทรงจำใหม่ สยามพารากอนกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่แทนที่โรงแรมใหญ่สุดหรู เช่นเดียวกับโรงแรมดุสิตธานีที่เคยสูงที่สุดในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้สูงที่สุดอีกต่อไป

สิ่งต่างๆ เปลี่ยนผัน กาลเวลากลืนสิ่งเดิมและคายสิ่งใหม่ โลกเป็นเช่นนี้เสมอ.

โรงแรมดุสิตธานี ก่อสร้าง พ.ศ.2510-2511
โรงแรมดุสิตธานี ระหว่างการก่อสร้างราว พ.ศ.2510-2511 (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)
โรงแรมดุสิตธานี พ.ศ.2561
โรงแรมดุสิตธานี พ.ศ.2561 (Photo: Vachi)

อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของโรงแรมดุสิตธานี เพิ่มเติมได้ที่ becommon.co/tag/โรงแรมดุสิตธานี/


อ้างอิง:

  • Wichit Horyingsawad. The Magnificent Dusit Thani The Long History of Another of Bangkok’s Landmarks is About to Turn a New Page. นิตยสาร art4d ฉบับที่ 249 กรกฎาคม 2017
  • คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย. 2535. หนังสือ ‘คนแก่อยู่กับความหลัง’. คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เพื่อโดยเสด็จบูรณะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  • สันติ เศวตวิมล. ตำนานชีวิต, คนแก่อยู่กับความหลังของ ‘คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย’. http://www.satapornbooks.co.th/imgadmins/product_pdf/PdfProduct_20150402162617.pdf
  • ดุสิตธานี. ประวัติบริษัท. http://dtc-th.listedcompany.com/company_background.html
  • นิตยสารผู้จัดการ. ชนัตถ์ ปิยะอุย “เราไม่เจียมตัว”. http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=571
  • ผู้จัดการออนไลน์. “ดุสิตธานี” 46 ปี…สัญลักษณ์ของวิถีโรงแรมไทย. https://mgronline.com/travel/detail/9590000118904
  • กรุงเทพธุรกิจ. โรงแรมดุสิตธานีเลื่อนปิดเป็นต้นเดือน ม.ค.62. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/787351
  • มติชนออนไลน์. ปิดดีล! ผู้ถือหุ้นโรงแรมดุสิตธานีไฟเขียวใช้พื้นที่มุมถนนพระราม 4 เป็นมิกซ์ยูส-เตรียมปิดให้บริการกว่า 2 ปี. https://www.matichon.co.th/economy/news_543534
  • แนวหน้า. ‘สุกัญญา จันทร์ชู’ เผย ‘โรงแรมดุสิตธานี’ จะปิดตัวลงปี’61. http://www.naewna.com/lady/278316
  • คมชัดลึก. รร.ดุสิตธานี”รื้อหรือรักษ์” สัญลักษณ์สีลม. http://www.komchadluek.net/news/scoop/263580
  • Voice TV. เริ่มทุบ ‘รร.ดุสิตธานี’ ก.ค.61 ปรับโฉมก่อนเปิดในปี 65. https://voicetv.co.th/read/rk6qQWHez
  • 2Bangkok. End of the Siam Intercontinental Hotel. http://2bangkok.com/2bangkok-masstransit-intercon.html
  • Wikipedia. สยามพารากอน. https://bit.ly/2GjhPHs