©ulture

ท่ามกลางการรอคอยอย่างเปล่าประโยชน์ ต้องขอบคุณความยอมไม่ได้ของผู้คนในอดีตที่ไม่ละทิ้งความตั้งใจ (บางคนอาจเรียกว่าความฝัน) ไปในระหว่างทาง

ไม่อย่างนั้นคนรุ่นหลังคงไม่ได้รู้จักกับ ‘สเก็ตบอร์ด’ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เริ่มต้นจากความคิดแค่ว่า ต้องการแก้ขัดความอยากที่ไม่ได้รับการสนอง แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน กลับกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมเปลี่ยนโลกที่เรียกว่า ‘Skate Culture’ หรือ ‘Skateboard Culture’ เพราะตลอดเส้นทางที่ผ่านมา แม้จะขรุขระหรือมีอุปสรรคกีดขวาง แต่บรรดาแผ่นไม้ติดล้อที่มีชื่อสกุลห้อยท้ายว่า ‘-สเก็ต’ หรือ ‘-บอร์ด’ ไม่เคยทำให้ชีวิตของผู้คนและสังคมหยุดนิ่งอยู่กับที่

Photo: Alexey sazonov / AFP

ล้อหมุน: ผลัดจากลอนคลื่น สู่พื้นคอนกรีต

ระหว่างปลายช่วงปี 1940 ถึงช่วงต้นปี 1950 แม้ว่าในเวลานั้น การเล่นกระดานโต้คลื่น (surfboard) เริ่มเป็นกิจกรรมยามว่างยอดนิยมของคนที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียงหาดทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่กลับมีเหตุที่ทำให้การโต้คลื่นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หวัง เพราะทุกคนที่ตั้งใจมาโต้คลื่น ต้องตกอยู่ในฐานะผู้เสี่ยงโชค ซึ่งไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่า วันนั้นธรรมชาติจะเป็นใจให้ผิวทะเลเกิดเกลียวคลื่นมากพอสำหรับโต้คลื่นได้ในเวลาไหนบ้าง เลวร้ายที่สุดคือคลื่นลมสงบตลอดวัน ทำให้คนจำนวนมากเสียเวลานั่งรอเก้อ

Photo: Chaideer Mahyuddin / AFP

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้งเข้า หลายคนเริ่มทนไม่ไหว พยายามคิดหาวิธีเลียนแบบการโต้คลื่นในทะเล โดยเปลี่ยนมาเล่นบนบกแทน เช่น บนพื้นถนนคอนกรีต หลังจากลองผิดลองถูก ในที่สุดทางออกของปัญหานี้ที่ผู้คนในตอนนั้นเห็นพ้องต้องกันว่าพอทดแทนกันได้ คือนำแผ่นไม้เนื้อแข็งจากต้นเมเปิ้ล มาติดเข้ากับล้อเหล็กขนาดเล็กสองชุดชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำรองเท้าสเก็ต (roller skate shoes) พวกเขาตั้งชื่อให้สิ่งนี้ว่า ‘Sidewalk Surfing’ ตามการใช้งาน คือไถเคลื่อนไปบนถนนหรือทางเท้าพื้นเรียบแทนลอนคลื่น นี่คือจุดเริ่มต้นของสเก็ตบอร์ดที่ไม่ใด้ใช้ชื่อว่า ‘Skateboard’ ในตอนแรกด้วยซ้ำ

Photo: https://boardbureau.wordpress.com/2013/09/08/the-evolution-of-skateboarding-a-history-from-sidewalk-surfing-to-superstardom/

เวลาต่อมา ผู้คนเริ่มหันมาสนใจเล่นกระดานไม้ติดล้อสเก็ตมากขึ้นเรื่อยๆ Val Surf ร้านขายกระดาษโต้คลื่นจึงร่วมมือกับ Chicago Roller Skate ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตรองเท้าสก็ตในตอนนั้น เพื่อผลิตสเก็ตบอร์ดสำเร็จรูปพร้อมวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี 1962

ในเวลาไล่เลีย ลาร์รี่ สตีเวนสัน (Larry Stevenson) ไลฟ์การ์ดชาวอเมริกัน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา เขาเห็นว่าใครๆ ก็หันไปเล่นสเก็ตบอร์ดแทนกระดานโต้คลื่น จึงไม่พลาดหาเวลาว่างไปฝึกเล่นเหมือนกัน กลายเป็นว่าเขาหลงรักสเก็ตบอร์ดเข้าอย่างจัง ถึงขนาดพัฒนาและออกแบบสเก็ตบอร์ดคุณภาพสูงสำหรับผู้เล่นระดับเซียนเป็นคนแรก

Photo: https://www.nytimes.com/2012/03/27/sports/larry-stevenson-skateboard-designer-dies-at-81.html

แต่คนที่ทำให้สเก็ตบอร์ดกลายเป็นความนิยมกระแสหลักในสังคมอเมริกันตั้งแต่ปี 1964 เป็นต้นมา คือ แจนและดีน (Jan and Dean) คู่หูศิลปินร็อกชาวอเมริกัน เพราะพวกเขานำสเก็ตบอร์ดมาเล่นออกอากาศในรายการโทรทัศน์ American Bandstand ทำให้กิจการร้านค้าเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดที่เปิดธุรกิจมาก่อนหน้านี้อย่าง Hobie Surf Shop และ Makaha Surf & Ski Skateboards ได้รับความนิยมไปด้วย

ล้อสะดุด: กระแสตกและจุดผกผัน เพราะคนตีตนก่อนไข้

ในปี 1965 เรียกได้ว่าเป็นปีทองของสเก็ตบอร์ด เพราะใครๆ ก็ต้องการเล่นเป็นให้ได้ ถึงขนาดต้องสร้างลานสเก็ตสาธารณะแห่งแรกชื่อว่า Surf City ในรัฐแอริโซนา นอกจากนี้ยังมี The Quarterly Skateboarder นิตยสารเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดหัวแรกเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

รายการ Wide World of Sports ของสถานีกระจายเสียงและแพร่ภาพอเมริกัน (ABC) ถ่ายทอดการแข่งขันสเก็ตบอร์ดทั่วประเทศเป็นครั้งแรกvนิตยสาร LIFE ถ่ายภาพ แพทตี้ แมคจี (Patti McGee) สาวนักสเก็ตบอร์ดขึ้นเป็นปกฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม และมี Skaterdater เป็นภาพยนต์สั้นเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม

Photo: LIFE magazine (May 14, 1965)

แต่ความนิยมของสเก็ตบอร์ดกลับต้องมาสะดุดและร่วงลงในช่วงปลายปีเดียวกัน เพราะว่าจำนวนคนที่บาดเจ็บรุนแรงจากการเล่นสเก็ตบอร์ดไม่ได้คุณภาพเพิ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาประกาศห้ามพลเมืองในรัฐเล่นสเก็ตบอร์ดเด็ดขาด และพยายามกดดันให้ร้านค้ายุติกิจการซื้อขายสเก็ตบอร์ดโดยเร็ว ผู้คนในสังคมมองเห็นสเก็ตบอร์ดเป็นสิ่งต้องห้ามที่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้อย่างคาดไม่ถึง

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ต้องแอบไปร่วมกลุ่มเล่นสเก็ตบอร์ดอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ให้พ้นสายตาของคนที่ไม่ยอมรับ กลายเป็นว่ายิ่งทำให้คนมองเห็นสเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาใต้ดินของคนหัวดื้อ และพวกต่อต้านสังคม ทั้งหมดเป็นทัศนคติด้านลบที่เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนและอคติเหมารวมไร้เหตุผล

Photo: Dmitry Kostyukov / AFP

ล้อใหม่: แฟชั่นแนวสตรีทที่มาก่อนกาล และคุณูปการของยาง

แม้ว่าสเก็ตบอร์ดจะถูกโจมตีและถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัย แต่สิ่งใหม่ที่เข้ามาล้างมลทิน และต่อลมหายใจให้สเก็ตบอร์ดกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง นอกเหนือจากการสวมใส่อุปกรณ์เสริมเพื่อป้องกันส่วนสำคัญของร่างกาย และฝึกฝนให้ผู้เล่นรู้จัดวิธีลดความเสี่ยงให้บาดเจ็บน้อยที่สุดหากลื่น ล้ม หรือตกกระทบพื้น ก็คือ ‘รองเท้า Vans’ ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับใช้เล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะตั้งแต่ในปี 1966

เดิมที Vans ไม่ได้ตั้งใจผลิตร้องเท้าใส่เล่นสเก็ตบอร์ด เพียงแค่ตั้งใจทำรองเท้าผ้าใบคุณภาพสูงที่ใส่สบายและขายในราคาไม่แพง จนกระทั่งนักสเก็ตบอร์ดที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในตอนนั้นอย่าง โทนี่ อัลวา (Tony Alva) และ สเตซี เพรัลตา (Stacy Peralta) บังเอิญเดินเข้าไปในร้านแล้วซื้อรองเท้ารุ่น Vans Old Skool มาลองใส่

Photo: https://www.instagram.com/p/BGH8p4JDiOd/?utm_source=ig_web_copy_link

ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า รองเท้านี้ใส่เล่นสเก็ตบอร์ดได้ดีที่สุด เพราะพี้นยางหนาแข็งแรง และยึดเกาะพื้นกระดานได้มั่นคง ทำให้เกิดกระแสความนิยมจากการบอกปากต่อปาก ทำให้ Vans เป็นแบรนด์ร้องเท้าคู่ใจในหมู่คนเล่นสเก็ตบอร์ด และเป็นแบรนด์แฟชั่นสตรีทที่มาก่อนกาลส่วนหน้าหลายสิบปี

ยางยังกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในปี 1972 คล้ายกับเป็นการยกเครื่องสเก็ตบอร์ดใหม่ให้ดีกว่าที่ผ่านมา เมื่อ แฟรงค์ แนสเวิร์ธธี (Frank Nasworthy) นักสเก็ตบอร์ดชาวอเมริกัน ประดิษฐ์ล้อสเก็ตด้วยยางโพลียูรีเทน (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อเฉพาะว่า Cadillac Wheels) เพื่อรองรับสภาพพื้นถนนที่หลากหลายช่วยให้เคลื่อนไหวและเลี้ยวได้นุ่มนวลมากขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงสเก็ตบอร์ดเกิดกระแสความนิยมครั้งที่สอง เพราะก่อนหน้านี้ส่วนล้อจะทำมาจากเหล็กหรือไม้เนื้อแข็งเท่านั้น

Photo: http://hydrodynamica.blogspot.com/2012/01/hydrodynamica-remember-future.html

ล้อลื่น: การมาถึงของเซิร์ฟสเก็ต ดาวดวงใหม่ในวงการสเก็ต

นับตั้งแต่ปี 1975 สเก็ตบอร์ดกลายเป็นกีฬาจริงจัง มีท่าผาดโผนไว้ท้าทายความสามารถ และเล่นร่วมกับอุปกรณ์หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ เช่น พื้นยกสูง ราวเหล็ก ทางลาดต่างระดับ ซึ่งเรียกรวมกันว่า แรมป์ (ramp)

ช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมีคนเปรียบเทียบสเก็ตบอร์ดกับกระดานโต้คลื่นว่า ไม่ได้ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกันเลยสักนิด เพราะสเก็ตบอร์ดเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเป็นเส้นตรง ยังขาดท่วงท่าและความพริ้วไหวแบบกระดานโต้คลื่น นำไปสู่การแตกประเภทของสเก็ตบอร์ดไปเป็น ‘Surf Skate’

Photo: https://www.boardsportsource.com/2019/07/31/globe-ss20-surfskate-preview/

เซิร์ฟสเก็ตมีล้อขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมกับกลไกล้อใหม่ซึ่งยืดหยุ่นและหมุนทำมุมเลี้ยวได้ ส่วนรูปทรงไม้กระดานถูกปรับให้เล็กลง เพื่อจะได้เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับการโต้คลื่นมากที่สุด ผู้เล่นต้องขยับร่างกาย กางแขนและไหล่ โยกตัว และย่อขาเพื่อควบคุมเซิร์ฟสเก็ตให้เลี้ยวโค้งและเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งขาลงมาข้างหนึ่งเพื่อไถแบบสเก็ตบอร์ด เป็นการเล่นรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Surfer Style’ ช่วยทำให้ผู้คนหันมาสนใจสเก็ตบอร์ดอีกครั้ง สนับสนุนให้ผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนไม่น้อยมีโอกาสแจ้งเกิดในวงการสเก็ตไปด้วย

ส่วนผู้เล่นสเก็ตบอร์ดระดับมืออาชีพ (Pro Player) อย่าง อลัน เกลแฟนด์ (Alan Gelfand) ก็ได้คิดค้นท่ากระโดด ‘Ollie’ ในปี 1978 ปัจจุบันคือหนึ่งในท่าพื้นฐานที่ผู้เล่นสเก็ตบอร์ดทุกคนต้องทำให้ได้ แม้ว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่ความเชื่อมั่นในการละเล่นสเก็ตบอร์ดกลับสั่นครอนอีกครั้ง เพราะท่ายากเพิ่มโอกาสให้ผู้เล่นบาดเจ็บและเสียชีวิต

Photo: https://www.surfertoday.com/skateboarding/ollie-the-trick-that-revolutionized-skateboarding

เล่นล้อ: เลือกสไตล์การเล่นสเก็ตบอร์ดตามความถนัด

เมื่อเข้าสู่ยุค 1980 เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความนิยมครั้งที่สามของสเก็ตบอร์ด เมื่อนิตยสาร Trans-World Skateboarding เกิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ของสเก็ตบอร์ดให้ผู้เห็นว่าไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรืออันตราย ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี ส่วนผู้เล่นสายแข็งที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการเล่นสเก็ตบอร์ด ก็มีนิตยสาร Thrasher เป็นเพื่อนช่วยฝึกและอัปเดทข่าวสารในวงการ

ผู้เล่นพยายามผลักดันกันเองให้สเก็ตบอร์ดเป็นเรื่องจริงจัง จนต้องแบ่งประเภทการเล่นออกเป็นสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ Vert หรือการเล่นแนวตั้ง ไถสเก็ตบอร์ดบนทางลาดยกระดับเป็นครึ่งวงกลม เช่น สไตล์การเล่นแบบ โทนี ฮอว์ก (Tony Hawk) และ Freestyle หรือการเล่นที่เน้นท่วงท่า ลีลาการบังคับแผ่นกระดาน เพื่อกระโดดข้ามผ่านสิ่งกีดขวาง เช่น สไตล์การเล่นแบบ ร็อดนีย์ มูลเล็น (Rodney Mullen) เขายังเป็นคนคิดท่า ‘Kickflip’ ซึ่งต่อยอดมาจากท่ากระโดด Ollie

Photo: https://www.mbphoto.com/exhibitions/71/works/
Photo: https://www.mbphoto.com/exhibitions/71/works/

และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญที่ทั่วโลกได้รู้จักสเก็ตบอร์ดในฐานะกีฬาชนิดหนึ่ง เมื่อประเทศแคนาดาจัดการแข่งขันสเก็ตบอร์ดระดับนานาชาติรายการ TransWorld Skateboard Championships ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 1986 มีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากมาย และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

สเก็ตบอร์ดเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ใช่แค่ในฐานะการละเล่น แต่เป็นแรงดันดาลใจให้วงการอื่นๆ นำไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และต่อยอดทางความคิดเป็นผลผลิตที่ทำให้ชีวิตสนุกสนานและมีสีสันขึ้น โดยเฉพาะวงการบันเทิง แฟชั่น และธุรกิจ ก่อนจะซบเซาลงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ยุค 1990 เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ลงสนาม: พื้นที่ใหม่และเส้นทางข้างหน้าของสเก็ตบอร์ด

สิ่งที่จุดกระแสความนิยมสเก็ตบอร์ดให้ฟื้นขึ้นมาได้เป็นครั้งที่สี่ คือ Extreme Games (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X Games) หรือรายการแข่งขันกีฬาผาดโผนในปี 1995 ซึ่งจัดโดย ESPN ช่องกีฬายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดเกณฑ์การได้คะแนนที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน เกิดเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่ช่วยผลักดันให้สเกตบอร์ดได้รับความนิยมในกระแสหลัก และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

Photo: http://www.xgames.com/austin/

วงการสเก็ตบอร์ดกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้เล่นมืออาชีพเริ่มผลิตสเกตบอร์ดเอง มีทั้งร่วมมือกับบริษัทอื่นที่มีชื่อเสียงด้านอุปกรณ์เกี่ยวกับสเกตบอร์ดอยู่ก่อนแล้ว และลงทุนเปิดบริษัทใหม่ ทำให้สเกตบอร์ดเริ่มพัฒนาไปเป็นรูปทรงและรูปร่างอื่นๆ เพื่อให้ผู้เล่นเลือกบอร์ดที่เหมาะกับสไตล์การเล่นที่ถนัด สเก็ตบอร์ดกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่แทรกซึมอยู่ร่วมกับการเติบโตของผู้คนและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ช่วงปลายยุค 1990 และเข้าสู่ยุค 2000 สเกตบอร์ดจึงปรากฏในสื่อกระแสหลักมากขึ้น ทั้งโฆษณาโทรทัศน์ มิวสิวิดีโอ วิดีโอเกม และแฟชั่นแนวสตรีทที่ออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อผู้เล่นสเก็ตบอร์ด เน้นความกระชับกระเฉง เรียบง่ายแต่ยังคงตัวตนของคนที่สวมใส่ได้

มีทั้งบริษัทเก่าที่ยังเก๋าเกมอย่าง Vans และ Stüssy แบรนด์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสไตล์การโต้คลื่นและแนวดนตรีฮิปฮอป

Photo: https://blog.size.co.uk/2017/08/12/stussy-summer-17-apparel-collection/
Photo: https://blog.size.co.uk/2017/08/12/stussy-summer-17-apparel-collection/

หรืออย่าง Thrasher ที่ต่อยอดความสำเร็จจากนิตยสารสู่การผลิตเครื่องแต่งกายเอาใจเด็กสเก็ต โดยมีโลโก้ลายไฟลุกเป็นเอกลักษณ์ และแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคหลังคือ Supreme ซึ่งโดดเด่นด้วยคู่สีขาวแดงและการร่วมมือกับแบรนด์ดังอื่นๆ เพื่อออกคอลเลกชันพิเศษ

https://node4144.myfcloud.com/supreme.html

ปัจจุบัน สเก็ตบอร์ดได้รับการยอมรับในฐานะกีฬาสากล ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาชนิดใหม่ในรายการแข่งขันระดับภูมิภาค รวมถึงโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปี 2020 (เลื่อนการแข็งขันมาเป็นปี 2021 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่เส้นทางของสเก็ตบอร์ดยังคงดำเนินต่อไปอีกยาวไกล ซึ่งน่าจับตามองเหมือนกันว่า หลังจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไปในทิศทางไหน และจะมีสิ่งใดอีก ที่มาจุดให้เกิดกระแสความนิยมสเก็ตบอร์ดเป็นครั้งที่ห้า

Skate Culture: ความต่างในความเหมือน

วัฒนธรรมสเก็ตเป็นเสมือนร่มขนาดใหญ่ที่มีสเก็ตหลายรูปแบบอยู่ภายใต้ร่มนั้น ซึ่งแน่นอน ไม่ได้มีแค่สเก็ตบอร์ดอย่างเดียว ต่อไปนี้เป็นข้อมูลขนาดกระชับนอกเหนือจากสเก็ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก็ต สำหรับแยกความต่างของสเก็ตประเภทอื่นๆ

Franck Fife / AFP

Longboard
กระดานไม้มีขนาดใหญ่และยาวมากกว่า ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วย นิยมใช้เล่นบนพื้นผิวที่มีความลาดชัน

https://originalskateboards.com/longboard-vs-penny-board/are-penny-boards-bad/

Penny board
กระดานมีขนาดเล็กมาก ทำจากพลาสติดแผ่นหน้าหลายสีสัน เพราะต้องการให้มีน้ำหนักเบา เพื่อพกพาได้สะดวก

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Fingerboard.jpg

Fingerboard
สเก็ตประเภทเดียวที่ใช้นิ้วเล่นแทนเท้า กระดานมีขนาดเล็กจิ๋ว แต่คงองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งรูปทรง วัสถุไม้หรือพลาสติกที่ใช้ และการออกแบบล้อไว้เหมือนกับสเก็ตบอร์ด

 

อ้างอิง