©ulture

สิ่งยิ่งใหญ่ที่มีพลังอำนาจเหนือกว่ามนุษย์คือธรรมชาติ

โดยเฉพาะช่วงเวลาฝนกระหน่ำตกลงมาห่าใหญ่ราวกับฟ้ารั่ว ต่อให้มนุษย์หลงเข้าใจว่าตัวเองอาจหาญสักแค่ไหน ก็ต้องสยบยอมต่อความจริงข้อนี้อยู่วันยันค่ำ เพราะทุกครั้งที่ฝนตกมนุษย์อาจทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าหลบในที่ร่ม 

เมื่อเอาชนะหรือควบคุมธรรมชาติไม่ได้ หนทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยภายใต้ความเป็นไปของธรรมชาติ (อย่างน้อยก็ป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยตายจากอาการปวดบวมเพราะตากฝนนานเกินไปจึงไม่ใช่ความดื้อรั้นดันทุรังคิดต่อกร หากแต่เป็นความพยายามหาวิธีรับมือกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา 

ผลลัพธ์จากการดิ้นรนของมนุษย์ ก่อเกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปตลอดกาล หนึ่งในนั้นคือ เสื้อกันฝน

Photo: https://www.pri.org/stories/2020-03-05/daily-life-china-coronavirus

ทุกวันนี้ คน (ไทย) มักจะคุ้นเคยกับเสื้อกันฝนพลาสติกหลากสีแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกันมากที่สุด เพราะหาซื้อได้ง่าย วางขายตามร้านค้าทั่วไปในราคาแสนถูก มีน้ำหนักเบา แถมยังพับอยู่ในซองใส่ขนาดเล็ก ยิ่งเพิ่มความสะดวกสำหรับพกติดกระเป๋าได้ทุกเวลา เผื่อเอาไว้วันที่ฟ้าไม่เป็นใจ 

แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางของเสื้อกันฝนจะพบว่า กว่าเครื่องแต่งกายชิ้นนี้จะได้ทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์ไม่ให้เปียกปอนยามฝนตก และกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก จนแวดวงแฟชั่นอ้าแขนต้อนรับให้เข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความนิยม กลับมีจุดเริ่มต้นจากหัวคิดของนักเคมี เคยถูกต่อต้านจากแพทย์ เป็นของมีค่าในสายตาทหาร และเป็นชุดทำงานของชนชั้นกรรมาชีพมาก่อน

 

ยุคแรก: ความหวังจากผ้ากันน้ำ

ชาร์ลส์ แมชอินทอช (Charles Macintosh) เป็นนักเคมีชาวสกอตแลนด์ผู้คิดค้นและประดิษฐ์เสื้อกันฝน (raincoat) ตัวแรกของโลกได้สำเร็จ จากการทดลองทำเนื้อผ้าไม่ให้เปียกน้ำ เขาพบว่า หากนำผ้าฝ้ายสองผืนมาทาด้วยยางที่มีส่วนผสมของแนฟทา (Naphtha) ซึ่งเป็นสารข้นเหนียวคล้ายกาวที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ แล้วรีดประกบติดกันเป็นผืนเดียว ผ้าผืนใหม่ที่ได้นอกจากจะกันน้ำซึมและไม่ซับน้ำแล้ว ยางที่ทาลงไปยังช่วยทำให้เนื้อผ้าแข็งแรงขึ้นและยืดหยุ่นได้ดี แมชอินทอชจึงจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในปี 1824 และตัดเย็บเป็นเสื้อกันฝนเพื่อวางขายในปีเดียวกัน โดยตั้งชื่อให้เสื้อกันฝนนี้ตามชื่อสกุล Mackintosh (เพิ่มตัวอักษร k เข้ามาภายหลัง) 

ชาร์ลส์ แมชอินทอช

เสื้อกันฝนของแมชอินทอชรุ่นแรกๆ ยังไม่สมบูรณ์แบบพอ เมื่อนำมาใช้งานจริง น้ำจะไหลซึมเข้าไปข้างในตามรอยตะเข็บจากรูเจาะของเข็ม สภาพอากาศก็ส่งผลกับเนื้อผ้า อากาศที่เย็นเกินไปทำให้ผ้าแข็ง ส่วนแสงแดดและความร้อนทำให้ยางละลาย

ประกอบกับถูกโจมตีจากวงการแพทย์ เพราะแมชอินทอชถูกครหาว่าลอกเลียนวิธีการทำให้ผ้ากันน้ำมาจาก เจมส์ ไซมส์ (James Symes) ศัลยแพทย์ชาวสกอตแลนด์ผู้มีชื่อเสียงในขณะนั้น กลายเป็นว่าแพทย์ส่วนใหญ่คิดอคติต่อแมชอินทอชโดยไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่าเขาทำผิด นอกจากบรรดาแพทย์จะไม่สนใจใส่เสื้อกันฝนแล้ว พวกเขายังบอกคนไข้ว่า หากสวมใส่นานๆ เสื้อจะกักเหงื่อไว้ ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เรื่องราวเลยเถิดไปถึงช่าง ซึ่งไม่เต็มใจใช้ผ้าที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมาตัดเย็บ

เจมส์ ไซมส์

แต่แมชอินทอชไม่ถึงกับตกที่นั่งลำบาก เพราะด้วยความสามารถด้านเคมี เขาจึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ที่นี่เองเปิดโอกาสให้เขาได้พบกับ โทมัส แฮนค็อก (Thomas Hancock) วิศวกรชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยางในประเทศอังกฤษ นำไปสู่การร่วมมือพัฒนาเสื้อกันฝน โดยแฮนค็อกแนะนำให้แมชอินทอชใช้ยางวัลกาไนส์ (vulcanized rubber) แทน ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเนื้อผ้าได้สำเร็จ จนต้องจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์อีกครั้ง ในปี 1843 แต่ยางชนิดใหม่ยังมีปัญหาเรื่องการระบายความชื้นเหมือนเดิม

โทมัส แฮนค็อก

 

ยุคเปลี่ยนผ่าน: ความต้องการของผู้ใช้งาน

เสื้อกันฝนเริ่มได้รับความสนใจในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพมากขึ้น เพราะผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ต้องเดินเท้าฝ่าสายฝนไปทำงานและกลับบ้านทุกวัน บางคนยังต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ถึงแม้จะทำให้รู้สึกร้อนอบอ้าวและอับชื้น แต่เสื้อกันฝนถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานั้น เพียงแค่สวมทับชุดทำงานไว้ก็ช่วยป้องกันฝนได้ ซึ่งดีกว่ากางร่มเพราะไม่ต้องใช้มือคอยถือ เสื้อกันฝนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดทำงานของชนชั้นกรรมมาชีพไปโดยปริยาย

ระหว่างนี้ ในปี 1853 จอห์น เอมารี่ (John Emary) นักธุรกิจชาวอังกฤษและช่างตัดเสื้อสำหรับบุรุษ ได้ออกแบบและตัดเย็บเสื้อกันฝนสำหรับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อแบรนด์ Aquascutum มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินแปลว่าโล่กันน้ำ ซึ่งได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งในปี 1897 มีคนคิดแก้ปัญหาเรื่องอับชื้นได้ เขาเป็นเพียงหนุ่มชาวอังกฤษผู้หลงใหลเนื้อผ้าจนเปิดร้านเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ขณะฝึกงานในร้านขายผ้าอื่นๆ ชื่อของเขาคือ โทมัส เบอเบอรี่ (Thomas Burberry)

Photo: Aquascutum / Alamy
โทมัส เบอเบอรี่

เบอเบอรี่ประดิษฐ์ผ้ากาบาร์ดีน (Gabardine) มีคุณสมบัติเด่นคือกันน้ำได้ และระบายอากาศดี เพราะไม่ใช้ยาง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อกันหนาวผ้าลินินของเกษตรกร

เสื้อกันฝนของเบอเบอรี่ได้รับความนิยมอย่างมาก กลายเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่งของร้าน ถึงขนาดกองทัพอังกฤษต้องมาร้องขอให้เขารับตัดเสื้อกันฝนตัวยาว (trench coat) สำหรับกองทัพโดยเฉพาะ เพื่อแจกจ่ายให้ทหารนำไปใส่เป็นเครื่องแบบระหว่างออกสู้รบในสมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่ 1

Photo: https://www.primermagazine.com/2018/learn/mens-fashion-military-history-timeline

หลังจากสงความโลกครั้งที่ 1 ยุติลง แม้ว่าทหารผ่านศึกจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ในชีวิตประจำวันพวกเขายังคงสวมเสื้อกันฝนเหมือนเดิม ยิ่งเพิ่มความนิยมให้คนทั่วไปหันมาสนใจสวมเสื้อกันฝนตามไปด้วย จนกลายเป็นแฟชั่นไปในที่สุด เพราะนักออกแบบต่างตัดเย็บเสื้อให้มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น

 

ยุคใหม่: ความงามของเสื้อกันฝน

หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่เปลี่ยนการรับรู้ของคนทั่วโลกที่มีต่อเสื้อกันฝนเสียใหม่ โดยสร้างภาพจำให้เครื่องแต่งกายนี้เป็นของที่ต้องมีในชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของวงการฮอลลีวูด เพราะชุดของตัวละครเอกจะต้องมีเสื้อกันฝนเป็นส่วนประกอบด้วยเสมอ เช่น ภาพยนตร์เพลงเรื่อง Singin’ in the Rain (1952)

ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) นักแสดงสาวจากภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961) เธอสวมใส่เสื้อกันฝน ทำให้เสื้อกันฝนกลายเป็นชุดใฝ่ฝันของสาวๆ ในยุค 50s และ 60s

Photo: Paramount Pictures

เมอรีล สตรีป (Meryl Streep) สวมใส่เสื้อกันฝนของเบอเบอรี่ในภาพยนตร์เรื่อง Kramer vs. Kramer (1979)

Photo: Columbia Pictures

ส่วนในชีวิตจริง นักแสดงฮอลลีวูดก็หันมาสวมใส่เสื้อกันฝนทั้งเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวและออกงานสังคม ยิ่งทำให้เสื้อกันฝนกลายเป็นชุดที่สวมใส่ได้ทุกโอกาส ขณะเดียวกันเสื้อกันฝนจากแบรนด์ต้นกำเนิดอย่าง Mackintosh, Burberry และ Aquascutum ก็กลายเป็นแม่แบบให้แบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ ผลิตเสื้อกันฝนตามไปด้วย

จนกระทั่งโลกรู้จักใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมและสามารถสังเคราะห์พลาสติกและยางได้ พลาสติกและยางจึงกลายมาเป็นวัสดุหลักสำหรับผลิตเสื้อกันฝน และเปลี่ยนโฉมเครื่องแต่งกายนี้ให้มีรูปแบบที่หลากหลายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

Photo: [ซ้าย] Stephen King’s It (1990) [ขวา] It (2017) / Warner Bros. Pictures
ไม่ว่าเสื้อกันฝนตัวหนึ่งจะผลิตขึ้นจากวัสดุอะไร แต่ภายใต้เนื้อผ้าบางๆ ของทั้งเส้นใยเคลือบสาร ยาง และพลาสติก ซึ่งน้ำไม่สามารถซึมเข้าไปได้ กลับซับประวัติศาสตร์ไว้หลากหลายแง่มุม ทั้งหมดนี้จึงทำให้เรื่องของเสื้อกันฝนเป็นมากกว่าแฟชั่น 

 

อ้างอิง