©ulture

‘ชุดกีฬา’ ประจำทีมชาติในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 นับเป็นอีกหนึ่งสีสันที่น่าสนใจไม่แพ้การแข่งขัน

เพราะชุดกีฬาไม่ใช่แค่เครื่องแต่งกายธรรมดา แต่เป็นผลรวมจากความตั้งใจจริงของชาตินั้นๆ ที่ต้องการแสดงศักยภาพด้านอื่นๆ นอกเหนือจากความสามารถของนักกีฬาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั่วโลก

นั่นหมายความว่า กว่าจะสำเร็จเป็นชุดให้นักกีฬาได้สวมใส่ลงสนาม ย่อมต้องผ่านวิธีการคิดและออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน คำนึงถึงความคล่องตัวเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายของนักกีฬาและเสริมสร้างความมั่นใจพร้อมคว้าชัยชนะเป็นสำคัญ โดยไม่หลงลืมความสวยงามและเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนที่แต่ละชาติภาคภูมิใจ

หากเปรียบสนามแข่งขันเป็นรันเวย์ในโลกของแฟชั่น ชุดกีฬาจึงไม่ต่างจากเสื้อผ้าตัวเก่งที่โดดเด่นไม่แพ้ความแข็งแกร่งและพละกำลังของเหล่านักกีฬา

ภาพที่เห็นทั้งหมดนี้ ชวนให้เราในฐานะผู้ชมที่นั่งฟรอนต์โรว์ สืบย้อนกลับไปยังเรื่องราวจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้างสรรค์ชุดกีฬาของแต่ละชาติ เพราะเราเชื่อว่าทุกรายละเอียดที่ปรากฏและประกอบเป็นชุด ล้วนแฝงความหมายลึกซึ้งเป็น soft power ทำให้คนหันมาสนใจและชื่นชมชาตินั้นๆ นี่คือความสนุกและเสน่ห์ของชุดกีฬาจาก 5 ทีมชาติที่ becommon เลือกมา

 

ชุดกีฬาแห่งการเริ่มต้นใหม่และความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทีมชาติญี่ปุ่น

Photo: JOC / JPC / ASICS

ประเทศเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 มอบหมายให้ ASICS แบรนด์สปอร์ตแวร์สัญชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ดูแลและออกแบบชุดกีฬาทั้งหมด ภายใต้แนวความคิดหลักคือ JAPONISM หรือความเป็นญี่ปุ่นที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมเข้ากับวิถีชีวิตและเทคโนโลยีล้ำสมัย

ASICS เลือกใช้ Sunrise Red หรือ สีแดงดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นสีหลักของชุดกีฬา เพื่อสื่อถึงรุ่งอรุณของความหวังและการเริ่มต้นใหม่ ส่วนลวดลายบนเสื้อดัดแปลงมาจากศิลปะการพับกระดาษห่อของขวัญแบบโบราณที่เรียกว่า Origata ผสมผสานกับศิลปะการเลือกและจับคู่เฉดสีของชุดกิโมโนที่เรียกว่า Kasane no Irome

แต่หัวใจสำคัญของชุดกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นครั้งนี้อยู่ที่ขั้นตอนการออกแบบและทดสอบเนื้อผ้า ซึ่งทาง ASICS ทุ่มเทเวลาศึกษานานถึง 4 ปีเต็มเพื่อให้ได้ mesh หรือผ้าตาข่ายที่ดูดซับความเปียกชื้นจากเหงื่อได้ดีและระบายความร้อนได้เร็วทำให้แห้งไว เมื่อนักกีฬาสวมใส่จะกระชับเข้ากับร่างกายช่วยให้เคลื่อนไหวไหลลื่น และคำนึงถึงความยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Photo: https://olympics.com/tokyo-2020/en/news/asics-develops-official-sportswear-and-volunteer-uniforms

เนื้อผ้าตาข่ายที่นำมาตัดเย็บเป็นชุดกีฬาและรองเท้าจึงถักทอมาจากเส้นใยรีไซเคิลของเสื้อผ้าเก่าเหลือใช้ที่คนญี่ปุ่นทั่วประเทศตั้งใจส่งมาให้ สะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนญี่ปุ่น ซึ่งร่วมทำหน้าที่เจ้าภาพให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

 

ชุดดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาเพื่อนักกีฬาตัวจริง
ทีมชาติสหรัฐอเมริกา

Photo: NIKE

การออกแบบชุดนักกีฬาให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ NIKE ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะ NIKE ตัดสินใจยกเครื่องเทคโนโลยีการผลิตชุดกีฬาใหม่ทั้งหมด ถือเป็นก้าวสำคัญอีกหนึ่งก้าวของแบรนด์สปอร์ตแวร์สัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักระดับต้นๆ ของโลก

Photo: NIKE

NIKE เริ่มต้นมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ โดยตั้งโจทย์ไว้ว่า ชุดและรองเท้าของ NIKE ต้องช่วยให้นักกีฬารู้สึกพร้อมเต็มที่และแสดงศักยภาพได้สูงสุด

หนึ่งในทางลัดที่ NIKE เลือกใช้ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบ คือศึกษารุ่นรองเท้าและเสื้อผ้าของ NIKE เองที่แชมป์โลกแต่ละประเภทกีฬาเลือกสวมใส่ว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่น่าสนใจ แล้วพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีการผลิตที่เคยคิดค้นไว้ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดโดยให้นักกีฬาตัวจริงเป็นคนทดสอบด้วยตัวเอง

ชุดกีฬาของ NIKE ส่วนใหญ่ตัดเย็บจากเนื้อผ้าบางและเบาจากพลาสติกและยางรีไซเคิล เพราะความหนาอาจสร้างความรำคาญหรือรบกวนใจนักกีฬากลายเป็นอุปสรรคทำให้พลาดเหรียญรางวัลไป ส่วนพื้นรองเท้าขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติเพราะมีโครงสร้างที่ละเอียดมากขึ้น

นอกจากนี้ ชุดที่ NIKE ผลิตในแต่ละประเภทกีฬา ยังมีให้เลือกมากกว่า 1 แบบ ขึ้นอยู่กับความพอใจของนักกีฬาว่าใส่ชุดแบบไหนแล้วรู้สึกมั่นใจและสบายตัวมากกว่า

นี่อาจเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนให้สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ซึ่งคว้าไปได้ 39 เหรียญ

แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกขั้นตอนการออกแบบ NIKE ต้องระวังไม่ให้รองเท้ากลายเป็นความขัดแย้งที่อาจสร้างประเด็นถกเถียงในหมู่นักกีฬาและคณะกรรมการได้ว่า เพิ่มความได้เปรียบให้ผู้สวมใส่ เพราะสุ่มเสี่ยงถูกตีความว่าโกง ซึ่งจะส่งผลเสียให้กับทุกฝ่ายและอาจเป็นการทำลายอนาคตนักกีฬาลงได้

 

ชุดกีฬาสะท้อนการเคารพตัวตนอย่างซื่อตรง
ทีมชาติไลบีเรีย

Photo: Jason Nocito / Telfar

ชุดกีฬาของทีมชาติไลบีเรียเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงแฟชั่น เพราะความแปลกใหม่ที่กล้าแตกต่างและแหวกแนวจนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่คือหน้าตาของชุดกีฬา

Photo: Jason Nocito / Telfar

ทั้งหมดคือผลงานการออกแบบของ เทลฟาร์ คลีเมนส์ (Telfar Clemens) นักออกแบบชาวอเมริกันเชื้อสายไลบีเรีย เจ้าของ Telfar แบรนด์แฟชั่นที่ผลิตกระเป๋าเป็นสินค้าหลัก แต่สาเหตุที่ทำให้คลีเมนส์ตอบรับเป็นผู้สนับสนุนและตัดเย็บชุดกีฬาให้ทีมชาติไลบีเรียเกิดจากการดิ้นรนของนักกรีฑาอย่าง เอมมานูเอล มาทาดี (Emmanuel Matadi) เพราะรัฐบาลไม่มีงบให้พวกเขา แถมยังขาดผู้สนับสนุนหลักอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2000

คลีเมนส์มีเวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น สำหรับสร้างสรรค์ชุดกีฬาทั้งหมด 70 ชุด เขาจึงตั้งต้นด้วยการถามตัวเองว่า แฟชั่นไลบีเรียเป็นแบบไหน

คำตอบที่พบ กลับไม่ใช่ Kente หรือผ้าพิมพ์ลายเส้นและเรขาคณิตแบบแอฟริกันตะวันตก แต่เป็นเสื้อผ้ามือสองของประเทศตะวันตกที่คนในประเทศยากจนและเกิดสงครามการเมืองได้รับบริจาคมา เสื้อที่แต่ละคนสวมใส่จึงไม่เคยพอดีตัว

มุมมองต่อเสื้อผ้าที่เกิดขึ้นจริงในไลบีเรียกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คลีเมนส์ออกแบบชุดนักกีฬาที่คำนึงถึงการใช้งานบนสนามแข่งอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และคงเอกลักษณ์ขาดๆ เกินๆ แบบแฟชั่นนี้ไว้ได้ในคราวเดียวกัน ทุกชุดจึงไม่มีเพศ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสวมใส่ได้เสมอกัน

ความกล้าบ้าบิ่นที่คลีเมนส์จัดเต็มในทุกชุด ทำให้นักกีฬาส่วนใหญ่ปฏิเสธทันที เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต จนกระทั่งวินาทีที่เหล่านักกีฬาเปิดใจลองสวมใส่ชุดนี้ พวกเขารู้ตัวว่าด่วนตัดสินเร็วเกินไปในตอนแรก

Photo: Jason Nocito / Telfar

ทุกครั้งที่นักกีฬาทีมชาติไลบีเรียก้าวลงสู่สนาม ทุกคนต่างภูมิใจในชุดกีฬาที่ไม่เหมือนใคร เพราะพวกเขามองเห็นสิ่งที่ลุ่มลึกมากกว่าการตีกรอบตัวเองให้ยึดติดอยู่กับชุดกีฬาตามขนบ อาจเรียกสิ่งนั้นว่า การยอมรับตัวเองและเคารพที่มาของตัวตนอย่างซื่อตรง ตามที่คลีเมนส์ตั้งใจให้เป็น

 

ชุดที่คงจิตวิญญาณของนักกีฬาเอาไว้
ทีมชาติออสเตรเลีย

Photo: AOC / ASICS

ถึงแม้ครั้งนี้ ประเทศว่าที่เจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ ในปี 2032 ณ เมืองบริสเบน อย่างออสเตรเลีย จะไว้วางใจให้ ASICS เป็นผู้ดูแลและออกแบบชุดกีฬาให้นักกีฬาทุกคนเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น แต่สิ่งที่แตกต่างกันย่อมอยู่ในรายละเอียด

ASICS ออกแบบชุดกีฬาทีมชาติออสเตรเลียโดยยึดหลักความเรียบง่ายแต่ยังคงจิตวิญญาณและความภาคภูมิใจของนักกีฬาเอาไว้ แล้วใช้คู่ สีเขียว และ สีทอง ที่สื่อถึงประเทศเพราะเป็นสีประจำชาติ ส่วนลวดลายบนเสื้อแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือแถบเส้นตรงซึ่งได้รับแรงบันดาลมาจาก origami หรือศิลปะการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น

Photo: AOC / ASICS

ขณะที่แบบสองเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ พอล เฟลมิ่ง (Paul Fleming) ตัวแทนนักกีฬาจากชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย ลายที่ว่ามีชื่อเรียกคือ 52 Steps สื่อถึงชนเผ่าแต่ละกลุ่มที่ตบเท้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมชาติออสเตรเลียด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อเป้าหมายเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าแต่ละคนมีที่มาและภูมิหลังจากไหน

ชุดกีฬาทีมชาติออสเตรเลีย ASICS ใช้เวลาถึง 4 ปีไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาและทดสอบชุดร่วมกับนักกีฬาประเภทต่างๆ จนกว่าพวกเขาจะรู้สึกพึงพอใจกับชุดที่ต้องสวมใส่ลงสนามจริง ยกเว้นชุดกีฬาทางน้ำที่ผูกขาดกับ Speedo แบรนด์ชุดว่ายน้ำสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกางเกงและชุดว่ายน้ำให้ทีมชาติออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี 1932

Photo: AOC / Speedo

แต่ความพิเศษของกางเกงและชุดว่ายน้ำครั้งนี้ Speedo ได้ร่วมมือกับ Natural History Museum หรือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งกรุงลอนดอน เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของฉลาม ก่อนนำผลลัพธ์มาออกแบบเนื้อผ้าใช้ตัดเย็บเป็นกางเกงและชุดว่ายน้ำ 2 รุ่นให้นักกีฬาเลือกใส่

 

ชุดกีฬาสื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ
ทีมชาติฝรั่งเศส

Photo: LACOSTE / Le Coq Sportif

ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ครั้งต่อไปที่กรุงปารีสในปี 2024 ซึ่งครองตำแหน่งประเทศต้นกำเนิดแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมากมายด้วย ฝรั่งเศสจึงจับคู่แบรนด์สปอร์ตแวร์เก่าแก่อย่าง LACOSTE และ Le Coq Sportif มาช่วยกันออกแบบชุดกีฬาให้ทีมชาติ

แม่นยำ เพียรพยายาม ยืนหยัด และมั่นใจ คือคำสำคัญที่ LACOSTE ยึดถือเป็นหลักคิดสำหรับออกแบบชุดให้นักกีฬา และกำหนดให้ทุกชุดปรากฏสีทั้ง 3 ตามธงชาติฝรั่งเศสคือ ขาว น้ำเงิน และ แดง ร่วมกัน โดยวางตำแหน่งของสีและชิ้นส่วนเนื้อผ้าตามแรงบันดาลใจที่ได้จากวงกลม สีแดง แทนดวงอาทิตย์บนธงชาติญี่ปุ่นและชุดกิโมโน สื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองชาติ ส่วนชุดกีฬาที่ต้องใช้เนื้อผ้าเข้ารูป Le Coq Sportif เป็นฝ่ายรับไปดูแลทั้งหมด

Photo: LACOSTE / Le Coq Sportif

แต่สิ่งสำคัญที่สองแบรนด์ตั้งใจถ่ายทอดออกมาให้ได้มากที่สุดคือความเป็นผู้ดีเก่าที่อยู่ในสายเลือดของฝรั่งเศสของชุดกีฬา นอกเหนือจากสวมใส่ได้สะดวกสบายแล้ว ทุกชุดต้องช่วยเสริมบุคลิกภาพให้นักกีฬาดูสง่างามในทุกท่วงท่าด้วย

 

อ้างอิง

  • AOC. Speedo Launches Tokyo 2020 Olympic Swimwear Range. https://bit.ly/3lM3O9D
  • ASICS Japan. 東京2020 オリンピック・パラリンピック競技大会日本代表選手団 オフィシャルスポーツウエアに込めた想い. https://bit.ly/3s0QC1E
  • ASICS. ASICS reveals recycled official sportswear to Tokyo 2020 Japan Olympic and Paralympic team ASICS produces official items for the team. https://bit.ly/2X9bYyG
  • Ebenezer Robbins. Lacoste presents its collection for the Tokyo Olympic and Paralympic Games. https://bit.ly/3CI9jMK
  • NIKE. Check out NIKE’s competition apparel for Tokyo. https://swoo.sh/3fNg1Hh
  • Todd Kortemeier. Team USA goes all white everything for 2020 Olympic, Paralympic medal stand apparel designed by NIKE. https://go.teamusa.org/3Ct0aax
  • Tracey Holmes. Australia’s Olympic team reveals its uniform for Tokyo, with the design paying tribute to Indigenous past athletes. https://ab.co/3CAARmU
  • Vanessa Friedman. Telfar Clemens is getting into the leggings game. https://nyti.ms/3ivDdM4