©ulture

เราหลายคนอาจลืมตาดูโลกมาพร้อมกับไซส์เสื้อผ้า S M L XL แล้วเผชิญกับความคับไป หลวมไป อีกทั้งไซส์ของแต่ละที่ก็ไม่เท่ากัน ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามว่าสัดส่วนของมนุษย์เรานั้นถูกจำกัดอยู่ในตัวเลขหรือตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นได้จริงหรือ?  

ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ ‘ไซส์เสื้อผ้า’ ที่ไม่เคยหยุดพัฒนา ไซส์ที่เรายึดไว้เป็นมาตรฐานในทุกวันนี้คงเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ บนปฏิทินเท่านั้น เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

สมัยนั้นผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าที่ออกแบบและตัดเย็บของใครของมัน ส่วนช่างตัดเสื้อที่มีความเชี่ยวชาญนั้นยังถูกสงวนไว้ให้กับคนมีฐานะและชนชั้นสูง เสื้อผ้าที่วางขายกันเกลื่อนตลาดอย่างทุกวันนี้ยังไม่มีให้เห็น มีแต่ชุดที่ออกแบบให้พอดีกับคนใส่ เป็นแบบที่มีตัวเดียวในโลก ในตอนนั้นยังไม่มีขนาดเสื้อผ้าที่เป็น ‘มาตรฐาน’ นอกเสียจากแบบคร่าวๆ ที่ส่งต่อให้กันในหมู่คนทำเสื้อเท่านั้น

ส่วนหนึ่งจากหนังภาพของ ควน ดี อัลเซกา

แบบแผนการตัดเย็บอย่างละเอียดชิ้นแรกเผยให้เห็นสู่วายตาสาธารณะ ในปี 1589 เป็นหนังสือภาพที่เขียนถึงวิธีการตัดเย็บและลายผ้า โดย ควน ดี อัลเซกา (Juan de Alcega) ชาวสเปนที่เป็นทั้งช่างตัดเสื้อและนักคณิตศาสตร์

ระบบไซส์เสื้อผ้าเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการมากนักในสงคราม ไม่ว่าจะเป็นทั้งสงครามนโปเลียน, สงครามไครเมีย และสงครามกลางเมืองอเมริกา ทุกกองทัพจำเป็นต้องตัดชุดออกรบที่มีทรงและสีเหมือนๆ กันให้กับกองกำลังทหารจำนวนมาก เพื่อความสะดวกสบายที่สุด จึงจำเป็นต้องกำหนดไซส์เสื้อผ้าขึ้นมา โดยวัดจากรอบอกเพียงอย่างเดียว

เครื่องแบบทหารในกองทัพ

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของผู้ชายก็ค่อยๆ เฟื่องฟูขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายวางขายให้เห็นได้ทั่วไป และมีมาตรวัดที่ครอบคลุมขนาดหน้าอกตั้งแต่ 21-36 นิ้ว ซึ่งรวมขนาดเสื้อผ้าของเด็กๆ เข้าไปในนั้นด้วย โดย วิลเลียม ดี เอฟ วินเซนท์ (William D. F. Vincent) จัดทำขึ้นในปี 1890

แบบร่างของ วิลเลียม ดี เอฟ วินเซนท์

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าของผู้ชายออกสู่ท้องตลาดเรื่อยๆ ในที่สุดก็เกิดมาตรฐานไซส์เสื้อผ้าอันเป็นที่ยอมรับแบบสากลในสหราชอาณาจักร โดยวัดจากขนาดรอบอกและเอว ที่ใช้ชื่อว่า ‘Leeds sizing systems’

แม้ว่าวงการแฟชันของผู้ชายจะกระโดดเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม แต่สำหรับเสื้อผ้าผู้หญิงนั้นยังตามหลังอยู่นาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่างกายของผู้หญิงมีส่วนเว้าโค้ง การวัดไซส์จึงมีรายละเอียดมากกว่าเพราะต้องวัดทั้ง หน้าอก เอว สะโพก และส่วนสูง เข้าไปด้วยกว่าจะได้ชุดสักหนึ่งชุด

ส่วนหนึ่งจากหนังสือภาพของชาร์ลส์ เฮคลิงเออร์

ความอัดอั้นตันใจนี้ทำให้ ชาร์ลส์ เฮคลิงเออร์ (Charles Hecklingerช่างตัดเสื้อชาวอเมริกัน พยายามสร้างบล็อกการตัดชุดของผู้หญิงให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมร่างกายที่แตกต่างของผู้หญิงหลายขนาด ความท้าทายครั้งนี้คือขนาดหน้าอกและสะโพกของผู้หญิง ที่มีความหลากหลายเกินกว่าจะกำหนดได้ด้วยตัวเลข (ภายหลังจึงมีระบบการวัดขนาดหน้าอกมาโดยเฉพาะ)

เมื่อร่างกายของผู้หญิงมีมิติและยากจะวัดได้ด้วยตัวเลขเพียงไม่กี่ตัว ในปี 1939 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) จึงทำวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ชื่อว่า Women’s Measurements for Garment and Pattern Construction เป็นเวลาหนึ่งปี โดยรัฐบาลได้ทำงานร่วมกับนักคหกรรมศาสตร์เพื่อศึกษาน้ำหนักและขนาดร่างกายอย่างละเอียดทั้งหมด 58 แบบ ของผู้หญิง 14,698 คน จาก รัฐในอเมริกา เพื่อหาวิธีว่าเราจะวัดไซส์เสื้อผ้าของผู้หญิงได้อย่างไร จนท้ายที่สุดพวกเขาสรุปได้ว่าต้องวัด จุด คือ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบอก รอบเอว และสะโพก

ภาพจากการวิจัย Women’s Measurements for Garment and Pattern Construction

อย่างไรก็ตามวิจัยครั้งนี้ยังมีช่องโหว่มหาศาล เพราะผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นหญิงผิวขาวเท่านั้น ทำให้เราไม่อาจเชื่อมั่นได้เลยว่านี่จะเป็นมาตรวัดที่สมบูรณ์แบบที่สุด เมื่อผู้หญิงอีกหลายคนไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในนั้นด้วย ท้ายที่สุดแล้วมาตรวัดนี้ก็ยังไม่ใช่เวอร์ชันที่ดีที่สุด และผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา เผยให้เห็นว่ามีผู้หญิงเพียง เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีรูปร่างพอดีกับไซส์ดังกล่าว เนื่องจากผู้คนมีขนาดตัวขยายใหญ่ขึ้นในทุกๆ ปี

เมื่อร่างกายของผู้คนใหญ่กว่าไซส์เสื้อผ้าขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตเสื้อผ้ากลับแปะขนาดไซส์ที่เล็กลง เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Vanity sizing’ หรือการแปะไซส์ให้เล็กกว่าขนาดจริง เช่น กางเกงยีนส์ที่ไซส์ ถูกแปะป้ายว่าเป็นไซส์ เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นเวลาเลือกซื้อเสื้อผ้า ในยุคนี้ไซส์กลายเป็นเรื่องของการตลาด เพราะขนาดที่แม่นยำนั้นไม่มีอยู่จริง

ในปี 1969 เพื่อความเป็นระบบ ระเบียบมากขึ้น มาตรฐานไซส์เสื้อผ้าก็ถูกพัฒนาขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยยังมีจุดร่วมเดียวกันตามข้อกำหนดของ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ที่ได้สร้างระบบไซส์ระหว่างประเทศขึ้นในตอนนั้น

อย่างไรก็ตามแม้จะมีขนาดที่แน่นอน แต่ไซส์เสื้อผ้าก็มีประโยชน์สำหรับช่างตัดเสื้อ หรือผู้ผลิตเท่านั้น สำหรับคนใส่แล้วไม่ว่าอย่างไร ก็ยังไม่มีขนาดที่พอเหมาะพอดีกับมนุษย์ทุกคนเสียที ทำให้เห็นว่ายังมีการวิจัย สำรวจ และพัฒนาระบบไซส์อยู่เรื่อยๆ มาจนปัจจุบัน

จนกระทั่งในปี 1996 ไซส์เสื้อแบบอัลฟ่า (Alpha Sizing) ก็ถือกำเนิดขึ้นในยุโรป โดยมีการกำหนดตัวอักษร s m l xl สำหรับไซส์ทั้งหมด เดิมทีระบบนี้ถูกคิดค้นมาสำหรับการผลิตเสื้อยืดและชุดกีฬาที่มีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถควบรวมไซส์ 2-3 ขนาดไว้ในตัวอักษรเดียวได้

แต่ทว่าระบบนี้กลับเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกนำมาใช้กับการผลิตเสื้อผ้าทั่วไปในอุตสาหกรรม เพราะผลิตง่าย ผลิตเร็ว ไม่ต้องกำหนดไซส์ให้หลากหลายมากนัก อีกทั้งยังทำให้คนตัดสินใจซื้อของได้ง่ายขึ้น เพราะมีอยู่แค่ไม่กี่ตัวเลือก

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับไซส์เสื้อผ้าแบบอัลฟ่าหรือในโลกที่ไซส์แบบนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แล้วมีรูปร่างที่ไม่ได้ตรงตามไซส์ดังกล่าว (ที่ก็ไม่ได้มีมาตรฐานมาตั้งแต่แรก) ข้อเสียคืออาจจะลำบากกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่แทบจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความหลากหลายของร่างกายมนุษย์ เมื่อเป้าหมายของมันคือการอำนวยความสะดวกให้กับการค้าเป็นหลัก

แต่ข่าวดีคือนี่จะเป็นเพียงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปเท่านั้น เพราะการปรับขนาดไซส์เสื้อผ้านั้นไม่เคยหยุดนิ่ง และเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้มาตรฐานเดียวกันเพื่อวัดขนาดผู้คนทั้งโลก  มาตรฐานของไซส์เสื้อผ้าอาจไม่เคยมีอยู่จริงมาตั้งแต่แรก และยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่แน่ว่าเมื่อเรามีทางเลือกมากขึ้น การออกแบบเสื้อผ้ารายบุคคลเหมือนสมัยก่อนอาจกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งก็ได้

อ้างอิง