©ulture

เดือนเมษายนที่ผ่านมา คนทำงานหลายคนน่าจะวุ่นวายและต้องปรับนู่นนี่กันให้วุ่น เพราะต้องกลับมา work from home จริงจังกันอีกครั้ง

ยังไม่นับเรื่องงานที่ทำก็ต้องเปลี่ยนแปลง แผนที่วางไว้ก็ล่มบ้าง ปรับบ้าง เปลี่ยนกระทันหันบ้าง ซึ่งในเวลานี้ คิดว่าหลายคนคงจะเครียดและรู้สึกติดแหง็กเพราะทำอะไรไม่ได้มากนัก ทว่า ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ออกไปไหน ทำให้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากกว่าปกติ จะว่าไปก็มีข้อดีเหมือนกัน

ในบทความนี้ เลยอยากชวนผู้อ่านมาใช้ช่วง work from home เป็นโอกาสได้รีเซ็ตตัวเองเป็น ‘คนใหม่’ ผ่าน 4 ขั้นตอน หรือ ‘4 Re’ เพราะในช่วงเวลาปกติ หลายคนอาจทำอะไรตามรูทีนไปเรื่อยๆ เลยยากมากที่จะมีเวลาตกผลึกกับตัวเอง ส่งผลให้มองไม่เห็นตัวเอง หรือไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า self-awareness เท่าที่ควร ชีวิตจึงไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง

1. Review

ก่อนจะเริ่มรีเซ็ต ต้อง ทบทวนตัวเอง ก่อนว่าที่ผ่านมาตัวคุณคนเดิมเป็นอย่างไร? คุณชอบหรือไม่ชอบตัวเองด้านไหนบ้าง? อะไรคือความฝันหรือเป้าหมายที่คุณต้องการกันแน่? แล้วตอนนี้ตัวคุณเดินทางไปตามฝันหรือเป้าหมายที่วางไว้อยู่หรือไม่?

นอกจากการถามตัวเองในช่วงนี้แล้ว อยากให้คุณลองถามคนอื่นเพื่อขอฟีดแบคดูบ้าง โดยเฉพาะคำถามว่า

‘ถ้าจะแนะนำอะไรสักหนึ่งอย่าง เพื่อให้คุณดีขึ้น อยากแนะนำอะไร?’

เชื่อเถอะว่า คำถามนี้จะนำคุณไปสู่มุมมองใหม่ๆ ที่คุณไม่รู้มาก่อนเยอะมาก ที่บอกแบบนี้ก็เพราะว่าเราทำอยู่เหมือนกัน จากเป็นคนไม่ค่อยฟังฟีดแบคคนอื่น แต่พอเริ่มถามคำถามนี้ ไม่น่าเชื่อว่าเราได้เห็นตัวเองในมุมใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ และทำให้เราได้เห็นตัวเองที่แท้จริงชัดขึ้น

แต่การขอฟีดแบคจากคนอื่นจะกลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนตำแหน่งสูงขึ้น เพราะยิ่งตำแหน่งสูงมากเท่าไร พวกเขาจะได้ยินแต่คำว่า “ได้ครับ ดีค่ะ” ตลอดเวลา จนพวกเขาขาดเสียงสะท้อนหรือการรีวิวตัวเองน้อยกว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งชั้นผู้น้อยด้วยซ้ำ

ฉะนั้น ถ้าคุณรู้จักขอฟีดแบคจากคนอื่นอยู่ตลอด เวลาคุณก้าวขึ้นตำแหน่งสูงๆ คุณก็จะไม่ติดกับดักมองไม่เห็นตัวเองอย่างที่คนตำแหน่งใหญ่ๆ มักตกม้าตายและเป็นกัน

2. Rethink

เมื่อได้ฟีดแบคและได้ทบทวนตัวเองรอบด้าน กระบวนการหนึ่งที่จะเกิดกับตัวคุณแน่นอน คือ การคิดใหม่

อย่างเราชอบคิดเสมอว่า ตัวเองเป็นคนใจกว้างและรับฟังความเห็นจากคนอื่นๆ แต่พอเริ่มทบทวนตัวเองและถามฟีดแบคจากคนที่ทำงานแล้วก็ต้องตกใจ จริงๆ เราเป็นคนไม่ฟังคน มีนิสัยชอบตัดบท โดยเฉพาะกับลูกน้อง ทำให้ฟังความเห็นพวกเขาได้ไม่หมด ผลที่ตามมาคือลูกน้องมองว่า เราไม่ค่อยฟังความเห็นพวกเขา ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราคิดเองมาตลอดว่า เป็นคนรับฟังความเห็นจากคนอื่น

พอรู้ตัวก็เริ่มคิดใหม่ว่า เอาล่ะ การตัดบทหรือการไม่ยอมฟังความเห็นจนจบไม่ตรงกับมุมมองการทำงานของเรา จากนั้นจึงตั้งปณิธานว่า เราจะตั้งสติคอยเตือนตัวเองเวลาลูกน้องหรือคนอื่นแสดงความเห็น พยายามสะกดตัวเองให้ตั้งใจฟัง และไม่รีบตัดบท ซึ่งกระบวนการนี้แหละคือการคิดใหม่

สำหรับตัวคุณ หากรู้ว่ามีปัญหาอะไร ก็ควรคิดใหม่ว่า คุณจะเชื่อตัวเองคนเดิม หรือจะลองรับฟังฟีดแบคนั้น แล้วพยายามทำความเข้าใจใหม่ ซึ่งบางทีการคิดใหม่ อาจไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวคุณเองก็ได้ แต่อาจเป็นมุมมองของคุณมีต่อสถานการณ์หรือต่อคนอื่น

เช่น คุณอาจเข้าใจว่า หัวหน้าใจไม่กว้างกับคุณเลย เอะอะอะไรก็ปัดไอเดียคุณตกเสมอ แต่พอคุณได้ลองคิดเรื่องนี้ใหม่ หรือลองถามความเห็นจากคนอื่น หรือกระทั่งลองถามหัวหน้าตรงๆ ว่า ทำไมไอเดียที่คุณเสนอถึงไม่ค่อยผ่านเลย พอจะบอกเหตุผลหน่อยได้ไหม? บางทีคุณอาจได้ยินคำตอบที่อาจไม่คาดมาก่อน เช่น จริงๆ แล้วปัญหาไม่ใช่ไอเดียคุณไม่ดี แต่นายใหญ่ที่สูงกว่าหัวหน้าคุณเป็นคนคับแคบจนหัวหน้าคุณรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้าขืนเอาไอเดียคุณไปขาย นายใหญ่ก็ถูกปัดตกอยู่ดี

จุดนี้จะทำให้คุณกับหัวหน้าได้ปรับความเข้าใจใหม่ จากที่เคยคิดว่าเขาใจแคบ คุณได้เห็นแล้วว่าจริงๆ เขาชอบไอเดียและความสามารถของคุณ แทนที่คุณจะทู่ซี้ส่งไอเดียแบบเดิมไป คุณก็หันมาปรับการทำงานใหม่โดยเน้นขายไอเดียให้ผ่าน ซึ่งไม่ใช่ผ่านแค่หัวหน้า แต่คิดไกลว่านั้นว่าเป็นไอเดียที่นายใหญ่น่าจะให้ผ่าน ทำให้คุณทำงานได้คล่องขึ้น เพราะรู้แล้วว่าต้นตอปัญหามาจากอะไร

3. Refocus

เมื่อได้ทบทวนตัวเอง ได้คิดใหม่กับสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ถึงเวลาที่คุณต้องจัดลำดับความสำคัญในชีวิตใหม่ ว่าง่ายๆ คุณต้อง จัดลำดับความคิดใหม่

ทำไมน่ะหรือ?

ก็เพราะคุณไม่สามารถทำทุกอย่างหรือแก้ทุกเรื่องในชีวิตได้ทั้งหมดพร้อมกัน ฉะนั้น คุณต้องเลือกและจัดสรรว่า อะไรคือสิ่งที่คุณจะลงมือปรับปรุงเป็นอันดับต้นๆ

เช่น หากทบทวนตัวเองกับคนรอบตัวแล้วพบว่า คุณเป็นคนทำงานดีแต่มีข้อเสียคือเฉือยชาเกินไป ก็ขอให้คุณลองถามตัวเองต่อด้วยคำถามที่ลึกลงไปกว่านั้นว่า อะไรทำให้คุณเฉือยชา? ตัวงานที่น่าเบื่อหรือเป็นตัวคุณที่หมดไฟ? หรือจริงๆ คุณมองว่าสปีดของคุณปกติดีอยู่แล้ว แต่ไหนแต่ไรก็ทำได้ประมาณนี้ แค่งานที่ทำสปีดเร็วกว่าตัวคุณไปหน่อย ทีนี้คุณต้องมาคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไร? จะทำงานเดิมด้วยสปีดใหม่ หรือย้ายงานใหม่ที่มีสปีดทำงานเหมาะสมกับชีวิตคุณ

เมื่อได้คำตอบ คุณก็ต้องจัดสรรการแก้ปัญหา หรือปรับมุมมองเหล่านั้น เพราะหากคุณพยายามแก้ไขหรือปรับปรุงเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ในชีวิตคุณหรือคุณ ‘คนใหม่’ ก็จะเกิดขึ้นจริง เพราะนั่นคือข้อเท็จจริงใหญ่ๆ ที่มาจากการบทบวนทั้งเสียงของตัวเองและคนรอบข้าง

4. Reset

มาถึงขั้นตอนที่ 4 คือเริ่มตั้งหลักกันใหม่ ลองจินตนาการว่าตัวคุณเหมือนไอโฟน เวลาอัปเดตเวอร์ชั่นใหม่ ระบบก็จะขอให้รีเซ็ตหรือปิดเปิดเครื่อง เช่นกันกับชีวิต เมื่อคุณรู้แล้วว่าอะไรคือ bug หรือจุดบกพร่อง รวมถึงรู้จุดและวิธีแก้ไข ที่เหลือก็แค่ เริ่มชีวิตกันใหม่ ตามที่คุณได้ตกผลึกมาแล้วว่าคุณอยากปรับอะไร และอยากคงอะไรไว้ต่อ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ในขั้นตอนนี้สิ่งที่คุณต้องมีเพิ่มขึ้นคือ การให้อภัยตัวเอง เพราะเชื่อเถอะ พอเห็นด้านไม่ดีของตัวเองเยอะๆ คุณจะหมกมุ่นและพลอยโกรธตัวเองกับสิ่งที่เป็น แต่การเอาแต่โทษตัวเองจะทำให้ขั้นรีเซ็ตชีวิตคุณสะดุดลงได้ เพราะคุณจะจมปลักกับปัญหามากกว่ามีกำลังใจปรับปรุงตัวเอง

ดังนั้น สิ่งสำคัญคืออย่าลืมให้อภัยตัวเอง คนเราผิดพลาดกันได้ ผิดก็ไม่ได้แปลว่าหมดโอกาส ผิดก็ไม่ได้แปลว่าจะผิดเสมอไป เมื่อคุณผ่านขั้นตอนมา 4 ข้อแล้ว นั่นแปลว่าคุณกำลังพยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเองอยู่ ฉะนั้น นี่คือเรื่องน่าชื่นชมและควรให้เครดิตตัวเอง ต่อให้ใครไม่เครดิตคุณ คุณก็ควรชื่นชมตัวเอง เพราะน้อยคนมากที่จะกล้าลุกมาปรับเปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ ซึ่งการตัดสินใจลงมือเปลี่ยนแปลงถือเป็นความกล้าหาญในชีวิตของคนคนหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ก็คือ 4 ขั้นตอนในการรีเซ็ตตัวเอง เราเชื่อว่าช่วง work from home แม้จะน่าอึดอัดและเต็มไปด้วยความเครียด แต่ถ้ามองให้เป็นโอกาส นี่คือเวลาที่คุณจะได้ทบทวน คิดใหม่ จัดลำดับความสำคัญใหม่ และได้เริ่มใหม่

ไม่แน่นะ พอกลับไปทำงานตามปกติ คุณอาจจะกลายเป็นคนใหม่ที่หลายคนหรือกระทั่งตัวเองต้องทึ่ง แล้วคุณอาจรู้สึกขอบคุณช่วงเวลานี้ก็ได้