©ulture

เรียกว่าเป็นปัญหากวนใจและน่าหงุดหงิดเรื่องหนึ่งของการเมืองในที่ทำงาน คือการเห็นคนไม่เก่ง คนมือไม่ถึง หรือเด็กเส้น ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นหรือได้เป็นหัวหน้า เพราะดูยังไงก็ค้านสายตาว่า นายใหญ่เอาคนนี้มาทำงานนี่นะ!?

ถ้าคุณหงุดหงิด หรือคิดว่า ‘พอกันที ถ้าฉันต้องทำงานอยู่ในองค์กรที่ไม่แฟร์แบบนี้ สู้ออกไปหาที่อื่นดีกว่า’ ก็อยากให้คุณได้อ่านบทความนี้ก่อน อย่าเพิ่งรีบตีโพยตีพายหรือรีบเปลี่ยนงาน มาลองทบทวนกันว่า เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์กับคุณด้วยซ้ำ ถ้าคุณมองมันเป็นและอ่านเกมออก

1. ตำแหน่งสูงขึ้น ใครว่าดี?

เวลาคนนอกมองเข้ามา ย่อมคิดว่าการได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นเรื่องดี เพราะเงินเดือนก็ขึ้น ชื่อตำแหน่งก็โก้หรู มีลูกน้องอีก บางทีมีสวัสดิการเพิ่มตามมา หรือเป็นจุดสนใจของนายใหญ่มากขึ้น

แต่นั่นเป็นเพียงคุณสมบัติภายนอกที่คนเห็น ความเป็นจริงการได้รับตำแหน่งสูงเหมือนการแบกแอกที่หนักขึ้น หรือการเอาเก้าอี้ไปวางอยู่บนตะแกงร้อน เพราะอะไรเหรอ? เพราะตำแหน่งตามมาด้วย ‘การแบกความคาดหวัง’ จากนายใหญ่ ลูกน้อง คนอื่นๆ หากทำผลงานไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี ก็เตรียมตัวอกสั่นขวัญแขวน เตรียมถูกแขวน หรือเตรียมถูกเด้งได้เลย

ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนมือไม่ถึงหรือเด็กเส้นที่มาด้วยวิธีพิเศษซึ่งไม่ใช่เพราะผลงาน การถูกโปรโมตอาจหมายถึงการที่พวกเขาจะ ‘ความแตก’ เร็วขึ้น เพราะไม่ช้าก็เร็ว ผลงานที่ไม่ดีหรือไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว รวมถึงการไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในทีม จะทำให้พวกเขากลายเป็นตัวตลก กระทั่งนายใหญ่ที่ดันพวกเขาขึ้นมา เมื่อเห็นว่าคนของตัวเองไปต่อไม่ไหว สุดท้ายนายใหญ่ก็ไม่สามารถปกป้องได้ต่อ ต้องหาวิธีจัดการเพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเครดิตที่เลือกคนไม่ดีเข้ามา

2. เมื่อคนไม่เก่งถูกโปรโมท นี่คือสัญญาณว่าโอกาสสำหรับคนเก่งจริงเริ่มขึ้นแล้ว

คนไม่เก่งยังไงก็คือคนไม่เก่ง ฉะนั้นไม่ช้าก็เร็ว คนไม่เก่งจะทำงานไม่ได้ แน่นอนว่าจุดนี้นี่แหละจะเป็น ‘โอกาส’ ให้คนเก่งจริงได้โชว์ฝีมือหรือเป็นฮีโร่นั่นเอง

ทีนี้ คุณอาจจะหงุดหงิดว่า อ้าว แล้วทำไม นายใหญ่ถึงไม่เอาคนเก่งขึ้นมาทำเสียเลย ทำไมต้องเอาคนไม่เก่งขึ้นมาก่อน ขอให้คุณคิดแบบนี้ การดันคนไม่เก่งนั้นมีหลายเหตุผล และคงไม่ใช่เรื่องที่นายใหญ่จะมาบอกให้คุณฟัง

เช่น บางครั้งเป็นเรื่องการเมืองที่สูงกว่านั้น อาจเป็นไปได้ว่าเขาคือเด็กเส้นใหญ่ที่นายใหญ่เกรงใจเลยไม่อยากมีปัญหา เพราะต้องเลี้ยงความสัมพันธ์กับคนฝากเด็กคนนั้นต่อ หรือนายใหญ่อาจตั้งใจเร่งมือจัดการเจ้าคนไม่ได้เรื่องคนนั้นก็ได้ เพราะถ้าคุณเป็นแม่ทัพจะจัดทัพไปบุกฆ่าศึก แล้วคุณเอาขุนศึกที่ไม่เก่งเป็นด่านหน้า คุณคิดว่าคุณจะทำแบบนั้นไปทำไม ถ้าไม่ใช่ว่าคุณอยากให้ไอ้ขุนศึกนั้นตายก่อน

หรือบางครั้ง คนไม่เก่งก็มีข้อดีที่นายใหญ่มองว่านี่คือคุณค่าที่เขาต้องการ เช่น ไม่เก่งแต่จงรักภักดี คุณไม่สามารถเอาคนเก่งอย่างเดียวมาทำงานได้ตลอดหรอก ต้องมีคนที่พร้อมอยู่เคียงข้างในวันยากด้วย คนทุกคนย่อมต้องการความอุ่นใจที่แตกต่างกันไป บางทีตัวคุณอาจเป็นคนเก่งจริง แต่นายคุณอาจมองว่าคนเก่งจะหนีไปที่ไหนก็ได้ เขาจึงต้องคิดรักษาคนที่จะไม่ทิ้งเขา นี่คือมนุษย์ คุณต้องเข้าใจด้วยว่า นายใหญ่หรือนายคนไหนๆ ก็คือคน ทุกคนล้วนต้องการความมั่นคง เพราะในวันดีๆ คงไม่มีใครกังวลหรอก แต่วันที่ไม่ดี คนที่ไม่ทิ้งเขาไปคือคนที่เขาต้องการ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนไม่เก่งจะมาด้วยเหตุผลไหน สุดท้ายนายใหญ่ก็ต้องการความช่วยเหลือจากคนเก่งจริงอยู่ดี เพื่อมาแก้ปัญหาที่คนไม่เก่งทำทิ้งไว้ และนั่นแหละคือโอกาสที่คนเก่งจริงจะได้โชว์ฝีมือว่าง่ายๆ ไม่ต้องห่วง ถ้าคุณเห็นคนไม่เก่งได้โปรโมต ขอให้คิดไว้เลยว่าโอกาสโชว์ฝีมือได้เริ่มขึ้นแล้ว

3. อย่าไปโวยวาย ตั้งใจทำงานไป เดี๋ยวจังหวะก็เข้ามาเอง

ถ้าคุณไม่พอใจกับการเห็นคนไม่เก่งหรือเด็กเส้นถูกยกขึ้น ขอบอกไว้ก่อนว่า คุณควรนิ่ง ดีกว่าตีโพยตีพายใส่นายใหญ่ หรือโวยวายจนทำให้คนอื่นพลอยรู้ไปด้วยว่าคุณกำลังไม่พอใจ

เพราะนั่นจะทำให้คนอื่นทึกทักได้ว่า คุณอยากขึ้นเอง หรือกลายเป็นนายใหญ่มองว่า คุณไม่เป็นผู้ใหญ่ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จริงอยู่ว่าคุณอาจไม่ได้อยากขึ้นตำแหน่ง แค่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นตำแหน่งของอีกคน แต่การที่คุณเดินไปบอกว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เหมือนคุณไปตีแสกหน้าใส่นายใหญ่หรือคนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เหมือนคุณไปหักหน้าเหล่านายๆ เข้า รั้งแต่จะเป็นผลเสียต่อมุมมองของนายที่มีต่อคุณ

ฉะนั้น ถ้าคุณไม่พอใจ ขอให้คิดใหม่ว่า ‘ทุกอย่างล้วนมีจังหวะของมัน’ สิ่งที่คุณควรทำ คือยอมรับการตัดสินใจนั้น และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการทำงาน แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับคนนั้นหรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจปรับตำแหน่งก็ตาม แต่สุดท้ายสิ่งที่คุณต้องโชว์คือ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ เป็นคนทำงานได้ทุกสถานการณ์ ไม่เกี่ยงงาน ไม่อ้างเงื่อนไข และทำงานกับใครก็ได้

การเป็นมืออาชีพ คือการซื้อใจและพิสูจน์ว่า ใครต่างหากที่เป็นตัวจริง เพราะเชื่อเถอะว่า ในวันที่ลำบากจริงๆ แม้คนที่จงรักภักดีจะไม่ไปไหน ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเขาไม่เก่ง ยังไงนายใหญ่ต้องเลือกคนที่เก่งมาแก้ปัญหาได้อยู่ดี แล้วในตอนนั้นถ้าคุณทำได้ นายใหญ่จะเกรงใจคุณมาก ตอนนั้นอำนาจต่อรองต่างๆ จะมาเอง โดยที่คุณไม่ต้องแม้แต่จะพูดหรือโวยวาย หรือถ้านายใหญ่ไม่เห็นคุณค่าตัวคุณจริงๆ สุดท้ายผลงานจะฉายสปอตไลต์มาที่ตัวศิลปินเอง ตอนนั้นใครๆ ก็ล้วนแต่อยากได้คุณไปทำงานให้ เพราะยังมีคนอีกมากที่ต้องการ ‘มืออาชีพ’ ไปแก้ปัญหา

สำหรับทั้งสามข้อที่ยกมานี้ เป็นมุมมองที่เกิดจากประสบการณ์ของเรา ซึ่งในชีวิตเราได้เห็นเคสเด็กเส้นหรือคนไม่เก่งถูกโปรโมตมาหลายต่อหลายเคส สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ทุกอย่าง บางทีคนอาจคิดผิดว่าเขาไม่เก่ง แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะเก่งก็ได้ ซึ่งนายใหญ่คือคนที่มองออก หรือเขาอาจไม่เก่งจริง แต่ไม่ใช่ว่านายไม่รู้ แค่มีเหตุผลอื่น

ไม่ว่าอย่างไร เราอยากปิดท้ายว่า เหตุการณ์ที่ดูไม่แฟร์แบบนี้เป็นสิ่งที่ทดสอบจิตใจคนทำงานมากๆ ว่าเราเลือกทำงาน เพราะเป็นคนทำงานตัวจริง หรือเลือกทำงานเพราะเงินและตำแหน่ง ในเวลาปกติ คนทำงานมักไม่ค่อยได้คิดเรื่องอะไรพวกนี้หรอก แต่พอมีสถานการณ์ไม่แฟร์เมื่อไหร่ นี่แหละคือจุดที่ทำให้คนทำงานกลับมาคิดว่า เราทำงานเพื่ออะไร? และเราให้คุณค่ากับอะไรกันแน่?

แต่ขอบอกไว้เลยว่า ถ้าคุณเป็นคนทำงานตัวจริง สิ่งที่คุณต้องมีคือ ‘ความใจกว้าง’ ใจที่กว้างจะทำให้ตัวคุณขยาย ขยายทั้งความรู้ความสามารถ เพราะคุณไม่ปิดกั้นโอกาส ขยายทั้งเครือข่ายความสัมพันธ์ เพราะคุณเป็นผู้ให้ ใครๆ ก็อยากทำงานกับคนเป็นผู้ให้ และสุดท้ายคือ ใจที่ขยายใหญ่ เท่ากับการให้โอกาสคนอื่นก่อน หรือการยอมทำงานอย่างเต็มที่กับคนที่คุณไม่ชอบ แปลว่าคุณมีวุฒิภาวะสูง เวลานี่แหละ คือสิ่งที่คนโบราณเขาเรียกกันว่า ‘การสร้างบารมี’

สุดท้ายตำแหน่งก็แค่ตำแหน่ง มีให้เห็นเยอะแยะในองค์กรที่คนในตำแหน่ง ไม่ได้ทำงานตามชื่อตำแหน่งตัวเอง แต่เป็นอีกคนหนึ่งทำแทน ไม่มีใครขโมยความจริงไปได้ และถ้าโชคร้าย แม้ที่ทำงานจะไม่เห็นความจริงข้อนี้ แต่เชื่อเหอะว่ามีคนอื่น ที่อื่น ที่เห็นความจริงนี้อยู่ดี