©ulture

คุณอยู่ในภาวะนี้ไหม? คือทำงานแล้วก็จริง แต่ทำไมคนที่บ้านถึงไม่ให้อิสระและยังเจ้ากี้เจ้าการอย่างกับคุณเป็นเด็กอยู่เหมือนเดิม

หรือบางทีคนที่ว่านี้อาจเป็นแฟนของคุณ ทั้งที่เขาทำงานเป็นหัวหน้าคนก็แล้ว ดูแลลูกน้องทั้งโรงงานได้ แต่ทำไมเขาถึงไม่ค่อยมีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในบ้าน มีอะไรทีก็ต้องขออนุญาตพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านเสมอ ราวกับเขาเป็นเด็ก

เหตุผลที่หยิบยกเรื่องนี้มาเขียนถึง เพราะมีคนปรึกษามาบ่อย บางทีเป็นเจ้าตัวที่มาปรึกษาเอง แต่หลายครั้งก็เป็นแฟนสาวมาขอปรึกษาอีกทีว่า ทำไมแฟนถึงถูกที่บ้านปฏิบัติราวกับเป็นเด็ก จะแก้ไขอย่างไรดี

ปัญหานี้เป็นปมที่ซ่อนอยู่ในใจหลายคน เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ค่อยอยากให้ใครรู้ แต่นั่นแหละ ยิ่งเป็นปัญหาที่ลับในใจมากๆ แบบนี้ เราเลยคิดว่า ควรแบ่งปันมุมมองและวิธีการแก้ปัญหา เผื่อใครที่อึดอัดใจอยู่จะได้มีทางออก

และถ้าใครสงสัยว่าเรามีเครดิตมาแชร์เรื่องนี้ได้อย่างไร? ต้องสารภาพว่า เคยตกอยู่ในภาวะ ‘ถูกมองเป็นเด็ก’ มาก่อน และเราก็ทรมานอึดอัดกับภาวะนี้มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจนเริ่มทำงาน ส่วนคนที่มาช่วยปลดปล่อยเราในตอนนั้น คือแฟนเก่าซึ่งอายุมากกว่าและเป็นผู้ใหญ่กว่าถึงมองออกว่าเราเผชิญกับอะไรอยู่ ต้องขอบคุณแฟนเก่ามากที่มองเห็นปัญหาและชี้ทางให้รู้ว่าต้องแก้อย่างไร

อย่างที่บอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาส่วนตัวมาก ไม่แปลกใจที่คนเห็นปัญหาหรือยื่นมือมาช่วยเรื่องนี้มักเป็นคนใกล้ตัว เช่น แฟนหรือเพื่อนสนิท เพราะการถูกที่บ้านมองเป็นเด็กเป็นเรื่องน่าอาย ถ้าไม่สนิทกันจริงก็คงไม่มีทางรู้ว่ากำลังเผชิญปัญหานี้ ซึ่งปัจจุบัน เราบริหารจัดการเรื่องนี้มาตลอด จนที่บ้านไม่มองเป็นเด็กอีกแล้ว แถมมองเราเป็นเสาหลักของครอบครัวด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าที่บ้านเกรงใจและไม่ก้าวก่ายอีกเลย

ทีนี้ เรามาลองเริ่มวิเคราะห์และหาทางออกกันว่าจะต้องทำอย่างไรดี?

1. ‘ถูกมองเป็นเด็ก’ เป็นเรื่องจิตวิทยา ถ้าจะแก้ คุณก็ต้องมีจิตวิทยา

‘ถูกมองเป็นเด็ก’ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าปัญหานี้เกิดมาจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้าน คุณต้องมองให้ออกก่อนว่า ผู้ใหญ่มีมุมมองแตกต่างจากคุณ และคุณก็เปลี่ยนเกณฑ์ตัดสินของเขาไม่ได้ เช่น คุณอาจอ้างว่าการทำงานคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้น พ่อแม่เลิกกำกับทุกอย่างในชีวิตผม/หนูได้แล้ว ถ้าพูดแบบนี้ แปลว่าคุณใช้เกณฑ์ ทำงานแล้ว = เป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่พ่อแม่มองต่างไปว่า รับผิดชอบเรื่องภาระต่างๆ เองได้ = เป็นผู้ใหญ่

คุณเห็นอะไรบ้าง? ต้องแกะให้ออกว่า เกณฑ์ ‘ผู้ใหญ่’ ที่ตัวคุณกับพ่อแม่ใช้นั้นต่างกัน ซึ่งพ่อแม่หรือคนมีอายุส่วนใหญ่ให้เกณฑ์อย่างหลังมากกว่า และคงไปเปลี่ยนให้เขาคิดว่าทำงานแล้วเท่ากับเป็นผู้ใหญ่แบบคุณคิดไม่ได้ ดังนั้น วิธีแก้แรกๆ คือ ต้องอ่านเกณฑ์ที่จะปลดล็อกพวกเขาให้ออก

แต่การปลดล็อกต้องใช้จิตวิทยา จะทำครั้งสองครั้งก็ไม่ได้ เพราะการรับรู้ว่าคุณเป็นอย่างไรในสายตาพ่อแม่เป็นเรื่อง ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความต่อเนื่องของสิ่งที่พวกเขารับรู้’ พูดง่ายๆ คือ ต้องทำให้พวกเขารู้ (ย้ำว่าให้ ‘รู้’ เลยนะ) ว่า คุณรับผิดชอบภาระต่างๆ ด้วยตัวเองอยู่ อย่าทำเงียบๆ แสดงให้พวกเขาจับต้องได้ว่า ‘คุณจ่ายนั้นจ่ายนี้เองแล้วนะ’

เช่น ทำงานที่บ้าน เดิมพ่อแม่ไม่ได้ให้เงินเดือนคุณเป๊ะๆ แต่ใช้วิธีว่า อยากได้เงินก็มาขอเป็นครั้งๆ ถ้าเป็นแบบนี้อันตรายมาก เพราะพวกเขาจะมองว่าคุณมา ‘ขอ’ เงิน ไม่ใช่เงินเดือนแบบที่นายจ้างจ่ายลูกจ้าง และความที่ให้กันแบบเบลอๆ ไม่เป๊ะ เวลาคุณบอกว่าจะรับผิดชอบค่านั้นค่านี้เองโดยให้พวกเขาหักเงินล่วงหน้าไปเลย สุดท้ายพ่อแม่ก็จำไม่ได้หรอก เพราะพวกเขาไม่คิดด้วยซ้ำว่านั่นเป็นเงินของคุณ แต่มองเป็นเงินพวกเขา ต่อให้คุณบอกว่ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่ในเชิงจิตวิทยา พ่อแม่จะไม่มองแบบนั้น

ฉะนั้น ต้องเล่นกับจิตวิทยาของพวกเขา คุณต้องทำให้พ่อแม่เห็นทุกอย่างเป็นรูปธรรม และเห็นว่าคุณจ่ายออกไปจริงๆ คีเวิร์ดคือ พวกเขาต้องเห็นว่าคุณจ่ายเองและทำอย่างต่อเนื่อง

2. ทำเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายให้จับต้องได้อย่างมืออาชีพ

ระหว่างบ้านที่เลี้ยงลูกแบบให้เงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน แล้วให้ลูกจัดการเงินเอง ไม่ว่าจะค่ากิน ค่าจิปาถะ หรือออมเงิน กับบ้านที่เลี้ยงลูกแบบให้เงินค่าขนมเป็นทีๆ คุณคิดว่าลูกสองบ้านนี้ถูกมองจากพ่อแม่แตกต่างกันไหม? อย่าประเมินเรื่องนี้ต่ำไป เพราะนี่คือเรื่องเดียวกันในเวลาที่เราโตแล้ว

บ้านที่ให้เงินค่าขนมลูกชัดเจน และหัดให้ลูกจ่ายอะไรเอง เชื่อเถอะว่า พ่อแม่เด็กจะรับรู้ชัดว่าค่าใช้จ่ายหรือค่าของที่ลูกจ่ายเองนั้นไม่ใช่เงินพวกเขาแต่เป็นเงินของลูก ฉะนั้น เมื่อลูกจะเก็บเงินไปซื้ออะไรก็ตาม เช่น บัตรคอนเสิร์ต หรือมือถือที่อยากได้ พ่อแม่จะเกรงใจไม่กล้าขัดมาก เพราะจะพูดอะไรได้ ก็นั่นมันเงินของลูก

เช่นกัน ถึงคุณจะโตแล้ว ก็ต้องทำทุกอย่างให้ชัด เพราะทำให้การรับรู้ของพ่อแม่ชัดเจนตามไปด้วย ดังนั้น คุณอาจต้องฝืนและเจรจากับพ่อแม่ให้เคลียร์อย่างมืออาชีพว่า งานที่ทำกับที่บ้าน คุณขอเงินเดือนเท่าไร เช่น ขอเงินเดือน 50,000 บาท เพราะถ้าออกไปทำงานที่อื่น คุณน่าจะได้เงินเดือน 40,000 บาท ฉะนั้น 10,000 บาท ที่เป็นส่วนต่าง คือค่าเสียโอกาสที่คุณไม่ได้ทำงานนอกบ้านที่อยากทำ

ต้องตกลงเรื่องนี้ให้ชัดเจนกับพวกเขา รวมทั้งกำหนดวันจ่ายเงินเดือนที่แน่นอน จากนั้นคุณก็เอาเงินมาบริหารต่อ เช่น เดิมคุณให้พ่อแม่หักเงินค่าผ่อนรถไปกับเงินเดือน คุณก็บอกไปเลยว่า จะจ่ายค่าผ่อนรถด้วยตัวเองจากเงินเดือน 50,000 บาท

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อแบ่งทุกอย่างออกมาชัดว่านี่เงินคุณ นี่ค่าใช้จ่ายที่คุณจ่าย เมื่อพ่อแม่เริ่มไม่ใช่คนจ่ายค่าผ่อนรถเอง พวกเขาจะรู้สึกว่าไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายนั้นแล้ว และเริ่มรับรู้ชัดว่า คุณเป็นคนจ่ายเอง ทั้งที่ความจริง เงินก็จำนวนเท่าเดิมเหมือนกัน เพียงแต่แบ่งให้เคลียร์ทำให้ผลลัพธ์ทางการรับรู้ที่ต่างกัน นี่คือจิตวิทยา

3. เริ่มเปลี่ยนเป็นคนจ่ายอะไรในบ้านเองบ้าง

เมื่อคุณดึงเงินออกมาจัดการเอง และทำให้พ่อแม่เห็นว่าคุณจ่ายอะไรเองแล้ว ทีนี้มาถึงจุดที่จะพลิกเกมทำให้พ่อแม่มองคุณเปลี่ยนไปและเริ่มเกรงใจมากขึ้น นั่นคือการชิงออกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในบ้าน หรือกระทั่งเป็นฝ่ายเลี้ยงข้าวนอกบ้าน นี่แหละที่จะได้ใจพ่อแม่สุดๆ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากๆ ว่าพวกเขาไม่ต้องจ่ายส่วนนี้เอง แถมคุณยังเป็น ‘คนเลี้ยง’ แทนพวกเขาด้วย ว่าง่ายๆ คือ คุณเปลี่ยนจากบท ‘คนรับ’ มาเป็น ‘คนให้’

แต่ก่อนพ่อแม่มองว่าพวกเขาคือคนให้ แต่ตอนนี้คุณเป็นคนให้ ฉันใดฉันนั้น การเลี้ยงคนอื่นหรือจ่ายอะไรให้คนอื่น ร้อยทั้งร้อยย่อมทำให้การรับรู้บทบาทเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่มองคุณเปลี่ยน แต่ตัวคุณเองยังมองตัวเองเปลี่ยนไปด้วย เพราะในเชิงจิตวิทยา ฝ่ายคนให้จะรู้สึกเหนือกว่าคนรับ เช่น คุณเคยเลี้ยงข้าวรุ่นน้องไหม? ลองถามความรู้สึกตัวเองว่ามองตัวเองอย่างไรเวลาเลี้ยงข้าวคนอื่น แล้วคุณคิดว่ารุ่นน้องเกรงใจคุณขึ้นไหม? นี่คือเรื่องเดียวกัน เพียงแค่คุณเอาเทคนิคนี้มาใช้กับพ่อแม่

สิ่งถัดไปคือ คุณต้องหัดจ่ายอะไรเองเยอะขึ้น และหัดเป็นฝ่ายจ่ายให้พ่อแม่ แน่นอนว่าข้อนี้ฝืนคุณอยู่มากแน่ๆ ถ้าที่ผ่านมาคุณคิดแต่ว่า อยากใช้เงินไปกับเรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่นี่คือราคาของคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ ถ้าคุณอยากได้อิสระ อยากได้ความเคารพเกรงใจ ต้องจัดสรรเงินไว้เป็นค่าจ่ายความเป็นผู้ใหญ่ ถ้าไม่จ่ายก็ไม่มีทางได้ความเป็นผู้ใหญ่มา

คุณคิดว่าผู้บริหารหรือคนตำแหน่งใหญ่ๆ เขาได้ความเคารพนับถือและบารมีมาฟรีๆ เหรอ ความจริงคือพวกเขาเสียค่าสังคมเยอะมาก เช่น ค่าเลี้ยงข้าวเลี้ยงขนมลูกน้อง ค่าซองงานแต่ง ซองทำบุญ ค่าจิปาถะเพื่อซื้อใจคนอื่น เช่นกัน คนที่จะได้รับความเคารพนับถือล้วนกันเงินไว้เป็นค่าความเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้น ถ้าคุณอยากได้ความเคารพนับถือ ก็ต้องจ่ายและจ่ายให้ชัดเจน ให้คนรับรู้ว่าคุณจ่ายให้พวกเขาอยู่ เมื่อคุณจ่ายอะไรต่ออะไรเอง และจ่ายให้พ่อแม่หรือคนในบ้านมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ คนที่เป็นฝ่ายรับจะเกรงใจคุณมากขึ้นเรื่อยๆ

ลองคิดดูว่า เมื่อได้รับความเกรงใจจากพ่อแม่ มีหรือที่พ่อแม่จะกล้ากำกับหรือแหกหน้าคุณต่อหน้าแฟน เพราะลึกๆ พวกเขามองคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว คุณรับผิดชอบ จัดการตัวเองได้ แถมยังจัดการพวกเขาได้ด้วย

4. ตอกย้ำการถือไพ่เหนือกว่า เพื่อทำให้คุณเป็นอิสระอย่างแท้จริง

สิ่งที่จะคงทนถาวรไม่ทำให้พ่อแม่คิดไปได้ว่าคุณเป็นเด็กอีกจริงๆ คือ ต้องทำให้พวกเขารู้สึกเสมอว่า คุณมีทางหนีทีไล่

บอกแบบนี้ไม่ใช่ว่จะโจมตีพ่อแม่ของใคร แต่คุณต้องเข้าใจว่า พ่อแม่หลายบ้านก็ใจไม่กว้างและเผลอมีความคิดทำร้ายลูก เช่น พวกเขายึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เชื่อนั้นถูกต้อง ฉะนั้น ลูกต้องฟังและทำตามพวกเขา พ่อแม่ลักษณะนี้จะกล้ากดดันลูก เพราะคิดว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า พวกเขาคือเจ้าของทรัพย์สินของลูก ยังไงลูกก็หนีไปไม่พ้น ต้องมาพึ่งพาเขาอยู่ดี

ถ้าคุณตกอยู่ในสภาพนี้ วิธีที่จะหลุดออกมาได้คือ ต้องมีทางหนีทีไล่ เรื่องนี้คือเรื่องเดียวกับทำงานบริษัทที่คุณต้องประเมินว่าบริษัทมองคุณเป็นใคร เมื่อไรก็ตามที่คุณเป็นฝ่ายต้องง้อบริษัท พวกเขาจะคิดว่าทำอย่างไรกับคุณก็ได้ เพราะคุณไม่มีทางเลือก กลับกัน ถ้าเป็นคนที่พวกเขาขาดไม่ได้ บริษัทจะง้อและเกรงใจคุณ ไม่กล้ากดดันมาก เพราะกลัวว่าคุณจะไปทำงานที่อื่น

จริงอยู่ คุณลาออกจากครอบครัวไม่ได้ แต่ลองคิดดูว่า ถ้าคุณมีศักยภาพที่จะหางานและหาเงินใช้เอง เลี้ยงตัวเองได้ พ่อแม่ที่คิดจะกดดันคุณ จะไม่กล้ากดดันมาก เพราะรู้ว่า คุณหนีไม่ทำงานให้พวกเขาได้จริงๆ อย่างเก่งพ่อแม่ก็จะยกเรื่องบุญคุณและความกตัญญูมาใช้กดดัน แต่เชื่อเถอะ ถ้าคุณจัดการเรื่องนี้ได้ การหนีไม่ทำงานให้ที่บ้านก็จะเป็นเรื่องไม่ทำให้แตกหักกัน

สิ่งที่จะบอกคือ จะเป็นอิสระได้ คุณต้องเป็นอิสระจากการพึ่งพาจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องเงิน ถึงมีคำพูดว่า “อิสระที่มาจากการเป็นไททางการเงิน” ต่อให้คนข้างหน้าจะเป็นหัวหน้า เป็นพ่อแม่ ถ้าคุณรู้ว่าคุณมีเงินเลี้ยงตัวเองได้ ความมั่นใจที่จะปฏิเสธก็จะมากขึ้น เพราะคุณพึ่งตัวเอง ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำ คือการพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดงาน มีช่องทางรายได้อื่นที่มาจากตัวเองไม่ใช่ที่บ้าน มีเงินเก็บให้อุ่นใจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณมีอำนาจต่อรอง และทำให้พ่อแม่เกรงใจคุณจริงๆ เพราะรู้ว่าคุณมีตัวเลือกและไม่ได้พึ่งพาพวกเขา ดีไม่ดีพ่อแม่ต่างหากจะเป็นฝ่ายพึ่งพาคุณ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้ เกมจะเปลี่ยนทันที

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานที่บ้านเท่านั้น แต่ใครก็ตามที่ทนอยู่กับภาวะที่พ่อแม่มองคุณเป็นเด็ก คอยกำกับทุกอย่าง คอยเจ้ากี้เจ้าการ และปฏิบัติกับคุณอย่างไม่ให้เกียรติ คุณสามารถเอามุมมองเหล่านี้ไปวิเคราะห์และปรับใช้ได้ อาจไม่แฟร์ว่า ทำไมถึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับคุณ แต่เมื่อชีวิตมันมาแบบนี้แล้ว ต้องยอมรับและหาทางสู้กับมันดีกว่า

ส่วนตัวเรา มองว่าการจัดคนในครอบครัวถือเป็นทักษะการบริหาร (management skill) อย่างหนึ่ง ไม่งั้นคงไม่มีคนคิดหลักสูตร self-management ขึ้นมาหรอก เพราะในทุกเลเวลของความสัมพันธ์จะต้องมีการจัดการเสมอ เริ่มจากจัดการตัวเอง จัดการความสัมพันธ์ในครอบครัว จัดการความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง จัดการความสัมพันธ์ในทีมและองค์กร และจัดการความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรหรือระดับประเทศ

ฉะนั้น อย่าได้รังเกียจโจทย์ชีวิตที่คุณได้รับในตอนนี้ เพราะถ้าคุณจัดการทุกเลเวลได้ดี โดยเฉพาะเลเวลที่เล็กที่สุด คุณก็จะปรับใช้กับเลเวลที่ใหญ่ถัดไปได้ดี เช่น ถ้าบริหารความสัมพันธ์กับที่บ้านได้ คุณก็จะมั่นใจในตัวเองที่จะปกครองผู้อื่น เพราะไม่ต้องระแวดระวังว่าพ่อแม่จะมากำกับคุณต่อหน้าลูกน้อง ที่สำคัญคือ คุณจะภูมิใจในตัวเองที่คุณจัดการปัญหาได้อยู่หมัด

ความมั่นใจและความภูมิใจนี่แหละ คือรากฐานสำคัญของความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ เชื่อเถอะว่าถ้าคุณมี สิ่งเหล่านี้จะแผ่ออกมาจนคนข้างนอกรับรู้ได้ว่า คุณเป็นผู้ใหญ่จริงๆ