คนที่รู้จักกันจะทราบว่าเราเปลี่ยนงานบ่อย เรียกว่าเปิดปีใหม่มา ต้องมีคนถามแล้วว่าตอนนี้ทำงานที่ไหน? เพราะเราเปลี่ยนงานทุกปี
ถามว่าการเปลี่ยนงานบ่อยนั้นดีไหม? ก็ต้องบอกว่ามีทั้งดีและไม่ดี ไว้มีโอกาสจะเขียนถึง แต่สำหรับบทความนี้ เราในฐานะคนเปลี่ยนงานบ่อยซึ่งต้องเริ่มงานใหม่อยู่เสมอ จึงอยากบอกเล่าเคล็ดลับสำหรับคนที่เพิ่งย้ายงานหรือได้รับโอกาสให้ไปทำตำแหน่งอื่นในออฟฟิศเดิมว่า ถ้าอยากทำงานแล้วปังหรือไปได้สวย ควรทำอะไรบ้าง?
1. ทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์
การทำงานที่ใหม่ก็เหมือนกับการรู้จักคนคนหนึ่งใหม่ ฉะนั้นการจะรู้ได้ว่าควรทำตัวอย่างไร วางตัวอย่างไร จำเป็นจะต้องศึกษาอีกฝ่ายให้ถี่ถ้วน ทั้งสิ่งที่เขาบอกและเขาไม่บอก เทคนิคหนึ่งที่เราใช้คือ เดินไปหา เดินไปดู เดินไปคุย
เช่น ถ้าคุณเข้ามาเป็นหัวหน้าแผนก คุณก็ควรเดินไปดูลูกน้องในทีม ถามเขาว่าทำอะไรอยู่ ให้เขาเล่านู่นเล่านี่ให้ฟังหน่อย ในทำนองเดียวกัน คุณก็ควรสังเกตสิ่งที่เขาไม่ได้บอกหรือเลี่ยงจะบอกด้วย ในช่วงนี้คุณไม่ควรออกตัวทำอะไรมาก เพราะเป็นเรื่องง่ายมากที่คนเก่าจะแอนตี้หรือตั้งป้อมกับคนใหม่
ฉะนั้น แทนที่จะออกตัวแรง คุณควรวางตัวเป็น ผู้ดู ผู้ฟัง เพื่อเก็บรายละเอียดในการวางแผนทำงานต่อไป
2. วิเคราะห์ว่าคุณเป็นใครในองค์กร และตัวละครใดมีผลกับการทำงานของคุณทั้งทางตรงและทางอ้อม
แน่นอนว่าคุณไม่ได้ทำงานคนเดียว นอกจากเก็บข้อมูลการทำงานคนในทีมแล้ว คุณก็ควรเก็บข้อมูลภาพใหญ่และแผนกอื่นๆ ด้วยว่า ตำแหน่ง หรือ ตัวคุณ ถูกวางไว้ในองค์กรอย่างไร
เพราะถ้ารู้ว่าองค์กรวางหรือคาดหวังให้ทำอะไร คุณจะรู้ขอบเขตว่าทำได้แค่ไหน อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และรู้บทบาทตัวเอง ว่าคุณถูกจ้างมาเพื่อทำอะไร (ขอบอกเลยว่าหน้างานจริงๆ มักไม่ตรงกับ job description ตอนบริษัทเปิดรับคุณเข้ามาหรอก จึงเป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องแกะหน้าที่ของตัวเองต่อเมื่อเข้ามาทำงานแล้ว)
นอกจากนี้ ต้องรู้ต่อด้วยว่าใครในองค์กรจะเป็น คนที่คุณต้องเข้าไปช่วย หรือ คนที่จะสนับสนุนคุณ หรือ คนที่จะเป็นอุปสรรคต่อคุณ ที่ต้องบอกแบบนี้ก็เพราะถ้าคุณรู้แล้วว่าใครเป็นใคร คุณจะมองออกว่า ควรวางแผนทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างไร จะให้ใครเป็นพวกเรา หรือต้องระวังใครเป็นพิเศษ
เช่น คุณรู้ว่าต้องทำงานร่วมกับแผนกไอที แต่แผนกไอทีให้ความร่วมมือน้อย คุณก็ต้องคิดหาวิธีต่อไปว่า จะเข้าทางคนไหนในไอทีที่เขาน่าจะช่วยเดินเรื่องให้ได้ดีที่สุด หรือมีใครเป็นผู้ใหญ่หรือพี่ใหญ่ที่จะช่วยพูดเปิดทางให้คนในแผนกไอทียอมร่วมมือได้
3. อ่านนิสัยและความคาดหวังของหัวหน้าให้ออก
หัวหน้าถือเป็นปัจจัยต่อการทำงานมากกว่า 70% เพราะต่อให้คุณทำงานดีแทบตาย แต่ถ้าหัวหน้าไม่เชื่อไม่ชอบหรือไม่ไว้ใจก็จบข่าว ฉะนั้น คนทำงานเก่งๆ จะมีทักษะหนึ่งที่เป็นเหมือนกันคือ บริหารความไว้ใจและความคาดหวังของหัวหน้าได้ ดังนั้น เมื่อเข้าไปทำงาน พยายามคุยเรื่องความคาดหวังและสไตล์การทำงานของหัวหน้า ซึ่งไม่ใช่คุยรอบเดียวจบ ของพวกนี้ต้องหัดสังเกตและเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ
เมื่อคุณรู้ว่า หัวหน้าชอบและไม่ชอบอะไร เขามักจะกังวลเรื่องอะไร เขาชอบให้เราบอกเรื่องอะไร คุณก็จะเริ่มจับวิธีทำงานร่วมกับหัวหน้าได้ จนความสัมพันธ์กับหัวหน้าดีขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งรู้ใจกัน เชื่อเถอะว่าคุณจะกลายเป็นลูกน้องสุดโปรดของเขา นั่นแหละจะทำให้คุณได้รับความไว้วางใจ แล้วหัวหน้าจะปล่อยคุณทำงานอย่างอิสระมากขึ้น
ในทางกลับกัน คุณไม่ควรใจร้อนปล่อยของในทันทีโดยไม่ถามหัวหน้า เพราะช่วง 3 เดือนแรก คือ เวลาสร้างความไว้วางใจ อย่ารำคาญที่จะต้องรายงานหัวหน้าทุกอย่าง อย่าอายที่จะถามเขาทุกเรื่อง เพราะช่วงนี้คุณต้องแสดงให้เขาเห็นว่า จะทำตามกรอบของเขา คุณไม่พิเรนทร์ และจะไม่ทำอะไรที่เกินขอบเขตจนสร้างปัญหา
เพราะเอาเข้าจริง คนเป็นหัวหน้าจะกลัวลูกน้องอยู่ไม่กี่เรื่อง คือ กลัวลูกน้องทำงานไม่ตรงเวลา กับ กลัวลูกน้องวางยา (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น ลูกน้องแอบไปทำงานบางอย่างโดยไม่บอก มารายงานอีกทีเมื่อกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โตแล้ว)
ฉะนั้น วิธีที่จะอุดความกลัวของหัวหน้าตรงจุดนี้ได้คือ คอยรายงาน คอยพูดคุยกับหัวหน้าบ่อยๆ คอยถามมุมมองว่าหัวหน้าตัดสินใจแบบไหน เมื่อเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีปัญหา ทีนี้แหละ หัวหน้าจะเริ่มปล่อย เพราะเรารู้ว่าเขากังวลหรือไม่ชอบอะไร ถ้าจะมีปัญหา อย่างน้อยเขาก็มั่นใจว่าเราจะต้องรีบบอก พูดอีกอย่างคือ คุณคอยคิดเผื่อเขาทุกเรื่อง จนเขาคลายกังวลและสบายใจให้คุณทำงานแทน
4. รีบสร้างผลงานเล็กๆ ให้ปรากฏ
การทำงานก็เหมือนกับการได้เข้าไปในชีวิตของคนคนหนึ่ง ถ้าอยากทำงานแล้วไปได้สวยและได้รับการให้คุณค่า คุณก็ควร ส่งมอบคุณค่า ให้คนคนนั้น
ในช่วงนี้แม้ว่าคุณจะทำได้แค่สังเกตการณ์ ทำความเข้าใจสถานการณ์ของตัวคุณและคนอื่นๆ รวมทั้งพยายามทำความรู้จักและรู้ใจหัวหน้า แต่คุณก็ควรรีบคิดหา ผลงานเล็กๆ ที่ทำได้จริงสักชิ้นขึ้นมา ไม่ต้องเป็นชิ้นใหญ่หรอก ช่วงนี้บริษัทและหัวหน้ายังไม่ไว้ใจให้คุณทำงานใหญ่ขนาดนั้น เพราะคุณยังใหม่กับองค์กร
แต่ถึงกระนั้น คุณควรมองหางานอะไรสักอย่างที่จะเป็นผลงานเล็กๆ เพื่อพิสูจน์ว่า คุณทำงานเป็น พวกเขาจะได้ชื่นใจว่าคุณมีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้บ้าง อย่าลืมว่าตอนบริษัทหรือหัวหน้ารับคุณเข้ามา เขารับเพราะคำพูดที่คุณบอกตอนสัมภาษณ์งาน แต่พวกเขายังไม่เคยเห็นผลงานจริง ถ้าคุณแสดงฝีมือว่านี่ไง ฉันทำเป็น อยู่ไม่กี่วันไม่กี่สัปดาห์ก็ทำงานแบบนี้ได้ พวกเขาก็จะเริ่มเชื่อคุณมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่คำพูด แต่ผลงานมันพูดให้คุณแทน
ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับจากประสบการณ์และมุมมองของเราที่อยากแบ่งปันกัน ถ้าสังเกตดีๆ ก็คือ การบริหารคน นั่นเอง อย่าคิดว่าคุณเข้าไปทำงานเพื่อให้งานเสร็จ ความจริงแล้วคุณเข้าไปทำอะไรบางอย่างกับผู้คนเพื่อให้งานของคุณเสร็จต่างหาก ฉะนั้น ถ้าคุณอยากเป็นที่ยอมรับขององค์กร สิ่งง่ายๆ แต่ทำยากคือ การซื้อใจคน ซึ่งก่อนจะซื้อใจคนได้ คุณต้องรู้จักคนเหล่านั้นให้ดี รวมทั้งรู้จักตัวเอง
เมื่อรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งก็ย่อมชนะร้อยครั้ง