©ulture

ถ้าเคยอ่านประวัติหรือรู้จัก เหม เวชกร จะพบว่า เขาคือคนธรรมดาที่เป็นช่างเขียนภาพชื่อดัง หลังยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

ในแง่วิชาชีพ เหม เวชกร ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปิน โดดเด่นด้านการวาดภาพและประพันธ์เรื่องผี

ในแง่บุคลิกส่วนตัว หลายคนพูดถึง เหม เวชกร ว่าใจกว้าง มีเมตตา มากด้วยเพื่อนฝูง และลูกศิษย์ลูกหา

นั่นคือสิ่งที่หลายคนพบและเห็นจากการอ่านเรื่องราวของเขา

ภาพวาดสีน้ำบนกระดาษ โดย เหม เวชกร
ภาพวาดสีน้ำบนกระดาษ โดย เหม เวชกร (photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)
ปิศาจของไทย
หนังสือ ปิศาจของไทย เรื่องและภาพ โดย เหม เวชกร (photo: ร้านหนังสือและของสะสมที่ปลายฟ้า)

 

ระหว่างการสืบค้นข้อมูลและประวัติ เหม เวชกร เพื่อเขียนบทความ เหม เวชกร : ภาพวาดและคำถาม “ใครคือ เหม เวชกร?” เราพบข้อเขียนที่อธิบายถึง เหม เวชกร ในมุมที่หาได้ยากในหนังสืองานศพ ครูเหม

เป็นคำไว้อาลัยที่เขียนโดย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนที่เป็นนายของภาษาและได้รับฉายาว่า พญาอินทรีแห่งสวนอักษร

แม้จะเป็นข้อเขียนสั้นๆ ทว่าแทงลึกถึงความเป็นมนุษย์ของ เหม เวชกร ได้อย่างงดงามและละเอียดอ่อน

รงค์ วงษ์สวรรค์
รงค์ วงษ์สวรรค์

– ขอวางอารมณ์ถวิลไว้แทนมาไล แด่ ครูเหม เวชกร –

ย้อนไปนานและไกลในอดีต มีเงินเหลือเพียงสองสตางค์แดง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นคนอาภัพเหลือเกิน เกือบทุกเย็นจึงเดินไถลเล่นจากโรงเรียนอำนวยศิลป-ปากคลองตลาด เลยเรื่อยไปทางท่าเตียนด้วยหัวใจเลื่อนลอย และว้าเหว่ ข้าพเจ้าเป็นเด็กเพิ่งมาจากชนบทใน พ.ศ.นั้น

ยินมโหรีจากร้านเหล้าคุณสาครจึงหยุดยืนฟัง

หลายหนหลายวัน แล้วจึงมีคนโตกว่าชี้ให้ดู มนัส จรรยงค์ และบอกว่า “คนที่นั่งสีซออยู่ถัดกันนั้นแหละ…ครูเหม”

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นบุญตาที่ได้เห็น

นานต่อมาเกินยี่สิบปีที่ถนนเกสร พี่สมบุญ สว่างจันทร์ ปยุต เงากระจ่าง สุภี ปสุตนาวิน และจิตรกรมือเยี่ยมของกรุงเทพฯ อีกหลายคน กำลังนั่งเขียนรูปเพื่อการกุศลกันในงานรื่นเริงบนถนน

สายนั้น ข้าพเจ้ามีบุญตาได้เห็น ครูเหม เวชกร อีกหน ได้นั่งใกล้จนรู้สึกถึงอำนาจแห่งความเมตตาที่แผ่ซ่านมา ได้เห็นความเป็นครูที่ศิษย์รักและเคารพ

ธันวาคม ๒๕๑๑ ในเรือที่ทวนแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปจนถึงอ้อมเกร็ด และอย่างไม่รีบร้อน เป็นการพบกันของนักเขียนอาวุโสมากหน้าตั้งแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร “พรานบูรพ์” เชื้อ อินทรทูต อบ ไชยวสุ “กุหลาบขาว” ชาญ หัตถกิจ พ.เนตรรังษี และอีกหลายท่านนั่งสนทนาถึงความหลังกันบนชั้นดาดฟ้า

ครูเหม เวชกร นั่งอยู่ที่นั่นด้วยเหมือนกัน เคร่งขรึมด้วยมาด หากบนใบหน้ามีรอยแย้มยิ้มโอภา พลางทอดสายตามองความเคลื่อนไหวอ่อนโยนในแม่น้ำอย่างครุ่นคิด

ไรแดด และแมกไม้ริมฝั่งสวยมากในวันนั้น

และข้าพเจ้าจึงถ่ายภาพ ครูเหม เวชกร ไว้โดยหมายจะให้เป็นภาพพอร์เทรท แต่จะเป็นได้หรือไม่? ภาพนี้จะดีสมลักษณะทางวิชาการหรือไม่? ข้าพเจ้าไม่รู้

 

ภาพถ่าย ‘ครูเหม’ ฝีมือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (photo: หนังสืองานศพ ครูเหม)
ภาพถ่าย ‘ครูเหม’ ฝีมือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (photo: หนังสืองานศพ ครูเหม)

ข้าพเจ้ารู้เพียงว่าบุคคลที่ข้าพเจ้ามีบุญตาได้บันทึกไว้บนแผ่นฟิล์มเป็นคนดี เป็นครู และเป็นจิตรกรผู้สูงส่ง

จึงขอวางอารมณ์ถวิลด้วยอักษรไว้แทนมาไล ด้วยความรักและคารวะ แด่ ครูเหม เวชกร ไว้ในวาระอันแสนเศร้านี้

’รงค์ วงษ์สวรรค์

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๒

 

ภาพปก ขุนศึก โดย เหม เวชกร (photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)
ภาพวาดสีน้ำ โดย เหม เวชกร
ภาพวาดสีน้ำ โดย เหม เวชกร ประมาณ พ.ศ.2491 (photo: หนังสือ 100 ปี เหม เวชกร)

 

อ้างอิง : 

  •  พูน เกษจำรัส. ภาพ ‘รงค์ วงสวรรค์’. ปกนิตยสาร ถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 ธันวาคม 2527