©ulture

“ปี 2011 โลกดับสูญ: ฉันฆ่าตัวตาย”

วิโอลา ดี กราโด (Viola Di Grado) นักเขียนคลื่นลูกใหม่ชาวอิตาลี ขึ้นต้นนิยาย Hollow Heart ของเธอไว้แบบนั้น นี่คือนิยายเล่มที่ 2 ของเธอที่ตีพิมพ์ในปี 2013 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 26 ปี ช่วงวัยที่ควรหมกมุ่นกับชีวิตมากกว่าความตาย (เล่มแรกที่ชื่อ 70% Acrylic 30% ตีพิมพ์ในปี 2011 ขณะที่เธออายุเพียง 24 ปีเท่านั้น) มันเป็นนิยายที่ได้รับการโหวตเป็นอันดับหนึ่งว่าสมควรจะได้รับรางวัล Man Booker International Prize ในเว็บไซต์ goodreads.com เมื่อปี 2016 และได้รับคะแนนมากกว่า The Vegetarian ของ ฮาน กัง (Han Kang) ซึ่งเป็นผู้คว้ารางวัลในปีนั้นไปครองจริงๆ ด้วยซ้ำ

“ปี 2011 โลกดับสูญ: ฉันฆ่าตัวตาย”

หัวใจกลวงเปล่า โลกดับสูญ ทำให้นึกถึงสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ที่โลกอาจกำลังดำเนินมาถึงยุคสมัยอันล่มสลาย (Apocalypse) ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่กินระยะเวลายืดยาวและยังไม่มีทีท่าจะจบสิ้นมาตั้งแต่ต้นปี แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่าจะดับสูญ หรือล้มหายตายจากไปอย่างไรและในท่วงทำนองใด ดูเหมือน Hollow Heart กำลังตั้งคำถามกับเราว่า ใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีวันสิ้นสูญ ชีวิตหนึ่งหนึ่งมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในตัวมันเอง

เริ่มต้นจากผู้เล่าเรื่องฆ่าตัวตายในอ่างอาบน้ำ Hollow Heart พาเราย้อนกลับไปสำรวจทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครเอก โดโรที จิจลิโอ (Dorotea Giglio) ราวกับก้าวล่วงไปในความฝันประหลาดล้ำ ผ่านเรื่องเล่าที่ถูกแบ่งบทออกเป็นเลขปีต่างๆ ทั้งชีวิตวัยเด็ก เรื่องราวเล็กจ้อยก่อนตาย เรื่องความผุพังเน่าสลายของร่างกาย และเหตุการณ์ที่ตามมาหลังเธอตายไปแล้ว

น้ำเสียงบางช่วงในวิธีการเล่าเรื่องของ วิโอลา ดี กราโด ทำให้นึกถึงนิยายอันโด่งดังอีกเรื่องหนึ่งชื่อ My name is red ของ ออร์ฮัน พามุค (Orhan Pamuk) อยู่ในที อาจเพราะมันถูกเล่าด้วยคนที่ตายไปแล้วเหมือนกัน และทั้งสองเรื่องก็เป็นการลากดึงความตายที่ผู้คนคิดว่าเป็นด้านตรงข้ามกับชีวิตขึ้นมาบอกเล่า โดยอาจกำลังบอกว่า ความตายนั่นแหละที่เปี่ยมไปด้วย ‘เรื่องเล่า’ มากกว่าสิ่งใด

“ทั้งด้วยสัญชาตญาณและจากวัฒนธรรม พวกเขาแบ่งเขตแดนระหว่างความตาย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ เป็นเช่นนั้นสำหรับทุกคน และยังคงเป็นอยู่ ผู้คนคิดว่าเมื่อพวกเขาสิ้นชีวิต มันจะมีเส้นแสงส่องสว่าง ไม่ว่าพวกเขาจะวาดภาพว่านั่นคือหนทางสู่สวรรค์ หรือแค่สิ่งที่บ่งบอกว่าร่างกายได้หยุดทำงานแล้วก็ตาม พวกเขาต่างจินตนาการถึงเส้นแบ่งนี้ พวกเขาต้องการกำแพงระหว่างความตาย พวกเขาต้องการแน่ใจว่าไม่มีอะไรจะทำลายมันได้ ไม่มีใครมีความกล้าที่จะคิดว่ากำแพงนั้นไม่มีอยู่ วรรณกรรมและศาสนาต่างกางข้อความจารึกเคร่งขรึมปกคลุมมันไว้”

การเล่าเรื่องด้วยมุมมองของคนที่ตายไปแล้วนั้นเป็นวิธีที่ชาญฉลาด ในทางนิยายแล้วมันมีความคล้ายคลึงกับการเล่าด้วยสายตาของพระเจ้าที่ผู้อ่านจะได้เห็นความเป็นไปของตัวละครรายล้อมเหตุการณ์หลักที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด แต่ในทางกลับกัน ในฐานะตัวผู้เล่าเรื่อง—ผู้อยู่ในสถานะไร้ลมหายใจ—เป็นวิญญาณเร่ร่อนง่อยเปลี้ยเสียขา รายละเอียดนั้นเองที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดที่มากกว่า เมื่อมันแสดงให้เห็นถึงภาวะไร้อำนาจของผู้เล่า เพราะแท้จริงแล้วจิจลิโอไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในโลกของความตาย เธอไม่สามารถช่วยแม่หรือป้าของเธอได้ในห้วงยามที่พวกเขาโศกเศร้าจากความตายของเธอ

วิโอลา ดี กราโด

“ปี 2011 โลกดับสูญ: ฉันฆ่าตัวตาย”

เด็กสาววัย 25 ปีตัดสินใจฆ่าตัวตาย และโลกของเธออาจล่มสลาย แต่หัวใจที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องเล่าในนิยายเรื่องนี้คงจะยืนยันได้ว่า หัวใจของตัวละครอย่างโดโรทีไม่ได้กลวงเปล่าไร้ราคาเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยแม้ตายไปแล้วเธอก็ยังรู้สึกรู้สา และมองเห็นชีวิตได้ชัดเจนยิ่งกว่าตอนที่เธอมีลมหายใจ

ใช่แหละว่า มันมีความเจ็บปวด มีความรวดร้าว มีความโศกเศร้าในชีวิตบัดซบนี้ แต่ตราบใดที่โลกยังขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่า ในโลกที่กำลังเผชิญกับกลียุคเช่นนี้ ก็ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า ต่อให้อะไรหลายสิ่งหลายอย่างล้มหายจากไป แต่ด้วยการเล่าเรื่อง และกลายเป็นเรื่องที่จะถูกนำไปเล่า พวกเราก็ยังจะมีลมหายใจต่อไปอีกนานนับนาน

“ความอาดูรเหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดก มันไม่มีวันจบสิ้น ก็แค่ซ่อนตัวอยู่ในความเศร้าที่มาใหม่ และในทุกความโศกเศร้าใหม่ๆ ล้วนบรรจุไว้ด้วยความเศร้าก่อนหน้า ความอาดูรของฉันจึงดูล่องหน แต่มันอยู่ตรงนั้น ในทุกเรื่องผิดหวังโง่เง่าที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน”