©ulture

Korean เป็นศัพท์เกาหลีคำแรกที่ได้รับการบัญญัติในออกซ์ฟอร์ด อิงลิช ดิกชันนารี (Oxford English Dictionary หรือ OED) เมื่อปี 1933

88 ปีผ่านไป คลื่นความนิยมเกาหลี (Korean Wave) เป็นอีกหนึ่งคำใหม่ที่ถูกบัญญัติในพจนานุกรมเล่มนี้ พร้อมด้วยสมาชิกศัพท์เกาหลีอีก 25 คำที่ได้รับการบรรจุเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงพัฒนาการในการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศเกาหลีใต้ที่เติบโตแบบกราฟที่พุ่งทะยาน 

หนึ่งในเหตุผลที่ OED ครองสถานะของการเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษเชิงวิชาการและละเอียดที่สุดที่ยังยึดถือและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน คงเพราะความขยันในการบรรจุศัพท์ใหม่และเรียบเรียงความหมายศัพท์เดิมให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอนั่นเอง 

อย่างเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว OED ก็เพิ่งเพิ่มคำศัพท์เกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของคนในสังคมเข้าไปอีก 20 คำ เช่น elbow bump หมายถึง การที่คนสองคนเอาศอกชนกันเบาๆ เพื่อทักทายกันแทนการจับมือหรือโอบกอด ซึ่งเป็นวิธีการทักทายแบบใหม่เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายหรือการติดเชื้อ 

รวมถึงคำว่า social isolation ที่ใช้ครั้งแรกในปี 1834 และมีการเพิ่มคำอธิบายเรื่อยมา รวมทั้งช่วงที่โรคซาร์สระบาด ส่วนคำว่า Coronavirus นั้นถูกบรรจุใน OED มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว 

การเพิ่มศัพท์เกาหลีเข้าไปใน OED อีก 26 คำก็เช่นกัน ที่มีการเพิ่มคำอธิบายให้คำศัพท์เดิมที่มีอยู่แล้ว และการเติมศัพท์ใหม่เข้าไป โดยมีทั้งหมวดที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมป็อปและอาหารการกินที่ยกมาทั้งสำรับเกาหลี 

korean words

เท้าความถึงที่มาของคำว่า Korean ที่ปรากฏในพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดครั้งแรกเมื่อปี 1933 นั้น มีรากศัพท์จากภาษาเกาหลีว่า Goryeo (หรือทับศัพท์ว่า Koryŏ) หมายถึง ชื่ออาณาจักรในเอเชียตะวันออก กินอาณาเขตรวมทั้งคาบสมุทรเกาหลี ย่อมาจากคำว่า Goguryeo ซึ่งเป็นชื่อของอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 อาณาจักรเกาหลี ที่ภายหลังมารวมกันเป็นปึกแผ่นในศตวรรษที่ 10  

คำว่า Korea ปรากฏว่ามีการใช้ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 โดยในยุคนั้นสะกดว่า Corean ก่อนจะเปลียนมาใช้ตัว K ในคริสตศักราช 1800 

หลายศตวรรษผ่านไป เมื่อโลกหมุนมาจนถึงทศวรรษที่ 1990 อันเป็นห้วงเวลาที่ Korean ถูกย่อให้สั้นลงเหลือแค่ K- นำหน้า ต่อท้ายด้วยคำนามต่างๆ เพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมป็อปที่ถือกำเนิดในเกาหลีใต้ โดยคำแรกที่บุกตลาดโลกก็คือ K-pop ปรากฏครั้งแรกในนิตยสาร Billboard ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 1999 ก่อนจะถูกบัญญัติไว้ใน OED เมื่อปี 2016  

korean words

แต่ก่อนที่แนวเพลง K-pop จะจุดกระแสความนิยมไปทั่วโลก ได้มีศัพท์เกี่ยวกับวงการเพลงเกาหลีถูกใช้เป็นครั้งแรกมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 1986 คำนั้นคือ trot ที่หมายถึงเพลงลูกทุ่งเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงแนวเอ็นกะ (Enka) ของญี่ปุ่น หรือ foxtrot ของชาวตะวันตกนั่นเอง 

K-drama เป็นอีกคำที่ได้รับการบัญญัติไว้ใน OED โดยคำนี้ได้รับการพูดถึงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 ในหนังสือพิมพ์ The Strait Times ของสิงคโปร์ ซึ่ง K-drama นั้นกินความหมายรวมถึงซีรีส์ทุกแนวที่ผลิตจากเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นแนวโรแมนติกคอมาดี้อย่าง Crash Landing on You ซีรีส์แนวสืบสวนแฟนตาซีอย่าง Signal ไปจนถึงซีรีส์ซอมบี้บุกวังหลวงสุดฮือฮาเรื่อง Kingdom   

Hallyu และ Korean Wave เป็นศัพท์เกาหลีอีก 2 คำที่เพิ่งถูกเพิ่มลงใน OED ปีนี้ โดย Hallyu (ฮัลรยูมีความหมายเดียวกับ Korean Wave ซึ่งก็คือ คลื่นความนิยมที่นานาชาติมีต่อวัฒนธรรมป็อปของเกาหลีใต้ วัดจากความสำเร็จในระดับโลกของเพลง หนัง ซีรีส์ แฟชั่น ความงาม และอาหาร 

และคำศัพท์หมวดอาหารนี้เองที่เพิ่มเข้ามาใน OED เวอร์ชันล่าสุดมากถึง 8 คำ ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยเราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว จากความนิยมในการเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงร้านอาหารเกาหลีจำนวนมากที่เปิดในประเทศไทย 

korean words
bulgogi (บุลโกกิ)

ตัวอย่างเช่น bulgogi (บุลโกกิ) (.) เนื้อวัวหรือเนื้อหมูสไลด์เป็นแผ่นบางนำไปหมักซอสก่อนนำไปย่างหรือผัด 

kimbap (คิมบับ) (.) อาหารเกาหลีที่ประกอบด้วยข้าวสวยและวัตถุดิบอื่นๆ ห่อในแผ่นสาหร่าย ตัดเป็นชิ้นพอดีคำ 

banchan (บันชัน) (.) ผักจานเล็กเสิร์ฟคู่กับข้าวสวย เป็นเครื่องเคียงที่มักพบในมื้ออาหารเกาหลี 

korean words
kimbap (คิมบับ)

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์หมวดวัฒนธรรมเกาหลีที่ OED เพิ่มไว้ในเอดิชั่นนี้อย่างเป็นทางการ เช่น hanbok (ฮันบก) (.) ชุดประจำชาติเกาหลีtang soo do (ทังซุโด) (.) ศิลปะการต่อสู้เกาหลีmanhwa (มันฮวา) (.) การ์ตูนและหนังสือการ์ตูนเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่น 

รวมถึงคำนี้ที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ mukbang (ม็อคบัง) (.) วิดีโอที่มีเนื้อหาถ่ายทอดสดการกินอาหารคราวละมากๆ ซึ่งเป็นตัวจุดกระแสให้เกิดการไลฟ์สดแนวนี้ไปทั่วโลก 

korean words
mukbang (ม็อคบัง)

หมวดคำศัพท์ที่ชาวเกาหลีหยิบยืมมาจากภาษาอังกฤษ แล้วสวมความหมายเฉพาะเข้าไปก็น่าสนใจ เช่น fighting (ไฟท์ติ้งมักใช้เป็นคำพูดในการเชียร์หรือให้กำลังใจ (อารมณ์ประมาณสู้ๆ ของไทยและ PC bang (พีซีบังเป็นคำเรียกศูนย์เกมประเภท LAN หรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่ให้บริการเล่นเกมโดยเฉพาะ 

รวมถึงคำว่า skinship (สกินชิปที่หมายถึง การสัมผัสเนื้อตัวที่ซ่อนความหมายลึกซึ้ง เป็นการแสดงความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างเพื่อน และระหว่างคนรัก เกิดจากการสมาสคำว่า skin (ผิวกับ kinship (เครือญาติเข้าด้วยกัน 

ศัพท์เกาหลีทั้ง 26 คำ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย รวมถึงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่น้อมรับวัฒนธรรมป็อปของเกาหลีมานานปี แต่สำหรับชาติตะวันตกนั้นยังถือเป็นกระแสใหม่ที่กำลังบูมมาก โดยเฉพาะในปีนี้ เมื่อบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีอย่าง BTS และ Blackpink กวาดสาวกฝั่งตะวันตกมาได้เพียบ รวมถึงความนิยมถล่มทลายของซีรีส์เลือดสาดประจำ Netflix อย่าง Squid Game ยิ่งทำให้การบรรจุศัพท์เกาหลีเพิ่มเข้าไปใน OED ครั้งนี้ช่างเหมาะเจาะและลงตัว 

ทั้งนี้ OED ระบุในแถลงการณ์ว่า การบรรจุศัพท์ภาษาเกาหลีลงในพจนานุกรมเวอร์ชันใหม่เป็นการให้ความสำคัญและการยอมรับโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ในยุคสมัยที่ผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลกกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ภาษา 

ชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้สร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนคำศัพท์มากมายภายใต้บริบทท้องถิ่น ก่อนจะทำให้คำศัพท์เหล่านั้นเป็นที่รู้จักในโลกของผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร นำไปสู่การเปิดโอกาสให้คลื่นของภาษาเกาหลีได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับศัพท์ภาษาอังกฤษมากมาย 

korean words

แต่ไม่ใช่เฉพาะภาษาเกาหลีเท่านั้นที่มีที่ยืนในพจนานุกรมภาษาอังกฤษระดับโลก ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษแบบอินเดีย ไนจีเรีย แคริบเบียน และอีกหลายภูมิภาคในโลกที่ส่งแรงกระเพื่อมทางวัฒนธรรมในระดับอินเตอร์ ล้วนแล้วแต่ได้รับการบรรจุศัพท์เหล่านั้นในพจนานุกรมที่ได้มาตรฐานโลกเล่มนี้มาแล้วทั้งสิ้น 

ถือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าภาษามีการลื่นไหล เปลี่ยนแปลง และวิวัฒน์ไปตามปรากฏการณ์และการใช้งานของสังคม ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้จัดทำพจนานุกรมที่เปรียบเสมือนวุ้นแปลภาษาของโลก ที่จะต้องเพิ่มเติมและเรียบเรียงคลังคำใหม่ๆ สิริรวมมากกว่า 600,000 คำ ต่อเนื่องมานานกว่าพันปี เพื่อให้ชนต่างชาติหลากภาษาสื่อสารได้อย่างเข้าใจกันมากขึ้น 

อ้างอิง