“พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด”
ลุดวิก มีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) คือสถาปนิกชาวเยอรมัน ผู้มีชีวิตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาเป็นไอคอนของงานสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ (modern) ในช่วงคริสตวรรษที่ 20 ซึ่งตอบโจทย์แนวคิด ‘less is more’ หรือ ‘น้อยแต่มาก’ ทว่าความน้อยแสนเรียบง่ายนั้นไม่ได้หมายถึงการละเลยการใส่ใจรายละเอียดของศิลปะที่เหล่ารุ่นพี่ศิลปินในแขนงต่างๆ ถางทางมาก่อนหน้าจนกลายเป็นความชุ่ย ฟาน เดอร์ โรห์ยังคงให้ความสำคัญต่อการทำงานศิลปะที่ใส่ใจต่อดีเทล ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวคิดรวบยอดได้ภายในประโยคเดียวว่า ‘God is in the details’ หรือ ‘พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด’ ก่อนที่แนวคิดนี้จะถูกนำไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์ รวมถึงการเสพงานศิลปะเอง
สิ่งที่น่าสนุกอย่างหนึ่งของการเสพงานศิลปะ นอกจากการมองภาพรวมให้เห็นถึงความงามและสารที่ศิลปินต้องการสื่อ บางครั้ง จึงเป็นการเพ่งลึกชนิดโคลสอัพเพื่อมองให้เห็นรายละเอียดที่แอบซ่อนอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นฝีแปรงตวัดเฉียบคมแค่ไม่กี่ครั้งที่ก่อให้เกิดภาพลวงตาของวัตถุบางอย่างในงานจิตรกรรม หรือรายละเอียดเล็กๆ ที่ศิลปินนึกสนุกแอบซ่อนลงไปอย่างแยบคายประหนึ่งจดหมายรักลับๆ ระหว่างผู้เสพงานและผู้สร้างงาน กระทั่งรายละเอียดบางอย่างในงานประติมากรรมบางชิ้นที่หากเพ่งพินิจใกล้ๆ เราจะพบว่ามันช่างบกพร่องไม่เป็นไปตามหลักกายวิภาค แต่เมื่อถอยออกมามองไกลๆ กลับสร้างสเน่ห์และมิติได้อย่างน่าอัศจรรย์
“พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด”
แต่ถ้ามองแค่รายละเอียดแบบโคลสอัพ คุณจะทายถูกหรือเปล่าว่านี่คืองานศิลปะชื่อดังชิ้นใด?
1.
คำใบ้: ภาพโคลสอัพของงานจิตรกรรมจากศตวรรษที่ 15 ชิ้นนี้ เผยให้เห็นกระจกแขวนผนังทรงกลมที่มีภาพบุคคลสะท้อนอยู่ภายใน ซึ่งนั่นคือแผ่นหลังของบุคคลสองคนผู้เป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพวาดภาพนี้ หากสังเกตุดีๆ จะเห็นว่ากรอบของกระจกที่ทำจากไม้ มีรูปวาดแสดงทุกกริยาของพระเยซูในอิริยาบถต่างๆ ล้อมรอบอยู่ แถมมองขึ้นไปบนผนังยังมีตัวอักษรภาษาละตินระบุทั้งชื่อศิลปิน และเลขปี 1434 ซึ่งเป็นปีที่ภาพวาดรูปนี้ถูกเขียนขึ้นให้เห็นอย่างเด่นชัด ราวกับว่าศิลปินต้องการแอบย่องเข้าไปมีส่วนร่วมในภาพวาดที่จะกลายเป็นภาพที่โด่งดังที่สุดของตัวเองในเวลาต่อมาภาพนี้ก็ไม่ปาน
….
เฉลย: นี่คือภาพวาดที่มีชื่อว่า ‘ภาพเหมือนของอาร์นอลฟีนี’ (Arnolfini Portrait) ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนไม้โอ๊ก โดยจิตรกรเนเธอร์แลนด์ผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 15 อย่าง ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck) มันเป็นภาพที่ได้รับการชื่นชมในเรื่องของการจัดองค์ประกอบศิลป์ ความละเอียดละออในการจัดวางที่ว่าง การใช้แสง รวมถึงการสร้างมิติเชิงลึกที่ซับซ้อน
วัตถุที่ปรากฏอยู่ในภาพทั้งสีของชุดที่แบบใส่ รองเท้า สุนัข หรือท่าทางของแบบ ถูกนักประวัติศาสตร์ศิลป์ตีความและถกเถียงมาอย่างต่อเนื่องในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะ (โดยมากแล้วพูดถึงการแต่งงาน ความซื่อสัตย์ และความศรัทธาในศาสนาคริสต์) จึงทำให้ ‘ภาพเหมือนของอาร์นอลฟีนี’ ยังคงเป็นภาพวาดภาพหนึ่งที่โด่งดังและเป็นอมตะเหนือกาลเวลา
2.
คำใบ้: มองแบบโคลสอัพอย่างผิวเผิน นี่น่าจะเป็นบางส่วนของใบหน้าคน โดยมีทีแปรงสีขาวที่ปาดลงไปประมาณสองครั้งประหนึ่งจิตรกรขี้เกียจอยู่บริเวณติ่งหู แต่หากถอยออกมาดู มันก็จะมอบภาพลวงตาของการเป็น ‘ต่างหูไข่มุก’ ได้อย่างน่าพิศวง
….
เฉลย: ภาพสีน้ำมันภาพนี้มีชื่อว่า Girl with a Pearl Earring โดยจิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์อีกคนอย่าง โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) ภาพวาดภาพนี้ถูกเขียนขึ้นในปี 1665 และสิ่งที่ได้รับคำชมเชยที่สุดอย่างหนึ่งของมันในกาลต่อมาก็คือ เทคนิคการปาดฝีแปรงเพียงสองถึงสามครั้ง แต่กลับทิ้งพื้นที่ให้สมองของมนุษย์ได้จินตนการ และมองเห็นต่างหูไข่มุกบนปลายติ่งหูของหญิงสาวในรูปวาดแวววาวงดงามชวนจ้องมองขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งๆ ที่ถ้าสังเกตดีๆ มันไม่มีห่วงระหว่างใบหูและตัวต่างหูปรากฏอยู่ในรูปด้วยซ้ำ นอกจากนั้นการใช้สีน้ำเงินอัลตรามารีน (Ultramarine blue) ที่โดดเด่นบนผ้าพันศีรษะ และใบหน้าที่แสดงอารมณ์อย่างลึกลับของหญิงสาว ตามแบบความเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคบาโรกที่ชื่อ Tronie ก็ทำให้ Girl with a Pearl Earring เป็นอีกภาพวาดที่ผู้คนอยากให้ชมมันด้วยตาตัวเองมากที่สุดภาพหนึ่ง
3.
คำใบ้: ตามทฤษฎีสมคบคิดเชื่อว่า หากมองภาพวาดภาพนี้ใกล้ๆ แบบโคลสอัพ เราจะสังเกตุเห็นคนที่นั่งอยู่ในคาเฟ่แห่งหนึ่ง ซึ่งถูกวาดด้วยสีสันแสบตา และทีแปรงหยาบๆ กระชากอารมณ์นี้ เป็นภาพสะท้อนที่ได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจบางอย่างมาจากภาพวาดชื่อดังจากอีกยุค ที่ทั้งเนี๊ยบกว่า แถมยังเป็นคนละสไตล์นามว่า The Last Supper ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ด้วยจำนวนคนบนโต๊ะที่มี 12 คนซึ่งกำลังล้อมชายผมยาวคนหนึ่งที่กำลังยืนอยู่ ราวเป็นการรับประหารอาหารร่วมกันระหว่างพระเยซูและเหล่าอัครสาวกในมื้ออาหารครั้งสุดท้าย ก่อนพระองค์จะถูกหักหลังและส่งเข้าสู่แดนประหาร
…
เฉลย: ภาพวาดสีน้ำมันที่เต็มไปด้วยสีสันภาพนี้เป็นของศิลปินผู้โด่งดัง (หลังจากโลกไป) อย่าง ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์ (Vincent van Gogh) ชื่อ Café Terrace at Night ซึ่งมีชื่อเสียงรองๆ ลงมาจากภาพ The Starry Night หรือกระทั่งรูปวาดภาพเหมือนของตัวจิตรกรเอง ซึ่งหากลองศึกษาประวัติของฟาน ก็อกฮ์ เราจะพบว่าเขาค่อนข้างเป็นมนุษย์ที่เคร่งในเรื่องศาสนา แถมพ่อของเขายังเป็นถึงอดีตศาสนาจารย์ จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะจะมีทฤษฎีสมคมคบคิด และตั้งข้อสังเกตุถึงอิทธิพลของ The Last Supper เมื่อพิจารณารายละเอียดใน Café Terrace at Night อย่างถี่ถ้วน
4.
คำใบ้: แปลกประหลาดอย่างยิ่งที่ภาพวาดที่คาดการณ์ว่าน่าจะถูกสร้างในระหว่างปี 1449 ถึงปี 1494 ภาพนี้ อยู่ๆ จะมีวัตถุลึกลับคล้าย UFO ปรากฏขึ้นที่ฉากหลัง แน่นอนว่าหากมองผิวเผิน อาจทำให้หลายคนคิดว่ามันอาจเป็นวัตถุนามธรรมที่ศิลปินใส่เข้ามาแบบลอยๆ เพื่อช่วยในเรื่องฟังก์ชั่นทางด้านองค์ประกอบศิลป์และความงามเพียงเท่านั้น แต่หากสังเกตุดีๆ เราจะเห็นชายคนหนึ่งในรูปวาดกำลังแหงนหน้ามองมัน แถมยังมีเจ้าสุนัขตัวน้อยข้างๆ ที่มองขึ้นไปในทิศทางเดียวเช่นกัน ราวกับว่าวัตถุลึกลับนี้ต้องมีความสำคัญอะไรบางอย่างแน่ๆ
…
เฉลย: เฉลยก่อนว่านี้คือภาพวาดของ โดเมนีโก กีร์ลันดาโย (Domenico Ghirlandaio) จิตกรชาวอิตาเลียนคนสำคัญในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ชื่อ Madonna with Saint Giovannino ซึ่งถูกติดตั้งอยู่ใน Palazzo Vecchio พระราชวังหลักในเมืองฟลอเรนซ์ ทว่านอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับศาสนา และเทคนิคอันงดงามของจิตรกรที่วาดภาพนี้ขึ้นมา สิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มาชมภาพวาดภาพนี้เป็นหลักล้านคนต่อปีนั่นก็คือ ปื้นสีดำเล็กๆ ตรงด้านซ้ายมือของภาพ ที่ถึงวันนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบว่ามันคือจานบินของมนุษย์ต่างดาวผู้มาเยือน หรือจิตรกรตั้งใจให้เป็นสิ่งอื่น หรือแท้จริง มันไม่ได้มีความหมายใดเลยเป็นพิเศษกันแน่
5.
คำใบ้: ดวงตากลมโตบนรูปปั้นหินอ่อนที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘รูปปั้นที่สมบูรณ์แบบที่สุด’ คู่นี้ หากพิจารณาตามหลักกายวิภาคดูเหมือนจะผิดสัดส่วนอย่างไม่น่าให้อภัย นั่นคือดวงตาแต่ละข้างกำลังมองไปยังทิศทางที่แตกต่างกัน แต่นักวิเคราะห์ทางศิลปะกลับมองว่า นี่คือความตั้งใจและเป็นเทคนิคอันเหลือร้ายของประติมากร เพราะผู้ชมไม่สามารถมองดวงตาของรูปปั้นขนาดใหญ่พร้อมกันทั้งสองข้างได้ในขณะที่เดินไปรอบๆ ประติมากรรม ศิลปินจึงใช้ช่องว่างตรงนี้มาทำให้ดวงตาของรูปปั้นสามารถส่งพลังต่อคนดูมากที่สุด
…
เฉลย: รูปปั้น ‘เดวิด’ หรือ พระเจ้าเดวิด (King David) คืองามประติมากรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของศิลปินในยุคเรเนซองส์อย่าง มีเกลันเจโล (Michelangelo) นี่คือรูปปั้นที่แกะสลักขึ้นมาจากหินอ่อนเพื่อฉายภาพของพระเจ้าเดวิดตามตำนานในคำภีร์ไบเบิล ที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของศิลปะในยุคฟิ้นฟูวิทยาการ ที่เน้นความสมบูรณ์แบบ และการเชิดชูมนุษย์ ผ่านมัดกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ รวมถึงรูปร่างที่สมส่วนและสมมาตร โดยไร้เสื้อผ้าปกปิด
6.
คำใบ้: เห็นแบบนี้อาจยากไปนิด เลยขอใบ้ให้ว่า ภาพโคลสอัพนี้คือส่วนหนึ่งของ ‘สถาปัตกรรม’ ที่สำคัญแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นี่คือรูปวาดกราฟฟิตี้บนผนัง ซึ่งซ่อนอยู่ในชั้นใต้ดินของห้องโถงขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ประมาณ 4,069 ฟุต มันถูกกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับอาคารแห่งนี้ในช่วงปี 1914 แต่กลับถูกลืมเลือนจนกระทั่งการค้นพบครั้งสำคัญในช่วงยุค 1970
…
เฉลย: นี่คือ Lincoln Memorial สถาปัตยกรรมที่ภายในบรรจุรูปปั้นของประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกานาม อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เริ่มก่อสร้างในปี 1914 และไปเสร็จสิ้นในปี 1922 โดยมีนัยถึงการก้าวสู่ศตวรรษใหม่ของประชาชนอเมริกัน ออกแบบโดยสองสถาปนิก แดเนียล เชสเตอร์ เฟรนช์ (Daniel Chester French) และ เฮนรี เบคอน (Henry Bacon) โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐฯ ภายใน แนชันนอลมอลล์ (National Mall) หรือ เดอะมอลล์ อันเป็นลานรวมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และเป็นจุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญๆ ในหน้าประวัติศาสตร์
อ้างอิง
- Kelly Grovier. Eight odd details hidden in masterpieces. https://bbc.in/3xuuWxb
- Meghan Jones. 10 Secret Messages Hidden in World Famous Paintings. https://bit.ly/3aLkzv8
- Meghan Jones. 9 Secret Messages Hidden in World Famous Sculptures. https://bit.ly/3xxPViE
- Gloria Riviera and Janet Weinstein. Take a ‘Historic Graffiti’ Tour Under the Lincoln Memorial. https://abcn.ws/2PsGbVO