คั่นจังหวะการเกาะติดหน้าจอเพื่อตามเชียร์แบดมินตัน ยิมนาสติก กรีฑา มวย ฯลฯ ในโตเกียวโอลิมปิก 2021 ด้วยภาพชนิดกีฬาสุดวินเทจจากโอลิมปิกเมื่อร้อยปีก่อน ที่บางรายการก็น่าเชียร์ให้ฟื้นฟูกลับมาแข่งใหม่เป็นสีสันในยุคนี้
อย่างที่ทราบดีว่า โตเกียวโอลิมปิก 2021 บรรจุ 6 ชนิดกีฬาใหม่ในการแข่งขัน ได้แก่ สเกตบอร์ด เซิร์ฟ ปีนหน้าผา คาราเต้ ซอฟต์บอล และเบสบอล
สเกตบอร์ด เซิร์ฟ ปีนหน้าผา และคาราเต้ นั้นใหม่จริง แต่ซอฟต์บอลกับเบสบอลนั้นเคยอยู่ในโอลิมปิกมาแล้ว
โดยเบสบอลเคยถูกบรรจุเป็นกีฬาทดลองในโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อปี 1992 แต่ถูกตัดออกจากโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008
เช่นเดียวกับซอฟต์บอลที่เคยอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ปี 1996 แต่ก็ถูกถอดออกจากปักกิ่งโอลิมปิก 2008 เช่นกัน
ดังนั้น ไม่แน่ว่าคนในเจเนอเรชั่นถัดไปอาจได้เห็นการกลับมาของเกมชักเย่อ การแข่งไต่เชือก หรือว่ายน้ำข้ามเครื่องกีดขวาง ในการแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้งก็เป็นได้
1.
กระโดดไกลและกระโดดสูงบนหลังม้า
การแข่งขันโอลิมปิกยุคใหม่เปิดฉากขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในโลกยังนิยมใช้ม้าในการสัญจร และการขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางนั้นก็ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยมีจุดกำเนิดพร้อมๆ กับปรากฏการณ์ที่ชนชั้นสูงในอังกฤษเริ่มสร้างรั้วกั้นอาณาเขตที่ดินของตน
ดังนั้น กีฬาขี่ม้าจึงได้รับการบรรจุไว้ในรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในปี 1900 ซึ่งปีนั้นกีฬาโอลิมปิกเป็นโปรแกรมที่พ่วงอยู่ในงาน Paris 1900 Exposition Universelle หรืองานเวิลด์เอ็กซ์โป ที่มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมงาน
ปารีสโอลิมปิก 1900 ไม่มีพิธีเปิด และกีฬาประเภทต่างๆ ก็ยืมสถานที่สำคัญๆ ในเมืองใช้เป็นสนามประลองกีฬา เช่น แข่งขันกีฬาทางน้ำในแม่น้ำแซน หรือการแข่งขันขี่ม้าที่จัดขึ้น 5 รายการ เป็นระยะเวลา 3 วัน ก็จัดที่ Place de Breteuil ใจกลางกรุงปารีส
สองจากห้ารายการเป็นการแข่งขันขี่ม้ากระโดดสูงและกระโดดไกล ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์โอลิมปิก
สำหรับกติกาการแข่งขันขี่ม้ากระโดดไกลนั้น กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันบังคับม้าให้กระโดดผ่านระยะ 4.5 เมตร ผลปรากฏว่าผู้เข้าแข่งขัน 17 รายกระโดดผ่านทั้งหมด ต่อเมื่อเพิ่มระยะกระโดดเป็น 4.9 เมตร จึงทำให้มีบางรายกระโดดพลาด ส่งผลให้ผู้คว้าเหรียญทองไปครอง ได้แก่ Constant van Langhendonck พลทหารราบจากเบลเยียม ผู้ทำการบังคับม้าชื่อ Extra Dry กระโดดได้ไกล 6.10 เมตร
การแข่งขันในวันสุดท้าย เป็นการแข่งขันขี่ม้ากระโดดสูง มีผู้เข้าแข่งขัน 18 ราย เหรียญทองตกเป็นของ France’s Dominique Gardères จากฝรั่งเศส ที่ควบเจ้า Canella ให้กระโดดได้สูง 1.85 เมตร
เหตุผลที่การแข่งขันกระโดดไกลและกระโดดสูงบนหลังม้าถูกถอดออกจากโอลิมปิก เพราะคณะกรรมการจัดงานเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้เข้าแข่งขันแทบไม่ได้ใช้ทักษะด้านกีฬาแต่อย่างใด อีกทั้งการแข่งขันกระโดดสูงและกระโดดไกลก็มีอยู่ในรายการแข่งขันกรีฑา ที่มนุษย์ทำสถิติได้ดีกว่าม้าเสียอีก
2.
ว่ายน้ำข้ามเครื่องกีดขวาง
การแข่งขันโอลิมปิก 3 ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ, กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเมืองเซ็นต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ยังไม่มีสนามกีฬา สระว่ายน้ำ หรือสถานที่เฉพาะสำหรับแข่งกีฬา เพิ่งจะในลอนดอนโอลิมปิก 1908 ที่มีการสร้างสนามกีฬาและสระว่ายน้ำเพื่อรองรับการแข่งขันที่ได้มาตรฐาน
ดังนั้น กีฬาว่ายน้ำในปารีสโอลิมปิก 1900 จึงจัดการแข่งขันกันในแม่น้ำแซน และมีกีฬาว่ายน้ำสุดแปลกสำหรับคน พ.ศ. ปัจจุบันรวมอยู่หลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ ว่ายน้ำข้ามเครื่องกีดขวาง
กติกาในการแข่งขันว่ายน้ำข้ามเครื่องกีดขวางมีความคล้ายด่านต่างๆ ที่หลายคนเคยผ่านตาในรายการ โหด มัน ฮา (Takeshi’s Castle) เกมโชว์ผจญภัยสัญชาติญี่ปุ่นที่โด่งดังมากในยุค 90
กล่าวคือ ตลอดระยะทาง 200 เมตรในน้ำ จะมีสิ่งกีดขวางที่นักกีฬาต้องข้ามไปให้ได้เร็วที่สุด เริ่มตั้งแต่ปีนข้ามเสาที่ปักอยู่ในน้ำ จากนั้นปีนขึ้นไปบนเรือเล็ก ปิดท้ายด้วยการว่ายน้ำลอดใต้ท้องทิวแถวของเรือที่จอดลอยลำอยู่ ก่อนถึงเส้นชัย
ผู้คว้าเหรียญทองไปครองจากจำนวนผู้เข้าแข่งขัน 12 คนจาก 5 ชาติ ได้แก่ เฟรเดอริค เลน (Frederick Lane) นักว่ายน้ำจากออสเตรเลีย ตามด้วยออตโต วาห์ล (Otto Wahle) จากออสเตรียครองเหรียญเงิน และปีเตอร์ เคมพ์ (Peter Kemp) จากบริเตนใหญ่ ได้เหรียญทองแดงไปครอง
3.
ว่าย ‘ใต้’ น้ำ
ยังมีอีกหนึ่งกีฬาทางน้ำที่น่า ‘ฉงน’ ใจในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 2 ที่กรุงปารีส ได้แก่ การแข่งว่ายน้ำใต้ผิวน้ำ โดยจัดการแข่งขันในแม่น้ำแซนสายเดิม
ระยะทางในการแข่งขันว่ายใต้น้ำคือ 60 เมตร กติกาไม่มีอะไรมาก นอกจากให้นักกีฬาพุ่งหลาวลงไปในน้ำแล้วว่ายน้ำใต้ผิวน้ำให้นานและไกลที่สุด
นักกีฬาจะได้รับ 1 คะแนนตามจำนวนวินาทีที่ร่างกายอยู่ใต้น้ำ และรับ 2 คะแนนสำหรับแต่ละเมตรที่เคลื่อนที่อยู่ใต้น้ำ
ชาร์ล เดอวองเดอวีล (Charles Devendeville) นักกีฬาชาวฝรั่งเศส คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันครั้งนี้ไปครอง โดยเขาสามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 1 นาที 8 วินาที เฉือนชนะ อองเดร ซิกส์ (Andre Six) เพื่อนร่วมชาติไปเพียง 3 วินาที
4.
เปโลตาบาสก์
ยังคงอยุ่กันที่โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1900 ในกรุงปารีส ที่มีการบรรจุกีฬาโบราณที่นิยมเล่นในแคว้นบาสก์ของสเปน ตอนใต้ของฝรั่งเศส และประเทศในแถบละตินอเมริกา ไว้ในการแข่งขัน
กีฬาชนิดนี้มีชื่อว่า เปโลตาบาสก์ หรือ เปโลตา
กติกาการเล่นเปโลตาคล้ายสควอทช์ในยุคนี้ โดยทำการแข่งขันในสนามที่กั้นด้วยกำแพงสูง 3 ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านซ้าย ส่วนด้านขวาเป็นฝั่งของผู้ชม
เกมจะเริ่มเมื่อฝ่ายเสิร์ฟขว้างลูกบอลไปยังกำแพงด้านหน้า ฝ่ายตรงข้ามต้องใช้ไม้ตีที่ทำจากไม้ทั้งแผ่น รับบอลกลางอากาศให้ได้ หรือภายในการกระดอนครั้งแรก ถ้าไม่สามารถตีบอลกลับไปได้ ฝ่ายเสิร์ฟก็ได้คะแนนไป
ลูกบอลที่ใช้ในเกมเปโลตามีความแข็งเทียบเท่าลูกกอล์ฟในสมัยนี้ แถมยังมีขนาดใหญ่กว่ามาก ในการตีแต่ละครั้งลูกบอลมีความเร็วสูงสุดถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จินตนาการแล้ว เปโลตาน่าจะเป็นกีฬาสนุก หวาดเสียว และน่าลุ้น แต่ด้วยความที่เป็นกีฬาเฉพาะถิ่นที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้มีการแข่งขันเกิดขึ้นเพียง 1 รายการในครั้งนั้น โดยมีนักกีฬาชายเข้าร่วม 4 คน จาก 2 ประเทศ คือ สเปนกับฝรั่งเศส และยังไม่ทันได้ลงสนามแข่ง ทีมชาติฝรั่งเศสกลับถอนตัวไปเสียก่อน ทำให้ทีมชาติสเปนคว้าเหรียญทองไปครองโดยไม่ต้องหวดไม้แต่อย่างใด
แน่นอนว่าครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวที่เปโลตาได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาหลักอย่างเป็นทางการ ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูให้เป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิกเกมส์ปี 1924, 1968 และ 1992
5.
กระโดดน้ำไกล
โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 3 จัดขึ้นในปี 1904 ที่เมืองเซ็นหลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บรรจุกีฬาดำน้ำไว้เป็นหนึ่งในประเภทกีฬาแข่งขัน ทำให้มีกีฬาทางน้ำแนวทดลองอยู่หลายชนิดด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ การแข่งกระโดดน้ำไกล
กติกา คือ นักกีฬาจะต้องกระโดดจากขอบสระ (โดยไม่ใช้สปริงบอร์ด) พุ่งตัวเคลื่อนที่ไปในน้ำโดยห้ามขยับส่วนใดของร่างกาย จนกว่าใบหน้าจะโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา
ผู้คว้าเหรียญทองในการแข่งขันครั้งเดียวครั้งนั้น ได้แก่ วิลเลียม ดิคกี (William Dickey) แห่งสหรัฐอเมริกา จากจำนวนผู้แข่งขันทั้งหมดเพียง 5 คน ที่ล้วนสังกัด New York Athletic Club ทั้งสิ้น
กีฬากระโดดน้ำไกลถูกถอดออกจากโอลิมปิกเกมส์ 1920 เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ลงความเห็นว่ากีฬาชนิดนี้แทบไม่ได้ใช้ความสามารถด้านกีฬาแต่อย่างใด
6.
ชักเย่อ
เชื่อหรือไม่ว่ากิจกรรมที่เด็กไทยทุกคนต้องเคยเล่นในการแข่งขันกีฬาสี เพราะต่อให้เป็นคนที่ไม่มีทักษะด้านกีฬาเลยก็สามารถร่วมทีมเพื่อแสดงความสามัคคีกับเพื่อนได้ไม่ยากอย่าง ‘ชักเย่อ’ เคยมีศักดิ์ศรีเป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกมาก่อน
ค.ศ.1900 – 1920 คือระยะเวลาที่ผู้เกาะติดขอบสนามชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้สนุกไปกับการร่วมเชียร์การแข่งดึงเชือก ที่ไม่ต้องอธิบายกติกาให้ยุ่งยาก ฝ่ายไหนเย่ออีกฝ่ายเข้ามาในแดนตัวเองได้ก็คว้าชัยไปครอง
สำหรับเกณฑ์ในการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันนั้น จะยึดตามชื่อชมรม ทำให้แต่ละชาติสามารถส่งทีมเข้าแข่งขันชักเย่อได้มากกว่าหนึ่งชมรม ทำให้แต่ละชาติมีสิทธิ์ได้ครองทั้งเหรียญทอง เงิน และทองแดง หากชมรมของชาติเดียวกันต้องมาประลองกำลังกันเอง
ส่วนจำนวนผู้เล่นในการชักเย่อแต่ละฝั่งนั้น มีการปรับเปลี่ยนกติกาอยู่บ่อยๆ เช่น ปี 1900 กำหนดให้มีผู้เล่นข้างละ 6 คน ปี 1904 ลดเหลือข้างละ 5 คน และเพิ่มเป็นข้างละ 8 คน ตั้งแต่โอลิมปิกปี 1908 – 1920
7.
ไต่เชือก
การแข่งขันไต่เชือกถูกบรรจุไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดขึ้น ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี ค.ศ. 1896 จนถึงลอสแองเจลิส โอลิมปิก ใน ค.ศ. 1932 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในปีแรกๆ ของการแข่งขัน นักกีฬาไต่เชือกจะต้องแข่งกันไต่ขึ้นไปบนเชือกความยาว 13 เมตร โดยวัดกันที่ท่วงท่า ความเร็ว และความสูงว่าใครไต่เชือกได้เร็วและสูงที่สุดด้วยท่าทางที่ทะมัดทะแมงน่ามอง
การแข่งไต่เชือกในโอลิมปิกเกมส์เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ตัดสินเฉพาะความเร็วเท่านั้นในปี 1904 ก่อนที่ในอีกสองทศวรรษให้หลังจะเพิ่มการให้คะแนนลีลาท่าทางในการไต่เข้าไปด้วย เมื่อครั้งปารีสโอลิมปิกในปี 1924
แต่ปรากฏว่าคะแนนลีลาทำให้ผู้เข้าแข่งขันถึง 22 คนได้คะแนนเต็ม ทำให้โอลิมปิกที่ลอสแองเจลิสในปี 1932 กลับมาตัดสินกันที่ความเร็วเท่านั้น
และถือเป็นการปิดฉากศึกไต่เชือกไวประจำโอลิมปิกเกมส์ไปในที่สุด
อ้างอิง
- Marco Hernandez. Olympic Games The Forgotten Events. https://tmsnrt.rs/3x5Icas
- Zim. 6 Lost Olympic Sports. https://bit.ly/3BH8G5F
- Olympics News.Strange but true: long and high jump at Paris 1900 – on horseback! https://bit.ly/3BA3iB0