แมกด้า เซเยก (Magda Sayeg) รู้จักการถักนิตติ้งครั้งแรกตอนอายุประมาณ 15-16 ปี ตอนนั้นเธอพยายามถักผ้าพันคอเพื่อเป็นของขวัญให้แก่แฟนหนุ่ม แต่แล้วขณะที่ผ้าพันคอผืนนั้นยังไม่ทันเสร็จดี เธอก็ถูกหักอกไปเสียก่อน…
กระทั่งปี 2005 เธอริเริ่มทำงานศิลปะจาก ‘ด้ายถัก’ (Knitting yarn) ขึ้น โดยได้ไอเดียจากการถักไหมพรมคลุมที่จับประตู ก่อนจะพามันออกสู่โลกภายนอกบนท้องถนนในเมืองฮิวสตันบ้านเกิด เริ่มต้นจากสิ่งของเล็กๆ เช่น เสาสัญญาณจราจร หัวรับน้ำดับเพลิง ฯลฯ กระทั่งผู้คนมองเห็น ได้แรงบันดาลใจ และกระจายการทำงานศิลปะที่ถูกบรรจุให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับ ‘สตรีทอาร์ต’ ชนิดนี้ออกไปทั่วโลก โดยผลงานของแมกด้า เซเยกที่โด่งดังที่สุดคือการถักนิตติ้งคลุมรถบัสทั้งคันในเม็กซิโกซิตี เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก ที่ผู้สนใจศิลปะน่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างเมื่อหลายปีก่อน
“เราต่างอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัลที่แสนรวดเร็ว แต่เราก็ยังกระหายและปรารถนาบางอย่างที่สามารถเชื่อมเราเข้าหากัน และพลังที่ซ่อนเร้นเหล่านั้นสามารถค้นพบได้ในสถานที่ที่คาดไม่ถึง พวกเราต่างมีทักษะที่กำลังรอคอยให้ถูกค้นพบ”
เซเยก ผู้ถูกยกให้เป็นมารดาของความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถูกรู้จักในนาม ‘Yarn Bombing’ แสดงความคิดเห็นถึงการทำงานศิลปะรูปแบบนี้ ซึ่งคำว่า bombing นั้นก็เป็นคำศัพท์คำเดียวกับการแอบลักลอบทำงานกราฟฟิตี้ อย่างการพ่น หรือการขีดเขียนรูปภาพและข้อความบนพื้นที่สาธารณะต่างๆ ส่วนเซเยกเอง เรียกการทำงานของเธอด้วยอีกชื่อเรียกว่า ‘Guerrilla Knitting’ หรือ ‘การถักแบบกองโจร’
แน่นอนว่า เวลาพูดถึงศิลปะแนว ‘สตรีทอาร์ต’ ภาพแรกที่นึกถึงมักเป็นกราฟฟิตี้บบนกำแพง แถมภาพจำของมันก็ยังให้เซนส์ของเพศชายมากกว่าเพศหญิงมาแต่ไหนแต่ไร การเกิดขึ้นของ Yarn Bombing จึงเป็นประหนึ่งการสร้างพื้นที่ให้แก่กิจกรรมที่มีภาพจำเป็นของ ‘แม่บ้าน’ และมีความเป็นเพศหญิงให้มีที่หยัดที่ยืนบนพื้นที่สาธารณะ
บทความเชิงวิจัยของ มานูเอลา ฟาริโนซี (Manuela Farinosi) และ ลีโอโปลดินา ฟอร์ตูนาติ (Leopoldina Fortunati) ชื่อ Knitting Feminist Politics: Exploring a Yarn-Bombing Performance in a Postdisaster City บอกว่า Yarn Bombing กลายมาเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในปัจจุบัน ด้วยการปรับปรุงงานศิลปะของการถักนิตติ้งหรือโครเชต์ที่เคยเป็นเรื่องของผู้หญิงสู่การเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมกราฟฟิตี้ที่ผู้ชายยึดครองอยู่
ศิลปิน Yarn Bombing ในปัจจุบันค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในเรื่องชนชั้น เชื้อชาติ เพศ หรืออายุที่แตกแตกต่าง
“ฉันรู้สึกว่าฉันสามารถสอดแทรกความเป็นหญิงเข้าไปในงานสตรีทอาร์ต โดยไม่จำเป็นต้องทำงานสตรีทอาร์ตแบบที่ผู้ชายกำลังทำได้”
นั่นคือความคิดเห็นของ เจสซี เฮมมอนส์ (Jessie Hemmons) ผู้เคยพาเส้นด้ายถักของเธอไปบอมบ์บนพื้นที่สาธารณะจนถูกพูดถึงในหลายๆ สื่อ เช่น การนำชุดบิกีนีไปสวมให้แก่รูปปั้น แฟรงก์ ริซโซ (Frank Rizzo) คนดังแห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย หรือกระทั้งนำเสื้อครอปท็อปจากไหมถักที่มีข้อความว่า ‘GO SEE THE ART’ ไปสวมใส่ให้กับรูปปั้น ‘ร็อกกี้’ หรือ รอกกี้ มาร์ซีอาโน (Rocky Marciano) ยอดนักมวยในรุ่นเฮฟวี่เวทผู้เป็นตำนานของวงการมวยโลก ซึ่งยืนตระหง่านอยู่หน้า Philadelphia Museum of Art
“ตอนนี้พื้นที่และเวทีการแสดงออกอยู่ทุกหนแห่ง ฉันสามารถเริ่มต้นเปิดเผยและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม เช่น ความเท่าเทียมของเพศหญิง หรือสิทธิพลเมืองได้” เฮมมอนส์กล่าว
ปัจจบัน Yarn Bombing กระจายตัวอยู่บนพื้นที่สาธารณะต่างๆ มากมายทั่วโลก ด้วยวาระและความหมายที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเพียงเพื่อการเชิดชูเกียรติให้แก่นักกีฬาผู้เพิ่งคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกที่เพิ่งปิดฉากลงไปสักคน เป็นการตกแต่งประดับประดาธรรมดาๆ เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่เราคุ้นชินให้กลับมาดึงดูดสายตาอีกครั้ง หรือกระทั่งเป็นการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมผ่านสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษมีภัยใดๆ เหล่านี้
อ้างอิง
- Manuela Farinosi, Leopoldina Fortunati. Knitting Feminist Politics: Exploring a Yarn-Bombing Performance in a Postdisaster City.
- Natalie Pompilio. Yarn Bombers’ use craft to make a statement. https://bit.ly/3iTWNk2
- Magda Sayeg. How yarn bombing grew into a worldwide movement. https://bit.ly/2WonYvE
- Liza Graves. Yarn Bombing: Meet the Woman Whose Knitting Spun a Global Movement. https://bit.ly/3x6GEwB
- Arike Idris. Tokyo Olympics 2020: Yarn bombers create knitted Tom Daley on Essex postbox. https://bit.ly/3xbAX0o