©ulture

ลูกเชอร์รีสีแดงสดตั้งอยู่บนไฟแช็ก 

ไข่ไก่ที่เปลือกมีรอยร้าวจัดวางอย่างลงตัวบนลวดสปริง

ไม้กดสิวอิงอยู่ข้าง ๆ และกรรไกรตัดขนจมูกนอนตะแคงอยู่ในเฟรมเดียวกัน

 แมลงเต่าทองตัวน้อยไต่อยู่บนก้านดอกชบาสีสวย 

เหล่าวัตถุธรรมดาที่พบเจอได้รอบตัวเราถูกนำมาจัดวางใหม่ และเล่าเรื่องไม่ธรรมดา ผ่านสายตาของ Ar Lhao ช่างภาพ นักสังเกตและศิลปินที่มาคุยกับเราในวันนี้ 

Cherry lighter, 2023

Never Ordinary Objects เป็นเดบิวต์โชว์เคสของ ‘Ar Lhao’ หรือ อาเหลา – ธนโชติ ทองรัก ช่างภาพแนวหุ่นนิ่ง (Still life) ที่มีลายเซ็นอันโดดเด่น เป็นครั้งแรกที่เขาจะพาพวกเราไปสำรวจรูปทรง สีสัน พื้นผิว และความงดงามในความเรียบง่ายของวัตถุธรรมดาๆ ที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะถูกนำมาเล่าด้วยมุมมองที่ไม่ธรรมดาของเขา

อาเหลาเป็นศิลปินในสังกัด TOWNHOUSE Studios, Creative Agency ซึ่งเป็นครีเอทีฟเอเจนซี่ที่ครีเอทงานภาพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย, ภาพเคลื่อนไหว, อีเว้นต์, นิทรรศการ ฯลฯ เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมแบรนด์และธุรกิจไลฟ์สไตล์หน้าใหม่ไปสู่ระดับสากล ทำให้ที่ศิลปินผู้ทำงานสร้างสรรค์หลากสาขาอยู่ในสังกัด และมีงานจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง เช่น Spotlight Exhibition (2022) และ Artful Home (2022) 

TOWNHOUSE Space อยู่ในตึกทาวน์เฮาส์เก่าสไตล์ลอนดอนอายุ 30 ที่ถูกรีโนเวทให้กลายเป็นสเปซของเหล่าคนดีไซน์ 

Never Ordinary Objects

วัตถุธรรมดาที่ไม่เคยธรรมดา

ใครที่เรียนด้านดีไซน์หรือสนใจเรื่องศิลปะเป็นทุนเดิม คงจะรู้จักคำว่า Still life กันเป็นอย่างดี เพราะภาพแนวนี้เป็นพื้นฐานที่เราจะได้เรียนในวิชาศิลปะ แต่ในประเทศไทยเราอาจจะยังไม่คุ้นชินกับภาพถ่ายแนวนี้มากนัก

Still- Life Photography หรือ ภาพหุ่นนิ่ง คือภาพของวัตถุนิ่งหรือวัตถุที่ไม่มีชีวิต เช่น การจัดวางองค์ประกอบภาพของแจกันดอกไม้ ผ้า เทียนไข ผลส้ม ตะกร้าผลไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นไสตล์ที่อาเหลาค้นพบโดยบังเอิญจากการหยิบข้าวของในบ้านมาถ่ายรูปเล่น ในช่วงที่พวกเราต้องกักตัวกันอยู่ในบ้านเมื่อ 2 ปีก่อน

Ar Lhao

“ตอนโควิดเราอยู่แต่ในห้อง ทำแต่งาน ก็เลยลองหางานอดิเรกที่เราทำแล้วมีความสุขและได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเราออกมา เราเลยกลับมาถ่ายรูปอีกครั้ง แต่ช่วงนั้นไม่ได้เจอคน เราก็ถ่ายคนไม่ได้ สิ่งที่เราถ่ายเลยเป็นพวกวัตถุในชีวิตประจำวันที่อยู่ในห้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเจอหรือใช้มันอยู่ทุกวัน เช่น ไข่ ที่กดสิว หวี ผลไม้ที่เราซื้อมากิน เราก็เอาวัตถุพวกนั้นมาประกอบ จัดวาง พยายามนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ของสิ่งของเหล่านั้นด้วยภาพถ่ายแนว Still life”

“เรามองว่างานของเราเป็นแนวทดลอง ที่จะพยายามขยายขอบเขตของคำว่า Still life ให้เห็นว่ามันมีอิสระ มีความแฟนตาซี ทำให้คนดูสนุกและได้คิดต่อได้ งานของเราค่อนข้างไร้แบบแผน ไร้กฎเกณฑ์ จะเรียกว่าไร้สาระก็ยังได้ ความท้าทายของการทำงานมันเลยขึ้นอยู่กับว่าวันนี้เราเจออะไร จินตนาการอะไรได้ แล้วอยากจะเก็บโมเมนต์นั้นเอาไว้ยังไง”

“ถ้าเราพูดถึงคำว่า Still life คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จัก คำนี้ยังไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักในประเทศไทย แต่จริงๆ มีศิลปินไทยหลายคนเลยที่เขาทำงานแนวนี้ เราคิดว่าการจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมา อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักภาพถ่ายแนวนี้มากขึ้น และอาจจะได้ inspire ใครหลายๆ คนได้”

 

เริ่มต้นจากการเป็นนักสังเกตการณ์

ที่ถ่ายภาพได้นิดหน่อย

ก่อนที่จะเดบิวต์เป็นศิลปินภาพถ่ายอย่างเต็มตัว อาเหลาเรียนจบด้านมัลติมีเดีย ที่เน้นเกี่ยวกับการทำสื่อสารคดีและการเขียนบทข่าว เขาเขียนงานอยู่พักใหญ่ๆ และผันตัวมาทำงานเป็นครีเอทีฟให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยที่ไม่ว่าจะเป็นช่วงชีวิตไหนๆ เขาก็ชื่นชอบการถ่ายรูปมาเสมอ

อาเหลาเริ่มถ่ายรูปอย่างจริงจังครั้งแรกตอนเรียนมัธยมต้น ด้วยกล้องถ่ายรูปคอมแพคดิจิตอลของคุณพ่อที่มีไว้ใช้ถ่ายรูปครอบครัวเวลาไปเที่ยว

“จุดเริ่มต้นของการชอบถ่ายรูปคือประมาณ ม.1 เราแอบเอากล้องไปถ่ายรูปที่โรงเรียนทุกวัน แล้วก็ถ่ายทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันที่เห็น นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์แม่ไปเรียนก็ถ่าย ถ่ายหมอก ถ่ายลม ถ่ายฝน ถ่ายเพื่อน มันเป็นการเก็บโมเมนต์ในชีวิตประจำวันของเรา”

“เราเองเริ่มต้นจากการถ่ายรูปเล่นๆ ไปเรื่อยเปื่อย หลายคนก็จะพูดว่าบางครั้งไม่ต้องถ่ายภาพหรอก เก็บไว้ในหัวก็ได้ แต่คำนี้ใช้กับเราไม่ได้เพราะว่าเราเป็นคนความจำไม่ดี ถ้าเราไม่เก็บภาพเอาไว้ เรากลัวว่าวันหนึ่งเราจะจำไม่ได้ เราก็เลยชอบถ่ายภาพ”

“ภาพถ่ายของเราเป็น ordinary object วัตถุในชีวิตประจำวัน วันนี้เราอาจจะไม่รู้สึกอะไรกับภาพถ่ายภาพนี้ แต่ถ้าเวลาผ่านไปสัก 30 หรือ 50 ปี แล้วคนมาย้อนดูภาพนี้ เชื่อว่างานของเราจะอธิบายเรื่องของยุคสมัยได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เห็นว่าในยุคนั้นเราใช้ไฟแช็กแบบนี้ ของสิ่งนี้มันเป็นของที่มีแค่ในยุคนั้นๆ มันอาจจะบอกเรื่องราวของยุคสมัยได้ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป” เขาเล่าให้เราฟัง

อาเหลากลายเป็นคนช่างสังเกตตั้งแต่เริ่มจับกล้องถ่ายรูป และปัจจุบันเขาก็กลายมาเป็นนักสังเกตรูปทรง พื้นผิว ลวดลาย ของสิ่งต่างๆ และนำสิ่งที่ได้เห็นผ่านสายตาของตัวเอง มานำเสนอให้เราดูผ่านรูปภาพ เชื่อว่าใครที่ได้ดูภาพของอาเหลาคงจะรู้สึกมีส่วนร่วมได้ไม่ยากเพราะสิ่งของที่ได้เห็นล้วนเป็นข้าวของที่น่าจะวางอยู่ในบ้านของเราทุกคน แต่อาจอยู่นอกสายตาและไม่ได้มีเวลามานั่งสำรวจมันบ่อยนัก

“เราทำเพื่อความสนุกของตัวเอง อยากถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่เรามองแล้วว่าจินตนาการผ่านภาพถ่ายพอเราทำงานกับวัตถุในชีวิตประจำวันมันยิ่งสนุกขึ้นไปใหญ่พอเราได้หยิบสิ่งของที่เราเห็นอยู่แล้วมาสร้างภาพใหม่อย่างไรให้มันแฟนตาซีขึ้น เราจะค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกและสังเกต อย่างสีของไข่ เราก็จะดูว่าถ้าเกิดเราถ่ายโคลสอัป เราจะเห็นภาพแบบไหน เราจะเห็นแม้กระทั่งเม็ดสีบนเปลือกไข่ หรือเวลาไข่มันแตก มันแตกอย่างไร แล้วมันสวยอย่างไร เราจะชอบสังเกตพื้นผิว รูปร่าง แล้วเอามาสร้างเป็นวิชวลใหม่ๆ ”

เมื่อพูดถึงงานที่เขาชอบที่สุด และเป็นภาพหนึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย คือภาพ Wet tissue, 2023 ภาพทิชชู่เปียกน้ำที่แปะอยู่บนกระจกใส เผยให้เห็นวิวตึกสูงด้านหลัง 

“ภาพนี้เป็นทิชชู่จากร้านกาแฟ เราจะเห็นว่าตัวทิชชู่มีแพทเทิร์นที่สวย แต่ละแบบ แต่ละขนาดก็จะมีแพทเทิร์นไม่เหมือนกัน เราชอบลายนี้ แล้วเวลามันโดนน้ำมันก็จะโปร่งแสง และเราได้ลองเล่นกับสภาพแวดล้อมและฉากหลังอื่นๆ ที่เปลี่ยนไปดูบ้าง จะเห็นว่าข้างหลังทิชชู่เป็นภาพของเมือง เป็นงานทดลองที่ขยายขอบเขตของคำว่า still life ที่ไม่ได้ยึดติดกับการเซ็ตฉากดีไซน์ วางอยู่บนโต๊ะ ถ่ายในสตูดิโอเสมอไป”

นอกจากการจัดวางที่โดดเด่นแล้ว ศิลปินยังสื่อสารกับผู้ชมด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจอีกด้วย เช่นภาพเปิดของนิทรรศการครั้งนี้ Still of egg, 2023 อาเหลาต้องการจะเล่าเรื่องความสวยงามและความเจ็บปวด

รูปภาพของที่กดสิว กรรไกรตัดขนจมูก ทำให้นึกถึงการแสวงหาการดูแลตนเอง ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างความงามและความเจ็บปวด สัญลักษณ์ของไข่ไก่ที่ปรากฏอยู่ในภาพ เปรียบกับพื้นผิวมนุษย์ ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจอันเจ็บปวดถึงความเปราะบางของผิวที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาความงามและการดูแลตนเอง

“เราชอบตอนที่คนดูเขารู้สึกสนุกว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น” อาเหลาบอกกับเรา 

Dead insect, 2023

“ถ้าเราถ่ายภาพแมลง เขาจะตั้งคำถามว่าทำไมมันบินมาเกาะตรงนี้เหรอ มันมีชีวิตหรือเปล่า บางคนดูแล้วก็นึกถึงการผจญจัยของสิ่งมีชีวิต พอคนได้ดูภาพแล้วคิดต่อก็ทำให้เราสนุกกับงานที่ทำ หรืออย่างภาพที่เราเอาเข็มมาปักกับว่านหางจระเข้ เราต้องการนำเสนอภาพของวัตถุที่สัมพันธ์กับความเจ็บปวด ความอันตราย เลยเลือกหยิบเอาว่านหางจระเข้ที่เป็นหนาม จับเข้าไว้ด้วยกันกับเข็ม ที่มีความแหลมคม ซึ่งเมื่อคนมองเข้ามายังภาพ ก็สามารถตีความหมายตามประสบการณ์ของชีวิตเค้าเองได้ หรือจะจบที่ความสวยงามอย่างเดียวก็ได้ ” 

“เราไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรนะแต่เรามองงานตัวเองแล้วเราก็รู้สึกว่ามันยังมีความสนุกมีความขี้เล่น จิกกัด ไร้เหตุผลบางอย่างแล้วมันทำให้คนเกิดจินตนาการได้มันก็น่าจะสนุกดีแล้ว อยากให้คนมาเสพงานของเราแล้วเขารู้สึกสนุกไปกับมัน”

ติดตาม Ar Lhao ได้ที่ ar_lhao

Never Ordinary Objects
TOWNHOUSE Space

สถานที่ : 50/8 ซอยอารีย์ 4
9 กุมภาพันธ์ – 5 เมษายน 2567
จันทร์ – ศุกร์ : 10:00 – 16:00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ : โปรดนัดหมายล่วงหน้า
Facebook : TOWNHOUSE Space