กลางวันนี้กินอะไรดี?
คือบทสนทนาคลาสสิคที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
และในยามที่คิดอะไรไม่ออก หลายครั้งก๋วยเตี๋ยวคือทางออกที่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง
อร่อย สะดวก ราคาไม่แพง และมีตัวเลือกเยอะ
แต่เคยสงสัยไหมว่า “เรากินก๋วยเตี๋ยวกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่”
ก๋วยเตี๋ยวเกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อไหร่
…ก๋วยเตี๋ยว (เกือบ) พันปี
ก๋วยเตี๋ยวเกิดขึ้นมาตอนไหน ไม่เคยมีหลักฐานบันทึกชัดเจน
แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ น่าจะมีต้นกำเนิดมาจาก “จีน”
จากหลักฐานในหนังสือ อิลมีลีโอเน (Il Milione) หรือ บันทึกการเดินทางของมาโค โปโล ได้กล่าวถึง “เส้นบะหมี่” ในช่วงที่เขาเดินทางไปจีนตามเส้นทางสายไหม สมัยกุบไรข่าน หรือราวๆ ปี 1274 – 1295
ก๋วยเตี๋ยวเข้ามาไทยตอนไหน
เชื่อกันว่า น่าจะเข้ามาในสมัยอยุธยา โดยมีข้อสันนิษฐานเด่นๆ อยู่ 2 ข้อ
ข้อสันนิษฐานแรก คือ น่าจะเข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากมาย จีนก็เข้ามาในช่วงนี้ อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นยุครุ่งเรืองของอาหาร เริ่มมีการดัดแปลงอาหารต่างชาติ ให้เข้าลิ้นคนไทยจากยุคนี้ เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด จากโปรตุเกส หรือพวกแกงกะทิ ที่ได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย
ส่วนอาหารจีนตามบันทึกของ ‘ลาลูแบร์’ ระบุว่าเป็นอาหารที่ใช้สำหรับรับแขกบ้านแขกเมือง แต่ก็ไม่ได้เจาะจงชื่อของอาหาร
“กับข้าวมากกว่า 30 ชนิด ที่ปรุงตามตำรับจีน ซึ่งเขานำมาตั้งเลี้ยงพวกเราที่กรุงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) นั้น ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะบริโภคได้สักอย่างเดียว”
เรื่องก๋วยเตี๋ยว จึงเป็นเพียงคำบอกเล่า ว่ามาจากพ่อค้าชาวจีน ที่นำบะหมี่มาต้มกินกัน คนไทยเห็น จึงได้รู้จักอาหารประเภทบะหมี่ตั้งแต่นั้น แต่ก็ไม่ได้มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานชัดเจน
ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ น่าจะเข้ามาหลังจากนั้น ในช่วงปลายอยุธยา ที่เราตัดสัมพันธ์กับชาติตะวันตกแล้ว อิทธิพลของอาหารจีนเริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับความชัดเจนในบันทึกต่างๆ เกี่ยวกับเส้นบะหมี่ อาทิ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ว่าด้วยการค้าขายนอกกรุง สมัยอยุธยาตอนปลายที่ระบุว่า
“บ้านในคลองสวนพลู พวกจีนตั้งเตาต้มสุราเลี้ยงสุกรขาย แลทำเส้นหมี่แห้งขาย”
คนไทยจึงอาจจะรู้จักบะหมี่ในช่วงนี้
อย่างไรก็ดี หากเราสันนิษฐานอยู่บนข้อที่ว่า ก๋วยเตี๋ยวมาจากจีน
และจีนเริ่มเข้ามาค้าขาย และตั้งรกรากในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
ก็มีความเป็นไปได้ หากจะบอกว่าลิ้นของคนไทยเริ่มสัมผัสก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่สมัยนั้น
แต่ก๋วยเตี๋ยวก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้สมัยรัตนโกสินทร์จะมีหลักฐานเรื่องสำรับอาหารจีนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏชื่อบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว
และคาดว่าก๋วยเตี๋ยวน่าจะเป็นอาหารที่ไม่นิยมไปอีกนานแสนนาน ถ้า ‘ท่านผู้นำ’ ชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้ลิ้มรสชาติของก๋วยเตี๋ยวใน พ.ศ.2485
“มากินก๋วยเตี๋ยวกันเถอะคนไทย” … อาหารพื้นๆ ที่ถูกนำมาเล่นใหญ่ จนได้เรื่อง
จากจุดเริ่มต้นตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ.2485 ข้าราชการไม่สามารถออกไปกินข้าวกลางวันข้างนอกได้ จนต้องให้ก๋วยเตี๋ยวเรือพายเข้าไปขายในทำเนียบ พอท่านผู้นำได้กิน ก็รู้สึกว่าอร่อย มีประโยชน์ และน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการหมุนเวียน ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะสงครามขณะนั้น
จอมพล ป. จึงเริ่มส่งเสริมให้คนไทยหันมากินก๋วยเตี๋ยวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
มีการเปิดคอร์สสอนทำก๋วยเตี๋ยวให้ประชาชนทั่วไป ใครจะทำขายก็แจกรถเข็นให้ พร้อมตั้งชื่อเสียโก้ว่า “ก๋วยเตี๋ยวสามัคคีชัย” ชื่อเดียวกับทำเนียบรัฐบาล ข้าราชการก็ถูกบังคับให้ขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ทั้งยังแต่งเพลง “อาหารกลางวันของท่านคือก๋วยเตี๋ยว” และเพลงชวนให้กินก๋วยเตี๋ยวกันกระหึ่มเมือง
การเมืองในชามก๋วยเตี๋ยว
“เดี๋ยวนี้ถึงกับว่า ก๋วยเตี๋ยวชามเดียวนี้แหละอาจแก้เศรษฐกิจของชาติได้..อ้อ! แล้วถ้าใส่หมวกอีกใบหนึ่ง กินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งละก้อเป็นมหาอำนาจได้เลย แม่พลอยเอ๋ย”
คำพูดของ ‘พ่อเพิ่ม’ ในนิยายสี่แผ่นดิน ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนขึ้นในยุคจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงถึงการประชดประชันนโยบายส่งเสริมก๋วยเตี๋ยวของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน
ถ้ามองจากมุมของปัจจุบัน ที่เรากินก๋วยเตี๋ยวกันเป็นเรื่องปกติ ก็คงเกิดคำถาม
“ทำไมล่ะ ก๋วยเตี๋ยวไม่ดีตรงไหน?”
แต่หากมองย้อนไปในยุคนั้น ที่ก่อนจะมีนโยบายส่งเสริม “ก๋วยเตี๋ยว” รัฐบาลก็มีการออกประกาศที่เรียกว่า “รัฐนิยม” บังคับใช้อยู่หลายฉบับ ทั้งการเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย การเคารพธงชาติวันละ 2 เวลา ใช้ ‘สวัสดี’ เป็นคำทักทาย สวมหมวกก่อนออกจากบ้าน ฯลฯ ล้วนเกิดจากการบังคับใช้ในสมัยจอมพล ป.
ถึงแม้จะบอกว่านี่คือสิ่งที่จะปฏิวัติไทยสู่ความเป็นอารยประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย โดยเฉพาะฝ่ายขั้วตรงข้ามทางการเมือง
จึงไม่แปลก หากบางกลุ่มจะมองว่า ก๋วยเตี๋ยวก็เป็นแค่หนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนภาพการเป็นผู้นำเผด็จการ ในสมัยรัฐธรรมนูญที่ดำเนินนโยบายตามใจท่านผู้นำ
แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มีการวิเคราะห์กันว่า ก๋วยเตี๋ยวนี่แหละ คืออาหารที่รัฐบาลคณะราษฎรใช้เป็นภาพแทนอาหารในอุดมคติของระบอบรัฐธรรมนูญ คือไม่ใช่ตำรับอาหารที่เริ่มมาจากชนชั้นสูงเหมือนในอดีต แถมทำจากวัตถุดิบในประเทศ ปรุงง่าย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย
สำคัญที่สุดคือ ทุกชนชั้นเข้าถึงได้ เป็น ‘ประชาธิปไตยเหนือชามส่วนบุคคล’ ด้วยอำนาจการปรุงของตนเอง
ก๋วยเตี๋ยวคือสูตรกินดีของคนไทย
หากตัดบริบททางการเมือง แล้วมองไปที่คุณค่าทางโภชนาการ
ก๋วยเตี๋ยวถือเป็นอาหารที่ตอบโจทย์นโยบายส่งเสริมการกินดีของราษฎรอย่างพอดิบพอดีที่สุด
ก่อนที่รัฐบาล ‘ท่านผู้นำ’ จะมาปิ๊งไอเดียกับก๋วยเตี๋ยว เคยมีการตั้งกองส่งเสริมอาหาร ทำหน้าที่คิดสูตรอาหารที่เหมาะสมแนะนำแก่ราษฎรเพื่อบำรุงอนามัย ในโครงการส่งเสริมอาหารของชาติอยู่ก่อนแล้ว
โจทย์หลักคือทำอย่างไรให้ประชาชนหันมากินอาหารที่มีประโยชน์ หาได้ง่ายในประเทศ
จอมพล ป. จึงส่งเสริมให้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไว้กินในครัวเรือน หากเหลือก็นำไปขายเป็นรายได้ ประกอบกับหลังน้ำท่วมใหญ่ ก็ส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ จำพวกขายของชำ โดยเน้นไปที่เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ น้ำปลา เต้าเจี้ยว และพวกการค้าขายเบ็ดเตล็ด เล็กๆ น้อยๆ
อาหารจานเล็กอย่างก๋วยเตี๋ยวเลยกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายพอดี
เพราะเป็นอาหารสูตรใหม่ที่บูรณาการทุกนโยบายการกินอยู่ ทั้งการกินดี ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และการค้าเบ็ดเตล็ด ครบเครื่องขนาดนี้ ท่านผู้นำเลยต้องเชิญชวน
“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทย ทุกอย่างราคาก็ถูก หาได้สะดวกและอร่อยด้วย”
ก๋วยเตี๋ยว ทางออกของเศรษฐกิจไทย
เราต้องเข้าใจก่อนว่าสมัยนั้น อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลพยายามหาวิธีให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ กระตุ้นให้ประชาชนจับจ่าย ในขอบเขตที่เป็นไปได้
ก๋วยเตี๋ยวคือทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ในตอนนั้น เพราะในหนึ่งชาม มีทั้งผัก เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส ที่รัฐบาลสนับสนุนให้ผลิตกันในประเทศอยู่แล้ว ราคาก็ไม่แพง หากทุกคนหันมากินก๋วยเตี๋ยว เงินจะหมุนเวียนไปยังชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล และร้านขายของชำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ ‘ค้าขาย’ ให้คนไทยอีกด้วย
จากหลักฐานต่างๆ ต้องบอกว่าในสมัยนั้น การค้าขายในไทยอยู่ในมือของชาวจีนเกือบทั้งสิ้น อ้างอิงจากคำสัมภาษณ์ของจอมพล ป. ที่เคยบอกว่า
“...รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไรเจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกินกับข้าวไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกับเขาบ้าง...”
การที่ชาวจีนกุมอำนาจการค้าขายได้อย่างเหนียวแน่น ได้เพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอำนาจใหม่ในยุคประชาธิปไตยให้แก่ชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จอมพล ป. จึงพยายามที่จะดึงเศรษฐกิจจากมือชาวจีนให้มาอยู่ในมือคนไทย เห็นได้จากคำขวัญ “ไทยทำไทยขาย ไทยใช้ไทยกิน” หรือแม้แต่การสนับสนุนให้คนไทยกินและขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นอาชีพของคนจีน
“…ถ้าทุกซอกทุกมุมพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยว จะทำให้เป็นอาหารของชาติที่ขอแบ่งมาจากพี่น้องชาวจีน ทำให้เรามีงานหากินเพิ่มขึ้น ชาวไร่ขายพืช ชาวประมงหาอาหารจากทะเล ก็จะมีงานทำมากขึ้น วิธีขายก๋วยเตี๋ยวให้เป็นกอบเป็นกำ เป็นล่ำเป็นสันทั่วไป…”
ถึงแม้สุดท้ายแล้ว จะไม่ได้มีบทสรุปอย่างชัดเจนว่าก๋วยเตี๋ยวช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในยุคนั้นได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นอย่างจริงจังในวันนั้น ก็ทำให้เรามีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยๆ มากมายในปัจจุบัน
จนเรียกได้ว่า ‘ก๋วยเตี๋ยว’ คือหนึ่งในอาหารจานหลักของคนไทยอย่างไร้ข้อกังขา
ก่อนที่ต่อมา คนไทยซึ่งเก่งเรื่องดัดแปลง จะปรับก๋วยเตี๋ยวจนเกิดตำรับใหม่มากมาย จนแทบไม่เหลือความเป็นจีน
common จะพาเดินทางไปดูก๋วยเตี๋ยวเด่นๆ ในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นแค่อาหารจานเส้น แต่เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นกันเลยทีเดียว ใน ตามรอยเส้น กว่าจะมาเป็น ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ตอนที่ 2: ‘เตี๋ยว’ นี้ ถิ่นใคร?
อ้างอิง:
- John Welford. The Origin of Pasta: The Marco Polo Connection. https://delishably.com/grains/The-Origin-of-Pasta-The-Marco-Polo-Connection
- อาจารย์กอบแก้ว นาจพินิจ. ประวัติวามเป็นมาของอาหารไทย. http://khaocookingschool.blogspot.com/2010/01/by-prof-kobkaew-najpinij.html
- สุกัญญา สุจฉายา. อาหารไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา. วารสารมนุษยศาสตร์ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560)
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โครงการเลือกสรรหนังสือ. ว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง (หน้า 8).
- โรม บุนนาค. รัฐนิยมของจอมพล ป. เมื่อไทยจะเป็นมหาอำนาจ. เรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน
- ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2490). สี่แผ่นดิน
- จริยา ชูช่วย. ผัดไทย จานชาตินิยม จานยอดนิยม. อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเมษายน 2559.
- กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เทศกาลตรุษจีนและชาวจีนในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม . นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558
- ชาติชาย มุกสง. 2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร : จากการกินเพื่ออยู่สู่การกินพื่อชาติและการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของรสชาติในสังคมไทยร่วมสมัย. จาก ๑๐๐ ปี ร.ศ.๑๓๐ ถึง ๘๐ ปีประชาธิปไตย