©ulture

“ผมชื่อ ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ผมเป็นศิลปินที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดมาเป็นสื่อในการทำงาน…”

คือประโยคแรกของข้อความแนะนำตัวในอีเมลที่ส่งมา จากนั้นเขาก็พยายามอธิบายถึงตัวเอง ว่าเป็นศิลปินที่อาศัยอยู่นิวยอร์ก และตอนนี้กลับมาเมืองไทย เพื่อจัดแสดงงานศิลปะชื่อ RIGHT | TYPE ที่พูดถึงสิทธิและเสรีภาพ

“เพื่อสร้างความตระหนักถึงเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ให้แก่สังคม” เขาย้ำถึงจุดประสงค์ในการสร้างงาน

แต่สิ่งที่สะดุดตาเรากลับไม่ใช่ข้อความเหล่านั้น เท่าตัวงานที่เขาแนบมาด้วย

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก
“สิทธิในการพูดความจริงหลายเรื่องก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า…” – ประทีป สุธาทองไทย (Photo:nutthawutsiri.com)
ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก
“เราถูกกดขี่ด้วยความเป็นเพศ” – เคท ครั้งพิบูลย์ (Photo:nutthawutsiri.com)

ภาพผู้คนหลากหลายอาชีพ ทั้งคนมีชื่อเสียง นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน และคนธรรมดาหลายชีวิต ที่สร้างจากตัวพิมพ์ดีดสีดำสลับแดง

ในแต่ละภาพ จะมีข้อความที่แต่ละคนพูดถึงสิทธิที่หายไปในมุมมองของตัวเอง บ้างข้อความพูดถึงส่วนตัว บ้างข้อความพูดถึงส่วนรวม

แต่ทุกภาพ ถ้าสังเกตดีๆ จะมีเครื่องหมาย ‘=’ ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นความตั้งใจ เพื่อสื่อถึงความเสมอภาค

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก
เครื่องหมาย = ในภาพพิมพ์ดีด

“ผมมีสูจิบัตรในงานแนบไปในอีเมล์นี้นะครับ และถ้าต้องการรูป หรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อผมทางอีเมล์นี้…”

เราติดต่อกลับไป แต่ไม่ใช่เพื่อขอรูปหรือข้อมูล แต่เพื่อขอนัดสัมภาษณ์พูดคุย ถึงเบื้องหลังงานที่ดูแปลกตา และสุ่มเสี่ยงพอสมควรสำหรับบางพื้นที่ ในเวลานี้

เมื่อไปถึงสถานที่จัดแสดงงาน Kalwit Studio & Gallery ที่อยู่ลึกเข้าไปในซอยร่วมฤดี “ณัฐ” หรือ ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย นั่งรออยู่ที่ด้านหน้าแกลเลอรี่

พอทักทายกันหอมปากหอมคอ เขาก็ชวนเรานั่งสนทนา แล้วบอกว่าอีกไม่กี่วัน เขาจะบินกลับนิวยอร์ก เพราะตอนนี้เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซน์ออกแบบลายผ้า มีลูกเล็กๆ หนึ่งคน และใช้เวลากลางคืนหลังลูกนอนหลับทำงานศิลปะ

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

ณัฐไปนิวยอร์กตั้งแต่อายุ 25 เพื่อค้นหาว่าตัวเองต้องการอะไร ปัจจุบันเขาอายุ 35 ผ่านไปสิบปี ณัฐได้คำตอบแล้วว่า เขาอยากเป็นศิลปินที่ได้ทำงานศิลปะแบบเต็มเวลา

ส่วนงานศิลปะจากเครื่องพิมพ์ดีด ณัฐบอกว่าหลังจากงมหาสไตล์งานตัวเองอยู่หลายปี เขาก็พบมันโดยบังเอิญในวันที่ไปบ้านเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเห็นเครื่องพิมพ์ดีดวางอยู่ เขาจึงลองพิมพ์ดู โดยพยายามพิมพ์ให้เป็นรูปร่างบางอย่าง

“เออ น่าสนใจ” จากนั้นเขาก็เริ่มศึกษาเทคนิคต่างๆ ด้วยตัวเอง แล้วสร้างงานต่างๆ โดยเริ่มจากพูดเรื่องส่วนตัว เช่น ความทรงจำที่มีต่ออาหารที่แม่เคยทำให้กินบนจานกระดาษพิซซ่า

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด นิวยอร์ก
เมนู “ไข่ลูกเขย” (Photo:nutthawutsiri.com)

“พอทำเรื่องตัวเองเยอะก็เริ่มตัน ไม่มีอะไรจะเล่าแล้ว เราก็มาลองมองสังคมดูว่า มีเรื่องอะไรที่เราสนใจ และคนรอบข้างสนใจ”

หลังกวาดตามองไปที่สังคมและคนรอบตัว เขาก็ตัดสินใจทำเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในชีวิตเขาเคยเจอแรงกระแทกบางอย่าง

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

คุณอยู่นิวยอร์ก ทำไมถึงสนใจทำโปรเจค “RIGHT | TYPE” ในเมืองไทย?

“ผมเป็นคนติดตามข่าวการเมือง ทั้งไทยทั้งเทศ แต่การเมืองไทยก็ดูพอสมควร คือก็รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมอะไรหลายๆ อย่าง ก็ทำงานสะท้อนออกมา เช่น Politic Lies และ Democracy Die เล็กๆ น้อยๆ

“ส่วนนิทรรศการนี้ ตอนแรกจะทำเรื่องเกี่ยวกับความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมือง ว่าหายไป แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำ”

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด นิวยอร์ก
Democracy Die (Photo:nutthawutsiri.com)

เพราะอะไร?

“เพราะว่าผมถามคำถามไปแล้วไม่ค่อยมีใครตอบ” (หัวเราะ)

คุณถามว่าอะไร?

“ถามว่าคุณคิดยังไงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในตอนนี้ แล้วก็…” (เงียบ)

“แต่ไม่ใช่คนที่ปรากฏในนิทรรศการนี้นะ เป็นอีกกลุ่ม พอถามไปแล้ว ไม่ตอบ หรือไม่กล้า หรือไม่มีความเห็น เช่น ส่งไป 100 มีคนตอบมาแค่ 5 คน ผมก็เลยไม่ทำดีกว่า เปลี่ยนหัวข้อเป็น ‘อะไรคือสิทธิพื้นฐานที่คุณคิดว่าขาดหายไปจากสังคมในปัจจุบัน?’

คิดว่าเพราะอะไร ถึงไม่ได้คำตอบ?

“ความกลัวมั้ง จริงๆ อย่าพูดถึงคนอื่นเลย ผมเองก็กลัวนะ” (หัวเราะ)

กลัวอะไร?

(พูดเสียงเบา) “ตรงไปไหม? อาจจะไม่ต้องใส่ในบทสัมภาษณ์นะครับ”

เลยบิดคำถามเป็นเรื่องสิทธิพื้นฐาน?

(พยักหน้า) “คำถามนี้ค่อนข้างกว้าง จะตอบอิงการเมืองหรือไม่อิงก็ได้ แต่คนจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งก็ตอบเกี่ยวกับการเมือง”

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก
“แค่การแสดงออกความคิดเห็นส่วนตัวผ่านสื่อโซเชียล มันไม่ควรจะถูกจับกุม” – อนุภาส เปรมานุวัติ (Photo: nutthawutsiri.com)

จากแต่ก่อนที่ทำงานศิลปะผ่านมุมมองตัวเอง พอมาถึงครั้งนี้ที่สร้างงานผ่านมุมมองของผู้คนที่หลากหลาย ณัฐพบว่าการมองออกไปนอกตัว ทำให้เขาพบมุมมองที่ไม่คาดคิด เช่น สิทธิต่างๆ ที่บางทีเขาก็ไม่เคยคิดถึง

“มีอยู่คนหนึ่ง เป็นศิลปิน เขาตอบว่า ชนชั้นกลางและสูงเป็นชนชั้นที่เราไม่ต้องหาหรอก สิทธิ ความถูกต้อง หรืออะไร เพราะมันมีค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว แต่เรื่องเหล่านี้ ต้องไปถามคนจนหรือชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดสิ่งเหล่านี้”

หรืออีกคน ณัฐชอบคำตอบนี้มาก เพราะไม่คาดคิดว่าจะเป็นคำตอบที่มาจากภัณฑารักษ์

“เสียงของประชาชนเป็นเหมือนเสียงนาฬิกา ซึ่งเบามาก โดยที่เราไม่ได้ยิน แต่ถ้านาฬิกามีสิบเรือน ร้อยเรือน พันเรือน เสียงมันก็จะดังขึ้น”

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก
“ทุกคนอย่าหยุดส่งเสียง อย่าหยุดพยายาม สักวันหนึ่งเสียงอันเล็กจ้อยของเรานี้ เมื่อรวมกันมันจะดังขึ้นเหมือนเสียงของนาฬิกา” – อาภาพัชร์ ใจอินทร์ (Photo: nutthawutsiri.com)

ระหว่างที่เดินชมภาพผลงานต่างๆ ณัฐเดินมาหยุดที่ภาพผู้หญิงคนหนึ่ง เขาบอกว่าหลังจากส่งคำถามและทำงานนี้เสร็จแล้ว เพิ่งรู้จากคนๆ หนึ่งที่มาคุยกับเขาว่า พ่อของเธอ (วัฒน์ วรรลยางกูร) ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เพราะประเด็นสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

ณัฐจึงไม่แปลกใจที่ข้อความของเธอที่ตอบกลับมาจะสวยงามและลึกซึ้ง

‘ความมั่นคง ความมั่งคั่ง

ความดี ความศรัทธา ความเป็นชาติ

คุณค่าที่เราเชิดชูเหนือสิ่งอื่นใด

เหนือทุกสิ่ง

กระทั่งความเป็นมนุษย์

หลงลืมว่า คนอื่นมีเลือดเนื้อ

มีชีวิต

หลงลืมว่า ตัวเอง

มีหัวใจ’

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

ถ้าต้องถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกัน คุณจะตอบว่าอะไร เราทวนคำถามของเขา–‘อะไรคือสิทธิพื้นฐานที่คุณคิดว่าขาดหายไปจากสังคมในปัจจุบัน?’

“ผมว่าสิทธิเสรีภาพทางความคิดของเด็กค่อนข้างหายไปพอสมควรนะ” เขาหยุดคิดไปแว๊บนึง “ผมมีลูกมั้ง เลยสะท้อนคำตอบออกมานี้”

เราขอให้เขาขยายความอีกหน่อย “ผมหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีโรงเรียนที่ถูก โรงเรียนที่แพง โรงเรียนอินเตอร์ ไม่อินเตอร์ ผมว่าเด็กทุกคนน่าจะเท่ากัน แต่ว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม พ่อแม่น่าจะส่งไม่ไหวบ้าง คนที่มีตังค์ก็ส่งดีหน่อย คนที่ไม่มีตังค์ก็ส่งเท่าที่ส่งได้

“มันเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย” ณัฐให้ความเห็น

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

เขาไม่แน่ใจว่าระบบการศึกษาไทยตอนนี้เป็นยังไง แต่ที่อเมริกา อย่างเมืองที่เขาอยู่ เช่น นิวยอร์ก ในฐานะคนๆ หนึ่งเขารู้สึกว่า ลูกของเขามีสิทธิที่จะเข้าเรียนได้ ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ทั่วไป

“ที่นู่น (นิวยอร์ก) เค้าใช้ระบบเขตที่จริงจังมาก แล้วจะตีตาราง คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นี้ จะเข้าไม่ได้ แม้ว่านี่จะเป็นโรงเรียนรัฐบาล แต่โรงเรียนรัฐบาลที่นั่นก็มีมาตรฐานระดับหนึ่ง ทีนี้ผมรู้สึกว่า ไม่ว่าผมจะเป็นคนเชื้อชาติไหน แต่อย่างน้อยลูกผมก็มีสิทธิ์ที่จะไปเรียนในโรงเรียนเหล่านั้นได้”

ในสายตาเขา ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทุกที่ มากหรือน้อย เข้มข้นหรือเบาบางแตกต่างกันไป แต่ในฐานะคนเป็นพ่อและชอบสังเกตชีวิตผู้คน เขาเห็นว่าเด็กในเมืองที่เขาอยู่ คือนิวยอร์กและกรุงเทพฯ มี ‘ช่องว่าง’ ของโอกาสที่แตกต่างกัน

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

สิบปีที่อยู่นิวยอร์ก วันนี้พอกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง คุณรู้สึกยังไง?

“ผมไม่ได้ต่อต้านสังคมไทยเลยนะ” แม้ตัวงานที่จัดแสดงจะมีน้ำเสียงเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในความรู้สึกส่วนตัว ณัฐบอกว่าเมืองไทยยังเป็นบ้านของเขาเสมอ

“ผมกลับมาผมโคตรรู้สึกเป็นตัวของตัวเองเลย ต่างจากนิวยอร์ก ถึงคุณจะอยู่ที่นั่นมานาน แต่มันไม่ใช่ที่ของคุณ แต่ที่นี่เรารู้สึกได้เลยว่ามันคือ ‘บ้าน’ เราไม่ใช่คนกลุ่มน้อย เราเป็นคนธรรมดา ทำอะไรก็รู้สึกสบายใจ” ณัฐยิ้มกว้างหลังคำตอบ

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

เมื่อเราเดินชมผลงานที่จัดแสดงในแกลเลอรี่จนครบ ไล่สายตาไปบนชิ้นงานแต่ละชิ้น เสียงทุกเสียงที่สะท้อนผ่านคำถามง่ายๆ ถึงสิทธิพื้นฐานที่หายไป นอกจากจะบอกว่าคนตอบคิดและเห็นอย่างไร ยังสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของศิลปินผู้สร้างงาน ว่าเขารักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมากแค่ไหน

เพราะคนรักกัน ถ้าเห็นบางสิ่งไม่ดี ก็ควรจะบอกกันตรงๆ ดีกว่าจะพูดคำหวานที่ไม่จริง

ใช่หรือไม่.

ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน เครื่องพิมพ์ดีด RIGHT TYPE นิวยอร์ก

นิทรรศการ RIGHTS | TYPE

เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 6 กันยายน 2562 ที่ Kalwit Studio & Gallery ซอยร่วมฤดี โดยรายได้จากการขายชิ้นงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะบริจาคให้แก่ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และทำความรู้จักศิลปินเพิ่มเติมได้ที่ nutthawutsiri.com