นอกจากอั่งเปาซองสีแดงที่ลูกหลานคนจีนจะได้รับในวันตรุษจีนแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมการให้เงินขวัญถุงในโอกาสพิเศษเช่นกันเพียงแต่ซองใส่เงินของชาวญี่ปุ่นอาจถูกพับอย่างประณีตและมีรูปแบบที่หลากหลายกว่า
นอกจากอั่งเปาซองสีแดงที่ลูกหลานคนจีนจะได้รับในวันตรุษจีนแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมการให้เงินขวัญถุงในโอกาสพิเศษเช่นกันเพียงแต่ซองใส่เงินของชาวญี่ปุ่นอาจถูกพับอย่างประณีตและมีรูปแบบที่หลากหลายกว่า
เพราะพวกเขามีความผูกพันกับกระดาษมาอย่างยาวนาน สังเกตได้จากเครื่องใช้และสิ่งของตกแต่งบ้านของชาวญี่ปุ่นที่มักจะทำมาจากกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นพัด ร่ม ฉากกั้นห้อง ประตูบานเลื่อน ฯลฯ รวมถึงศาสตร์การพับกระดาษที่เรียกว่า ‘โอริกามิ’ (Origajmi)
โอริกามิ มาจากสองคำ คือ ‘โอริ’ แปลว่า พับ และ ‘คามิ’ แปลว่า กระดาษ
ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นไม่มีการบันทึกว่าโอริกามิกำเนิดขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นมาแล้วหลายร้อยปี เนื่องจาก ปรากฏเพียงภาพอายุ 700 ปีของ ‘โนชิ’ ซึ่งเป็นการพับกระดาษเป็นเครื่องรางที่เชื่อว่าจะนำความโชคดีมาให้ และ ภาพวาดสมัยเซนโคคุที่มีอายุกว่า 500 ปี มีกระเรียนกระดาษปรากฏอยู่บนปลายดาบในภาพ
เดิมทีการพับกระดาษของชาวญี่ปุ่นจะใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น เนื่องจากระดาษมีราคาแพง จนกระทั่งสมัยเอโดะ (ปี 1603-1868) กระดาษเริ่มมีราคาถูกลง โอริกามิจึงเริ่มแพร่หลายในหมู่คนทั่วไป และกลายมาเป็นการละเล่นของชาวญี่ปุ่นในที่สุด
จากยุคแรกเริ่ม เมื่อการพับกระดาษมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงมีการจัดทำคู่มือการพับขึ้น โดยเล่มแรกที่กลายมาเป็นแบบแผนในการพับโอริกามิของญี่ปุ่นในทุกวันนี้ เขียนโดย อากิระ โยชิซาว่า (Akira Yoshisawa) บุคคลสำคัญในวงการโอริกามิที่นอกจากจะเป็นคนคิดวิธีการพับรูปร่างแปลกตาแล้ว หนังสือของเขายังโด่งดังไปทั่วโลก
เดิมทีผู้คนจะทดลองพับโอริกามิไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นชิ้นงานที่มีความแปลกตา แต่ภายหลังจากปี 1983 ก็เริ่มมีการออกแบบก่อนแล้วจึงค่อยพับตามแบบที่วางไว้ วิธีการพับโอริกามิจึงพัฒนากลายเป็นการทดลองและวิจัย เป็นการตั้งคำถามว่า ‘ควรพับอย่างไรจึงจะได้รูปทรงที่อยากได้’
ปัจจุบันนอกจากจะเป็นการละเล่นในญี่ปุ่น โลกก็ยอมรับโอริกามิในฐานะศิลปะแขนงหนึ่งอีกด้วย
ความลับใน ‘โอริกามิ’
โอริกามิไม่ใช่แค่เพียงงานพับกระดาษเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจหลักของสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างบนโลก โดยมีลักษณะเด่นๆ ดังนี้
คลี่ออกและขยายได้
เทคนิคอันมีชื่อเสียงคือ ‘มิระโอริ’ หรือการที่สามารถพับให้เหลือขนาดเล็กมากๆ ได้ และคลี่ออกให้คืนรูปได้อย่างง่ายดาย
กระดาษแผ่นใหญ่สามารถกลายเป็นรูปทรงชิ้นเล็กๆ ได้ และรูปทรงเหล่านั้นก็สามารถขยายออกมากลายเป็นแผ่นใหญ่เหมือนเดิมได้ เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ถูกนำไปประยุกต์กับสิ่งประดิษฐ์ เช่น ‘โอรุคายัก’ หรือเรือคายักที่พับเก็บได้ เตนท์ที่เรากางตอนไปท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งดาวเทียมในอวกาศ ก็มีการใช้เทคนิคการพับให้เล็กลงได้เช่นกัน
ในประเทศญี่ปุ่นมีเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดหนึ่งชื่อ ‘เซ็นโตะ’ ซึ่งใช้เทคนิคการพับให้เป็นแคปซูลเล็กๆ ขนาด 1 เซ็นติเมตร วิธีใช้งานคือเมื่อใส่เข้าไปในหลอดเลือดแล้ว ตัวแคปซูลจะคลี่ออก เพื่อช่วยในการขยายหลอดเลือด
รอยหยักทำให้แข็งแรง
นอกจากการย่อขยายกระดาษแล้ว เทคนิคการพับแบบพื้นผิวหยักก็ทำให้กระดาษมีความแข็งแรงขึ้น เห็นได้จากพื้นผิวของตู้คอนเทนเนอร์ที่มีความหยักเป็นคลื่น ช่วยให้ผิวของตู้แข็งแรงขึ้นไม่ทำให้ของด้านในเสียหาย นั่นเป็นอีกลักษณะของการประยุกต์ใช้ลักษณะการพับโอริกามิ
“โอริกามิคือวัฒนธรรม โอริกามิคือศิลปะ โอริกามิคือศาสตร์แห่งวิศวกรรม และเรขาคณิตด้วย“ – จุน มิทะนิ (Jun Mitani) อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยซึคุบะ (Tsukuba Univrsity) ประเทศญี่ปุ่น กล่าว
นอกจากจะทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องโอริกามิแล้ว อาจารย์จุนยังพัฒนาโปรแกรมที่ช่วยออกแบบโอริกามิมายาวนานกว่า 15 ปี ซอฟต์แวร์ของเขาจะคำนวณมุมต่างๆ เพื่อสร้างงานที่สมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ยังสามารถดูได้ว่าหน้าตาของโอริกามิจะออกมาเป็นแบบไหนได้อีกด้วย
ตามกฏของคณิตศาสตร์แล้ว เราไม่สามารถสร้างทรงกลมจากการพับกระดาษได้ แต่อาจารย์จุนพยายามฉีกกฎของการพับที่เคยมีมา โดยออกแบบการพับที่ใช้เส้นโค้ง และสร้างวงกลมที่สมบูรณ์ได้ เช่น งานที่ชื่อว่า ‘modular origami’ ซึ่งออกแบบจากคอมพิวเตอร์
อาจารย์เล่าว่าภูมิใจในงานชิ้นนี้มากเพราะใช้แค่กระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีรอยขีดเส้นโค้งแค่เส้นเดียวแล้วพับไปตามเส้นโค้งจนห่อได้ วิธีการนี้เป็นการผสมผสานระหว่างความสร้างสรรค์ของมนุษย์และเทคนิคจากคอมพิวเตอร์ จนทำให้เกิดโอริกามิในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ปัจจุบันงานวิจัยและทดลองโอริกามิของอาจารย์จุนถูกนำมาออกแบบเป็นเสื้อผ้าและถุงช้อปปิ้งและจัดเป็นนิทรรศการให้ได้ชมโอริกามิรูปแบบต่างๆ
แม้จะยังไม่นำไปใช้งานในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นนวัตกรรมล้ำๆ หรือสถาปัตยกรรมเจ๋งๆ จากโอริกามิก็เป็นได้
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการฟังบรรยาย เรื่อง ‘โอริกามิ’ ณ Japan Foudation 3 ธันวาคม 2562