©ulture

หากเช้าวันนี้คุณตื่นมาแล้วพบว่า โลกนี้ไม่มีกฎหมายอีกต่อไป คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น?

บ้านเมืองจะวุ่นวาย เกิดเหตุจลาจลทุกหย่อมหญ้า ผู้คนเข่นฆ่ากันอย่างเลือดเย็น เราอาจเชื่อใจใครไม่ได้อีกเลยแม้กระทั่งตัวเอง คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคุณจะไม่ใช่หนึ่งในคนที่หยิบอาวุธแล้วเป็นฝ่ายออกไปไล่ล่า

เป็นไปได้ที่คนเราจะจิตนาการถึงภาพเหล่านี้ เมื่อเราเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายมาตั้งแต่ลืมตาดูโลกและเชื่อว่ากฎหมายนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชีวิตการเป็นมนุษย์สงบสุข เป็นไปได้ที่ภาพอันเลวร้ายอาจผุดขึ้นในหัวเมื่อคุณจินตนาการถึงวันที่โลกใบนี้ไม่มีกฎหมายอีกต่อไป

สังคมโลกคือเกมที่มีมนุษย์เป็นผู้เล่น เมื่อเกมมีกฎ ตราบใดที่มีชีวิตอยู่เราก็ต้องเล่นตามกฎของมันไปเรื่อยๆ แม้เราจะมีเจตจำนงเสรี แต่ราวกับว่ามีเพียงครึ่งเดียว เพราะที่เหลือมนุษย์ได้ฝากเอาไว้ในมือของสังคมและกฎจะเป็นอีกคนที่บอกว่าเราควรเดินไปทางไหน

แม้เกลียดการรอคอย แต่คุณก็ต้องเข้าแถวจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ แม้เกลียดการตื่นเช้า แต่คุณกลับพบว่าตัวเองต้องตื่นมาตั้งแต่ไก่โห่ทุกวันเพื่อรีบไปทำงาน แม้จะรู้ตัวว่าการเรียนในระบบไม่เคยสนุก แต่ท้ายที่สุดคุณก็เลือกเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนเพื่อนๆ วัยเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น ‘กฎ’ ที่หมายถึงทั้งกฎหมาย บรรทัดฐาน ประเพณี ค่านิยม ที่รวมมนุษย์เราไว้ให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน คอยขีดเส้นเอาไว้ไม่ให้เราแตกแถวออกมาจากมนุษย์คนอื่นๆ

กฎเกิดขึ้นอย่างไร?

เรารู้กันดีว่าแม้จะรักสันโดษแค่ไหน แต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์คือการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อมนุษย์ต้องปฏิสัมพันธ์กันและใช้ชีวิตภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เพื่อให้กลุ่มดำเนินไปอย่างราบรื่นและทุกคนได้รับทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เราจึงร่วมกันสร้าง ‘กฎ’ ขึ้นมา และกฎที่ดีจึงหมายถึงกฎที่ทุกคนยินยอมพร้อมใจใช้ร่วมกัน

แต่นั่นก็เป็นเพียงอุดมคติ เพราะในโลกแห่งความจริงมีเงื่อนไขที่มากกว่านั้น อิลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2009 ศึกษาปรากฏการณ์ของการสร้างกฎของหลายๆ กลุ่ม แล้วพบว่าในทุกการสร้างกฎขึ้นมา อย่างน้อยจะต้องมีหนึ่งในสมาชิกไม่พอใจกับกฎที่เกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่านั่นไม่ยุติธรรมสำหรับเขา ดังนั้นการตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ พัฒนา และปรับเปลี่ยนอยู่เสมอก็เป็นหนึ่งในธรรมชาติของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เราอาจเห็นได้จากทุกการประท้วงเมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นในสังคม นั่นคือสิ่งที่ชอบธรรมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากกฎนั้นๆ

เราต่างก็เป็นสมาชิกของโรงเรียนหนึ่ง ของเมืองหนึ่ง ของประเทศหนึ่ง และเป็นสมาชิกของโลกใบเดียวกัน เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นแล้วนั้น หากโลกนี้ปราศจากกฎที่ยึดโยงเราไว้ด้วยกันแล้ว ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

แม้จะหวาดกลัวและจินตนาการถึงความโกลาหล แต่ภาพนั้นอาจดูเลวร้ายเกินไปหน่อยสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า ‘มนุษย์ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น’ อาจกล่าวได้ว่าที่จริงแล้วมนุษย์เราไม่ได้มีพื้นฐานเป็นสัตว์ชั่วร้ายและเข่นฆ่ากันเพื่อความอยู่รอด แต่เรากลับสำนึกได้ถึงจริยธรรมโดยสัญชาติญาณมาเสมอตั้งแต่ลืมตาดูโลก มนุษย์เรารู้ว่าได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่ากฎที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคืออะไร เช่น เรารู้ว่าเราไม่ควรฆ่ากัน เราไม่ควรเอาเปรียบคนอื่นๆ และทำให้ใครต้องเจ็บปวด

ในส่วนหนึ่งของแนวคิดการต่อสู้เพื่ออยู่รอดของสัตว์ โดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้ระบุไว้ว่า ‘การพัฒนาของสัตว์จะมุ่งไปสู่การร่วมมือกันและเสริมสร้างแนวทางร่วมกันเพื่อความอยู่รอด’

#ความอยู่รอด ของมนุษย์จึงไม่ใช่การกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก แต่กลับหมายถึงการได้เป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมีชีวิตรอดไปพร้อมกับกลุ่มนั้น คนแข็งแกร่งไม่ใช่คนกำยำและแข็งแรง แต่หมายถึงมนุษย์ที่รู้จักวิธีหาประโยชน์และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มก้อน สามารถเอาตัวรอดไปด้วยกันได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

ข้อเท็จจริงนี้พิสูจน์ได้จากหลายๆ งานวิจัย เช่น การทดลองในเด็กอายุ 3 ขวบ ที่ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำความเข้าใจกฎการเล่นเกมที่ดีได้อย่างง่ายดาย นักวิจัยทดสอบโดยการให้หุ่นเชิดละเมิดกฎในเกมอย่างก้าวร้าว น่าสนใจที่เด็กๆ เหล่านั้นจะตอบโต้ทันทีโดยการตักเตือนว่า “เธอกำลังทำผิด!” หรือแสดงท่าทีบ่งบอกว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

สเตฟาน เทอร์เนอร์ (Stefan Thurner) และ ไมเคิล เซลล์ (Michael Szell) จาก Institute for Science of Complex Systems ที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งเวียนนา ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เล่นเกม ‘Pardus’ ซึ่งเป็นเกมจำลองชีวิตเสมือนจริงที่มีผู้เล่นออนไลน์พร้อมกันถึง 400,000 คน เกมนี้เป็นเกมที่ไร้กฎเกณฑ์ ปล่อยให้คนเล่นไปตามอำเภอใจ ผลการวิจัยพบว่ามีผู้เล่นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แสดงความก้าวร้าวออกมา อาจกล่าวได้ว่าเมื่อต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกันแล้ว แม้ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม แต่มนุษย์ค่อนข้างมีความเห็นอกเห็นใจกันมากกว่าจะตั้งแง่และทำร้ายกัน

ธรรมชาติของมนุษย์แบบข้างต้นนั้นมีส่วนที่สอดคล้องกับ อนาธิปไตย (Anarchism) ซึ่งเป็นปรัชญาการเมืองที่ไม่เชื่อในการปกครองของรัฐ แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขด้วยข้อกำหนดแบบเสรีตกลงร่วมกันภายในกลุ่ม และยังเชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของรัฐที่ใช้ปกครองและลงโทษประชาชนเท่านั้น

เดิมทีเราอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน ทำมาหากินแบบฉันท์พี่น้อง อยู่ร่วมกันเป็นสหกรณ์ที่จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับทุกชีวิต และนี่เป็นรากฐานที่แข็งแรงของสหภาพแรงงานในปัจจุบัน แต่วินาทีที่รัฐถือกำเนิดและสถาปนากฎหมายขึ้น วิถีชีวิตเหล่านั้นก็ถูกฉกชิงไป

ในแนวคิดของอนาธิปไตยการถือกำเนิดขึ้นของรัฐคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดชนชั้นและความโกลาหล และผลักให้มนุษย์มองเห็นคุณค่ามนุษย์ด้วยกันเองจากสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อรัฐ เช่น ความเชื่อที่ว่าคนเราจะมีคุณค่าเมื่ออุทิศตนให้แก่รัฐ คนเราจะมีคุณค่าเมื่อมองเห็นประโยชน์สุขของส่วนรวม นี่จึงเป็นการมองโลกแบบประโยชน์นิยมที่เอาประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ที่อาจทำให้ละเลยคุณค่าของจริยธรรมอันเป็นสำนึกที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดก็เป็นได้ (อ่านบทความเกี่ยวกับแนวคิด ‘ประโยชน์นิยม’ เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3e17Vub)

รัฐที่ไม่ชี้นำ หรือไม่มีแม้แต่มีคำขวัญชวนเชื่อ และปล่อยให้ผู้คนเป็นอิสระอย่างเต็มที่จึงจะใกล้เคียงกับแนวคิดอนาธิปไตยที่สุด

แต่เมื่อกลับมามองในความเป็นจริง วิถีแบบอนาธิปไตยอาจเบ่งบานได้แค่ในขวดทดลอง เป็นเหมือนต้นไม้ที่ปลูกโดยที่ควบคุมได้ทุกช่วงปัจจัยของการเติบโต นอกจากเราจะเห็นตัวอย่างได้เพียงแค่ในภาพยนตร์หรือซีรีส์แล้ว ก็อาจมีให้เห็นแค่ในกลุ่มก่อนเล็กๆ เช่น สหกรณ์หมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกรเท่านั้น

ในเมื่อชีวิตของเราอยู่ในเงื้อมมือของรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จะอยู่กันโดยที่เป็นอิสระจากกฎหมายและรัฐได้จริงไหม? แต่ตราบใดที่เผ่าพันธุ์ของเรายังต้องดำรงต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจหมายถึง การหมั่นตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ที่บิดเบี้ยวและต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพราะนั่นคือเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงกระทำได้ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของโลกใบนี้

อ้างอิง

  • Nick Chater. Could we live in a world without rules?. https://bbc.in/2Qyc682
  • Medical University of Vienna. People behave socially and ‘well’ even without rules: study. https://bit.ly/3vriiNJ
  • รศ.สิทธิพันธ์ พุทธหุน. ทฤษฎีการเมืองและจริยธรรม (Political theory and ethics). https://bit.ly/3nsCCeY