ถ้าลองเสิร์ชคีย์เวิร์ด ‘Zombie’ ในเน็ตฟลิกซ์
ก่อนจะมาเป็นซอมบี้ เราผ่านยุคของแวมไพร์ มนุษย์หมาป่า สัตว์ปีศาจ อมนุษย์ที่มีเรื่องราวชวนสยองขวัญ แต่อาจกล่าวได้ว่าการถือกำเนิดของซอมบี้นั้นมีหลายๆ ปัจจัยที่หลอมรวมกันทำให้มนุษย์ได้เผชิญหน้ากับ ‘ความกลัว’ ของตัวเองอีกครั้ง
ซีรีย์ชุด The Walking Dead เรื่องราวของกลุ่มคนที่ต้องเอาชีวิตรอดในเมืองที่เต็มไปด้วยซอมบี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังจากเปิดตัวครั้งแรกในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่การเมืองในสหรัฐฯ คุกรุ่น และรัฐสภาเพิ่งปิดตัวลงในปีเดียวกัน
รัฐที่เคยมั่นคงกลับสั่นคลอน สภาพอากาศโลกแปรปรวนเต็มไปด้วยมลพิษ สงครามไม่เคยจบลงจริงๆ ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บนความตึงเครียดและหวาดกลัว และยิ่งทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโลกดิสโทเปียที่เคยจินตนาการถึงกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ มนุษย์มักจินตนาการถึง ‘ความกลัว’ เหล่านี้ และพยายามจินตนาการถึงวิธีเอาตัวรอด นั่นทำให้ ‘ซอมบี้’ เป็นเรื่องราวที่คนโหยหา เป็นภัยคุกคามที่เหมาะเหม็งที่สุดที่จะพามนุษย์ได้เผชิญหน้ากับความกลัวที่ว่า จนกลายเป็นสิ่งไร้ชีวิตที่ปรากฏตัวในสื่อมากที่สุดในยุคสมัยนี้
คนเรามีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ต่อให้อ่อนแอมากแค่ไหน แต่เมื่อภัยคุกคามมาเยือนร่างกายจะสั่งให้เราต้องรอดชีวิต แม้ชีวิตจริงเราไม่ได้เผชิญหน้ากับซอมบี้ตัวเป็นๆ แต่ลึกๆ แล้วคนเรามนุษย์มักจะจินตนาการถึงวิธีเอาชีวิตรอดเมื่อเจอหายนะ
แองเจลา บีเซอร์รา วิเดอร์การ์ (Angela Becerra Vidergar) นักวิชาการด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้เหตุผลว่าเรื่องราวแนวดิสโทเปียจะทำให้คนยิ่งได้จินตนาการถึงวิธีการเอาตัวรอดในโลกที่ไม่คาดฝันได้ ซึ่งช่วยให้เราได้เตรียมพร้อม ได้เรียนรู้และนำมาใช้กับชีวิตจริง คล้ายๆ กับเวลาจิตใต้สำนึกทำให้เราฝันร้ายและพบวิธีรอด
การเสพเรื่องที่มีซอมบี้จึงปลุกสัญชาตญาณที่ว่านี้ขึ้นมา ทำให้เราได้เผชิญหน้ากับหายนะที่ในชีวิตจริงอาจไม่มีวันได้เจอ เราจึงอยากเอาใจช่วยตัวละครในซีรีย์ให้หนีรอดจากซอมบี้ให้ได้ นอกจากจะสนุกกับการลุ้นแล้ว เรายังชอบที่ได้ดูวิธีการเอาตัวรอดของตัวละคร รวมถึงยังได้ลองจินตนาการว่าถ้าหากเป็นเรา เราจะทำอย่างไร
นอกจากจะสนุกกับความรู้สึกได้เอาตัวรอดแล้ว เวลาที่เรารู้สึกกลัว ร่างกายหลั่งสาร อะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมา ทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดที่ต้องเลือกระหว่าง สู้หรือหนี (Fight or Flight Response) ซึ่งทำให้หัวใจเต้นแรง กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยอัตโนมัติเพื่อให้พร้อมต่อสู้หรือวิ่งหนีอันตรายตรงหน้าอย่างทันท่วงที และหลายๆ คนชอบที่ตัวเองรู้สึกแบบนี้
เดวิด รัดด์ (David Rudd) นักจิตวิทยาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเมมฟิส เผยอีกว่าแม้ว่าเรื่องจะน่ากลัวแต่ความกลัวที่เรายังอยู่ดูนั้นถือเป็นความกลัวที่รับได้ เพราะว่าลึกๆ เรารู้ว่าเราไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายจริงๆ เป็นความกลัวที่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกปลอดภัยไปด้วย จึงทำให้รู้สึกตื่นเต้นและสนุก มากกว่ารู้สึกกังวลใจจนเสียสติ กลับกันหากเรื่องราวที่ว่าเป็นเรื่องจริง เป็นสารคดี หรือสนัฟฟ์ฟิล์ม (snuff film) เราจะไม่รู้สึกสนุกอีกต่อไป เพราะนั่นหดหู่เกินกว่าที่ใจจะรับได้
สิ่งสุดท้ายที่มนุษย์มองหาในเรื่องราวของซอมบี้หรือในโลกดิสโทเปียคือ ‘ความหวัง’ นั่นเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้หนังซอมบี้ยังน่าติดตาม ซีรีย์ยังได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย
เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักมานุษยวิทยาด้านชีววิทยาเผยว่า ความรู้สึกมีหวังเป็นอารมณ์เชิงบวกที่มนุษย์เสาะแสวงหาโดยสัญชาตญาณมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อความหวังที่จะมีชีวิตรอด ความหวังคือบทสรุปของเรื่องราวซอมบี้ที่คนมองหา ระหว่างทางได้ตื่นเต้น หวาดกลัว ลุ้นจนตัวเกร็ง แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ดึงดูดให้เราจดจ่ออยู่กับหน้าจอ หน้าหนังสือ เพื่อเสพเรื่องราวของซอมบี้เหล่านั้นให้จบคือความหวังว่าตัวละครจะมีชีวิตรอด
ซอมบี้เป็นภัยคุกคามที่ทำให้เกิดได้ทั้งความสูญเสีย หวาดกลัว แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีหวัง เรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามที่ทำให้หลากหลายความรู้สึกถือกำเนิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย เรื่องราวของซอมบี้ก็ยังคงได้รับความนิยม แม้จะเป็นสิ่งไร้ชีวิตคลาสสิกที่คนคุ้นเคยไปแล้ว แต่ผู้ชมก็ยังคงสนุกกับพล็อตเรื่องใหม่ๆ ได้เสมอ ตราบใดที่เรายังคงเป็นมนุษย์ผู้หวาดกลัวและเปี่ยมด้วยความหวัง
อ้างอิง
- Nicholas Barber. Why are zombies still so popular?. https://bbc.in/3Lenc9A
- Kimberly Hickok. 9 Reasons We Have an Undying Interest in the Undead. https://bit.ly/3GGM6LK