©ulture

ในห้องสมุดเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ อันแสนสงบ

มีสื่อญี่ปุ่นมากมายหลากหลายประเภทให้เลือกเสพตามใจชอบ

และนี่คือหนังสือ 6 เล่มและภาพยนตร์ 3 เรื่องคุณภาพที่บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดเลือกสรรมาฝาก 

พร้อมกระซิบกับเราว่า “สนุกจริงๆ!”

japan foundation
คุณหน่อง-ธีรวัฒน์ อารยรุ่งโรจน์ บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดเจแปน ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ

-หนังสือ-

1.Spirited Away

japan foundation

แค่เล่มแรกที่คุณบรรณารักษ์บรรจงหยิบออกมา ก็พาเราวี้ดว้ายไปตามๆ กันแล้ว (แต่ส่งเสียงได้แค่ในลำคอเท่านั้นแหละ เพราะที่นี่ห้ามเสียงดัง)

เพราะนี่คือ Spirited Away

อนิเมชั่นญี่ปุ่นจากสตูดิโอจิบลิที่โด่งดังไปทั่วโลก ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนสีสดใส รายละเอียดต่างๆ ในเวอร์ชั่นหนังสือบอกได้เลยว่าไม่แพ้ในจอภาพยนตร์เลยทีเดียว 

หนังสือดำเนินเรื่องเช่นเดียวกับในหนัง เล่าถึง ‘จิฮิโระ’ เด็กสาวที่หลุดเข้าไปในมิติของภูตผีและสิ่งมหัศจรรย์ เรื่องไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นระหว่างทางไปบ้านใหม่ และหนทางลบล้างคำสาปที่ทำให้พ่อแม่ของเธอกลายเป็นหมู! 

การผจญภัยของเธอเต็มไปด้วยแง่คิด ปรัชญาชีวิต และมิตรภาพ เป็นหนังสือที่อ่านเอาความสนุก หรือจะตีความหาข้อคิดจากแต่ละฉากก็ได้เช่นกัน (หากไม่หลงใหลลายเส้นละเอียดลออสไตล์ญี่ปุ่นจนลืมตีความไปเสียก่อน)

2.Your name

your name

หนังสืออีกเล่มที่หลายคนคงคุ้นชื่อ เพราะเขียนมาจากอนิเมะญี่ปุ่นที่กวาดรายได้และน้ำตาคนดูไปอย่างมหาศาล ถึงขนาดหนังสือที่เขียนตามมาภายหลังยังมียอดขายถึง 2,000,000 เล่ม 

แม้จะไม่มีภาพเคลื่อนไหว แต่ตัวหนังสือในนิยายแปลเล่มนี้ทำให้น้ำตาไหลได้เช่นกัน ปาฏิหาริย์และความฝันที่ทำให้ ‘ทาคิ’ และ ‘มิตสึฮะ’ สลับร่าง ก่อนจะตื่นขึ้นมาเพื่อตามหาอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นตัวตน หรือใครคนนั้นที่ฝันถึง 

ทั้งสองมองโลกของกันและกันผ่านข้อความที่เขียนทิ้งไว้ วันแล้ววันเล่า ความผูกพันระหว่างมิติจึงเกิดขึ้น นี่คงไม่ใช่ความฝันธรรมดาแน่ๆ

พวกเขาจะหากันพบหรือไม่ กับชะตาชีวิตที่ขึ้นอยู่กับดาวหางติอามัต มาร่วมค้นหาไปด้วยกันกับหนังสือเล่มนี้ หรือหากใครเคยอ่านหรือดูมาแล้ว จะลองกลับมาลุ้นซ้ำอีกครั้งก็ได้ไม่ว่ากัน

3.สูญสิ้นความเป็นคน

ผลงานจาก ดะไซ โอซามุ นักเขียนแนวหน้าของญี่ปุ่น เจ้าของผลงานคลาสสิกที่คนให้ความสนใจจนถึงทุกวันนี้อย่าง ‘เมียชายชั่ว’ ‘อาทิตย์สิ้นแสง’ และที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่อง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’

ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่พานพบและจมปลักอยู่กับด้านมืด ลุ่มหลง สับสน ขมขื่น ความเลวทรามทุกชนิดที่พอจะคิดออก เป็นสิ่งที่เขาเคยประสบมาแล้วแทบหมด จนความเป็นคนค่อยๆ สูญสลายหายเกลี้ยง

สำหรับใครที่ชอบอ่านเรื่องดาร์กๆ คงวางเล่มนี่ไม่ลงจนกว่าจะอ่านจบครบทุกตัวอักษร ส่วนใครชอบเรื่องที่สามารถอ่านไปยิ้มไป นี่เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ลิ้มรสความทุกข์ระทมสักครั้งในชีวิต

อนึ่งเรื่องราวดำมืดแบบนี้ เมื่อแปลงเป็น ‘มังงะ’ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นปลายปากกาของนักเขียนการ์ตูนแนวสยองขวัญชื่อดัง จุนจิ อิโตะ

(photo: http://bit.ly/2XJROtM)

แต่พอจะเดาได้ว่าหลายคนตั้งตารอ ทำให้คนแห่กันไปซื้อจนเกลี้ยงทันทีที่หนังสือการ์ตูนเล่มนี้วางแผง

คุณบรรณารักษ์กล่าวอย่างเสียดายว่า “ผมจะซื้อแล้ว แต่มันหมดจริงๆ ครับ” ก่อนจะหยิบหนังสือเล่มต่อไป เขาไม่ลืมทิ้งท้ายว่า ถ้าสามารถสั่งซื้อได้เมื่อไร จะจัดหามาไว้ที่ห้องสมุดแห่งนี้ทันที

4.Japan Only! ญี่ปุ่นเขาจัดบ้านกันแบบนี้ไง (the anatomical chart of clutter)

japan foundation

พื้นที่บนโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่จำนวนคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการขยับขยายพื้นที่ในแนวตั้ง คนเริ่มหันไปอยู่บ้านขนาดเล็กกันมากขึ้น รวมไปถึงห้องเช่า และคอนโดมิเนียมต่างๆ 

ที่ว่างสำหรับสิ่งละอันพันละน้อยจึงหายไป!

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว เรื่องราวของศาสตร์แห่งการจัดบ้าน ที่จะทำให้คุณใช้สอยทุกพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ด้วยชื่อเสียงคนญี่ปุ่นที่เก่งกาจด้านนี้ เพราะต้องใช้ชีวิตในเมืองที่ค่าครองชีพแพงแสนแพง แถมพื้นที่สำหรับพักอาศัยก็สุดแสนจะจำกัด

นึกถึงสภาพห้องรกๆ ของตัวเองไว้ แล้วตั้งใจอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ดี อ่านจบแล้ว

“อะไรทิ้งได้ก็ทิ้งไป อะไรควรจัดก็เริ่มจัดได้แล้วนะ”

5.ฮิโรโอกะ อาซาโกะ สตรีผู้บุกเบิกธุรกิจของญี่ปุ่น

japan foundation

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีขายที่ไหน เพราะเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อบริจาคให้กับบรรดาห้องสมุดโดยเฉพาะ นี่จึงเป็นอีกเล่มที่คุณบรรณารักษ์ภูมิใจนำเสนอ

นวนิยายอิงชีวประวัติของนักธุรกิจหญิงชาวญี่ปุ่น ฮิโรโอกะ อาซาโกะ ที่บุกเบิกให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการบริหาร ก่อตั้งบริษัท รวมถึงธนาคาร ในยุคปฏิวัติเมจิที่ญี่ปุ่นกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ความมุ่งมั่นและความตั้งใจของเธอ นับเป็นแรงบันดาลใจชั้นดี จนหลายคนอยากให้พิมพ์จำหน่าย เพราะข้อคิดที่ได้มีความเป็นสากล และยังคงเป็นจริงในยุคปัจจุบัน แม้เรื่องราวจะผ่านมานานแล้วก็ตาม

6.มะรุโกะโตะ ภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น เบื้องต้น A1

japan foundation

เอาใจสายเนิร์ดกันบ้าง กับตำราเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเบื้องต้น ที่คนเรียนภาษาญี่ปุ่นน่าจะเคยเห็นกันบ่อยๆ เพราะครบครันและนำไปใช้ได้จริง

‘มะรุโกะโตะ’ แปลว่า ‘รวมทุกอย่าง’ นั่นหมายความว่าหนังสือเล่มนี้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้านความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่น ภาษา บทสนทนาในชีวิตจริง และวัฒนธรรมต่างๆ

และไม่ต้องห่วงเลยว่าตำราเรียนจะน่าเบื่อ เพราะข้างในมีภาพประกอบน่ารัก สีสันดึงดูด นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่เชื่อถือได้ ด้วยมาตรฐานการเรียนการสอนของเจแปนฟาวน์เดชั่น 

เนื่องจากตำรานี้แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น จึงมั่นใจได้ว่าคนญี่ปุ่นเขาสอนกันแบบนี้จริงๆ

-ภาพยนตร์-

เราเดินสำรวจทุกซอกทุกซอยในห้องสมุดมาจนถึงจุดนั่งดูหนัง จึงอดไม่ได้ที่จะให้คุณบรรณารักษ์แนะนำหนังให้เราอีกสัก 3 เรื่อง มาเริ่มกันเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

1.Ruokala Lokki (Kamome Shokudo)

japan foundation

japan foundation
(photo: https://bit.ly/2F5bTzX)

สิ่งที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างแรกคือชื่อเรื่องแปลกๆ แต่ก็ไม่แปลกที่จะแปลกใจ เพราะมันไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น แต่เป็น ‘ภาษาฟินแลนด์’ 

ที่ใช้ชื่อแบบนั้นเพราะหนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่ฟินแลนด์ทั้งเรื่อง เพื่อเล่าถึง ‘ซาจิเอะ’ หญิงชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นอยู่ใจกลางเมืองหลวง Helsinki แต่ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้าง เพราะร้านเธอไม่มีลูกค้านั่งแม้แต่โต๊ะเดียว

แต่แล้วก็มีลูกค้าคนแรกก้าวเข้ามาในร้าน!

เสียงหัวเราะและความอบอุ่นเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อเธอเจอคนญี่ปุ่นที่นี่โดยบังเอิญ และไม่ใช่แค่คนเดียวเสียด้วย 

มิตรภาพได้เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลืองานในร้านของเธอ ความเป็นตะวันออกเฉิดฉายท่ามกลางบรรยากาศตะวันตก ขณะเดียวกันร้านของเธอก็เริ่มเป็นที่สนใจจนคนท้องถิ่นหลั่งไหลเข้ามา

2.Spirited Away

japan foundation

japan foundation
(photo: https://bit.ly/2F7WWgO)

อ่านแค่หนังสือการ์ตูน Spirited Away อาจยังไม่จุใจ มาดูภาพเคลื่อนไหวด้วยดีกว่า

ยอมรับเลยว่าเรื่องนี้ อ่านแล้วอ่านอีก ดูแล้วดูอีกไม่มีเบื่อ เพราะสอดแทรกไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก แต่ละรอบที่นั่งดูจึงได้อะไรใหม่ๆ ติดตามาเสมอ บางครั้งอาจเอะใจว่า เอ๊ะ ครั้งก่อนไม่ได้สังเกตเห็นจุดนี้นี่

ลองท้าทายตัวเองสักตั้ง ว่าครั้งนี้จะเห็นอะไรในโรงอาบน้ำพิศวง แม่มดใจร้าย ผีไร้หน้า ‘ฮากุ’ และพ่อแม่ที่กลายเป็นหมูของเธอ ยังมีอีกหลายตัวละครน่าทึ่งที่ไล่เรียงไม่หมด ใครอยากรู้ต้องไปดูกับตา

สำหรับภาพสวยๆ สไตล์จิบลิคงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก คนที่เคยดูน่าจะรู้ดีว่าตรึงตาตรึงใจแค่ไหน ส่วนคนที่ยังไม่เคยแนะนำว่าต้องลองสักครั้งในชีวิต รับรองว่าไม่ผิดหวัง

3.We Shall Overcome Someday (Pacchigi!)

japan foundation

หนังแนะนำเรื่องสุดท้าย เราขอพาย้อนเวลากลับไปที่เกียวโตในปี 1968 ยุคที่ยังมีความคุกรุ่นรุนแรง เกิดความขัดแย้งข้องใจระหว่างความเป็นญี่ปุ่นและเกาหลีในกลุ่มนักศึกษา 

พวกเขาต่อสู้กันท่ามกลางความแตกต่างและแปลกแยก ทั้งคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นที่แวดล้อมด้วยคนเกาหลี สิ่งที่พวกเขาเฝ้าฝันมีเพียงความสงบ ความเคารพ และความรัก

แต่หนทางที่จะได้มันมานั้นไม่ง่าย เพราะโลกใบนี้บางทีก็โหดร้ายเสียเหลือเกิน

หนังเรื่องนี้อาจจะดูเป็นหนังนอกกระแสหน่อย แต่ก็ได้รางวัลในญี่ปุ่นมาไม่น้อยเลยทีเดียว.

ห้องสมุดเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ

ที่ตั้ง: ชั้น 10 อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ 159 ถ.สุขุมวิท 21 กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

โทร.: 02-260-8564

เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09:00 – 19:00 น. วันเสาร์เวลา 09:00-17:00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ