©ulture

มีสัญชาติญาณหนึ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด นั่นคือ ลึกๆ แล้วเราเชื่อว่า ‘ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น มีใครสักคนคอยควบคุมมันอยู่’

เช่น ต้นกำเนิดของมนุษย์และโลก ที่ถูกออกแบบมาจนเป็นเช่นทุกวันนี้ ก็ยังคงเป็นความลับที่ถูกฝังเอาไว้ที่ไหนสักแห่งในจักรวาล

แม้จะมีคำอธิบายรู้ว่าโลกเกิดจากปรากฏการณ์บิ๊กแบง แต่เราก็ไม่อาจรู้เลยว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์ก็ไม่ลดละที่จะหาที่มาและคนบงการ เราจึงสถาปนา ‘พระเจ้า’ ขึ้นมา แล้วบอกว่า นี่คือสิ่งทรงภูมิที่สร้างให้มนุษย์มีสองแขนสองขา และใช้ชีวิตอยู่ในโลกวกวนใบนี้ 

จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า

“โลกนี้มีพระเจ้าอยู่สองแบบ คือ พระเจ้าที่สร้างเรา กับพระเจ้าที่เราสร้าง”

คำถามคือทำไมมนุษย์ต้องมีพระเจ้า เบื้องหลังความศรัทธานี้มาจากไหน?

ผู้นับถือนิกายคาทอลิกวางเทียนเนื่องในวัน ‘Mary , Mother of God’ ที่โบสถ์ในไฮเดอราบัด 1 มกราคม 2020 (Photo : NOAH SEELAM / AFP)

พระเจ้าที่สร้างเรา

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีนิสัยชอบค้นหา ‘เหตุผล’ ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ถือกำเนิดขึ้น เราจะรับรู้ได้ว่าแรงจูงใจเหล่านั้นคืออะไร นอกจากนี้ มนุษย์ยังใช้ความสามารถพิเศษนี้ตีความปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อีกด้วย ซึ่งการรับรู้นี้เรียกว่า ‘sense of agency’ 

จึงเห็นได้ว่าบางครั้งเรามักจะด่วนสรุปการกระทำของคนอื่น โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเท่าใดนัก

นอกจากคนด้วยกันเองแล้ว มนุษย์ยังเชื่อว่ามีบางอย่างกำลังควบคุม ‘สิ่งไม่มีชีวิต’ ได้อีกด้วย

เช่น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ ในอดีตเมื่อบรรพบุรุษของพวกเราเห็นฟ้าผ่า พวกเขาอาจคิดว่าท้องฟ้ากำลังโกรธเคือง เมื่ออุทกภัยมาเยือนก็อาจตีความได้ว่าเบื้องบนกำลังโกรธและลงโทษพวกเขา 

ชาวมุสลิมหลายพันคนมารวมตัวกันเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมฉลอง ‘Miraj-Ul-Ala’ ที่ศาลเจ้าซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงศรีนาการ์รัฐจัมมู แคชเมียร์ (Photo : TAUSEEF MUSTAFA / AFP)

ความคิดที่ว่าใครสักคนกำลังบงการปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด ‘ศาสนา’ และ ‘พระเจ้า’ 

ความศรัทธาจะผลิบาน เมื่อเราเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้และกำลังหมดหวัง ในอดีตคนเราอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อเริ่มทำเกษตรกรรม เขตแดนของมนุษย์ก็ขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ พร้อมกับกลุ่มประชากรที่เพิ่มมากขึ้น 

การอยู่ร่วมกันของพวกเขาตั้งอยู่บนกฏเกณฑ์ของกลุ่ม หากมีใครสักคนทำผิด ผู้พิพากษาให้ถูกลงโทษคือสมาชิกทุกคนในนั้น แต่เมื่อแวดวงของคนเรามีขนาดใหญ่ขึ้น การลงจับตัวและลงโทษคนผิดก็ไม่ได้ง่ายเฉกเช่นแต่ก่อน เราจึงสถาปนา ‘พระเจ้า’ ขึ้นมาในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะมอบบทลงโทษให้กับใครคนนั้น

ความศรัทธาในสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ เรียกว่า ‘anismistic thinking’ ซึ่งเป็นความคิดที่ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด และจะเห็นได้ชัดในเมื่อเรายังเป็นเด็ก ความคิดนี้จะเริ่มเลือนลางหายไปเมื่อเราอายุมากพอที่เข้าใจเหตุและผลได้อย่างกระจ่างแจ้งแล้ว 

พระเจ้าที่เราสร้างขึ้น

เบรต เมอร์ซิเออร์ (Brett Mercier) นักจิตวิทยาและคณะ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ (University of California Irvine) ได้ศึกษา ‘ต้นเหตุ’ ที่ทำให้มนุษย์เกิดศรัทธาในพระเจ้า พบว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 

1.การรับรู้

วิธีการรับรู้ของคนเรามีผลกับ ‘ความศรัทธา’ เป็นอย่างมาก แม้ว่าเราจะได้รับข้อมูลต่างๆ มาเหมือนกัน แต่คนมักจะเลือกประมวลผลด้วยวิธีที่ต่างกัน โดยผลการศึกษาของเมอร์ซิเออร์ระบุว่า คนที่ยึดหลักเหตุและผลอย่างเข้มแข็ง จะเชื่อในพระเจ้าน้อยกว่าคนที่ตีความโดยการหยั่งรู้ 

ผู้ที่มีความสามารถหยั่งรู้ สังเกตเห็นอารมณ์ และคาดเดาแรงจูงใจของคนรอบข้างได้มีแนวโน้มที่จะศรัทธาในศาสนามากกว่า 

 

(Photo : MANAN VATSYAYANA / AFP)

2.แรงจูงใจ

แรงจูงใจที่เป็นผลลัพธ์ของลักษณะนิสัยส่วนตัวนั้น ก็มีผลต่อความศรัทธาไม่แพ้กัน บุคคลผู้รักสันโดษ จะเชื่อมั่นในศาสนามากกว่าคนที่ชอบให้ผู้คนมารายล้อม เพราะในบริบทนี้พระเจ้าช่วยทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

นอกจากนี้ แรงจูงใจยังรวมไปถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่แต่ละคนเคยเจอ เช่น การเผชิญหน้ากับความตายและรอดมาได้อย่างหวุดหวิด สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเชื่อในปรภพ บาปบุญและพระเจ้ามากกว่าที่เคย และความศรัทธาจะยิ่งแรงกล้าเมื่อเราตกอยู่ในที่นั่งลำบาก พบเจอกับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ในคราวที่เกิดภัยพิบัติ

(Photo : Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

3.สังคม

คนไทยร้อยละ 95 นับถือศาสนาพุทธ โดยที่หลายคนอาจไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องนับถือและระบุชื่อศาสนานี้ลงบนบัตรประชาชน 

เราคุ้นเคยกับการไปวัด ทำบุญ และสิ่งนั่นเริ่มมากจากครอบครัว เมื่อศาสนากลายมาเป็นบรรทัดฐานของสังคม นั่นจึงทำให้ใครสักคนเลือกที่จะนับถือโดยไม่ต้องตั้งคำถาม เพราะคำตอบที่ได้คือ ‘นั่นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว’

อีกหนึ่งปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อการนับถือศาสนาก็คือ ความเชื่อมั่นในรัฐ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชน มีผู้นับถือศาสนาเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เพราะรัฐบาลดูแลคุณภาพชีวิตของทุกคนอย่างทั่วถึง ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคงและปลอดภัย 

เมื่อไร้ซึ่งความกังวลใดๆ ชาวญี่ปุ่นจึงเชื่อมั่นใน ‘รัฐ’ มากกว่า ‘ศาสนา’ 

(Photo : BEHROUZ MEHRI / AFP)

แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกที่หมุนด้วยเหตุผล พิพากษาด้วยกฎหมาย และเดินหน้าด้วยวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องพระเจ้ายังคงฝังรากลึกอยู่ในสัญชาติญาณของคนเรา

หนึ่งในเหตุผลที่ศาสนาและศรัทธาในพระเจ้ายังคงมีความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ สามารถเยียวยาความทุกข์อันสาหัสได้เป็นอย่างดี เช่น ในเวลาที่ความตายพรากคนที่เรารักไป เมื่อความเศร้าที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดที่ถาโถมเข้ามา ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญทำให้มนุษย์สามารถปล่อยวางและดำเนินชีวิตต่อไปได้ แม้ว่าแต่ละความเชื่ออาจดูไร้เหตุผล หากเราเอากรอบที่ชื่อวิทยาศาสตร์เข้ามาตัดสิน แต่สมองที่ควบคุมด้านอารมณ์ของคนเราไม่สนใจเรื่องความผิด ถูก และความสมเหตุสมผล พิธีกรรมและคำสอนเหล่านั้น อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น ที่หลุดพ้นจากความทุกข์และใช้ชีวิตต่อไปได้ 

เพราะไม่ใช่ทุกการทดลองที่จะมีคำตอบให้กับทุกความสงสัย เหนืออื่นใดความเป็นมนุษย์และธรรมชาตินั้นยังเต็มไปด้วยความซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้อยู่เสมอ

นั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราสักคนยังคงศรัทธาใน ‘พระเจ้า’

 

อ้างอิง