©ulture

ในอดีต ประเทศไทยรุ่มรวยไปด้วยความเจริญทางอารยธรรมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย

ด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดีที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเฉพาะตามบริเวณแหล่งน้ำอย่างทะเล แม่น้ำ และลำคลอง

เพราะคนไทยผูกพันและใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำมาหลายยุค หลายสมัย

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งถิ่นฐานริมน้ำ การใช้เป็นเส้นทางคมนาคม แหล่งทำมาหากิน รวมทั้งพระราชพิธีสำคัญต่างๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ กองโบราณคดีใต้น้ำ ค้นพบร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแหล่งน้ำหลายพื้นที่

ล้วนแล้วแต่เป็นโบราณวัตถุอันเก่าแก่และล้ำค่าของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ

ซึ่งถือเป็นมรดกทางความรู้อันสำคัญที่ส่งต่อมายังคนยุคใหม่

แหล่งเรือโบราณ ณ หาดปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง

เมื่อปลายปีพ.ศ.2559 กองโบราณคดีใต้น้ำและสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ร่วมตรวจสอบหนึ่งในแหล่งเรือโบราณอันสำคัญ ซึ่งค้นพบ ณ หาดปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง

เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
แหล่งเรือโบราณ ณ หาดปากคลองกล้วย พบเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเวลาน้ำลง (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)

สภาพที่ตั้งของตัวเรือจมอยู่ใต้น้ำทะเลบริเวณชายหาดปากคลองกล้วย ซึ่งสามารถมองเห็นได้เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลง

ทีมงานจึงจำเป็นต้องทำงานในช่วงเวลาน้ำทะเลเริ่มลงจนถึงต่ำสุดของทุกวัน คือ ประมาณ 14.00 – 18.00 น. เท่านั้น

กองโบราณคดีใต้น้ำค้นหาอายุของเรือลำนี้โดยการตัดตัวอย่างชิ้นส่วนไม้เรือ เพื่อส่งตรวจสอบวิเคราะห์หาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS (Acceleration Mass Spectrometry) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ทราบถึงอายุสมบูรณ์ของเรือและประเภทชนิดของไม้

เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เทคนิคการต่อเรือแบบเดียวกับเรือโบราณลำนี้ เข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นและเกาหลี ราวปีคริสต์ศตวรรษที่ 11 หรือพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)

ผลการตรวจสอบที่ได้คือ เรือโบราณลำนี้ได้ค่าอายุ 2,120 ปี และ 2,140 ปี นับเป็นเรือที่เก่าที่สุดลำหนึ่งในเอเชีย

นอกจากนี้ ข้อมูลและความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่กองโบราณคดีใต้น้ำค้นพบจากการสำรวจเรือลำนี้ คือ เทคนิคการต่อเรือแบบโบราณ ด้วยการเซาะร่องตรงกลางของไม้เปลือกเรือแต่ละแผ่น และสอดเดือยเข้าตรงกลางระหว่างไม้เปลือกเรือสองแผ่น จากนั้นยึดโดยการเจาะรูทะลุลงไประหว่างไม้เปลือกเรือกับตัวเดือย แล้วจึงสอดลูกประสักเพื่อยึดเปลือกเรือทั้งสองเข้าด้วยกัน

เทคนิคการต่อเรือดังกล่าวมีพัฒนาการมาจากทวีปยุโรป มักพบในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนช่วงสมัยยุคกลาง หลังจากนั้นได้แพร่หลายจนเป็นที่นิยมไปหลายประเทศ

เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
กองโบราณคดีใต้น้ำวางผังขนาด 10×30 เมตร ครอบคลุมตัวเรือเท่าที่ปรากฏให้เห็น จากนั้นแบ่งพื้นที่เพื่อบันทึกภาพ (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)
เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
ขณะช่วงทำงานบนตัวเรือ ทีมงานใช้ถุงทรายวางทับตามขอบของแผ่นใยสังเคราะห์ เพื่อรักษาสภาพตัวเรือให้ถูกรบกวนน้อยที่สุด (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)

แหล่งเรือจมบางกะไชย 2

แหล่งเรือจมโบราณที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ แหล่งเรือจมบางกะไชย 2 ที่บ้านบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี  ซึ่งกองโบราณคดีใต้น้ำเข้าไปทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2535

เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
โมเดลจำลองซากเรือบางกะไชย 2 (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)

ซากเรือจมอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ที่ความลึก 7-8 เมตร ตัวเรือมีขนาดยาว 24 เมตร กว้าง 6 เมตร

ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆ ที่ค้นพบ คือ ‘ท่อนไม้ฝาง’ ซึ่งสันนิษฐานว่า คนท้องถิ่นบนเรืออาจนำไปใช้เป็นสีแดงย้อมผ้า

‘ลูกหมากดิบปอกเปลือก’ ใช้ในการย้อมฝาดผ้าเพื่อให้สีติดทนนาน รวมทั้ง ‘เม็ดพริกไทย’ อีกจำนวนมาก และ ‘ก้อนทองแดงทรงมะพร้าวผ่าซีก’

เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
ลูกหมากดิบปอกเปลือกที่พบระหว่างขุดตรวจแหล่งเรือจมบางกะไชย 2 (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)
เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
เม็ดพริกไทยที่พบระหว่างขุดตรวจแหล่งเรือจมบางกะไชย 2 (photo: https://www.facebook.com/UADThailand)

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานโบราณวัตถุสำคัญอื่นๆ อีกหลายชิ้น อาทิเช่น ‘กล่องไม้ใส่คันชั่ง’ ฝากล่องด้านในเขียนตัวอักษรจีนระบุวันเวลาที่สร้างขึ้น และ ‘ถ้วยลายครามจีน’ ที่ก้นถ้วยด้านนอกเขียนอักษรภาษาจีนว่า ต้าหมิงเฉิงฮั่วเหนียนจื้อ แปลว่า รัชสมัยเฉิงฮั่วแห่งต้าหมิง

เรือจมโบราณ กองโบราณคดีใต้น้ำ
ถ้วยลายครามจีนที่พบบนซากเรือจมบางกะไชย ก้นถ้วยด้านนอกเขียนตัวอักษรจีน ว่า “大明成化年製” อ่านได้ว่า ต้าหมิงเฉิงฮั่วเหนียนจื้อ แปลว่า “รัชสมัยเฉิงฮั่วแห่งต้าหมิง”
(photo: https://www.facebook.com/UADThailand)

รูปแบบทางศิลปะของโบราณวัตถุและหลักฐานเหล่านี้ประกอบกับตัวเรือ สามารถกำหนดช่วงอายุแหล่งเรือจมบางกะไชย 2 ซึ่งสันนิษฐานว่า ถูกสร้างขึ้นและใช้งานช่วงราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22

ปัจจุบัน หลักฐานโบราณวัตถุบางส่วนจากแหล่งเรือจมบางกะไชย 2 จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จังหวัดจันทบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์

ติดตามเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอารยธรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ผ่านการสำรวจโลกใต้น้ำโดยกองโบราณคดีใต้น้ำไทยในได้ที่เว็บไซต์ becommon.co

อ่านบทความ “โบราณคดีใต้น้ำ : รู้จักภารกิจการสำรวจประวัติศาสตร์ใต้ผืนน้ำผ่าน ‘เรือแววมยุรา’” ได้ที่ https://becommon.co/culture/explore-underwater-archaeology