©ulture

ครอบครัวแบบไหนกันที่ลืมตั้งชื่อให้ลูกของตัวเอง?

แรกเริ่ม พลราม ฮาลวัย (Balram Halwai) ไม่มีชื่อ เขาเป็นเด็กยากจนในหมู่บ้านเล็กๆ ของอินเดีย มีแม่ป่วยนอนติดเตียง มีพ่อเป็นคนถีบสามล้อผู้ยุ่งกับการทำงานตลอดเวลา จนไม่มีใครสนใจจะหาเวลามาตั้งชื่อให้แก่เขา…

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ The White Tiger นิยายรางวัล Man Booker Prize ประจำปี 2008 และเพิ่งถูกดัดแปลงเป็นหนังในปี 2021 เข้าฉายใน Netflix เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยนักเขียนเชื้อสายอินเดีย-ออสเตรเลีย นาม อราวินด์ อดิก (Aravind Adiga) …แต่หากกล่าวให้ถูกต้อง จุดเริ่มต้นของเรื่องราวในชีวิตของพลรามอาจมีอยู่แล้วเนิ่นนานก่อนหน้านั้น

*Spoiler Alert* 

จุดเริ่มต้นอาจอยู่ในชีวิตประจำวันของคนชั้นล่างส่วนใหญ่ในอินเดีย ชีวิตที่อราวินด์ อดิกเปรียบเปรยโดยใช้อุปลักษณ์ได้อย่างชัดแจ้งและแสบสันต์ ผ่านภาพของฟาร์มไก่และคำพูดเสียดสีของตัวละครเอกอย่างพลราม

“พวกไก่ในเล้าได้กลิ่นเลือดจากด้านบน พวกมันเห็นตับไตไส้พุงของพี่ๆ ห้อยโตงเตง พวกมันรู้ว่าตัวเองจะกลายเป็นรายถัดไป กระนั้น พวกมันก็ไม่ก่อกบฏ พวกมันไม่พยายามจะปลดแอกแหกออกจากเล้า สิ่งที่คล้ายกันเหลือเกินนั้นเกิดขึ้นกับมนุษย์ในดินแดนนี้”

พลราม ฮาลวัย เติบโตมาจากอินเดียในด้านที่เขาเรียกว่า ‘อินเดียแห่งความมืดมิด’ หรือพูดให้ชัดคือด้านต่ำสุดของความเหลื่อมล้ำในสังคมอินเดีย พูดให้ชัดกว่านั้นคือสังคมของคนจน ที่ผู้คนมีชีวิตไม่ต่างจากสัตว์

“ทุกวัน ผู้คนเป็นล้านๆ จะตื่นแต่เช้าตรู่ ยืนเรียงรายในความโสมม ในรถบัสที่คราร่ำไปด้วยผู้คน กระโจนไปยังคฤหาสถ์หรูของเจ้านาย และหลังจากนั้นพวกเขาก็จะกวาดพื้น ล้างจาน กำจัดวัชพืชในสวน นวดฝ่าเท้าให้เจ้านาย ป้อนอาหารให้ลูกๆ ของพวกเขา ทั้งหมดนั้นเพื่อค่าจ้างกระจ้อยร่อย”

ภาพจากภาพยนตร์ The White Tiger

ภาพชีวิตของชนชั้นล่างแบบนั้นถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่กำเนิด คล้ายเป็นโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกหนี มันฝังลึกอยู่ในเนื้อหนังของวัฒนธรรมและค่านิยม ในความเชื่อที่มีเทพเจ้าให้เลือกนับถือมากถึง 36,000,000 องค์ ซึ่งผู้คนมักหยิบยื่นเงินทองและอาหารให้แก่ความศรัทธาของตน มากกว่าจะเลือกเปลี่ยนมันเป็นค่านมให้ลูกของตัวเองด้วยซ้ำ

พลรามก็เหมือนกัน จากเด็กที่ถูกเรียกด้วยคำทั่วๆ ไปแบบไม่ใส่ใจว่า Munna หรือที่แปลว่า เด็กชาย เขาถูกตั้งชื่อส่งๆ ให้โดยครูคนหนึ่งในโรงเรียนตามชื่อของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู มีชีวิตไปตามครรลองของคนจนทุกกระเบียด แม้ในวัยเด็ก พลรามจะมีแววเป็นเด็กหัวดี ได้รับคำชื่มชมจากผู้ตรวจการณ์สถานศึกษาว่าเขาคือ ‘เสือขาว’ สิ่งมีชีวิตสุดพิเศษที่จะเกิดขึ้นเพียงตัวเดียวในบรรดาเสือเป็นหมื่นๆ ตัว พลรามวาดฝัน ว่าเขาจะหลุดพ้นจากการเป็นไก่ในเล้ารอวันถูกเชือดได้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ต้องออกจากโรงเรียน ทำงานสารพัดตั้งแต่ทุบถ่าน เสิร์ฟน้ำชา หลังแม่ตาย หลังพ่อตาย และรายได้น้อยนิดที่เขาหาได้ก็ต้องส่งให้ครอบครัวซึ่งมีย่าเป็นผู้นำจนไม่เหลือเก็บ 

จะต่างกันแค่พลรามไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ด้วยความเฉลียวฉลาดของเขา ผ่านการลอบฟังบทสนทนาของลูกค้าในร้านน้ำชา จึงทำให้เขาทะเยอทะยานคิดจะถีบตัวเองให้สูงขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่การถีบตัวเองให้สูงขึ้นก็ไม่ใช่ฝันยิ่งใหญ่อะไรนัก มันเป็นแค่การขยับมาเป็น ‘คนขับรถ’ ให้ครอบครัวของเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่งครอบครัวหนึ่ง

เรื่องราวของพลรามดำมืดขึ้นนับจากนี้ เขาเล่ามันคล้ายกำลังเขียนอัตชีวประวัติตัวเอง และอราวินด์ อดิกก็ชาญฉลาดพอที่เลือกใช้รูปแบบการเล่าเรื่องผ่านอีเมล ตีแผ่มันออกมาผ่านจดหมายน้อยที่พลรามเขียนถึง เหวิน เจียเป่า (Wen Jiabao) นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น (2007) คู่ค้าและคู่แข่งสำคัญของอินเดียที่กำลังจะเดินทางมาเยือน โดยมีจุดหมายสำคัญคือ เมืองบังกาลอร์ มหานครเกิดใหม่อันเปรียบดังสรวงสวรรค์ของ ‘ผู้ประกอบการ’ (entrepreneur) เมืองแห่งความหวังของชาวอินเดียที่อยากลืมตาอ้าปาก ทะยานขึ้นจากเถ้าถ่านของความยากไร้และชนชั้น สู่การสร้าง ‘สตาร์อัพ’ (startup) ซึ่งทำให้ภาพชีวิตของ ‘เสือขาว’ ผู้เริ่มต้นจากศูนย์จนกลายเป็นเจ้าของกิจการอย่างพลรามน่าติดตามมากขึ้น

ภาพจากภาพยนตร์ The White Tiger

The White Tiger จึงเป็นนิยายที่คล้ายล้อเลียนหนังสือชีวประวัตินักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือประเภทยอดฮิตในช่วงต้นยุค 2000 อยู่ในที 

ในปี 2008 ที่นิยายเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ ผู้คนในสังคมทุนนิยมทั่วโลกกำลังเห่อเหิมกับการพยายามสร้างสตาร์อัพของตัวเอง ตามอุดมคติแบบ ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ ลอกคราบกระดำกระด่างออก เพื่อจะกลายมาเป็น ‘เสือขาว’ สะอาดสะอ้านงดงามหนึ่งเดียว

แต่ในเมื่อฉากหลังของนิยายคืออินเดีย ที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในสังคมเต็มไปหมด คอรัปชั่นฝังรากลึกในทุกลมหายใจ ความอยุติธรรรมเกาะแน่นในเส้นเลือดของสรรพชีวิตจนสิ่งที่ควรเป็นเรื่อง ‘ไม่ปกติ’ กลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ เรื่องราวของพลรามจึงแตกต่างออกไปจากอัตชีวประวัติของเถ้าแก่น้อยคนอื่นๆ

หลังเดินทางจากบ้านเกิดมาทำงานเป็นคนขับรถ พลรามกลายเป็น ‘ข้ารับใช้’ ผู้ซื่อสัตย์ให้แก่ลูกชายหัวสมัยใหม่ของครอบครัวเจ้าที่ดินอย่าง อโศก ผู้เพิ่งเดินทางกลับมาจากอเมริกา ความซื่อสัตย์ที่พลรามอธิบายไว้อย่างชัดแจ้งในอีเมลถึงนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า 

“ทุกวัน บนถนนของเดลี โชเฟอร์บางคนจะขับรถว่างเปล่าที่มีกระเป๋าสีดำอยู่บนเบาะหลัง ข้างในกระเป๋าคือเงินหนึ่งล้าน หรือสองล้านรูปี เงินมากกว่าที่โชเฟอร์จะเห็นได้ในชีวิตนี้ ถ้าพวกเขาเอาเงินเหล่านั้นไป พวกเขาก็จะไปอเมริกา ออสเตรเลีย หรือที่ไหนก็ตามที่พวกเขาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ พวกเขาสามารถเข้าพักในโรงแรมห้าดาวที่เคยใฝ่ฝันและเฝ้ามองจากด้านนอกมาตลอดชีวิต พวกเขาสามารถพาครอบครัวไปเที่ยวกัว (เมืองท่องเที่ยวยอดฮิตติดชายฝั่งทะเลของอินเดีย—ผู้แปล) หรืออังกฤษ กระนั้นพวกเขาก็แค่นำกระเป๋าไปตามความต้องการของเจ้านาย วางมันลงที่ไหนก็ตามที่ถูกบอกกล่าว และไม่เคยแตะต้องแม้สักรูปีเดียว ทำไม?

“เพราะคนอินเดียเป็นชาติที่ซื่อสัตย์ที่สุดในโลกอย่างในหนังสือที่ระลึก ซึ่งนายกรัฐมนตรีของพวกเราจะมอบให้คุณใช่หรือเปล่า?

“ไม่เลย เพราะ 99.9 เปอร์เซ็นของพวกเราถูกขังอยู่ในเล้า ไม่ต่างอะไรกับฝูงไก่ผู้น่าสงสารในตลาดค้าสัตว์ปีกเหล่านั้นต่างหาก”

ภาพจากภาพยนตร์ The White Tiger

ทว่าด้วยความเป็นเสือขาวนี่เองที่ทำให้พลรามค่อยๆ ลืมตาตื่น แม้จะได้รับการดูแลตามสมควรจากอโศก แต่พลรามก็เริ่มตระหนักได้ถึงความเหลื่อมล้ำที่กดทับเขามาตลอด เขาเห็นมันผ่านความคดโกงของอโศกที่ต้องเดินทางมาปักหลักอยู่ในเมืองหลวงอย่างเดลี จ่ายเงินสินบนให้แก่นักการเมืองเพื่อหลบเลี่ยงภาษี เขาเห็นมันในวิธีปฏิบัติต่อเขาที่ไม่ลงร่องลงรอย แม้อโศกจะพยายามเคารพความเป็นมนุษย์ระหว่างกันขนาดไหน และมันยิ่งแจ่มชัดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ภรรยาของอโศกอย่าง มาดามพิงกี้ เมามายจนขับรถชนคนตาย และครอบครัวของอโศกพยายามจัดการให้พลรามกลายเป็นแพะรับบาปหนึ่งเดียว ด้วยคำพูดตอหลดตอแหล ถ้อยคำหวานหยดอาบยาพิษ เมื่อพ่อและพี่ชายของอโศกพยายามเรียกพลรามว่า ‘คนในครอบครัว’

แต่ครอบครัวแบบไหนกันที่พยายามทำให้คนในครอบครัวกลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายทั้งที่เขาไม่ผิด? เหตุการณ์เช่นนี้เหลื่อมซ่อนอยู่กับเรื่องราวของธุรกิจซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในยุคสตาร์อัพเบ่งบาน ยุคสมัยที่ผู้ประกอบการพยายามขายฝัน เรียก ‘ลูกจ้าง’ ว่า ‘คนในครอบครัว’ ‘เราทำงานงานกันเหมือนครอบครัว’ ‘เราจะโตไปด้วยกัน’ ทั้งที่คนที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดคือนายจ้าง และลูกจ้างก็เป็นได้แค่ไก่เชื่องๆ ในเล้า ถูกสูบเลือดสูบเนื้่อ รอวันถูกเชือด ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ก้มเก็บเศษเงินน้อยนิด มุดหน้าทำงานต่อไป จนไม่มีโอกาสจะเห็นแม้เส้นขอบฟ้าของคำว่าเติบโต

ยิ่งเป็นกับสังคมอินเดียที่คำว่า ‘ครอบครัว’ เต็มไปด้วยมิติอันหลากหลาย มันก็ยิ่งขยับขยายความลักลั่นย้อนแย้งในเรื่องราวของพลรามให้เข้มข้น

“ครอบครัว คือเหตุผลที่ทำให้เราติดกับดักและถูกพันธนาการอยู่ในเล้า คำตอบของคำถามที่สองก็คือ มีเพียงแค่มนุษย์ผู้พร้อมจะเห็นครอบครัวของตนถูกสูญสลาย ถูกไล่ล่า ทุบตี และถูกเผาทั้งเป็นโดยเจ้านายของตนเท่านั้น ที่สามารถแหกออกจากเล้าได้” 

คำอธิบายนี้สั่นสะเทือนอารมณ์ คนอินเดียมากมายถูกพันธนาการไว้ด้วยคำสั่งสอนเรื่อง ‘ความกตัญญู’ และความกตัญญูนั้นก็มักถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัว จนพวกเขาไม่กล้าจะต่อต้านหรือหลบหนี

สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ขจัดคำถามออกไปผ่านค่านิยม หรือขนบธรรมเนียมอันดีงาม แค่เดือนหนึ่งหนึ่งได้รับเศษเงินสองสามร้อยรูปีจากนายจ้างก็นับว่าเป็นบุญคุณอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ควรทรยศแล้ว

ครั้งหนึ่งพลรามถามคำถามต่อตัวเองด้วยความคับข้องหมองใจ ขณะเขากำลังแปรงฟันอยู่หน้ากระจก หลังถูกมาดามพิ้งกี้ด่าทอเรื่องการใช้ชีวิตอันสกปรกและฟันที่เขรอะไปด้วยหมาก

“ทำไมพ่อของผมถึงไม่เคยสอนให้ผมหยุดเกาไข่? ทำไมพ่อถึงไม่เคยสอนให้ผมแปรงฟันด้วยโฟมฟูฟ่อง? ทำไมเขาถึงเลี้ยงผมขึ้นมาเยี่ยงสัตว์? ทำไมคนจนทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความโสโครกอัปลักษณ์? 

“แปรง แปรง ถุย ถุย

“แปรง แปรง ถุย ถุย

“ถ้ามนุษย์สามารถถ่มถุยอดีตของตนออกมาได้ง่ายดายเช่นนี้ก็คงดี”

นั่นเองที่พลรามลืมตาตื่น อาจผ่านบทกวีที่คนขายหนังสือชาวมุสลิมในเดลีอ่านให้เขาฟังอย่างบังเอิญที่ว่า

“คุณพยายามมองหากุญแจมาเนิ่นนาน แต่ประตูกลับเปิดโร่อ้ากว้างอยู่ตลอด”

ชีวิตของพลรามหากมองเพียงผิวเผินโดยไม่เจาะลึกลงรายละเอียด อาจดำเนินไปตามเส้นเรื่องแสนเฉิ่มเฉย—เด็กหนุ่มยากไร้เปี่ยมพรสวรรค์มุมานะจนกลายเป็นผู้ประกอบการ

ทว่าแท้จริงแล้วการลืมตาตื่นของพลรามกลับซ่อนความมืดมนไว้ภายใน เมื่อการจะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นเสือขาว และเปิดประตูออกไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสถานะ ‘ผู้ถูกล่า’ พลรามจึงจำต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘ผู้ล่า’ แถมยังเป็นนักล่าผู้โหดเหี้ยมเสียด้วย กระทั่งโศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้น อย่างที่เขาสารภาพไว้ตั้งแต่ย่อหน้าสุดท้ายของอีเมลฉบับแรกถึงเหวิน เจียเป่า ว่า “ผมปาดคอมิสเตอร์อโศก”

หลังจากนั้นเขาก็นำเงินสินบนในกระเป๋าของเจ้านายไปสร้างชีวิตใหม่ เขากลายมาเป็นผู้ประกอบการในเมืองบังกาลอร์ เป็นเจ้าของธุรกิจรถแท๊กซี่ เป็นนักล่าผู้เล่นไปตามเกมการคอรัปชั่นที่ดำเนินไปในสังคมอินเดีย เขาติดสินบนเจ้าพนักงานเหมือนที่มิสเตอร์อโศกเคยทำ เขากลายเป็น ‘เจ้านาย’ ของใครอีกหลายคน จะต่างกันแค่เขาเติบโตมาจากฝุ่นผง และเขารู้ว่าควรวางตัวกับคนที่เป็นฝุ่นผงอย่างไร

“ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นคนขับรถให้เจ้านาย แต่ตอนนี้ผมเป็นเจ้านายของคนขับรถ ผมไม่ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนพวกเขาเป็นขี้ข้า ผมไม่ตบ ไม่เหยียดหยาม หรือล้อเลียนใคร และผมไม่ดูแคลนพวกเขาโดยการเรียกพวกเขาว่า ‘ครอบครัว’ พวกเขาคือลูกจ้าง และผมคือเจ้านาย ทั้งหมดก็แค่นั้น”

มองในแง่นี้ ชีวิตของเด็กหนุ่มซื่อๆ ผู้ยากไร้อย่างพลรามอาจเติบโตขึ้นมาเป็นปิศาจร้ายในคราบนักธุรกิจ แต่เขาก็อธิบายไว้อย่างเฉียบคมในท่อนหนึ่งของอีเมล เมื่อเขาเล่าถึงนิทานครั้งที่พระพุทธเจ้าถูกพราหมณ์คนหนึ่งถามว่า ‘พระองค์คิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์หรือเทพเจ้า’ โดยพระพุทธเจ้าตอบว่า ‘ไม่ทั้งคู่ ข้าพเจ้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตื่นแล้ว ขณะที่พวกท่านที่เหลือยังคงหลับใหลอยู่’

“ผมจะตอบคุณด้วยคำตอบเดียวกัน มิสเตอร์เจียเป่า หากคุณถามผมว่า ‘คุณคือมนุษย์หรือปิศาจ?’ ไม่ทั้งคู่ ผมจะพูดแบบนั้น ผมแค่ลืมตาตื่นแล้ว แต่พวกคุณที่เหลือยังคงหลับใหลอยู่ นั่นคือความแตกต่างหนึ่งเดียวระหว่างเรา”

คำถามคือ จะเป็นอย่างไรหากพลรามเติบโตขึ้นมาในสังคมที่มีตัวเลือกมากกว่านี้ ในสังคมไร้ชนชั้น สังคมที่มอบโอกาสทางการศึกษาให้อย่างทั่วถึง สังคมที่ไม่มีใครมานั่งทวงบุญคุณ และตั้งตนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของชีวิตระหว่างกัน สังคมที่คนชั้นล่างไม่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของเหยื่อในระบบอันฟอนเฟะตลอดเวลา สังคมที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเสือขาวทว่ายังมีชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิ

คำถามตั้งแต่ย่อหน้าแรกในบทความนี้ที่ว่า ‘ครอบครัวแบบไหนกันที่ลืมตั้งชื่อให้ลูกของตัวเอง?’ จึงอาจต้องถูกเปลี่ยนเป็น ‘ประเทศแบบไหนกันแน่ที่ ‘ทำ’ ให้พ่อแม่หลงลืมการตั้งชื่อลูกของตัวเอง?’

เราต่างใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าไม่ใช่หรือ สังคมที่ไม่ต้องรอให้ได้รับโชคอำนวยพรจากเทพเจ้า 36,000,000 องค์ เพื่อจะกลายเป็นเสือขาวหนึ่งเดียวในเสือสามัญธรรมดาผู้น่าสงสารหมื่นๆ ตัว สังคมที่เปิดโอกาสให้แก่การรู้สึกตัว ลืมตาตื่น เปิดประตูก้าวข้ามไปอีกฟาก โดยไม่บังคับให้เราต้องกลายร่างเป็นปิศาจไปเสียก่อน