©ulture

หลายคนอาจคิดว่างานเขียนเป็นงานที่ต้องทำคนเดียว เขียนคนเดียว หรือเป็นนักเขียนต้องชอบเก็บตัว รักสันโดษ อยู่ในโลกแห่งจินตนาการของตัวเองไม่สนใจใคร เราว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด โดยเฉพาะยุคนี้การมีคอนเน็คชั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก

โรส นักเขียนแฟนฟิค นิยายออนไลน์ เจ้าของนามปากกา RainbowRose บอกกับเรา 

ปัจจุบันการพิมพ์หนังสือเองโดยไม่ต้องรอผ่านสำนักพิมพ์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในวงการนิยาย หากใครเคยอ่านนิยายออนไลน์ตามเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ก็อาจจะคุ้นเคยกับการเปิดพรีออเดอร์นิยายทำมือของนักเขียนคนโปรดมาบ้าง

ความฝันหนึ่งของนักเขียนแทบทุกคนคือได้ตีพิมพ์หนังสือของตัวเอง แต่หากย้อนกลับไปในยุคที่การทำหนังสือด้วยเองยังไม่เป็นที่รู้จัก การจะออกหนังสือสักเล่มจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งที่นักเขียนจะนึกถึงเป็นอันดับแรก คงหนีไม่พ้น ‘สำนักพิมพ์’ หากอยากตีพิมพ์หนังสือสักเล่มขาย พวกเขาต้องมองหาสำนักพิมพ์เพื่อเสนอต้นฉบับ และรอจนกว่าจะได้รับอนุมัติ เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว ต้นฉบับนั้นยังต้องผ่านมือบรรณาธิการ ตรวจทานแก้ไข พิสูจน์อักษรอย่างละเอียด ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการพิมพ์

ยิ่งไปกว่านั้นไม่ใช่ทุกงานที่จะผ่านการพิจารณาและได้รับโอกาสให้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม

เมื่อขั้นตอนการส่งผลงานยุ่งยาก และอาจถูกปฏิเสธได้ทุกเมื่อ จึงทำให้นักเขียนหลายคนที่ไม่อยากทิ้งผลงานที่ตัวเองรักและทุ่มเท หันเหมาตีพิมพ์หนังสือเอง และตั้งกลุ่มเป็น self-publisher ที่ผลิตและขายผลงานกันเองในกลุ่มแฟนคลับ

แต่เมื่อตัดสินใจพิมพ์หนังสือเองแล้วนักเขียนก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน เนื่องจากการพิมพ์นิยายเองสิ่งที่ขาดไม่ได้คือความรับผิดชอบ เพราะหากเกิดความผิดพลาดคนอ่านจะนึกถึงนักเขียนเป็นอันดับแรก

เช่นเดียวกับนักเขียนนิยายวายกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง หลายคนในกลุ่มเป็นนักเขียนออนไลน์ที่มีประสบการณ์พิมพ์หนังสือขายเองมาบ้าง โรส หรือ RainbowRose หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเล่าว่าพวกเขาเจอกันครั้งแรกจากเพจนักเขียนมือใหม่ในเฟสบุ๊ค เพราะทุกคนเขียนนิยายแนวคล้ายๆ กัน เมื่ออยากสร้างฐานแฟนคลับที่กว้างขึ้นจึงตัดสินใจติดตามกันในทวิตเตอร์ และตั้งกรุ๊ปไลน์ขึ้นมาในภายหลัง โดยใช้ชื่อกรุ๊ปว่า ชื่อกลุ่มติดไว้ก่อน’ สาเหตุเพราะในตอนแรกยังคิดชื่อไม่ออกแต่จนถึงตอนนี้ก็ก็ยังคงใช้ชื่อเดิม

ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกทั้งหมด 14 คน ที่มียอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น พวกเขาเป็นเครือข่ายเล็กๆ ที่ช่วยโปรโมผลงานให้กันและกัน รวมถึงคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเขียนนิยาย ตั้งแต่เรื่องการส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ การพิมพ์นิยายขายเอง ไปจนถึงแนะนำที่ปรึกษาทางกฎหมายเมื่องานเขียนถูกละเมิดลิขสิทธิ์

พวกเขาบอกเราเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการเป็น self-publisher คือฐานแฟนคลับที่มั่นคง เพราะจำนวนแฟนคลับสามารถบอกได้ว่ามีนักอ่านที่รักและพร้อมจะสนับสนุนผลงานนั้นมากน้อยแค่ไหน 

นี่เป็นส่วนสำคัญในลำดับต้นๆ ทำให้นักเขียนตัวตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีผู้ติดตามมากมายอย่างพวกเขาต้องหันมารวมกลุ่มเพื่อสนับสนุนผลงานและกระจายฐานแฟนคลับให้กันและกัน

การเป็น self-publisher เราต้องทำเองเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเขียน ตรวจทาน พิสูจน์อักษร ทำปก จัดอาร์ต ทำรูปเล่ม หาโรงพิมพ์ หรือถ้าอยากให้งานออกมาดีต้องจ้างคนอื่นมาช่วยในส่วนที่เกินความสามารถ กว่าจะออกมาเป็นเล่มต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน ถ้ามีจำนวนคนซื้อไม่มากพอ สิ่งที่ได้รับกลับมาอาจไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป เพราะฉะนั้นจำนวนแฟนคลับจึงสำคัญ ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะถ้ามีคนซื้อมากพอก็จะสามารถส่งพิมพ์ได้ในราคาที่ถูกลง ผลคือเราจะตั้งราคาขายต่อเล่มได้ไม่แพงจนเกินไป สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือยิ่งใส่ใจกับงานมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะขายได้ก็จะมากขึ้นเท่านั้น” โรสกล่าว

ข้าจะขายซาลาเปา โดย ๙พฤษภา

ในกลุ่มเล็กๆ นี้ พล็อตเรื่องจะไม่ใช่ความลับอีกต่อไป แต่ทุกคนจะแชร์พล็อต แชร์เนื้อหาในนิยายกันเป็นเรื่องปกติ เพื่อแลกเปลี่ยนหรือผลัดกันวิจารณ์ว่างานเป็นอย่างไรและนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

บางทีเราไม่รู้ว่าความคิดของตัวเองถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ในยุคที่สังคมมี awareness และนิยายทุกเรื่องอาจถูกชาวเน็ตโจมตีว่าบ้งได้ตลอดเวลา การมีคนคอยให้คำปรึกษาตรวจทานก่อนจะเผยแพร่งานเขียนสู่สาธารณะช่วยป้องกันปัญหาจุดนี้ได้เป็นอย่างดี ถ้าอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับหมอแต่ไม่แม่นข้อมูลทางการแพทย์ กลุ่มเราก็มีนักเขียนที่เป็นหมอคอยให้คำแนะนำ

ตอนเราพิมพ์หนังสือเองครั้งแรกก็ได้พี่ๆ ในกลุ่มคอยให้คำปรึกษา บางอย่างแค่หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมันไม่พอจริงๆ หลายคนอาจคิดว่างานเขียนเป็นงานที่ต้องทำคนเดียว เขียนคนเดียว หรือเป็นนักเขียนต้องชอบเก็บตัว รักสันโดษ อยู่ในโลกแห่งจินตนาการของตัวเองไม่สนใจใคร เราว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด โดยเฉพาะยุคนี้การมีคอนเน็คชั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม อย่างเราถ้าไม่ได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ ความฝันที่จะตีพิมพ์นิยายคงไม่สำเร็จ ความหวังว่าจะได้ออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ก็ไม่รู้จะผ่านการพิจารณาเมื่อไหร่”  โรสอธิบาย

ข้าจะขายซาลาเปา โดย ๙พฤษภา

ผลงานของคนในกลุ่มที่เคยเปิดพรีออเดอร์และขายหมดไปเรียบร้อยแล้ว เช่น ข้าจะขายซาลาเปา’ ของนักเขียนนามปากกา ๙พฤษภา นิยายจีนโบราณแนวกลับชาติมาเกิด ตลกคอมเมดี้น่ารักๆ ที่มียอดแฟนคลับมากกว่าหนึ่งพันคน, ซ่อนกลิ่นธาริณ ของ BABY_TRACER_85 นิยายโอเมก้าเวิร์ส แนวดราม่าเข้มข้นที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงซ่อนกลิ่น ของนักร้องชื่อดังอย่างปาล์มมี่ รวมถึงนิยายเซ็ตจากเจ้าของนามปากกา RiRi ที่นำเสนอความรักในคอนเซ็ปต์คู่ขนานของสีขาวและสีดำผ่านนิยาย เรื่อง  CATER TO YOU ปรนเปรอรัก ความรักในมุมมองของ ‘ฟ้า’ เด็กหนุ่มผู้สดใสมองโลกในแง่บวก และ DONE FOR ME ได้โปรด…ให้อภัยผม ความรักของ ‘สกาย’ ชายผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กับชีวิตอันมืดมนที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญ

DONE FOR ME ได้โปรด…ยกโทษให้ผม โดย RiRi

นอกจากนี้นักเขียนในกลุ่มยังร่วมกันทำโปรเจ็กต์เรื่องสั้น To the Moon ถ่ายทอดเรื่องราวความรักดยใช้พระจันทร์เป็นตัวแทนเล่าถึงนิยามคำว่ารักหลากหลายอารมณ์ ทั้งความสุขและความเศร้า เมื่อถามถึงผลตอบรับของผลงานที่ผ่านมาทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ “อาจจะไม่ได้ขายได้เยอะเท่าออกกับสำนักพิมพ์ บางเรื่องอาจขายได้น้อย แต่หักทุนแล้วพอสร้างกำไรเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ เฉลี่ยกับเรื่องที่ขายดีมากๆ ประมาณ 400-500 ชุด นับว่าไม่แย่เลยสำหรับการลงมือทำเอง” RiRi เล่า

CATER TO YOU ปรนเปรอรัก โดย RiRi

นิยายทำมือสักเล่ม ต่อให้ไม่ต้องง้อสำนักพิมพ์ แต่นักเขียนยังต้องใช้ความพยายาม ทั้งเรื่องการเขียนและการโปรโมตเพื่อสร้างฐานแฟนคลับ

การเป็น self-publisher นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานคนเดียวไม่สนใจใคร นักเขียนบางคนลงทุนจ้างบรรณาธิการ จ้างนักพิสูจน์อักษร จ้างนักวาดปก พยายามทำให้งานออกมาดีที่สุดเพื่อไม่ให้คนที่อุดหนุนผลงานผิดหวัง

พวกเขาทิ้งท้ายอีกว่า “การพิมพ์นิยายเองสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความรับผิดชอบ เพราะเมื่อตัดสินใจจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองคุณจะไม่ใช่แค่นักเขียนแล้ว แต่จะกลายเป็นคนที่ต้องแบกรับรับทุกสิ่งทุกอย่างทั้งคำชมและคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นคนแรกที่นักอ่านจะนึกถึงก็คือเรา ไม่ใช่สำนักพิมพ์”